วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2554

การปกครองท้องถิ่นของไทย

ในยุคที่การวิเคราะห์การเมืองในแนวทางพฤติกรรมศาสตร์ รุ่งเรือง เริ่มตั้งแต่ ทศวรรษ 1950 จนมาถึงก่อน สงครามเวียดนามยุติ[1] นักวิชาการทางรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสำนักพฤติกรรมศาสตร์ของ สหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึงการวิเคราะห์การเมืองและการศึกษาวิชารัฐสาสตร์โดยให้ความสำคัญที่ทฤษฎีเชิงประจักษ์ (empirical theory) โดยมีกระบวนการสร้างทฤษฎีการศึกษาวิจัยแบบ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ หรือ วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์
กล่าวคือ การสร้างทฤษฎีที่อาศัยการค้นคว้าวิจัยตามแนวของวิชาฟิสิกส์ เพื่อสร้างทฤษฎีแบบวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ เพื่อสามารถปรับ ประยุกต์ทฤษฎีดังกล่าวในการวิเคราะห์การเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
โดยมีฐานความเชื่อที่ว่า ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นนั้นมีแบบกระบวนการที่แน่นอน สามารถจะอธิบาย ได้ด้วยโครงสร้างทฤษฎีเชิงประจักษ์และอาจจะสามารถทำนาย ปรากฏการณ์ล่วงหน้าได้ถ้ามีการศึกษาค้นคว้าวิจัย ที่ดีพอ
แนวทิศทางการศึกษาวิเคราะห์การเมืองและรัฐศาสตร์ดังกล่าวมานั้น ได้นำไปสู่ความพยายามที่จะศึกษาเปรียบเทียบในเชิงหาลักษณะร่วมเพื่อสร้างทฤษฎีขึ้นเพื่อใช้วิเคราะห์การเมืองในบริบท ต่างๆ ได้ ทั้งนี้โดยไม่ให้น้ำหนักกับลักษณะพิเศษของสังคมหนึ่งๆ ซึ่งมีผลมาจากวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ [2]
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง สำนักพฤติกรรมศาสตร์เน้นเรื่องทฤษฎีสากลโดยไม่ให้ความสำคัญแก่ประวัติศาสตร์หรือลักษณะพิเศษของสังคม การวิเคราะห์การเมืองและรัฐศาสตร์กระทำโดยข้อมูลประจักษ์ที่เป็นตัวเลขเพื่อพิสูจน์สมมุติฐานที่ตั้งไว้เชิงวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์
การเป็นพลวัตของสำนักพฤติกรรมศาสตร์เริ่มเสื่อมคลายลงเมื่อปรากฏว่าการหมกมุ่นอยู่กับการสร้างทฤษฎี การเน้นวิธีการจนบ่อยครั้งขาดเนื้อหาสาระสำคัญ ซึ่งเป็นแก่นของความรู้และข่าวสาร ทำให้เกิดข้อกังขาถึงอรรถประโยชน์ ของการศึกษาแนวนี้ เพราะดูประหนึ่งจะเป็นการหลงใหลอยู่กับทฤษฎีในลักษณะนามธรรมมากกว่าใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง นอกเหนือจากนั้นข้อกล่าวอ้างเรื่องการวางตัวเป็นกลางในทางค่านิยมมากกว่าการใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง นอกเหนือจากนั้นข้อกล่าวอ้างเรื่องการวางตัวเป็นกลางในทางค่านิยมและการทำจิตว่าง ยังได้รับการโจมตีว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก
สภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกับการแตกแยกภายในของสังคมอเมริกัน โดยมีประเด็นมาจากสงครามเวียดนามและการขัดแย้งระหว่างเชื่อชาติ คือระหว่างคนผิวขาวและผิวดำ จนปรากฏเป็นปัญหาข้อขัดแย้งอย่างรุนแรง ประกอบกับเงินทุนวิจัยสำหรับศึกษาประเทศกำลังพัฒนา ได้ถูกตัดทอนลง โดย
รัฐบาลกลาง ทำให้นักวิชาการทางรัฐศาสตร์โดยเฉพาะกลุ่มศึกษาเปรียบเทียบ เริ่มตระหนักถึงความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลง จึงได้เกิดปรัชญาขึ้นใหม่ที่เรียกว่า หลังยุคพฤติกรรมศาสตร์ ซึ่งยอมรับการศึกษาโดยเน้นที่เนื้อหามากขึ้น นอกจากนี้ความขัดแย้งระหว่างสำนักปรัชญาการเมือง กับสำนักพฤติกรรมศาสตร์ก็ได้ลดน้อยลง และในปัจจุบันประสานกันมากขึ้น
สำหรับนักรัฐศาสตร์ไทย ที่ได้ศึกษามาจากประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ก็พลอยรับค่านิยมดังกล่าวมาแล้วด้วย โดยมีความคิดที่แตกต่างกันระหว่างสองสำนัก คือ
สำนักพฤติกรรมศาสตร์
สำนักปรัชญา
บางครั้งเกิดความรู้สึกแตกแยกจนเป็นการถกเถียงด้วยอารมณ์ แต่ก็มีความพยายามที่จะประสานความแตกแยกดังกล่าว โดยมองในแง่ที่ว่าการศึกษาของสำนักสามารถจะส่งเสริมซึ่งกันและกัน
ในขณะที่ทางรัฐศาสตร์ กำลังถกเถียงกันในเรื่องปรัชญาและพฤติกรรมศาสตร์นั้น สาขาวิชาประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย ได้มีกิจกรรมผลงานทั้งในด้านการวิจัย และสิ่งตีพิมพ์เกิดขึ้น สภาวะที่เกิดขึ้นนี้มีผลมาจากกระแสของการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์โดยนักประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์แบบที่แตกต่างไปจากสำนักประวัติศาสตร์เดิม
กล่าวคือเป็นการมองที่ประวัติศาสตร์ของสังคมแทนการเน้นผู้นำทางการเมืองหรือประวัติศาสตร์ราชวงศ์[3] ได้มีการค้นคว้าหาหลักฐานจากเอกสารเพื่อการตีความ ทำให้เห็นประวัติศาสตร์ไทยในมิติที่แตกต่างไปจากสำนักศึกษาแบบเก่า นอกเหนือจากนี้ สิ่งที่ทำให้วิชาประวัติศาสตร์มีสภาพพลวัตมากขึ้น ก็คือการเข้ามาศึกษาประวัติศาสตร์โดยนักเศรษฐศาสตร์การเมือง และนักรัฐศาสตร์บางท่าน
การเข้ามาของนักสังคมศาสตร์ทั้งสองแขนงในอาณาจักรของประวัติศาสตร์ได้นำไปสู่ปรากฏการณ์ใหม่อันสำคัญ คือการใช้กรอบทฤษฎีทางสังคมศาสตร์เข้ามาวิเคราะห์ประวัติศาสตร์







