วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2554

ผู้นำท้องถิ่นและกลุ่มผลประโยชน์

กลุ่มผลประโยชน์
กลุ่มผลประโยชน์ต่างจากพรรคการเมืองตรงที่ไม่ได้มุ่งที่จะแสวงหาตำแหน่ง ให้สมาชิกในวงการรัฐบาล แต่เป็นการพยายามสร้างอิทธิพลต่อนโยบายสาธารณะ ส่วนในสหรัฐอเมริกากลุ่มผลประโยชน์เกิดจากบุคคลต่างๆ ที่มีพื้นฐานของผลประโยชน์และความเห็นอย่างเดียวกัน

อะไรคือผลประโยชน์
ผลประโยชน์อย่างหนึ่งอาจมีความหมายไปได้หลายทาง นักวิชาการบางคนหมายความถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และอาจเป็นอุดมคติยิ่งกว่านั้น กล่าวคือ อาจกำหนดเป็นผลประโยชน์ในระยะสั้นหรือระยะยาว ซึ่งความสำคัญของอุดมคตินั้นอาจต่างกันจากสภาพของกลุ่มทางสังคม ทางเศรษฐกิจหนึ่งต่อกลุ่มอื่นๆ โดยพิจารณาอย่างจริงจังต่อความปรารถนาอันเป็นองค์ประกอบระยะยาว และเป็นอัตราที่จะได้รับในอนาคต ดังนั้น ในกลุ่มที่มีคุณธรรมและรายได้ซึ่งมีสิทธิเลือกตั้งก็จะต้องดูว่ากลุ่มไหนบ้าง ที่พยายามนำสิ่งสาธารณะมาเป็นผลประโยชน์ของตนเอง เช่น ต้องการสวัสดิการเกี่ยวกับสวัสดิภาพของชุมชนมาเป็นของตน เป็นต้น

ลักษณะของกลุ่มผลประโยชน์
กลุ่มผลประโยชน์คือการรวมกับของผลประโยชน์ บางพวกเกิดขึ้นเป็นพิเศษเพื่อจุดมุ่งหมายเพียงอย่างเดียวและอาจมีการวิ่งเต้นเกิดผลสมประสงค์ บางกลุ่มรวมกันเพียงชั่วคราว โดยก่อตัวขึ้นจากปัญหาพิเศษเช่น ในสหรัฐอเมริกา มีกลุ่มติดต่อในการขายเครื่องดองของเมาในบาร์ และมีการวิ่งเต้นต่อสภาให้ออกกฎหมายห้าม ซึ่งวิ่งเต้นเพียงเรื่องเดียวของตน ผิดกับองค์การ AFL-CIO (องค์การกรรมกร) ที่มีกิจกรรมวิ่งเต้นมากมาย เป็นต้น กลุ่มต่างๆ ยังคงรวมพลังอยู่ตราบเท่าที่มีความคาดหมาย คอยให้ได้มาตามสิ่งที่ตนต้องการ

ชนิดของกลุ่มผลประโยชน์
กลุ่มผลประโยชน์ดำเนินการพื้นฐานในรูปแบบเดียวกันไมว่าจะเป็นระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น แต่อาจมีความแตกต่างกันในด้านความสัมพันธ์ของดุลแห่งอำนาจของกลุ่มต่างๆ และความเกี่ยวกันของการวิ่งเต้นใดๆ จะเข้มแข็งแตกต่างกันออกไปตามระยะเวลา ดังนั้น ในโอกาสต่างๆ ประชาชนอาจยอมรับผู้นำหลายรูปแบบหรือใบบางแห่งมีกลุ่มเดียวและบางแห่งรัฐบาลท้องถิ่นต้องไปเกี่ยวพันกับการตัดสินใจเล็กๆ ตลอดจนข้อขัดแย้งเฉพาะอย่างของผลประโยชน์ของท้องถิ่น

