1. ความนำ
คำว่า “การเมือง” โดยธรรมชาติของมันแล้ว หมายถึงพฤติกรรมของคนในสังคมซึ่งเกี่ยวพันกับกำลัง กฎ และอำนาจในการปกครอง ซึ่งนักปรัชญาตั้งแต่สมัยกรีกจนถึงปัจจุบันก็เห็นพ้องกัน และการเมืองในสภาพของสังคมแต่ละสังคมย่อมไม่เหมือนกัน สำหรับการเมืองการปกครองของประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ย่อมมีปรัชญาและอุดมการณ์เป็นเอกเทศของสังคมไทยเองโดยเฉพาะ
2. ลักษณะสำคัญของการเมืองในสังคมทั่วไป
คำว่า “การเมือง” ดร.นิพนธ์ ศศิธร ให้บทนิยามเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาการเมืองไทยไว้ว่า ได้แก่ การระดมสมาชิกของชุมชนเพื่อการต่างๆ เช่น เพื่อความอยู่รอด ความสงบเรียบร้อย หรือความเจริญรุ่งเรื่องของชุมชนนั้น ชุมชนย่อมประกอบไปด้วยสมาชิกที่มีความคิดและความต้องการที่แตกต่างกัน “การเมือง” คือ การทำให้จิตใจที่แตกต่างกันของคนจำนวนมากมายเป็นคนเดียวกัน มีจิตใจเดียวกัน เพื่อบรรลุความสำเร็จที่ต้องการร่วมกัน โดยมีเครื่องเชื่อม คือ ศาสนา ชาตินิยม และลัทธิการเมือง ซึ่งจะทำให้เกิดปรัชญาและอุดมการณ์จนเกิดเป็นพลังและขบวนการ โดยจะต้องมีการจัดระเบียบองค์การเพื่อลัทธิหรืออุดมการณ์นั้นๆ
การเมืองที่เจริญแล้วจะมีสิทธิภาพที่แท้จริงได้ต้องประกอบไปด้วยปัจจัย 4 ประการ คือ
(1) ต้องมีลัทธิการเมืองหรืออุดมการณ์
(2) ต้องมีการจัดระเบียบองค์การ
(3) ต้องมีการแยกอำนาจทางการเมืองออกจากอำนาจราชการ โดยให้อำนาจการเมืองอยู่เหนือราชการ
(4) อำนาจการเมืองจะมีจริงได้ด้วยอาศัยประชาชนรวมกันเป็นกลุ่มองค์การ หรือสถาบันที่แน่นแฟ้นและต่อเนื่อง
เมื่อพิจารณา 4 ข้อ ข้างต้นแล้วจะเห็นได้ว่าสังคมไทยขาดลัทธิการเมืองหรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่แท้จริง ยังไม่มีการจัดระเบียบองค์การเป็นการถาวรและต่อเนื่อง มีแต่การจัดระเบียบองค์การฝ่ายราชการเท่านั้น ฝ่ายประชาชนที่แท้จริงไม่ค่อยมี ดังนั้น การเมืองในสังคมไทยจึงต้องสร้างปัจจัยที่จำเป็น 4 ประการ ดังกล่าว และจะเกิดผลดีได้ก็ต้องอาศัยสภาพแวดล้อมสังคมไทยเป็นเครื่องพิจารณา โดยเฉพาะภาวะผู้นำและพลังกลุ่มในสังคมไทยตัวช่วย
3. ปัญหาปรัชญาและอุดมการณ์ทางการเมืองของไทย
มีหลักกรและเหตุผลในการสังเกตดูปรัชญาและอุดมการณ์ทางการเมือง การปกครองของไทยได้จากประวัติศาสตร์ ศาสนา และวรรณคดี บางเรื่องที่สะท้อนให้เห็นปรัชญาการเมืองของคนไทย ซึ่งสังคมไทยอยู่รอดมาได้ทุกยุคสมัยโดยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของชาติใด นั่นคือ “การรู้จักรักษาตัวรอด” อีกทั้งเราพอจะจับเค้าเงื่อนของปัญหาปรัชญาไทยเกี่ยวกับนโยบายและจิตใจของคนไทยในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ได้ดีจากวรรณคดีไทยเรื่อง พระอภัยมณี ของสุนทรภู่ เช่น “รู้สิ่งใดไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการปกครองของไทยจึงคล้อยตามคุณค่าสังคมของชาติไทย