การจัดการปกครองประเทศของประเทศไทยได้นำเอาหลักการรวมอำนาจ หลักการแบ่งอำนาจ และหลักการกระจายอำนาจ มาใช้ผสมผสานกัน กล่าวคือ พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินได้กำหนดออกเป็น 3 ส่วน คือ
1. ระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง ซึ่งจัดเป็นสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม โดยคณะรัฐมนตรี เป็นผู้กำหนดนโยบาย ดำเนินการจัดระเบียบบริหารราชการตามหลักการรวมอำนาจ
2. ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค เป็นการแบ่งอำนาจของราชการบริหารส่วนกลางให้กับหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัด และอำเภอ เพื่อนำนโยบายของส่วนกลางไปปฏิบัติในเขตพื้นที่ต่างๆ ของประเทศเป็นการดำเนินงานตามหลักการแบ่งอำนาจ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของหลักการรวมอำนาจ
3. การจัดการปกครองโดยใช้หลักการกระจายอำนาจ ประเทศไทยใช้ควบคู่ไปกับหลักการรวมอำนาจเป็นการกระจายอำนาจของรัฐไปสู่ประชาชนในท้องถิ่นเพื่อให้มีส่วนร่วมในการปกครองตนเองในรูปต่างๆ ซึ่งได้กำหนดให้มีในรูปแบบต่างๆ เช่น เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา
ปัจจุบันประเทศไทยมีการปกครองโดยยึดอุดมการณ์ในระบอบประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด โดยมีเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมให้มีการกระจายอำนาจเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่นสำหรับรัฐธรรมนูญปัจจุบันได้บัญญัติถึงการปกครองท้องถิ่นไว้โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
(1) การจัดการปกครองต้องเป็นไปตามหลักการปกครองตนเอง ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น ตลอดจนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ส่วนการควบคุมหรือกำกับดูและต้องทำเท่าที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองประโยชน์ในท้องถิ่น หรือประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ
(2) การจัดระเบียบการปกครองต้องมีสภาท้องถิ่น และคณะผู้บริหารท้องถิ่น
(3) สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งเป็นหลัก การแต่งตั้งจะกระทำเฉพาะกรณีที่จำเป็นตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และจำนวนน้อยกว่าที่มากจากการเลือกตั้งซึ่งใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ
(4) คณะผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งเป็นหลัก การแต่งตั้งกระทำได้เฉพาะกรณีที่จำเป็นตามกฎหมาย
การจัดการปกครองท้องถิ่นของไทยในปัจจุบันดำเนินการตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามหลักการกระจายอำนาจ และกำหนดให้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ดังนี้
(1) องค์การบริหารส่วนจังหวัด
(2) เทศบาล
(3) สุขาภิบาล
(4) ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่กฎหมายกำหนด
ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินจะมีรูปการปกครองท้องถิ่น 3 รูป คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และสุขาภิบาล ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในท้องถิ่นต่างๆ ของประเทศ สำหรับราชการส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ กรุงเทพฯ และเมืองพัทยา เป็นการปกครองท้องถิ่นในรูปพิเศษ มีเฉพาะท้องถิ่น ดังนั้น ปัจจุบันองค์การปกครองท้องถิ่นไทย จึง มี 5 รูปด้วยกัน คือ
(1) องค์การบริหารส่วนจังหวัด มี พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ.2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
(2) เทศบาง มี พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 กับฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
(3) สุขาภิบาล มี พ.ร.บ. สุขาภิบาล พ.ศ.2495 กับฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
(4) กรุงเทพมหานคร มี พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528
(5) เมืองพัทยา มี พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2551 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2523
วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ขออนุญาตเสริมนิดหนึ่งครับ
ตอบลบอบต. ตั้งตาม พรบ.สภาตำบลและ อบต.2537 และแก้ไขเพิ่มเติม
สุขาภิบาล ยุบยกเลิกไปเป็น เทศบาลตำบล เมื่อ ปี 2542 ครับผม