วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2554

ทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ ในส่วนของการพัฒนาทางการเมือง

การพัฒนาทางการเมือง (Political Development) คือการจัดตั้งสถาบัน ขึ้นมารองรับและจัดระเบียบการมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งมีผลมาจากความตื่นตัวหรือจำเริญ[1]ทางการเมือง (Political Modernization) ความจำเริญทางการเมืองเกิดจากการขยับตัวของสังคม (Social Mobilization) ซึ่งได้แก่ การเกิดชุมชนเมือง การเพิ่มของอัตราคนรู้หนังสือ การเกิดชนชั้นใหม่ การย้ายถิ่น เป็นต้น


1[2] 2[3] 3[4] 4[5]




จากการจัดโครงสร้าง นี้ อาศัยทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ และอาศัยมิติทางประวัติศาสตร์ และความเป็นจริง และเมื่อได้โครงสร้างดังกล่าวมาแล้ว ก็ต้องวิเคราะห์บทบาทของแต่ละโครงสร้างโดยใช้ทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ กับทางสังคมศาสตร์ และความรู้ที่เกี่ยวกับวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์เพื่อให้เห็นภาพกว้าง ในระดับมหภาค จากนั้นก็อาศัยเฉพาะเรื่องเพื่อวิจัยในระดับจุลภาค หาข้อมูลเชิงประจักษ์ต่อไป
การพัฒนาทางการเมืองโดยทั่วไปนั้น นักวิชาการส่วนใหญ่ต่างเห็นว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยระดับชาติมีพื้นฐานสำคัญอยู่ที่การปกครองตนเองของประชาชนในท้องถิ่น สำหรับประเทศไทยก็เช่นเดียวกันควรที่จะได้มีการกำหนดปรัชญา หลักการ อุดมการณ์ และวิชาการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ที่เป็นอย่างไทยไว้อย่างชัดเจน เช่น นำหลักสหกรณ์ และสังคมนิยมประชาธิปไตย ตามธรรมในพุทธศาสนามาปฏิบัติโดยทั่วไป ซึ่งจะช่วยสะท้อนให้เห็นภาพของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยของไทยว่ามีเอกลักษณ์ปฏิบัติโดยทั่วไป โดยสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม มีอุดมการณ์คือ ชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์ เป็นศูนย์รวมจิตใจที่มั่นคง อีกทั้งเน้นหลักคุณธรรมในการปกครอง เพื่อขจัดความแตกแยกในสังคม และสร้างความอยู่ดีกินดีจนเกิดความสงบสุขในท้องถิ่น นอกจากนี้ยังช่วยให้บรรลุความมั่นคงของชาติ และรักษาชาติให้อยู่รอดปลอดภัย ดังนั้น จึงไดมีการเพิ่มเรื่องปรัชญาการเมืองของไทย เพื่อเสนอแนวความคิดและการสร้างรูปแบบในการพัฒนาการเมืองท้องถิ่นในระบอบประชาธิปไตยให้เหมาะสมกับความเชื่อและลักษณะนิสัยของชาวไทย ทั้งยังได้สรุปโครงการพัฒนาท้องถิ่นต่างๆ ที่ช่วยปูพื้นฐานการปกครองท้องถิ่น เท่าที่ปรากฏในแผนพัฒนาฯ ไว้ด้วย เพราะโครงการเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมในชนบทเท่านั้น แต่เป็นการพัฒนาทางการเมือง โดยให้ประชาชนฝึกหัดจากการปฏิบัติจริง ซึ่งเกี่ยวพันกับความมั่งคงของชาติ
ทฤษฏีการเจริญเติบโตทางการเมือง สาเหตุที่ทำให้เมืองต่างๆ เจริญและขยายตัวอย่างรวดเร็วคือ
