วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

นโยบาย (Policy)

นโยบาย (Policy)
ความหมายของนโยบายและ นโยบายสาธารณะ
โดยทั่วไปในการศึกษานโยบายจะจำแนกการศึกษาออกเป็น 2 แนวทาง คือ
การศึกษานโยบายทั่วๆ ไป (General Policy)
การศึกษานโยบายสาธารณะ (Public Policy)

ในความความหมาย นโยบาย หมายถึง แนวทางกว้างๆ ในการปฎิบัติงาน ซึ่งในความหมายนี้จะไม่แยกแยะว่าจะเป็นนโยบายของเอกชนหรือของรัฐ ก็เป็นแนวทางกว้างๆ ในการปฎิบัติงานทั้งสิ้น
ในความหมายที่กล่าวถึงเฉพาะ นโยบายสาธารณะเป็นสำคัญ ซึ่งในความหมายของนโยบายสาะรณะนั้นมีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายไว้ และซึ่งสรุปได้ว่า นโยบายสาธารณะ หมายถึง แนวทางหรือกิจกรรมต่างๆ ที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำ ภายใต้อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ โดยกำหนดเป็นหลักการแผนงานหรือโครงการ เพื่อก่อประโยชน์แก่สังคมและส่วนรวมต่อไป
ข้อสังเกต นโยบายสาธารณะ (Public Policy) นั้น อาจเป็นนโยบายของรัฐบาลหรือของเอกชนก็ได้ หากนโยบายนั้นมุ่งผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ แต่สำหรับนโยบายของรัฐบาล (Government Policy) ต้องเป็นนโยบายสาธารณะเท่านั้น

ลักษณะทั่วไปของนโยบาย
เป็นแนวทางอย่างกว้างๆ
มีจุดมุ่งหมาย
เป็นข้อเสนอเกี่ยวกับการปฎิบัติ

ลักษณะของนโยบายสาธารณะที่ดี
มีวัตถุประสงค์ ที่ชัดเจน เพื่อประโยชน์แก่สังคมและส่วนรวม
มีแผนงานรองรับ เพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
ต้องคำนึงถึงเงื่อนไขในด้าน บริบท เวลาและสถานที่
มีลักษณะของความเข้าใจได้ง่าย ของข้อความ เพื่อให้สามารถปฎิบัติตาม ได้ และสามารถเข้าใจได้ง่าย
ตอบสนองต่อผลประโยชน์สูงสุดของชาติ และส่วนรวม

รูปร่างของนโยบาย
มีรูปเป็นกฎหมาย กฎ ระเบียบ คือ เป็นนโยบายที่มีลักษณะบังคับให้ต้องปฎิบัติตาม
มีรูปเป็นแผนงาน โครงการ
มีรูปเป็นประกาศ หรือเพื่อแจ้งความ แจ้งข่าวสาร เชิญชวน และมีลักษณะที่บังคับน้อยที่สุด
มีรูปเป็นสัญญา
มีรูปเป็นอื่นๆ

ข้อสังเกต นโยบายจะมีรูปร่างอย่างไรไม่สำคัญ แต่แผนและโครงการนั้นจะต้องมีรูปร่างที่แน่นอนเสมอ


ลักษณะของผู้กำหนดนโยบาย
เป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์การ (Top-Level Administrator) เท่านั้น
เป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเอง
เป็นการกระทำในนามขององค์การมิใช่ในฐานะส่วนตัว

เนื่องจาก องค์การมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับชาติ ถึงระดับท้องถิ่น (ผู้บริหารขององค์การจึงมีหลายระดับ) นโยบายจึงต้องมีหลายระดับตามองค์การไปด้วย แต่ไม่ว่านโยบายจะเป็นในระดับใดผู้มีหน้าที่กำหนดนโยบายก็ต้องเป็นนักบริหารสูงสุดในระดับนั้นๆ นั้นเอง ส่วนบุคคลอื่นๆ ในองค์การไม่ว่าจะเป็นในระดับใดจะเป็นเพียงผู้มีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายเท่านั้น

และนอกจากนี้ ผู้กำหนดนโยบายสาธารณะยังอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ
ผู้กำหนดนโยบายสาธารณะอย่างเป็นทางการ (Official Policy Makers) เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐสภา เป็นต้น
ผู้กำหนดนโยบายสาธารณะอย่างไม่เป็นทางการ (Unofficial Policy Makers) เช่น พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ นักวิชาการ สื่อมวลชน

การศึกษาวิชานโยบายสาธารณะ นั้น มีจุดประสงค์ที่สำคัญคือ การทำความเข้าใจเหตุผลของการกำหนดนโยบาย เพื่อเป็นประโยชน์ในการนำนโยบายมาใช้ให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่ง Thomas R. Dye ได้ชี้ให้เห็นถึงเหตุผลในการศึกษานโยบายสาธารณะไว้ 3 ประการคือ
เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ (Scientific Reasons)
เหตุผลเชิงวิชาชีพ (Professional Reasons)
เหตุผลทางการเมือง (Political Reasons)

การศึกษานโยบายสาธารณะ นี้ เป็นลักษณะเป็นสหวิทยาการ คือต้องอาศัยความรู้จากหลายสาขามาประยุกต์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น