กลุ่มผลประโยชน์ผู้นำท้องถิ่น
ในการศึกษาถึงกลุ่มต่างๆ ในชุมชนจำเป็นต้องสังเกตถึงโครงสร้างของอำนาจและความเป็นผู้นำของแต่ละกลุ่มเพื่อนำไปปรับใช้กับหลักการปกครองโดยใช้สอดคล้องกับท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย
โครงสร้างอำนาจและลักษณะผู้นำกลุ่ม ในทุกสังคมจะปรากฏว่ามีชนอยู่ 2 พวก คือ ฝ่ายผู้ปกครองกับฝ่ายผู้ถูกปกครอง ปัจจุบันนักสังคมวิทยารู้กันอยู่ว่าองค์การทางการเมืองมิใช่สิ่งสำคัญ อีกทั้งผู้นำกลุ่มต่างๆ ในสังคมก็แตกต่างกันออกไปและซับซ้อน ฉะนั้น บางกลุ่มผู้นำอาจกดขี่ผู้ใต้ปกครองก็ได้ มากน้อยแล้วแต่อำนาจของผู้นำในสังคม คำว่า “ความสัมพันธ์ของอำนาจ” หมายถึง การได้รับอำนาจของบุคคลบางคนที่ทำให้สามารถจะใช้สถาบันต่างๆ ทางสังคมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งเป็นเรื่องของเอกชนและกลุ่มชนต่างๆ ในสังคม เพราะในทางปฏิบัติอำนาจเป็นสิ่งจำเป็นที่จะกำหนดหน้าที่ในการเสริมสร้างและคงอยู่ของข้อบังคับในสังคม ชนิดโครงสร้างทางการเมืองเฉพาะอย่าง หรือกระบวนการที่ผ่านทางคำสั่งของสังคมนั้น บรรลุโดยสังเกตจากค่านิยมที่ควบคุมสังคมหนึ่งๆ อยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ นั่นเอง

นักศึกษาในฐานะผู้นำท้องถิ่น
นักศึกษาเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลมากกลุ่มหนึ่งในสังคม และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปทุกประเทศซึ่งในความเป็นจริงแล้วพฤติกรรมของนักศึกษาไทยหาได้มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ หรือแสดงอิทธิพลเพื่อตนได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่ ตรงกันข้ามกลับมุ่งแสดงพฤติกรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนรวม หรือของประชาชน ส่วนในด้านอื่นๆ ก็มุ่งแสดงบทบาทในการพัฒนาสังคมมากกว่า จึงควรเป็นทั้งตัวเชื่อม และตัวเร่งโดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองและสังคมในท้องถิ่น

บทบาทของนักศึกษาในฐานะผู้นำท้องถิ่น
นักศึกษาควรมีบทบาทในการพัฒนาท้องถิ่นตามสมควร โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัดและมีโอกาสได้เรียนต่อในระดับสูง แต่ต้องดำเนินไปในขอบเขตของกฎหมาย กาละ และเทศะที่สมควรเพราะเป็นการทำงานเพื่อสาธารณะและอุดมคติ คือ ช่วยกันพัฒนาประเทศให้เจริญ