1. การอพยพของคน สาเหตุของการอพยพก็เพื่อย้ายแหล่งหากิน และมีข้อที่น่าสังเกตคือ การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปมีส่วนกระตุ้นในการทำให้คนอพยพเข้ามาในเมือง เพราะเมืองหากินง่าย
2. อัตราการเกิดและตายของประชาชน เนื่องจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทำให้มีการรับเทคนิคและวิทยาการใหม่ๆ ทางการแพทย์เข้ามา ดังนั้น อัตราการเกิดของประชากรโดย เฉพาะในประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนาจึงมีอัตราสูงมาก และอัตราการตายลดลง
3. พัฒนาการด้านเทคนิควิทยาการต่างๆ และการคมนาคม สิ่งเหล่านี้ทำให้ชุมชนในเมืองเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นเพราะวิชาการและเทคนิคใหม่ๆ ของการคมนาคม และพลังงานไฟฟ้า ซึ่งทำให้เกิดความเป็นไปได้จะใช้ชีวิตในเมืองหลวงอย่างสะดวกสบาย
4. เขตชุมชนในเมืองและการปกครองท้องถิ่น การขยายตัวของเมืองสาเหตุ 3 ประการข้างต้น ก่อให้เกิดชุมชน 3 กลุ่ม ซึ่งจะเป็นปัญหายุ่งยางต่อไปในการปกครองท้องถิ่น ดังนี้
(1) ชุมชนเดิมในเมือง ตึก ย่านธุรกิจ โรงงานอุตสาหกรรม ที่เกิดขึ้นเดิมจากการอพยพของคนหรือจากการเริ่มตั้งเมืองก็ดี เมื่อเมืองขยายออกไปบุคคลที่อยู่เดิมมักจะย้ายออกไปหาที่อยู่ใหม่ และผู้ที่เข้ามาอยู่แทนมักเป็นผู้อพยพมาภายหลัง และยากจน กิจการค้าในตัวเมืองจะซบเซาเพราะคนจนอยู่มาก แหล่งอุตสาหกรรมจะย้าย
(2) ชุมชนรอบเมือง มักเป็นผู้มาใหม่อาจอพยพมาจากในเมืองหนีความแออัด หรือชนชั้นกลาง หรือผู้ที่ร่ำรวยทั้งใหม่ และเก่าใช้เป็นที่อยู่อาศัยกิจการค้าใหม่ๆ จะเริ่มในชุมชนนี้ด้วยเพราะขายดี คนมีเงินมาซื้อมาก
(3) ชุมชนนอกเมือง จะเป็นชุมชนส่วนน้อยที่ยังคงดำรงชีวิตแบบเก่าในทางเกษตรกรรมแต่เมื่อเมืองขยายออกไปก็จะถูกกลืน เช่น ถูกซื้อที่ดิน ฯลฯ
5. สภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองท้องถิ่นไทย มีลักษณะของตัวแปรเปลี่ยนพฤติกรรมซึ่งได้แก่ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ โครงสร้างทางสังคมชนบท ลักษณะเศรษฐกิจ การเกษตร สุขภาพอนามัยประชากร และวัฒนธรรมในชนบท โดยอาจดูได้จากสถาบันสำคัญๆ ในชนบทได้แก่ สถาบันครอบครัว ลักษณะเศรษฐกิจ สถาบันการศึกษา และสถาบันทางศาสนา อนึ่งลักษณะวิวัฒนาการทางสังคมไทยหรือของยุโรปกับตะวันออกนั้น มีความแตกต่างกัน มิได้เป็นไปในแนวเดียวกับยุโรป
6 . ธรรมชาติการเมือง
6.1 ชีวิตการเมืองคือระบบพฤติกรรมของคนในสังคม จากการศึกษาของนักรัฐศาสตร์ และการอธิบายตามทฤษฎีทางสังคมหรือทฤษฎีระบบเปิด โดยเฉพาะของ David Easton อธิบายไว้ว่า ชีวิตการเมืองของคนในสังคมก็คือระบบของพฤติกรรม อีสตันศึกษาการเมืองอย่างเป็นระบบ โดยอาศัยระบบสังคมและการเมืองระบบใหญ่เป็นหลัก ส่วนตัวแปรเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเมืองของคนและระบบการเมืองอยู่ที่อิทธิพลภายนอก หรือกล่าวโดยสรุป การเมืองโดยธรรมชาติของมัน คือ ระบบพฤติกรรมของคนในสังคม