ประวัติศาสตร์การวิเคราะห์การเมืองไทย
การวิเคราะห์ศึกษาสังคมโดยทั่วไป รวมทั้งทางรัฐศาสตร์และการเมืองนั้นถ้าจะให้ผลการวิเคราะห์ออกมาควรจะต้องมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้คือ

ความรู้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์คือภาพความเป็นมาในอดีตและส่งผลต่อปัจจุบันในรูปของมรดกตกทอด ที่เห็นได้ชัดคือในเรื่องของความเชื่อและวัฒนธรรม ทัศนคติบางประการ สถาบันทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ก็ไม่ได้เกิดจากสุญญากาศ หากแต่มีการสืบต่อในหลายๆ ด้าน การเข้าใจประวัติศาสตร์ย่อมมีผลต่อความเข้าใจอย่างกระจ่างแจ้งในปัจจุบัน เหตุผลที่ก่อให้เกิดสภาวะอันนี้ก็เพราะว่าโดยทั่วๆ ไป มนุษย์ไม่ต้องการ และไม่กล้าแปรเปลี่ยนไปจากสิ่งเดิม
โดยส่วนใหญ่มนุษย์จะมีแนวโน้มที่จะรักษารูปแบบการกระทำที่มีมาแต่เดิม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น
จากสภาพการคงทนของวัฒนธรรม ค่านิยม ความเชื่อดังกล่าวมาแล้วนี้ทำให้เกิดความรู้สึกว่าในแง่หนึ่งประวัติศาสตร์ไม่ได้ขยับไปมากนัก ยกเว้นจะมีปรากฏการณ์สำคัญ ถ้าสังคมใดมีลักษณะที่ค่อนข้างจะหยุดนิ่งก็ยิ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงน้อยลง ซึ่งหมายความว่าการสืบเนื่องของประวัติศาสตร์จะมีมากขึ้น

