ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations) เป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ หรือความสัมพันธ์ระหว่างประชาชาติ ซึ่งในยุคปัจจุบันนี้ไม่มีรัฐใดหรือชาติใดที่จะดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวตามลำพังโดยที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องติดต่อกับรัฐอื่น ๆ ได้
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นเรื่องของการติดต่อหรือความสัมพันธ์ในแขนงต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม การกีฬา การบันเทิง เทคโนโลยี สันติภาพ สงคราม การทูต ฯลฯ
วิวัฒนาการการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในฐานะเป็นวิชาการเริ่มต้นในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 และมีวิวัฒนาการโดยแบ่งออกเป็น 4 ช่วงได้แก่
(1) การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ ทางการทูต
(2) การศึกษาโดยเน้นเหตุการณ์ปัจจุบัน
(3) การศึกษาโดยเน้นหนักทางกฎหมาย
(4) การศึกษาโดยเน้นแนวทางการเมืองระหว่างประเทศ
มีการให้ความสำคัญกับวิชามานุษยวิทยา ด้านสังคมและวัฒนธรรมในช่วงที่สหรัฐฯ ถูกดึงเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยผู้นำสหรัฐฯ ได้ให้นักวิจัยและนักมานุษยวิทยา เช่น รุธ เนเนดิกต์ (Ruth Benedict) ศึกษาเกี่ยวกับอุปนิสัยของคนญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้น
ผลงานของ รุธ เนเนดิกต์ ในหนังสือ ดอกเบญจมาศและดาบซามูไร (The Chrysanthemun and The Sword) ซึ่งดอกเบญจมาศเป็นพระราชลัญจกร (State Emblem) หรือตราแผ่นดินของจักรพรรดิญี่ปุ่น ถือเป็นการค้นพบเกี่ยวกับอุปนัยของคนญี่ปุ่นที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการหาทางยุติสงครามโลกครั้งที่ 2
รูปแบบของทฤษฎีการเมืองระหว่างประเทศ
รูปแบบของการเมืองระหว่างประเทศเกี่ยวข้องกับทฤษฎีต่างๆ ดังนี้
(1) ทฤษฎีดุลแห่งอำนาจ
(2) ทฤษฎีขั้วอำนาจ
(3) ทฤษฎีความมั่นคงร่วมกัน
(4) ทฤษฎีป้องปรามและผ่อนคลายความตึงเครียด
ทฤษฎีแห่งอำนาจ ได้แก่ นโยบายที่มีการรวมตัวกันในหมู่รัฐประชาชาติต่างๆ เพื่อไม่ให้อึกชาติหนึ่งหนึ่งมีอำนาจสูงจนเกินไป ซึ่งนโยบายนี้เริ่มใช้โดยอังกฤษก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1
ทฤษฏีเกี่ยวกับขั้วอำนาจ แบ่งออกเป็น 2 แนว ได้แก่
1. แนวคิด 2 ขั้วอำนาจ (Bipolarity) โดยแบ่งแยกรัฐประชาชาติในโลกออกเป็น 2 ค่าย ภายใต้อภิมหาอำนาจ คือ สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต
2. แนวคิดพหุขั้วอำนาจ (Multipolarity) โดยมุ่งอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ปรากฏในช่วง ค.ศ. 1970 – 1979 โดยเห็นว่าอำนาจในโลกมิได้มีเพียง 2 ค่าย แต่กระจายกว้างขวางขึ้นกว่าเดิม คือ เป็น “หลายขั้วอำนาจ” โดยมีกลุ่มอำนาจใหม่เกิดขึ้น เช่น จีน ญี่ปุ่น และประเทศในยุโรปตะวันตก
ทฤษฎีความมั่นคงร่วมกัน เป็นทฤษฎีที่ต่อเนื่องจากทฤษฎีดุลแห่งอำนาจ ด้วยเหตุผลที่ว่า เพื่อสถาปนาความรับผิดขอบร่วมกัน และเพื่อนำเอาทรัพยากรในแต่ละรัฐที่รวมกันมาใช้เพื่อการรักษาสันติภาพ ซึ่งการรับผิดชอบร่วมกันจะเกิดขึ้นได้ก็โดยความร่วมมือของรัฐประชาชาติ 3 รัฐขึ้นไป
ผลผลิตของทฤษฎีนี้ คือ การก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศ 2 องค์การ ได้แก่
1. องค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1920 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยมีประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในขณะนั้นคือ วูดโรว์ วิลสัน เป็นผู้สนับสนุนให้จัดตั้งขึ้น
2. องค์การสหประชาชาติ (UN: United Nations) โดยเมื่อเริ่มก่อตั้งใช้ชื่อว่า United Nation Organization (UNO) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1945 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
ปัจจุบันองค์การสหประชาชาติมีสมาชิกทั้งหมด 192 ประเทศ โดยมีประเทศสมาชิกล่าสุด คือ มอนเตเนโกร (แยกตัวเป็นเอกราชจากเซอร์เบีย)