6.2 การเมืองคือพฤติกรรมของคนในสังคมหรือความสัมพันธ์ของกลุ่มคนในสังคม ซึ่งเกี่ยวพันกับกำลัง กฎหรืออำนาจในการปกครอง ทั้งอริสโตเติล แมกซ์ เวเบอร์ โรเบิร์ด เอดาล และแฮโรลต์ ดีลาสเวล ได้แสดงความเห็นไว้สอดคล้องต้องกัน นั้นคือหากจะกล่าวว่าการเมืองคืออะไรก็ให้ดูระบบสังคม เพราะระบบสังคมเป็นสิ่งที่ชี้เห็นธรรมชาติของการเมือง และพฤติกรรมการเมืองของมนุษย์ โดยอาจขยายความดังนี้
(1) ในสังคมไทยมีคนหลายคนมีส่วนร่วมกระทำหรือมีผู้ปฏิบัติทางการเมืองมากมาย
(2) มีรูปแบบโครงสร้างของความสัมพันธ์ภายในระหว่างบุคคลในสังคม
(3) มีรูปแบบหรือสัญลักษณ์ในการติดต่อในทางการเมืองของคนในสังคม
(4) มีบทบาทต่างๆ ของคนในสังคมซึ่งเป็นไปตามค่านิยม หรือวิถีปฏิบัติทางการเมือง
(5) มีความขัดแย้งเกี่ยวข้องและสนับสนุนซึ่งกันและกันของคนในสังคม ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับเวลาและมิติ
6.3 อำนาจตัดสินใจทางการเมือง เราอาจสังเกตการณ์ตัดสินใจทางการเมืองนั้นได้ง่ายๆ โดยดูจาก
(1) ดูอำนาจ เพราะอำนาจตัดสินใจมักขึ้นอยู่กับความสามารถของบุคคลบางคน ที่สามารถมีสิทธิมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคนอื่นๆ ในสังคม
(2) ดูความสัมพันธ์ หมายถึง ดูการติดต่อของกลุ่มคนในสังคมว่าเป็นไปในทางเดียวกันหรือไม่ เช่น ติดต่อพฤติกรรมของคนอื่นๆ ในสังคม
(3) ดูความต้องการที่แตกต่าง ซึ่งในที่สุดจะมีการประนีประนอมกันในปัญหาต่างๆ
(4) ดูการแข่งขัน การร่วมมือกันของคนในสังคม
(5) การตัดสินใจของผู้มีอำนาจ
(6) การกระจายผลทางการเมืองของการตัดสินใจในสังคม

6.4 การกำหนดอำนาจตัดสินใจทางการเมือง อำนาจการเมืองอำนาจพิเศษในการกำหนดเป้าหมายของสังคมรวมทั้งกำหนดคุณค่าที่จะบรรลุตามเป้าหมาย ซึ่งจะกำหนดอำนาจนี้ได้จาก
(1) การเลือกเป็นผู้ตัดสินใจทางการเมืองของสังคม พฤติกรรมนี้เป็นไปตามสิ่งแวดล้อมและคุณค่าทางสังคมเฉพาะทาง
(2) สร้างอำนาจและความถูกต้องตามกฎหมายให้เกิดขึ้น
(3) การขัดแย้ง
(4) การผูกขาดอำนาจบังคับต่อเนื่องของผู้มีอำนาจ ที่มาแห่งอำนาจทางการเมืองของคน เช่น เงิน การศึกษา เกียรติยศ ความชำนาญทางการเมือง
6.5 การเมืองในระบอบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยตามความหมายของแต่ละประเทศแต่ละสังคมย่อมไม่เหมือนกัน คำจำกัดที่กว้างขวางและน่าสนใจ ได้แก่
(1) ประชาธิปไตยในวิธีชีวิตของของในสังคม ได้แก่ ประชาธิปไตยในระบอบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของแต่ละคนในสังคม
(2) ประชาธิปไตยเน้นที่จุดๆหนึ่ง คือ วิธีการที่มีการตัดสินใจทางการเมืองในสังคม ซึ่งอาจขยายความตามหลักตัดสินใจทางการเมือง และการเลือกเฟ้นหาผู้มีอำนาจตัดสินใจทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยตามแนวทางตะวันตก (ยุโรป, สหรัฐอเมริกา) ได้ดังนี้
ก. ยึดหลักความเท่าเทียมกันทางการเมืองของบุคคลในสังคม
ข. ยึดหลักให้มีการเลือกตั้งโดยเสรีและจริงจัง
ค. มีการเลือกตั้งในสังคมอยู่เสมอเป็นระยะๆ
ง. มีการยอมรับเสียงส่วนใหญ่ปกครองประเทศ
จ. มีการยอมรับและให้สิทธิชนกลุ่มน้อยในทางการเมือง