ทฤษฎีทางสังคมศาสตร์
ทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ มีความเกี่ยวพันกับเรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม จิตวิทยา และจุดที่เน้นคือ ทฤษฎีในเชิงประจักษ์ในทางสังคมศาสตร์ และรัฐศาสตร์ นั้นช่วยให้การวิเคราะห์มีน้ำหนัก ตีความหมายได้กว้างและชี้ให้เห็นนัยต่างๆ ได้ ทั้งนี้เพราะทฤษฎีเชิงประจักษ์ คือสิ่งที่ได้รวบรวมมาจากกรณีตัวอย่างต่างๆ สามารถช่วยให้เห็นความหมายและนัยต่างๆ แทนที่จะมีแต่ข้อมูล ซึ่งเก็บรวบรวมได้ แต่ไม่สามารถตีความหมายได้

การวิจัยเชิงประจักษ์
การวิเคราะห์ การเมืองและรัฐศาสตร์จึ่งแต่ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ทฤษฎีรัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ยังไม่พอ จำเป็นต้องมีการวิจัยเชิงประจักษ์ เพื่อให้มีข้อมูลมาพิสูจน์หรือเสริมให้น้ำหนักการวิเคราะห์ ซึ่งในแง่นี้ก็คือ การวิจัยตามปกติที่เข้าใจกัน ซึ่งเป็นไปได้ทั้งวิจัยห้องสมุด และวิจัยภาคสนามตามกรรมวิธีต่างๆ กันแล้วแต่กรณี ตามหลังเทคนิคการวิจัย



โครงสร้างและสถาบัน
สถาบันพระมหากษัตริย์
สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันเก่าแก่ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาเป็นเวลาไม่น้อย สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นแกนกลางของสถาบันอื่น การรวมชาติ การปกครอง การจัดระบบเศรษฐกิจและสังคม ค่านิยมและปทัสถานของสังคม ล้วนแต่มีจุดพุ่งไปสู่ สถาบันพระมหากษัตริย์ สังคมไทยในอดีตจะเจริญรุ่งเรืองหรือเสื่อมโทรมก็มีผลมาจากสถาบันอันสำคัญนี้
สถาบันพระมหากษัตริย์ได้สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีการแปรเปลี่ยนไปในรูปแบบ แต่เนื้อหาสำคัญๆ ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง[4] การเข้าใจถึงวิวัฒนาการและความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์รวมทั้งบทบาทในแง่สถาบัน เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการวิเคราะห์การเมืองไทยทั้งในยุคสมัยโบราณและยุคปัจจุบัน

ศักดินา และไพร่
ควบคู่ กับสถาบันพระมหากษัตริย์ คือระบบศักดินา และระบบไพร่ ระบบศักดินาและระบบไพร่ คือการจัดระเบียบการเมือง การบริหาร สังคม และเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นกลไกสำคัญในการควบคุมอำนาจทางการเมืองและการจัดกำลังเพื่อการสู้รบทั้งในสงครามป้องกันตนเองและสงครามแผ่ราชอาณาจักร
ระบบศักดินาเป็นระบบที่จัดชนชั้นในสังคมให้มีความสูงต่ำเหลื่อมล้ำตามอำนาจและฐานะ เป็นดัชนีชีสถานะทางสังคมที่ออกมาเป็นตัวเลข เป็นกลไกของการจัดแบ่งฐานะและตำแหน่งของคนในทางการบริหาร หรือระบบราชการแบบจารีตนิยม
ระบบไพร่เป็นระบบการจัดระเบียบและคุมกำลังคนเพื่อการแบ่งสรรกำลังคนในกรมกองของรัฐ ของชนชั้นผู้นำ และการบริหาร เพื่อเป็นการเกณฑ์แรงงาน การเก็บภาษีและเพื่อการรบในยามสงคราม
การเข้าใจระบบศักดินาและระบบไพร่จะทำให้เห็นผลกระทบต่อการเมืองการปกครอง ต่อระบบสังคม เศรษฐกิจ จิตวิทยาและพฤติกรรมของคนไทย

