การปกครองท้องถิ่นเป็นผลมาจากแนวความคิดของหลักการกระจายอำนาจ ซึ่งเป็นวิธีการที่รัฐบาลกลางได้มอบอำนาจหน้าที่บางอย่างในการปกครอง และการจัดทำบริการสาธารณสุข ให้แก่ท้องถิ่นรับไปดำเนินการด้วยงบประมาณ และเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินงานของตนเอง ตลอดจนดำเนินกิจการในเรื่องที่เกี่ยวกับท้องถิ่นโดยเฉพาะตามที่ได้รับมอบหมาย เพราะหลักการกระจายอำนาจยึดถือเสรีภาพ ของประชาชนเป็นสำคัญโดยให้ประชาชนมีอิสระตามสมควรในการดำเนินการปกครอง และจัดทำบริการสาธารณะต่างๆ ได้เอง เป็นการปกครองตนเองตามหลักของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
คำว่า “การปกครองท้องถิ่น หรือ Local Government” มีผู้ได้ให้ความหมายและอธิบายไว้แตกต่างกันไป แต่ในหลักการสำคัญมักคล้ายกัน เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาวิเคราะห์รูปการจัดองค์การและการดำเนินการปกครองขององค์การปกครองท้องถิ่นรูปต่างๆ จึงสรุปได้ดังนี้
1. ความหมายของการปกครองท้องถิ่น
“การปกครองท้องถิ่น” หมายถึง การปกครองชุมชนหรือท้องถิ่นใดๆ ของประเทศ โดยมีองค์การหรือหน่วยการปกครองที่ได้จัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคล ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ที่ประชาชนเลือกเข้ามาเพื่อดำเนินงานตามกำหนดระยะเวลา โดยมีงบประมาณเป็นของตนเอง และมีอำนาจอิสระในการดำเนินกิจการของท้องถิ่นตามที่รัฐบาลกลางมอบหมาย ทั้งนี้ส่วนกลางหรือรัฐบาลกลางเพียงแค่ควบคุมเท่านั้น
2. ลักษณะหรือหลักการสำคัญของการปกครองท้องถิ่น
2.1 เป็นการปกครองชุมชนหรือท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งของประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยการปกครองที่อยู่ในระดับพื้นฐานล่างสุดของสถาบันการปกครองประเทศ และเป็นระดับรองลงมาจากการปกครองระดับภูมิภาค และระดับประเทศหรือรัฐบาลกลาง ดังนั้น รัฐบาลกลางจะต้องคำนึงถึงประชาชนและความมั่นคงของรัฐหรือของประเทศโดยส่วนรวม
2.2 มีองค์การหรือหน่วยการปกครองที่ได้จัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลแยกไปต่างหากจากรัฐบาลกลาง เพื่อดำเนินการปกครองและจัดทำบริการสาธารณะในเขตพื้นที่ที่กำหนด โดยมีรายได้ ทรัพย์สิน และฝ่ายนิติบัญญัติ หรืออาจจัดทำเป็นรูปแบบอื่นก็ได้ตามสภาพและความเหมาะสมของท้องถิ่นนั้นๆ การที่กำหนดให้หน่วยการปกครองท้องถิ่นเป็นนิติบุคคลก็เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีการจัดองค์การปกครองท้องถิ่นแยกออก ต่างหากจากหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคหรือรัฐบาลกลาง ทำให้มีอำนาจอิสระและสิทธิต่างๆ ที่จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายด้วย มีอำนาจในการเก็บภาษีและรายได้อื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อมาจัดทำงบประมาณกำหนดการใช้จ่ายในการดำเนินกิจการต่างๆ สร้างสรรค์ความเจริญให้กับท้องถิ่น ส่วนในด้านเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติประจำก็เป็นการจ้างโดยใช้เงินงบประมาณของท้องถิ่น และมีหน้าที่ปฏิบัติตามนโยบายของผู้บริหารท้องถิ่น
2.3 มีการเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ดำเนินงาน การเลือกตั้งนับได้ว่าเป็นลักษณะสำคัญของการปกครองท้องถิ่น เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้าไปมีส่วนร่วมในองค์กรฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายนิติบัญญัติ โดยต้องเป็นไปตามรูปแบบประชาธิปไตยและตามกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมายด้วย
2.4 ต้องมีอิสระในการดำเนินกิจการของท้องถิ่น โดยไม่ต้องรับคำสั่งจากส่วนกลาง มีอำนาจวินิจฉัยตัดสินใจและสั่งการในการปฏิบัติหน้าที่ภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนดำเนินกิจการด้วยงบประมาณและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของตนเอง ส่วนกลางเพียงแค่ควบคุมเท่านั้น อีกทั้งต้องอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมเพื่อความมั่นคงของรัฐและประโยชน์ส่วนรวม
สรุป
การปกครองท้องถิ่นเป็นผลจากแนวความคิดของการกระจายอำนาจ ก่อให้เกิดองค์การหรือการปกครองท้องถิ่น ขึ้นโดยรัฐบาลกลางมอบอำนาจในทางการปกครองและการจัดทำบริการสาธารณะบางอย่างให้แก่ประชาชนท้องถิ่นไปดำเนินการโดยมีอำนาจอิสระในการดำเนินการภายในขอบเขตของกฎหมาย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนแก้ไขปัญหาต่างๆ ของท้องถิ่นด้วยตนเอง จึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ประชาชนได้เรียนรู้การเมืองการปกครอง ในทางปฏิบัติอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทางการเมืองในรับประเทศต่อไป
วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
กำลังจะเรียนพอดีเลยค่ะ
ตอบลบกำลังจะเรียนพอดีเลยค่ะ
ตอบลบ