วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ความมั่นคง และกำลังอำนาจแห่งชาติ ตอน 2

ความรักชาติและชาตินิยม
ความรักชาติ (Patriotism) หมายถึง การมีจิตผูกพันต่อชาติอันเป็นปกติวิสัยที่พลเมืองพึงมีซึ่งลักษณะทางจิตวิทยาของความผูกพันนี้เหมือนกับการรักบ้าน คือรักถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอน อันเป็นการสนับสนุนให้คนรักชาติ
ชาตินิยม (Nationalism) หมายถึง ความรักชาติที่เป็นไปจนเกินความพอดี เป็นการเน้นความรู้สึกหนักไปในมิติทางการเมืองซึ่งสัมพันธ์กับประเทศอื่น
ศรัทธาต่อชาติ ในรูปของชาตินิยมจึงควรพึงอยู่ภายในขอบเขต กล่าวคือ จะต้องไม่มีมากจนกลายเป็นความงมงายในชาติหรือมีความหลงชาติ ซึ่งมีความงมงายในชาติจนเกินขอบเขตมักก่อให้เกิดการทำร้ายหรือรังแกคนกลุ่มน้อยในชาติ ซึ่งทำให้เกิดการแตกแยกภายใน
ยกตัวอย่างเช่น ความหลงชาติของคนเยอรมันจำนวนหนึ่งภายใต้การนำของฮิตเลอร์ ซึ่งเชื่อทฤษฎี “เชื้อชาติบริสุทธิ์” โดยการยกย่องเยอรมันผู้ที่มีเชื้อสาย “อารยัน” และพยายามทำลายล้างเผ่าพันธุ์คนเยอรมันผู้มีเชื้อสาย “ยิว” หรือการต่อต้ายชนเชื้อสายยิว (Anti-Semitism) เป็นผลให้คนเยอรมันผู้มีความสามารถหลายคนหลบหนีออกนอกประเทศ เกิดปัญหาสมองไหลหรือสมองล่อง (Brain Drain)
ความสามารถทางวิชาการกับความมั่งคงและกำลังอำนาจ
ความตื่นตระหนักกับผลสำเร็จของดาวเทียมสปุตนิค(Sputnik Shock) โดยในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2500 สหภาพโซเวียตได้ประสบผลสำเร็จเป็นชาติแรกในการส่งดาวเทียม Sputnik อันเป็นดาวเทียมดวงแรกของโลกขึ้นไปในอวกาศ ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ในขณะนั้นรีบดำเนินการให้ค้นคว้าวิจัยว่าทำไมประเทศตนจึงล้าหลังสหภาพโซเวียตในทางเทคโนโลยีอวกาศ ผลจากการวิจัยได้มุ่งประเด็นไปที่หลักสูตรโดยเฉพาะในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในระดับมัธยม จึงมีการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษา กันอย่างขนานใหญ่ โดยให้เรียนวิชาหลักมากขึ้นและเข้มข้นยิ่งขึ้น

พหุปัจจัย
ความมั่นคงและกำลังอำนาจแห่งชาติขึ้นอยู่กับพหุปัจจัย และเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสภาวะทั้งทางรูปธรรมและนามธรรม ซึ่งปัจจัยเชิงนามธรรมนั้นแม้จะมองเห็นได้ไม่ง่ายนัก แต่ก็มีความสำคัญยิ่ง โดยมีวาทะที่น่าพิจารณาดังนี้
อานุภาพของศรัทธา : ทัศนะของมหาตมะคานธี โดยมหาบุรุษผู้นำขบวนการกู้ชาติของอินเดีย ด้วยวิธีการสัตยาคฤห์ (สัตยาเคราะห์) คือ ด้วยวิธีการอหิงสา (อวิหิงสา) ได้กล่าวไว้ว่า “ศรัทธานี้เองที่นำเราฝ่าทะเลมรสุม ศรัทธานี้แหละที่เขยื้อนขุนเขา และศรัทธานี้ด้วยที่พาเรากระโจนข้ามมหาสมุทร ศรัทธานั้นไม่ใช่อื่นไกลเลย นอกจากสติรู้สำนึกที่ตื่น และมีชีวิตของคุณธรรมภายใน ผู้ใดที่เปี่ยมด้วยศรัทธา นั้นแล้วย่อมไม่ต้องการสิ่งใดอีก”
อำนาจของศีลธรรม : ทัศนะของ พ.อ. ปิ่น มุทุกันต์ โดยได้กล่าวว่า “บรรพบุรุษของเรารักษาชาติให้ลุล่วงมาได้จนวันนี้ ก็เพราะชาวไทยเราพากันรักษาศีล คือ ไม่ทำลายล้างผลาญกันทั้งทางชีวิต ร่างกาย ทางทรัพย์ และทางอื่นๆ เราไม่ทำลายกัน เราก็รักกันควบคุมกันเป็นปึกแผ่น...”

บทบาทของจริยธรรมหรือศีลธรรม
จริยธรรมและศีลธรรมต่างก็เป็นเรื่องของมาตรฐานแห่งความประพฤติของบุคคล แต่มีข้อแตกต่าง คือ ศีลธรรม มีความโน้มเอียงที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องทางศาสนาหรือเกี่ยวข้องกับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ส่วน “จริยธรรม” มักเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับเรื่องมนุษยธรรม อันเป็นหลักปฏิบัติที่ถือว่าดี อยู่ในตนเอง หรือ มีความเหมาะสมเพื่อการอยู่ในสังคมอย่างราบรื่น
จริยธรรม(Ethics) และ ศีลธรรม (Morality) มีความหมายใกล้เคียงกันทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยมีความหมายเหมือนกันในส่วนที่เกี่ยวกับ “ความควร” หรือ “ความไม่ควร” ของพฤติกรรม

จริยธรรมกับมาตรฐานสากลแห่งการอยู่ร่วมกัน
สภาพบ้านเมืองที่ไร้จริยธรรมอันเป็นมาตรฐานสากล จะเป็นดังคำพังเพยที่ว่า “กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม” คือ อลเวงสับสนไปหมด โดยคนชั่วเปรียบเสมือนกระเบื้อง ซึ่งหนักแต่กลับได้รับการยกย่องหรือลอยขึ้นมา ส่วนคนดีเปรียบเสมือนน้ำเต้า ซึ่งเบาแต่กลับถูกเหยียดหยามกดให้จมลงไป ในกาพย์เรื่องพระไชยสุริยา ของท่านรัตนกวีสุนทรภู่ มีคำพรรณนาถึงสภาพบ้านเมืองที่ไร้จริยธรรมให้เห็นได้อย่างชัดแจ้ง ดังนี้ “พาราสาวัตถี ใครไม่มีปรานีใคร ดุดื้อถือแต่ใจ ที่ใครได้ใส่เอาพอ ผู้ที่มีผีมือ ทำดุดื้อไม่ซื้อขอ ไล่คว้าผ้าที่คอ อะไรล่อก็เอาไป...”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น