โครงการพัฒนาการเมืองท้องถิ่น ที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ
โครงการอาสาพัฒนาและป้องกันตัวเอง (อพป.)
โครงการอาสาพัฒนาและป้องกันตัวเอง (อพป.) เป็นโครงการเพิ่งปรากฏในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 โดยมุ่งสนับสนุนให้ประชาชนมีการพัฒนาแบบเปิดเสร็จทุกด้านและมีความสามารถในการป้องกันตนเองได้ซึ่งได้เริ่มในสมัยรัฐบาล นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี มุ่งพัฒนาประชาชนในชนบทเป็นเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการพัฒนาตนเอง ตลอดจนชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อีกทั้งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย
ความจำเป็นและความสำคัญของโครงการ อพป. เป็นโครงการที่จะรวมเอาโครงการพัฒนาบริการสาขาต่างๆ และการป้องกันของหน่วยต่างๆ ในระดับหมู่บ้านเข้าด้วยกัน โดยอาศัยหลักการบริหารแบบร่วมกันของงานเดียวกันหรือหน่วยงานเดียวกัน เพื่อผนึกกำลังเข้าเสริมสร้างให้หมู่บ้านชนบทมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมขจัดการทำงานซ้ำซ้อน มีการใช้เครื่องมือพัฒนาและป้องกันตนเองในระดับหมู่บ้านเกิดผลสูงสุด
จุดมุ่งหมาย เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาและป้องกันตนเองในระดับหมู่บ้าน โดยให้ราษฎรในหมู่บ้านมีส่วนรับผิดชอบในการบริหารงานของหมู่บ้าน และต่อต้านการก่อการร้ายด้วยตนเองเป็นหลักตลอดจนร่วมมือในกิจกรรมต่างๆ ของรัฐบาลด้วย เรื่องสำคัญของโครงการนี้มี 2 ประการ คือ การรักษาความปลอดภัยในชนบท และการพัฒนาชนบทในทุกสาขา
การดำเนินงาน นอกจากจะดำเนินการตาม พ.ร.บ. หมู่บ้านอาสาพัฒนา พ.ศ.2518 แล้ว ยังต้องมีศูนย์ประสานงานเพื่อบริหารและกำกับดูแลการปฏิบัติงาน และรายงานผลให้มีประสิทธิภาพ เรียกว่า ศูนย์อาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (ศอพป.ฯ) โดยมีเจ้าหน้าที่ดำเนินงานที่อยู่เดิมของหน่วยงานต่างๆ หน่วยงานหลักในโครงการคือ กองทัพต่างๆ ที่จะต้องสนับสนุนชุดฝึกอบรมเคลื่อนที่เพื่อไปอบรมประชาชนในหมู่บ้านให้รู้จักวิธีป้องกันตนเอง และรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านนอกจากนี้ยังมีหน่วยงานหลักที่สำคัญ คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตร กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งสนับสนุนด้านพัฒนาบริการ โครงการ อพป. จะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี ในการสำรวจวางแผนปฏิบัติการขยายการปฏิบัติและวัดโครงการ โดยใช้เงินงบประมาณเริ่มโครงการทดสอบในปี พ.ศ.2518 เพื่อฝึกด้านการรักษาความปลอดภัยตลอดจนการส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง
วิธีปฏิบัติตามโครงการ ให้เจ้าหน้าที่ศึกษารายละเอียดโครงการ อพป. โดยมีส่วนกลางสนับสนุนจัดเอกสารคู่มือรักษาความปลอดภัย เตรียมพร้อมด้านกำลังคนและข้อมูลเมื่อได้รับการร้องขอจากส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายวางแผนจะทำการสำรวจข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อกำหนดความเร่งด่วนของหมู่บ้านเบื้องตนที่จะจัดและฝึกอบรม อีกทั้งส่วนกลางจะรับผิดชอบ ในการจัดหาอาวุธให้ราษฎร ในชุดรักษาความปลอดภัย ตลอดจนด้านการพัฒนาเพื่อ พิจารณาปรับปรุงแก้ไขแล้วทำการขยายการฝึกระบบบริหารหมู่บ้านขึ้นในหมู่บ้านต่างๆ มีการจัดตั้งกลุ่มราษฎรที่อาสาสมัคร และได้รับเลือกตั้งขึ้นเป็นชุดบริหารหมู่บ้านทำหน้าที่บริหารงานโดยมีคณะกรรมการกลางหมู่บ้านอาสาพัฒนา ประกอบด้วย หัวหน้าหมู่บ้าน รองหัวหน้า 2 คน และกรรมการอื่น ๆ 3 - 5 คน ทำหน้าที่เป็นสภาบริหารของหมู่บ้าน โดยผ่านคณะกรรมการบริหารหมู่บ้าน 6 คณะ คือ
1. คณะกรรมการพัฒนาหมู่บ้าน ดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาหมู่บ้านในด้านต่างๆ รวมทั้งแนะนำราษฎรให้มีความเข้าใจระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยและในการปกครองท้องถิ่น
2. คณะกรรมการการปกครอง มีหน้าที่รักษาความสงบเรียกร้อย และเรียกประชุมเพื่อชี้แจงความเป็นไปของการปกครองตลอดจนปัญหาต่างๆ ในการบริหาร
3. คณะกรรมการป้องกัน มีหน้าที่จัดหน่วยกำลังคุ้มครองภายในหมู่บ้าน
4. คณะกรรมการคลัง มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินของหมู่บ้าน
5. คณะกรรมการอนามัย มีหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล และการสาธารณสุขในหมู่บ้าน
6. คณะกรรมการการศึกษาและวัฒนธรรม มีหน้าที่เกี่ยวกับการให้การศึกษา ตลอดจนกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรม การกีฬา การพักผ่อนหย่อนใจ
สรุป โครงการ อพป. จัดตั้งขึ้นเพื่อสนองวัตถุประสงค์ ในการรักษาความปลอดภัยและความมั่นคงของชาติเป็นหลัก นอกจากนี้การประสานในการพัฒนาชาติ สร้างความมั่งคงด้านเศรษฐกิจและสังคมตลอดจนการเมืองการปกครองในระดับพื้นฐาน และยังเป็นการส่งเสริมการปกครองและการพัฒนาท้องถิ่นที่สำคัญ อีกทั้งถือได้ว่าการจัดตั้งหมู่บ้านอาสาพัฒนาเป็นการจัดตั้งรูปการปกครองท้องถิ่นรูปพิเศษอีกด้วย