สถาบันขุนนาง
สถาบันขุนนางเป็นศัพท์ที่ใช้โดยเจตนา ทั้งนี้แม้แต่ราชการในปัจจุบัน ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า Bureaucrat นั้นเป็นการเรียกที่ไม่ตรงกับสภาวะทางสังคมวิทยา Bureaucrat หรือ
องค์การาธิปัตย์[5] (องค์การ + อธิปัตย์) มีควาหมายในแง่การจัดตั้ง (organization) และปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายในลักษณะของรูป แบบในอุดมคติ (ideal - type)ของ Max Weber
การที่จะเข้าใจสถาบันข้าราชการและตัวข้าราชการในปัจจุบันได้เต็มสมบูรณ์ อาจจะต้องมีการศึกษาสถาบันขุนนาง
นอกจากข้าราชการพลเรือนแล้ว ทหารไทยเป็นส่วนหนึ่งของขุนนางไทย ก็ได้มีการสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ทหารเป็นสถาบันที่คู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์และสังคม พระมหากษัตริย์ในสมัยก่อนคือนักรบต้องยกทัพจับศึก การวิเคราะห์บทบาทของทหารไทยในทางการเมือง ก็คงมองข้ามสถาบันขุนนางและทหารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันขุนนางไม่ได้

อุดมการณ์ (Ideology)
อุดมการณ์ (Ideology) เป็นมโนทัศน์หลาย ๆ มโนทัศน์ หรือเป็นสังกัปต่าง ๆ หลายสังกัป ซึ่งนำมาเกี่ยวโยงซึ่งกันและกันให้ดูว่าเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน คือ เป็นปัจจัยเหตุปัจจัยผลต่อกันแบบไม่ลึกซึ้งนัก จึงขาดการสอดประสานเชิงตรรกวิทยา
อุดมการณ์จึงมีลักษณะเป็นกลาง ๆ คือ อาจจะมีความหมายไปในทางดีหรือไปในทางไม่ดีก็ได้ ส่วนอุดมคติมักหมายถึง สภาพการณ์ที่ดี คือ สภาพที่ควรมุ่งหวังและเชิดชูสำหรับตัวบุคคล ดังนั้นอุดมคติจึงมีความหมายเอนเอียงไปในทางบวก ในขณะที่อุดมการณ์มีความหมายไปในทางบวกหรือลบก็ได้
อุดมการณ์เกี่ยวข้องกับความเชื่อ ซึ่งในปัจจุบันมักถือกันว่าอุดมการณ์เป็นรูปแบบแห่งความคิดที่บุคคลมีความเชื่ออย่างแน่นแฟ้น เป็นเรื่องของท่าทีซึ่งมีอยู่แล้ว เป็นกลุ่มแห่งความคิดซึ่งกำหนดท่าที เป็นเจตคติ หรือทัศนคติของบุคคลต่อเรื่องต่าง ๆ ในสังคมทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ทฤษฎี (Theory)
การรู้ขั้นทฤษฎี คือ การรู้ว่ามโนทัศน์กลุ่มหนึ่งมีความเกี่ยวพันเป็นเหตุเป็นผลต่อกันอย่างไร เช่น ทฤษฎีประชาธิปไตย อาจประกอบด้วยมโนทัศน์ต่าง ๆ ดังนี้คือ สิทธิโดยธรรมชาติ สัญญาประชาคม อำนาจภายในขอบเขต กฎหมายที่ประชาชนมีส่วนในการร่าง สภาผู้แทน เสรีภาพในการพูด การเลือกตั้ง ฯลฯ
ทฤษฎีประชาธิปไตยในระดับทฤษฎีจะต้องมีการวางมโนทัศน์พื้นฐานเสียก่อน แล้วจึงค่อยเพิ่มมโนทัศน์อื่น ๆ เข้าไป คือ เป็นเสมือนอิฐที่ค่อย ๆ ก่อตัวสูงขึ้น และเป็นโครงสร้างที่สอดประสานสมส่วนกัน โดยขึ้นอยู่กับเหตุผลหรือตรรกวิทยา ซึ่งแสดงความเกี่ยวเนื่องของมโนทัศน์ต่าง ๆ