6.6 วิถีทางที่ประชาชนจะเข้ามีส่วนร่วมในทางการเมือง ประชาชนทุกคนควรเข้ามีส่วนร่วมในการปกครองตนเองหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การเข้ามีส่วนร่วมในการตัดสินใจปัญหาต่างๆ ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งสามารถทำได้หลายทาง เช่น เมื่อมีการเลือกตั้งการเข้าร่วมในกลุ่มผลประโยชน์ หรือกลุ่มอิทธิพลในสังคม การเข้าร่วมในพรรคการเมือง หรือการที่แต่ละคนเข้าไปติดต่อกับรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยตรง วิถีทางนี้จึงเป็นวิธีที่เปิดเผย และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น พูดโดยสรุปในระบอบประชาธิปไตย คนในสังคมมีวิธีติดต่อโดยเปิดเผยในทางการเมือง 2 แบบ คือ ติดต่อโดยอ้อม (ผ่านกลุ่มผลประโยชน์และพรรคการเมืองต่างๆ) และ การติดต่อโดยตรงกับรัฐบาลเอง
6.7 หลักธรรมในพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง สิ่งแวดล้อมทางสังคมที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งในการกำหนดพฤติกรรมของคนในสังคมทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ได้แก่ คุณธรรม ศาสนา และหลักธรรมต่างๆ ซึ่งทุกศาสนามุ่งที่จะสั่งสอนให้คนเป็นคนดี อีกทั้งเป็นสิ่งเอื้อต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะมุ่งความสงบ สันติในสังคม และความต้องการให้คนมีความรักความสามัคคีกัน ไม่มุ้งร้ายทำลายกันและกันสำหรับการรับไปใช้ในการเมืองท้องถิ่นนั้น ใคร่เน้นหลักสามัคคีธรรมและหลักสหกรณ์
(ก) หลักสามัคคี คือ ความกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในสังคม ความสามัคคี มี 2 อย่าง คือ กายสามัคคี และจิตสามัคคี ความสามัคคีนี้ ความจริงตรงกับหลักการรวมกันเป็นสมาคม
ความสามัคคีจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีคุณธรรม 4 ประการ
1. มีความเมตตาแก่กัน เมตตามีองค์ 3 คือ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม
2. มีความเผื่อแผ่ไม่หวงแหนในสิ่งที่ไม่ควรหวง
3. มีศีลธรรมเสมอกัน
4. มีความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม
เมื่อพิจารณาดูให้ดีจะเห็นว่าสามัคคีธรรมเป็นธรรมที่มีหลักการ และวิธีปฏิบัติที่เอื้อต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตามนัยแห่งปรัชญาการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยของตะวันตก
(ข) หลักสหกรณ์ ความหมายในหลักธรรมทางพุทธศาสนาหมายถึงการทำร่วมกันโดยสภาวะและโดยหน้าที่ ซึ่งหมายถึงการทำร่วมกันตามฐานะตำแหน่งของคนนั้นเอง ไม่ก้าวก่ายหน้าที่ของคนอื่น เราสามารถนำหลักธรรมมาปรับไปใช้ในการบริหารบ้านเมือง หรือในการทำกิจกรรมใดๆ ก็ได้ซึ่งสหกรณ์เมื่อปรับมาใช้ในทางเศรษฐกิจ และทั่วโลกนำหลักการมาใช้ ได้แก่
1. มีการการรวมคน(ทุนไม่สำคัญกว่าใจ)
2. โดยมีความสมัครใจ
3. มีความเสมอภาคกันในการดำเนินงาน
4. ถือหลักผลประโยชน์ของสมาชิก

สหกรณ์มีคุณแก่กลุ่มชนที่กระทำกิจร่วมกัน คือ
1. สอนให้สมาชิกรู้จักออมทรัพย์
2. สอนให้สมาชิกมีความซื่อสัตย์และภักดีต่อกลุ่มของตน
3. สอนให้สมาชิกรู้จักมีความสามัคคี รู้จักรวมกันช่วยตัวเอง