มากกว่าจะเห็นการนำเอาระบอบการปกครองแบบตะวันตกเข้ามาใช้โดยมิได้ปรับปรุงให้เข้ากับสังคมไทยเลย ผลก็คือประเทศไทยไม่มีอุดมการณ์หรือปรัชญาทางการเมืองและการปกครองที่แน่นอน นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เพราะการเมืองไทยมีวงจรอยู่เพียงการแก่งแย่งอำนาจกันของกลุ่มผู้นำในคณะราษฎรและมีการแก่งแย่งชิงอำนาจระหว่างฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน อีกทั้งประชาชนชาวไทยมักไม่ชอบยุ่งกับการเมืองเพราะถือว่าเป็นการปกครองเป็นเรื่องของรัฐบาล โดยหน้าที่ของประชาชนคือต้องเป็นผู้อยู่ในโอวาทของผู้ใหญ่(รัฐบาล) นอกจากนี้ชนชั้นนำที่จะนำประเทศไทยไปสู่ประชาธิปไตย คือ ปัญญาชน ซึ่งเป็นชนชั้นกลางที่นิยมรับราชการ ทำให้ข้าราชการมีบทบาทมากกว่าผู้อื่น ประชาธิปไตยจึงขึ้นอยู่กับผู้นำทางการบริหารแต่พวกเดียวสำหรับพรรคการเมืองอันเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเมืองระบอบประชาธิปไตย มักจะแสวงหาประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวมเนื่องจากข้าราชการและพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมานั้นแทบจะไม่มีปรัชญาและอุดมการณ์ทางการเมืองเลย และยังมีความแตกแยกมากมาย ตลอดจนพรรคการเมืองของไทยยังเป็นพรรคการเมืองของกลุ่มผลประโยชน์ที่ตั้งขึ้นในเมืองหลวงเพียงเพื่อการเลือกตั้งชั่วคราว ไม่ได้มีรากฐานมาจากประชาชนส่วนใหญ่ในท้องถิ่นที่แท้จริง จึงทำให้ปรัชญาอุดมการณ์และนโยบายทางการเมืองไม่มั่นคง พรรคอ่อนแอ ทำให้ระบบพรรคไม่เป็นที่นิยม กลับนิยมในส่วนตัวกันมากกว่า
4. การเสริมหลักประชาธิปไตยของสังคมไทย
ดร.สมพร แสงชัย เห็นว่าหลักการหรืออุดมการณ์ที่ดีควรนำกลับมาใช้อีก คือ
(1) ความรู้สึกตัวอยู่เสมอของข้าราชการและนักการเมืองทั้งหลาย ว่าตนเป็นข้าของพระเจ้าแผ่นดินทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งตามหลักการนี้ย่อมไม่ขัดต่อขนบธรรมเนียม ประเพณี และความเชื่อถือของประชาชน
(2) ควรนำหลักการปกครองระบบพ่อกับลูกกลับมาใช้ โดยต้องทำตัวให้ดี ใกล้ชิดกับประชาชน และให้ความยุติธรรม
(3) ควรนำหลักทศพิธราชธรรมซึ่งเป็นหลักของพระเจ้าแผ่นดินและมีมาแต่โบราณนำกลับมาใช้อีกครั้ง
การฟื้นฟูหลักการสำคัญทั้ง 3 ประการจะทำให้การปกครองประชาธิปไตยแบบไทยๆ ประกอบด้วย อุดมการณ์ที่จะนำไปสู่ความเป็นระเบียบ เรียบร้อยและความสงบสุขของประชาชน โดยอาศัยหลักปรัชญาตลอดจนการมีผู้นำที่ดี มีหลักธรรม และเป็นที่น่าสังเกตว่าสังคมไทยนั้นมีความสามารถในการผสมกลมกลืนและสมานประโยชน์ระหว่างคนในสังคมเป็นอย่างดี เน้นทางด้านปรัชญากับจิตนิยมมากกว่าสสารนิยม เช่น ชาวไทยเห็นว่าจิตใจสำคัญกว่าวัตถุ จึงมีความเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม อันเป็นการสอดคล้องกับหลักพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นพื้นฐานการดำรงชีวิตที่ดีและการปกครองที่ดีของคนในสังคม และกฎแห่งความเป็นไปของคน คือกฎแห่งความเป็นอนิจจัง