ปรัชญา (Philosophy)
ปรัชญามีรากศัพท์มาจากภาษากรีก แปลว่า ความรักในความฉลาด หรือความรักในความรอบรู้ (Love of Wisdom) เกี่ยวกับธรรมชาติของสรรพสิ่ง และเหตุของธรรมชาติเหล่านั้น
การรู้ขั้นปรัชญา เป็นการรู้ทำนองเดียวกันกับการรู้ขั้นทฤษฎี แต่สูงกว่าในความหมายว่า มีความลึกซึ้ง หรือความลุ่มลึกมากกว่า และเกี่ยวโยงกับศาสตร์อื่น ๆ ด้วย
ปรัชญาเป็นเรื่องของการคิดพิจารณาและการทำให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ส่วนอุดมการณ์ให้ความสนใจกับการกระทำ
ข้อเขียนเกี่ยวกับปรัชญาในยุคหลัง ๆ เป็นเพียงเชิงอรรถ (Footnotes) คือ คำอธิบายเพิ่มเติม หรือข้อสังเกตหรือข้อแม้ อันเป็นการเสริมต่อสิ่งซึ่งได้ผ่านการวิเคราะห์โดยมหาปราชญ์เพลโตมาก่อนแล้วเป็นส่วนใหญ่
[1] สงครามเวียดนาม (อังกฤษ: Vietnam War) (ค.ศ. 1957-1975) เป็นสงครามระหว่างเวียดนามเหนือ และเวียดนามใต้ที่สนับสนุนโดยสหรัฐอเมริกา เพื่อตัดสินว่าควรรวมเวียดนามเป็นหนึ่งเดียวตามข้อตกลงเจนีวา ค.ศ. 1954 หรือไม่ สงครามจบลงด้วยชัยชนะของเวียดนามเหนือ และรวมประเทศเวียดนามทั้งสองเข้าด้วยกัน ซึ่งปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศเวียดนาม ในประเทศเวียดนามเองเรียกสงครามนี้ว่า สงครามปกป้องชาติจากอเมริกัน หรือ สงครามอเมริกัน

[2] ชาลส์ ดาร์วิน (อังกฤษ: Charles Darwin) (12 ก.พ. 235219 เม.ย. 2425) เป็นนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ผู้ทำการปฏิวัติความเชื่อเดิม ๆ เกี่ยวกับที่มาของสิ่งมีชีวิต และเสนอทฤษฎีซึ่งเป็นทั้งรากฐานของทฤษฎีวิวัฒนาการสมัยใหม่ และหลักการพื้นฐานของกลไกการคัดเลือกโดยธรรมชาติ เขาตีพิมพ์ข้อเสนอของเขาในปี พ.ศ. 2402 (ค.ศ. 1859) ในหนังสือชื่อ The Origin of Species (กำเนิดของสรรพชีวิต) ซึ่งเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขา การเดินทางออกไปยังท้องทะเลทั่วโลกกับเรือบีเกิล (HMS Beagle) และโดยเฉพาะการเฝ้าสำรวจที่หมู่เกาะกาลาปากอส เป็นทั้งแรงบันดาลใจ และให้ข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งเขานำมาใช้ในทฤษฎีของเขา

[3] Likhit Dhiravegin, The Meij Restoration (1868-1912) and the Chakkri Reformation (1868-1910) : A Comparative Perspective ,pp.288-290
[4] เช่น สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นจุดรวมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ เป็นสถาบันถ่วงดุลไม่ให้เกิดการใช้อำนาจเผด็จการ หรือผิดทำนองคลองธรรมอย่างเกินขอบเขต
[5] ศาสตราจารย์ ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น