โครงการพัฒนาพลเมืองระบอบประชาธิปไตย (พพป)
1. วัตถุประสงค์ เพื่อทำให้ประชาชนทั่วประเทศมีความสนใจและเอาใจใส่กิจการบ้านเมืองยิ่งขึ้น ฝึกฝนให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐบาลได้มีความรู้ความชำนาญ ตลอดจนทัศนคติในการปฏิบัติตนและปฏิบัติงานเพื่อสนองความต้องการของชุมชน นอกจากนี้ก็เพื่อให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลมีความรู้ความเข้าใจ และมีความศรัทธาในหลักการเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ทางการเมือง ในระบอบการปกครอง ซึ่งจะได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
2. เงื่อนไขสำคัญทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนมีอำนาจในการปกครองตนเอง หมายถึง มีสิทธิและหน้าที่ทางการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ตลอดจนชุมชนหรือท้องถิ่นมีกำลังความสามารถที่จะช่วยตนเองได้
3. ขั้นตอนการดำเนินงาน ต้องมีเวลาเพียงพอเพื่อการนำชี้แจงแก่ประชาชนทั่วประเทศให้ทราบถึงสิทธิและหน้าที่ในการเมืองตลอดจนวิธีการเลือกตั้ง ซึ่งอย่างน้อยต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี นอกจากนี้ท้องถิ่นต้องมีเงิน คน วัสดุ และอำนาจในการบริหารงานเพียงพอ ต่อจากนี้ก็ดำเนินการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่รัฐบาล, เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และประชาชนให้ตระหนักในคุณค่าของการปกครองท้องถิ่น ในลักษณะที่ว่า เป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน มีการประสานงานโครงการ ปฐมนิเทศกรรมการจังหวัดและสมาชิกสภาจังหวัดกับการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เทคนิคส่วนจังหวัด เพื่อเริ่มโครงการตามโครงการเร่งรัดพัฒนาชนบทให้สอดคล้องกับความกับเป้าหมายตามโครงการพัฒนาพลเมืองระบอบประชาธิปไตย ขั้นต่อไปจะเริ่มดำเนินการฝึกอบรมปลัดจังหวัดและนายอำเภอตามโครงการฝึกอบรมโดยจัดหลักสูตรให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ของโครงการ จากนั้นก็ทำการฝึกอบรมหัวหน้าส่วนราชการของอำเภอ ที่มีความเกี่ยวข้องกับโครงการเร่งรัดพัฒนาชนบท แล้วจึงเริ่มดำเนินการฝึกอบรมคณะกรรมการตำบลและสมาชิกสภาตำบล รวมทั้งผู้นำท้องถิ่นตามโครงการนี้
4. วิธีดำเนินงาน ดำเนินการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่รัฐบาล เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และประชาชนโดยยึดถือเอาองค์การบริหารส่วนตำบลและสภาตำบลเป็นเป้าหมายแรก อีกทั้งจะได้ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพต่างๆ ขึ้น สำหรับท้องที่ที่เป็นเขตชุมชนหนาแน่นจะยึดถือเอาเทศบางหรือสุขาภิบาล เป็นเป้าหมายในการพัฒนา โดยการฝึกอบรมจะใช้การอภิปรายการทดลองให้ปฏิบัติ
5. ประสานงานระหว่างหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าของเรื่องในการดำเนินงานตามโครงการจึงจำเป็นต้องมีการประสานงานและรับความร่วมมือ จากหน่วยงานราชการ เช่น กระทรวงศึกษาธิการในด้านการให้การศึกษาอบรมตามหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับโครงการ, สำนักนายกรัฐมนตรีในด้านการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ตลอดจนด้านการจัดตั้งหน่วยประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ในภูมิภาคให้เพียงพอตามมติคณะรัฐมนตรี, กระทรวงเกษตร ในด้านกสิกรรม ประมง ป่าไม้ ปศุสัตว์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามโครงการเร่งรัดชนบท, กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติในด้านพัฒนาที่ดิน การชลประทาน การสหกรณ์ กรมทางหลวงแผ่นดิน และการทางหลวงจังหวัด
6. การงบประมาณ จะได้ร่วมพิจารณาสำนักงานประมาณเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในด้านการดำเนินงาน โครงการ รวมทั้งงบประมาณเกี่ยวกับอัตราเงินเดือนของเจ้าหน้าที่
7. ผลที่คาดว่าจะได้รับ ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการดำเนินโครงการ เช่น การฝึกอบรมในระดับสภาตำบลอาจได้แนวทางในการที่จะกำหนดรูปองค์การ อำนาจหน้าที่ รายได้ของหน่วยการปกครองท้องถิ่น นอกจากนี้ยังจะช่วยให้ด้านการประสานนโยบายดำเนินงานในส่วนภูมิภาคของกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ให้แนบแน่นยิ่งขึ้น

หลักสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย สมควรที่จะได้พิจารณาถึงหลักสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยเสียก่อน เพื่อที่จะได้ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนอย่างถูกต้อง โดยแยกออกเป็น 2 ประเด็น คือ
(1) ประชาชนมีสิทธิในการดำเนินนโยบายในการควบคุมการบริหารงาน ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น คือประชาชนมีสิทธิ์เลือกผู้แทนของตนเข้าไปร่วมพิจารณากำหนดนโยบายบริหารประเทศในรัฐสภา และมีสิทธิเลือกผู้แทนของตนเข้าไปทำหน้าที่ในองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นรูปต่างๆ เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล ตำบล
(2) ประชาชนมีความสามารถที่จะปกครองตนเอง กล่าวคือ ประชาชนแต่ละคนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ และตระหนักในคุณค่าของการปกครองระบอบประชาธิปไตย

โครงการต่างๆที่สนับสนุนงานนี้ ได้แก่
1. โครงการเข้าถึงประชาชน เป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและให้กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่มีข้าราชการอยู่ในส่วนภูมิภาคให้ความร่วมมือ อีกทั้งเป็นแนวปฏิบัติงานของข้าราชการในส่วนภูมิภาค มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมมิตรภาพระหว่างข้าราชการกับประชาชน ตลอดจนเพื่อป้องกันและตอบโต้การแทรกซึมบ่อนทำลายของคอมมิวนิสต์ โครงการนี้เป็นโครงการหลักระยะยาวของแต่ละจังหวัด มีความสัมพันธ์และส่งเสริมโครงการพัฒนาเมืองระบอบประชาธิปไตยคือช่วยรัฐบาลเป็นของประชาชนและเพื่อประชาชน โดยอาศัยพฤติกรรมและทัศนคติของข้าราชการที่มีต่อประชาชนเป็นเป้าหมายที่จะรับการพัฒนา อันมีการฝึกอบรมต่างๆ เป็นอุปกรณ์สำคัญ
2. โครงการเร่งรัดพัฒนาชนบท เป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและให้กระทรวงมหาดไทยร่วมพิจารณาดำเนินตามข้อตกลงตามโครงการเร่งรัดพัฒนาชนบท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้บริเวณที่มีการถูกคุกคามจากคอมมิวนิสต์อยู่มากได้มีหน่วยงานที่จะดำเนินการได้อย่างเต็มที่การจัดหาน้ำ การสุขาภิบาล การอุตสาหกรรมชนบท ฯลฯ ทำให้ความต้องการอันแท้จริงของประชาชนได้รับการตอบสนองอย่างเต็มที่ และมีส่วนร่วมในการพิจารณาเสนอตลอดจนจัดลำดับความต้องการ จนมีความรู้สึกว่ามีส่วนเป็นเจ้าของและร่วมมีส่วนได้เสียกับรัฐบาล ซึ่งหน่วยงานนั้นได้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด โครงการนี้เป็นโครงการระยะยาวต่อเนื่องจึงมีความสัมพันธ์กับโครงการพัฒนาพลเมืองระบอบประชาธิปไตย คือ
- ทำให้มีความสามารถในการช่วยตนเองขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เพิ่มพูนขึ้นเพราะเป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นที่ถือได้ว่าเป็นสถาบันประชาธิปไตยที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่สุด
- ทำให้ฝ่ายบริการและฝ่ายนิติบัญญัติได้มีโอกาสพิจารณาจัดวางโครงการต่างๆ ให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น อีกทั้งเป็นโอกาสที่เหมาะที่สุดในการปรับปรุงให้เจ้าหน้าที่ส่วนภูมิภาคทั้งในระดับอำเภอและจังหวัดได้เปลี่ยนวิธีการและทัศนคติในการปฏิบัติงาน ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดให้เป็นประชาธิปไตยย่างแท้จริง และต้องทำการฝึกอบรมประชาชนในท้องถิ่นให้มีความเข้าใจ เห็นคุณค่า ตลอดจนให้ความร่วมมือกับทางราชการเป็นอย่างดี
3. โครงการฝึกอบรมข้าราชการส่วนภูมิภาคในระดับต่างๆ ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับโครงการพัฒนาพลเมืองระบอบประชาธิปไตย คือ ตรงกับมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบด้วยและความเห็นของสำนักนายกรัฐมนตรี จึงต้องทำอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่องทั่งที่สังกัดส่วนกลางตลอดส่วนภูมิภาคของกระทรวงมหาดไทย
4. การพัฒนาชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อความมั่นคงเป็นปึกแผ่นของหมู่บ้านและตำบลทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีส่วนร่วมในการปกครองร่วมกันอันเป็นพื้นฐานสำคัญของการปกครองท้องถิ่น
โดยที่การดำเนินงานตามโครงการพัฒนาพลเมืองระบอบประชาธิปไตยเป็นงานสำคัญ และงานใหญ่มีขอบเขตและภาระในการดำเนินงานกว้างขวางจึงต้องได้รับการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ในการวางโครงรูปของงาน อันประกอบไปด้วยการกำหนดวัตถุประสงค์ให้แน่ชัด มีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในด้านนี้โดยเฉพาะ และจะต้องมีขั้นตอนของการดำเนินงานเป็นไปโดยมีเหตุผล ซึ่งจะทำให้การลงมือปฏิบัติบรรลุผลสมความมุ่งหมายของรัฐบาล