4. สหกรณ์เป็นกลางทางการเมือง
5. ช่วยให้ประชาชนอยู่ดีกินดี
จะเห็นได้ว่าหลักการของสหกรณ์มีคุณต่อการพัฒนาสังคมและมีหลักการ วิธีการดำเนินงานเอื้อต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
6.8 หัวข้อทางพุทธศาสนา มีอยู่หลายหัวข้อสำหรับฝ่ายบุญ ฝ่ายบาป ซึ่งคฤหัสถ์สามารถที่จะนำมาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและส่วนรวม
6.9 กลุ่มผลประโยชน์และผู้นำท้องถิ่น
(ก) ข้อสังเกตเกี่ยวกับความต้องการและอำนาจทางการเมือง ในสังคมหนึ่งๆ ประชาชนมีระดับอิทธิพลต่างกัน แต่อิทธิพลต่างๆ นั้น มีผลในทางอำนาจการเมืองด้วย โดยดูได้จาก
การดูระดับอิทธิพล
1. ความต้องการหรือเรียกร้องจากกลุ่มในสังคมนั้น
2. ปัจจัยอำนาจทางการเมือง
3. การสนับสนุนอำตายทางการเมือง
เราจะรู้ว่าบุคคลใดมีอำนาจทางการเมือง โดยสังเกตปัจจัยเหล่านี้ คือ
1. เงิน บุคคลที่มีฐานะร่ำรวยจะเป็นปัจจัยแห่งอำนาจ ที่สำคัญทางการเมือง
2. กลุ่ม หรือพวก สิ่งนี้เป็นขอบข่ายแห่งอำนาจของบุคคล
3. บุคคลผู้มีลักษณะดี มีสุขภาพและพลานามัยดี จะช่วยเสริมบุคคลภาพผู้นำและอำนาจบารมีทางการเมืองด้วย
4. บุคคลผู้มีประสบการณ์ในทางการเมืองและรู้ปัญหาของสังคมจริงๆ
5. บุคคลผู้มีความคิดเป็นประชาธิปไตยและค่อนไปทางเสรีนิยม
6. บุคคลที่มีเพื่อนฝูงมากและเป็นมิตรกับคนทั่วไป
7. ผู้มีการศึกษาดี
8. ส่วนประกอบอื่นๆ ของบุคคลนั้น เช่น ความทะเยอทะยาน เป็นต้น
(ข) พฤติกรรมของกลุ่ม (ภายในกลุ่ม) และอำนาจทางการเมือง
1. ธรรมชาติของขบวนทางการเมืองซึ่งมีคำน่าสนใจ 3 คำ คือ การเมือง ระบบการเมือง และนักการเมือง คำว่า “การเมือง” โดยธรรมชาติแล้วมองได้ในแง่ความต้องการและการเสนอสนอง ส่วนคำว่า “นักการเมือง” อาจเป็นผู้ดำรงชีวิตเพื่อการเมือง หรืออาศัยการเมืองหาเลี้ยงชีวิตก็ได้ ส่วน “ระบบการเมือง” หมายถึง ระบบการปกครองหรือพฤติกรรมทางการเมืองและสังคมหนึ่งๆ
2. องค์ประกอบสำคัญของระบบการเมือง ได้แก่ กลุ่มผลประโยชน์และพรรคการเมือง
2.1 กลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มอิทธิพล มีความแตกต่างจากพรรคการเมืองซึ่งเห็นได้ง่ายจากากรที่ไม่มุ่งที่จะแสวงหาตำแหน่งการปกครองให้สมาชิกกลุ่ม แต่มุ้งสร้างอิทธิพลต่อนโยบายแห่งรัฐ และยังมีลักษณะแตกต่างไปจากพรรคการเมืองส่วนมากในแง่ที่ว่า กลุ่มผลประโยชน์ก่อตั้งขึ้นมาบนพื้นฐานของผลประโยชน์ และความคิดเห็นเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องอุดมการณ์อย่างธรรมดาที่ร่วมกัน
2.2 ตัวอย่างกลุ่มผลประโยชน์ในอเมริกา กลุ่มผลประโยชน์ที่ยอมรับกันในระบบการเมืองอเมริกัน ว่านอกจากจะไม่เป็นสิ่งชั่วร้ายแล้วยังเป็นสิ่งจำเป็นประการหนึ่งในการปกครองระบอบประชาธิปไตยปัจจุบัน เพราะเป็นหน่วยที่รองรับความคิดเห็นส่วนบุคคลและรวมกลุ่มกันขึ้นเพื่อเสนอแนะความคิดเห็นที่เหมาะสม โดยวิถีทางของผู้ชำนาญการ หรือนักวิชาการอาชีพซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล ในอเมริกานั้นมีกลุ่มผลประโยชน์อยู่มากมาย ต่างฝ่ายต่างเฝ้ามองกันอยู่ เพื่อปฏิบัติตนอย่างเป็นกลาง และต่างคอยจับผิดกันและกัน
3. การสังเกตกลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งสังเกตได้ง่ายมาก โดยจำแนกว่าใครเป็นสมาชิกอยู่ในองค์การใดและองค์การหรือกลุ่มผลประโยชน์นั้น สามารถเป็นตัวแทนของประชาชนในการตัดสินใจของรัฐบาล
3.1 อะไรคือผลประโยชน์ เราอาจพิจารณาความหมายของคำว่าผลประโยชน์ได้หลายแง่ เช่น ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือผลประโยชน์ทางอุดมการณ์ โดยอาจกำหนดเป็นระยะสั้นหรือระยะยาวก็ได้
3.2 ลักษณะของกลุ่มผลประโยชน์ เป็นการรวมกันเพื่อผลประโยชน์ บางพวกรวมกันเพื่อวิ่งเส้นในจุดหมายเดียวกัน บางพวกเป็นการรวมกลุ่มเพื่อปัญหาพิเศษที่เกิดขึ้น ซึ่งกลุ่มผลประโยชน์ของนักธุรกิจจะตั้งข้อสังเกตได้ว่าเป็นพวกวิ่งเต้น ตรงกันข้ามกับพวก AFL-CIO ในเรื่องราวต่างๆ
3.3 ขนาดและความคิดของกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มผลประโยชน์ จะเข้มแข็งหรือไม่อยู่ที่การรวมกันของกลุ่มองค์การอย่างแน่นแฟ้นเข้มแข็งเพียงใด ฉะนั้น จึงขึ้นอยู่กับการติดต่อและกิจกรรมของกลุ่มด้วยอีกทั้งขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้นำกลุ่มและสมาชิกของกลุ่มที่จะเข้าใจเทคนิคต่างๆ ในการประสานผลประโยชน์และวิ่งเต้น จึงอาจสรุปความจริงได้ว่า “ระบบทางการเมืองก็เหมือนกับระบบทางกายภาพของมนุษย์ ซึ่งจะมีประสิทธิภาพเพียงใด ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดพลังของระบบส่วนบุคคล”
3.4 รูปแบบของกลุ่มผลประโยชน์ ผลประโยชน์ดำเนินการในรูปแบบคล้ายคลึงกันทุกระดับของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น แต่มีความแตกต่างกันอย่างแน่นอน คือ เรื่องอำนาจของกลุ่มต่างๆ และอำนาจกลุ่มยังขึ้นอยู่กับเวลาหนึ่งๆ ด้วย
3.5กลุ่มผลประโยชน์
1. กลุ่มนักธุรกิจ มักเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลสูงต่อรัฐบาล และกลุ่มจะวิ่งเต้นได้ก็จะต้องจดทะเบียนผู้แทนเป็นผู้วิ่งเต้นต่อสภาพรัฐเสียก่อน
2. กลุ่มกรรมกร นับเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่สำคัญกลุ่มหนึ่ง เพราะกรรมกรมีผลประโยชน์ในเรื่องบริการของรัฐมากกว่าเรื่องอัตราภาษี
3. กลุ่มชานาชาวไร่
4. กลุ่มนิสิต นักศึกษา ครู อาจารย์
5. กลุ่มวิชาชีพต่างๆ ฯลฯ
6.10 การฝึกอบรมผู้นำท้องถิ่น การพัฒนาชุมชนโครงการ พพป. มีจุดเน้นปูพื้นฐานการปกครองท้องถิ่นในระดับหมู่บ้านและตำบล จึงต้องหาวิธีการพัฒนาต่างๆ ทางการเมืองและการปกครองตนเอง แก่ประชาชนเพื่อบรรลุเป้าหมายส่งเสริมการปกครองตนเองของประชาชนในท้องถิ่น และบุคคลกลุ่มที่สำคัญก็คือ ผู้นำท้องถิ่นในรูปต่างๆ
[1] ความจำเริญ ทางการเมือง (Political Modernization)
[2] การขยายตัวของสังคม (Social Mobilization)
[3] ความจำเริญ ทางการเมือง (Political Modernization)
[4] การมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation)
[5] การพัฒนาทางการเมือง (Political Development)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น