5. การปฏิรูปสังคมในด้านปรัชญา
หลักฐานที่เราจะสืบค้นหาปรัชญาไทย ได้แก่ ตำราประวัติศาสตร์ วรรณคดี และคัมภีร์ทางศาสนา คนไทยที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคมตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน ย่อมต้องมีความเชื่อ ลักษณะนิสัย คุณธรรมประจำชาติ ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และระบบการปกครอง การวิเคราะห์ทั้งในด้านดีและไม่ดี ซึ่งการวิเคราะห์ปรัชญานี้จะนำไปสู่การปฏิรูปสังคมไทยในด้านปรัชญา หมายถึง การเลือกสรรสิ่งที่ดีไว้ และพิทักษ์รักษาให้คงอยู่ เพื่อให้สังคมไทยมีหลักการอันแน่นอนและมั่นคง พร้อมก้าวหน้าไปสู่จุดหมายที่ประสงค์
5.1 ในด้านความเชื่อ คนไทยเป็นผู้มีศาสนา เชื่อบุญ-บาป เชื่อการเวียนว่ายตายเกิดซึ่งเป็นลักษณะประการหนึ่งของปรัชญาจิตนิยม คนไทยจึงเป็นนักจิตวิทยาแต่เป็นเพียงระดับกลางฯ คืนสนใจทั้งเรื่องจิตและเรื่องวัตถุไปพร้อมๆ กัน ดังนั้นถ้าจะปฏิรูปในด้านความเชื่อก็จะต้องทำให้คนไทยมีความเชื่ออย่างมีเหตุผล ซึ่งก็ได้แก่ ปรัชญาของพุทธศาสนา อันเป็นปรัชญาแห่งความหลุดพ้น เช่น ปรับปรุงเศรษฐกิจให้ทุกคนมีงานทำ มีความอยู่ดีกินดี และหลุดพ้นจากความเชื่อ เป็นต้น
5.2 ในด้านลักษณะนิสัย คนไทยเป็นผู้รักอิสรภาพ เสรีภาพ และสันติภาพ ตลอดจนรู้รักษาตัวรอด ดังนั้น การปฏิรูปในเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการให้การศึกษาแก่ประชาชน ให้สำนึกในความเป็นไทย เน้นอุดมการณ์แห่งธรรมชาติ นำอุดมการณ์มาเป็นหลักในการดำเนินไปสู่จุดหมาย อีกทั้งต้องมีการปฏิรูประเบียบสังคมและค่านิยมให้ทุกคนมีความสำนึกในหน้าที่ ภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน สำนึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมีส่วนสร้างสังคมตามอุดมการณ์ ซึ่งจะช่วยให้คนไทยมีคุณภาพทั้งด้านความคิด และความสามารถโดยยึดมั่นในหลักปรัชญาไทย อันจะทำให้มีความเป็นไทยอย่างสมบูรณ์และสร้างสังคมไทยให้เจริญก้าวหน้า ตามอุดมการณ์ แบบไทย
5.3 ในด้านคุณธรรมประจำชาติ คนไทยเป็นคนเปิดเผย เป็นมิตรกับคนทุกชาติ จนได้รับสมญาว่า “สยามเมืองยิ้ม” การปฏิรูปเรื่องนี้คือ ควรรักษาคุณธรรมประจำชาติที่ดีงามไว้ โดยเฉพาะต้องมีการปรับปรุงระบบเศรษฐกิจจากระบบปัจเจกนิยมไปสู่ระบบสหกรณ์หรือระบบรัฐสวัสดิการ ตลอดจนการอมรมให้มีนิสัยรักการทำงานที่สุจริต
5.4 ในด้านระบบการปกครอง ประเทศไทยปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งเป็นสถาบันหลักการปฏิรูปที่จำเป็นต้องทำอยู่ที่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร กล่าวคือ ต้องมีรัฐธรรมนูญตามหลักปรัชญาไทย แล้วใช้วิธีการประชาธิปไตย แบบไทย เพื่อดำเนินไปสู่จุดหมายชั้นต้น คือ ความอยู่รอดของชาติความสงบสุขของสังคม และความสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจ
วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น