โครงการพัฒนาชุมชน
การพัฒนาชุมชนเป็นวิธีการสร้างชุมชนให้เจริญโดยอาศัยกำลังความสามารถของประชาชน และความช่วยเหลือของรัฐบาลรวมกัน จึงประกอบด้วยหลักสำคัญ 2 ประการ คือ ความร่วมมือของประชาชน กับความช่วยเหลือของรัฐบาลหรือองค์การอื่นๆ สาเหตุที่ต้องมีการพัฒนาหมู่บ้านชนบทเพราะมีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 80% ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติ และมีปัญหาอันเป็นอุปสรรคต่อความเจริญของชาวชนบท ได้แก่ การผลิตให้ผลต่ำ, ขาดเครดิตและตลาด, ขาดน้ำดื่มและน้ำใช้ในการชลประทาน, ขาดถนน, ขาดอาหารและสุขภาพที่ดี, โอกาสที่จะหางานทำมีจำกัด, โอกาสที่จะศึกษาอมรมไม่ได้รับเพียงพอ, ความเป็นอยู่ของครอบครัวไม่ดี, สภาพหมู่บ้านไม่งดงามน่าดูและบ้านเรือนไม่เป็นระเบียบ, และองค์การในหมู่บ้านมีไม่เพียงพอ ดังนั้นการพัฒนาหมู่บ้านชนบทจึงเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ได้รวมเข้าเป็นสวนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ โดยมีกรรมวิธีเข้าถึงประชาชน 2 ประการ คือ
1. ใช้วิธีการให้การศึกษาด้วยเครื่องมือส่งเสริมความสนใจของประชาชน เช่น เครื่องโสตทัศนศึกษาได้แก่ ฟิล์มภาพยนตร์, ภาพโปสเตอร์ ฯลฯ
2. ทำงานกับกลุ่มประชาชนที่มีอยู่แล้วหรือจัดตังกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจ เช่น คณะกรรมการพัฒนาหมู่บ้าน กลุ่มอาชีพ เป็นต้น

วัตถุประสงค์ของการพัฒนาชุมชน คือ ความมุ่งหมายของการทำงานที่จะพยายามให้บรรลุถึงหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในทางที่ดีกว่าเดิม ได้แก่ การปรับปรุงส่งเสริมการครองชีพของประชาชนในชนบทให้ดีขึ้น, ประชาชนได้ใช้ความสามารถของตนเองในการทำงาน และส่งเสริมให้ทำงานร่วมกันตามแบบประชาธิปไตย จนสามารถยกตำบลให้หน่วยการปกครองท้องถิ่น เพื่อขจัดปัญหาต่างๆ เช่น ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความยากจนและความเจ็บป่วย เป็นต้น
นโยบาย มีดังนี้
1. กระตุ้นเตือนประชาชนให้มีความคิดริเริ่ม เกิดความต้องการในสิ่งที่จำเป็นต่อการครองชีพ และร่วมกันทำงานตามความสามารถของตน
2. ฝึกอบรมให้ประชาชนมีความรู้ความสามารถในวิธีประกอบอาชีพแผนใหม่ และฝีมือในการทำงานประเภทต่างๆ
3. ทำงานกับกลุ่มประชาชนเพื่อให้เกิดพลังในการทำงาน และฝึกดำเนินงานตามแบบประชาธิปไตย
จุดหมายในการปฏิบัติงานพัฒนาชุมชน มี 6 ประการ คือ
1. ส่งเสริมการผลิตให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น
2. ส่งเสริมการสร้างสาธารณสมบัติ
3. ส่งเสริมการอนามัยและสุขาภิบาล
4. ส่งเสริมการศึกษา สันทนาการ และฝึกอบรมเยาวชน
5. ส่งเสริมวัฒนธรรมของหมู่บ้าน
6. ส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น