ESCAP (องค์การว่าด้วยกิจการด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในเอเชียและแปซิฟิก) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ อาคารสหประชาชาติ (UN Building) กรุงเทพฯ
ทฤษฎีป้องปรามและทฤษฎีการผ่อนคลายความตึงเครียด
โดยทฤษฎีป้องปรามมีจุดประสงค์เพื่อต้องการยับยั้งการขยายอิทธิพล ยับยั้งการรุกรานและแผ่แสนยานุภาพ ด้วยการรวมสมัครพรรคพวกของประเทศต่าง ๆ ขึ้น ส่วนทฤษฎีการผ่อนคลายความตึงเครียด ได้แก่ การไม่เข้าแทรกแซงกิจการภาในของประเทศอื่น, การเปลี่ยนนโยบายเผชิญหน้าเป็นนโยบายเจรจา, การมีนโยบายลดกำลังอาวุธและควบคุมอาวุธร้ายแรง
กฎหมายระหว่างประเทศ หมายถึง บรรดากฎข้อบังคับทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดความสัมพันธ์ต่างๆ ระหว่างรัฐทั้งหลาย และกฎข้อบังคับที่อยู่เหนือกฎข้อบังคับใด ๆ ของรัฐใด ๆ
เรื่องกฎหมายระหว่างประเทศจะเกี่ยวข้องกับ
(1) สนธิสัญญา (Treaties) ซึ่งเป็นที่มีที่สำคัญยิ่งของกฎหมายระหว่างประเทศภาคมหาชน
(2) จารีตประเพณีระหว่างประเทศ ได้แก่ สิ่งที่รัฐทั้งหลายได้ปฏิบัติร่วมกันและติดต่อกันเป็นเวลานาน
(3) หลักกฎหมายทั่วไป ได้แก่ หลักกฎหมายที่เป็นที่ยอมรับโดยที่รัฐที่เจริญมีอารยธรรมเดียวกัน
องค์การระหว่างประเทศ
การจำแนกองค์กรระหว่างประเทศตามแนวของ Pierre Vellas กระทำได้ 3 วิธีคือ
1. การจำแนกโดยหน้าที่ หมายถึง มองเป้าหมายและหน้าที่ขององค์กร ได้แก่
- องค์การทางการเมือง เช่น สหประชาชาติ (UN) ฯลฯ
- องค์การทางเศรษฐกิจ เช่น ธนาคารโลก (IBRD), กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF), องค์การการค้าโลก (WTO) ฯลฯ
- องค์การทางสังคม เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) ฯลฯ
- องค์การทางคมนาคมและการขนส่ง เช่น สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ(ITU) ฯลฯ
- องค์การทางทหาร เช่น องค์การป้องกันร่วมกันแอตแลตติกเหนือ (NATO) ฯลฯ
2. การจำแนกโดยพื้นที่ หมายถึง การใช้ภูมิศาสตร์และขอบเขตงานขององค์กร ได้แก่
- องค์การสากล เช่น UN, IBRD, IMF, WTO, WHO ฯลฯ
- องค์การภูมิภาค เช่น NATO, EU, ASEAN, AFTA ฯลฯ
3. การจำแนกโดยถืออำนาจบังคับทางกฎหมาย เป็นองค์การที่มีของเขตของงาน ได้แก่
- องค์การระหว่างรัฐ โดยยึดหลักการเคารพอธิปไตยซึ่งกันและกันของรัฐสมาชิก
- องค์การอภิรัฐ เป็นการรวมกลุ่มของรัฐเอกราช และมอบอำนาจอธิปไตยบางส่วนให้แก่องค์การมากกว่าแบบแรก เช่น สหภาพยุโรป (EU)
-
ปัจจุบันสมาคมอาเซียน (ASEAN) ประกอบด้วยประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกที่ริเริ่มก่อตั้ง 5 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ต่อมามีสมาชิกเพิ่มอีก 5 ประเทศ คือ บรูไน เวียดนาม ลาว กัมพูชา และ พม่า
เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA : ASEAN Free Trade Area) เป็นองค์กรความร่วมมือกันในด้านการค้าของกลุ่มประเทศอาเซียน จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยข้อเสนอของนายอานันท์ ปันยารชุน อดีต นายกรัฐมนตรีของไทยในสมัยนั้น
องค์การซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติที่รับผิดชอบด้านสาธารณสุขระดับโลก คือ องค์การอนามัยโลก (WHO : World Health Organization)
องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เป็นทบวงชำนาญพิเศษขององค์การสหประชาชาติที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลงานด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ระดับโลก มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งการกำหนดว่าอะไรคือ “มรดกโลก” จะกระทำโดยองค์การ UNESCO
G-7 (Group of Seven) คือ กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี แคนาดา และญี่ปุ่น โดยมีการนัดประชุมยอดระดับผู้นำทุกปีนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 เป็นต้นมา เพื่อปรึกษากันในเรื่องปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองของโลก (นับแต่ปี ค.ศ. 1984 มีการเชิญประธานาธิบดีรัสเซียมาปรึกษาด้วยในช่วงท้ายของการปิดประชุม)
วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น