พัฒนาการ คือ เจ้าหน้าที่ที่ถูกส่งไปประจำตำบลต่างๆ ที่เปิดเป็นเขตพัฒนาอำเภอ ตำบลละ 1 คน เพื่อเป็นผู้ให้การศึกษา รวมกลุ่มคนทำงาน และเป็นผู้ประสานงานระหว่างประชากรกับทางราชการตลอดจนเป็นเจ้าหน้าที่หลักในการดำเนินงานในชุมชนชนบท
ขั้นตอนการดำเนินงานของพัฒนากร เริ่มงานโดยการสำรวจเบื้องต้นในตำบลที่รับผิดชอบ เป็นเวลา 4 เดือน เพื่อทราบความต้องการของประชาชนแล้วนำมาเป็นหลักในการวางโครงการ ทำให้ได้สถิติเบื้องต้นของเขตพัฒนาอำเภอเพื่อประเมินผล และเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างพัฒนากรกับชาวบ้าน ต่อจากนั้นจึงให้ราษฎรเลือกตั้งคณะกรรมการพัฒนาหมู่บ้านเป็นสถาบันกลางในการพิจารณาพัฒนาหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 5 – 9 คน โดยร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาตำบลในการวางแผนพัฒนาชุมชนระยะยาว (5ปี) ในระดับตำบลซึ่งโครงการพัฒนาหมู่บ้านจะเสนอขึ้นมาโดย กพม. เป็นประจำทุกปี
ลักษณะหน้าที่และการทำงานของพัฒนากร ขอบเขตในการทำงานของพัฒนากรกว้างขวางกว่างานราชการธรรมดา พัฒนากรจะต้องใช้ชีวิตทั้งหมดหรือส่วนใหญ่อยู่กับหมู่บ้าน และงานก็เป็นงานที่แตกต่างจากงานอื่น คือเป็นงานที่ใช้ความรักความเมตตาเป็นที่ตั้ง จึงเป็นเจ้าหน้าที่ที่รัฐบาลอาจเรียกได้ว่าเป็นเพื่อนแท้ของชาวบ้าน อำนาจของพัฒนากรที่จะทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ได้แก่ ความรัก ความบริสุทธิ์ใจ เหตุผลและสติสัมปชัญญะในการครองชีวิตที่ชาวบ้านเข้าใจและเรียกร้อง ตลอดจนเป็นอำนาจของการชักจูงที่เกิดจากศรัทธาและความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างชาวบ้านกับตัวพัฒนากรเอง ซึ่งลักษณะอันเป็นอัจฉริยะยอดเยี่ยมของงานในหน้าที่พัฒนากรที่เห็นได้อย่างเด่นชัดมี 5 ประการ ดังนี้
1. พัฒนากรจะต้องเข้าไปอยู่ในหมู่บ้าน เป็นการเข้าไปอย่างสมาชิกคนหนึ่งของหมู่บ้านไปอยู่กับชาวบ้านโดยไม่ปฏิเสธความเป็นอยู่และความนึกคิดของชาวบ้าน สิ่งที่จะทำให้พัฒนากรผูกพันและทำงานอยู่กับชาบ้านได้โดยไม่รู้สึกท้องแท้และเบื่อหน่าย คือ “ความรักที่มีต่อชาวบ้านและรักชีวิตชนบท” ดังนั้น การเข้าไปอยู่ในหมู่บ้านของพัฒนากรต้องนำความรักของเขาไปด้วย โดยต้องรำลึกอยู่เสมอว่าที่ทำงาน ชีวิต ตลอดจนความสำเร็จในหน้าที่การทำงานไม่ได้อยู่ที่อำเภอหรือที่อื่นใด แต่อยู่ที่หมู่บ้านที่เขาได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ
2. พัฒนากรต้องเป็นนักประชาสัมพันธ์ที่ดี สิ่งแรกที่นักพัฒนากรควรกระทำเมื่อเข้าไปอยู่ในหมู่บ้าน คือ การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชาวบ้านหรือการเป็นนักประชาสัมพันธ์ภาคปฏิบัติที่ดี โดยการนำเอาทฤษฎีมนุษยสัมพันธ์มาใช้ให้ได้ผลอย่างจริงจังในระดับหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังต้องเป็นนักรวมกลุ่มที่ดีทำให้รู้จักใช้พลังกลุ่มให้เป็นประโยชน์ และพยายามชักจูงให้สถาบันของกลุ่มชนที่มีอยู่แล้ว รวมรวมกันเพื่อให้เกิดความมุ่งหมาย ให้เกิดประโยชน์ หรือสร้างสรรค์สิ่งที่มีคุณค่าแก่กลุ่ม เช่น ความคิด ปัญญา วิธีการทำงานใหม่ๆ การปรับปรุงกิจกรรมของชีวิตด้านต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว ความคิดริเริ่ม ตลอดจนสมรรถภาพในการทำงานร่วมกัน เป็นต้น
3. พัฒนากรมิใช่ผู้เชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะวิชา ถึงแม้ว่างานของพัฒนากรจะเป็นงานแบบงานอเนกประสงค์แต่ก็มิได้ทำงานซ้อนงาน โดยเฉพาะของกระทรวง ทบวง กรมนั้น พัฒนากรจะเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือเบื้องต้นที่ช่วยเหลือเบื้องต้นที่ร่วมกับชาวบ้าน ตอบปัญหาง่ายๆ แก่ชาวบ้านเป็นผู้นำนักวิชาการมาสู่ชาวบ้านเพื่อแก้ปัญหาของชาวบ้านให้สัมฤทธิ์ผล ดังนั้น จะเห็นได้ว่าพัฒนากรเป็นเพียงสื่อกลางที่จะเชื่อมโยงบริการทั้งหลายทั้งหมดของรัฐกับประชาชนให้เข้าถึงซึ่งกันและกัน
4. พัฒนากรต้องเป็นนักประสานงานที่ดี ในการประสานงานพัฒนากรจะต้องคำนึงถึงกาลเทศะและความพร้อมเพรียงของบริการทั้งสองฝ่าย อีกทั้ง จะต้องเข้าใจและเข้าถึงกลไกตลอดจนความละเอียดอ่อนแห่งความสัมพันธ์ของบุคคลและเจ้าหน้าที่ระดับสูง คือ ระดับอำเภอ จังหวัด และนักวิชาการบุคคลอื่นๆ อีกด้วย
5. พัฒนากรจะต้องเป็นนักสร้างผู้นำ เป็นหน้าที่ของพัฒนากรที่จะต้องค้นหาว่าในกลุ่มชาวบ้านนั้นมีผู้ใดควรจะเป็นผู้นำ ต่อจากนั้นเป็นผู้คอยให้กำลังใจตลอดจนเป็นผู้เสริมทักษะ แห่งการเป็นผู้นำให้แก่บุคคลนั้นๆ และทำหรือสร้างโอกาส และสถานการณ์ให้เขาได้แสดงบทบาทในการเป็นผู้นำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จุดหมายปลายทางของานพัฒนาชุมชนจะเพ่งเล็งไปถึงการพัฒนาบุคคล ถ้าสามารถสร้างผู้นำได้สำเร็จ ก็บรรลุวัตถุประสงค์และประโยชน์อื่นๆ ที่มุ่งหวังไว้ก็พรั่งพรูตามกันออกมา

หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ ก.ร.ป. กลาง
หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่เป็นหน่วยที่จัดขึ้นโดยเฉพาะ สำหรับเคลื่อนที่ออกไปช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดาร โดยรวมเจ้าหน้าที่จากระทรวง ทบวง กรม ต่าง ทั้งพลเรือน ตำรวจ และทหาร ทั้งนี้อยู่ในความควบคุม กำกับการ และประสานงานของกองอำนวยการกลาง กองอำนายการภาค และกองอำนายการเขต ภารกิจที่สำคัญคือ สำรวจความต้องการของประชาชน และสภาพท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลือเฉพาะหน้าตามความต้องการนั้นๆ อย่างเต็มที่ตามความสามารถ เช่น การปรับปรุงพื้นถนนในหมู่บ้าน การเจาะน้ำบาดาล การสร้างทำนบกั้นน้ำ การจัดตั้งสถานีอนามัย เป็นต้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องจัดเจ้าหน้าที่รวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 80 นาย โดยธรรมดาชุดพัฒนาการเคลื่อนที่จะทำงานประมาณ 45 วัน เสร็จ ต่อจากนั้นจึงโอนให้ฝ่ายปกครอง คือ กระทรวงมหาดไทยรับช่วงต่อไปในการพัฒนาตามโครงการระยะยาว โดยได้วางรูปแบบไว้ให้เรียบร้อยแล้ว ส่วนหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่จะถอนตัวกลับโยกย้ายเปลี่ยนที่ไปพัฒนาท้องถิ่นอื่นต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น