ประชาธิปไตย ในภาษาอังกฤษใช้ว่า Democracy ซึ่งแปลเทียบเคียงกับภาษาฝรั่งเศสว่า Democratie โดยมีศัพท์เดิมในภาษากรีกว่า Demokratia อันเป็นการผสมระหว่างคำ 2 คำ คือ
1. Demos อันหมายถึง ประชาชน (พลเมือง)
2. Kratos หรือ Cratos อันหมายถึง การปกครอง (เมื่อรวมคำทั้ง 2 เข้าด้วยกันแล้ว จึงหมายถึง เป็นการปกครองของประชาชน)
ศัพท์ ประชาธิปไตย ได้กลายเป็น ศัพท์เกียรติยศ ที่หลายสำนักและหลายฝ่ายต้องการยึดเป็นของตน แม้แต่ประเทศเผด็จการก็ยังอ้างว่าระบบของตนเป็นประชาธิปไตย ตัวอย่างเช่น
1. “ฮิตเลอร์” เรียกระบบเผด็จการนาซีของเขาว่า “ประชาธิปไตยที่แท้จริง”
2. “มุสโสลินี” เรียกระบบฟาสซิสต์ของเขาว่า “ประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยม”
3. “เลนิน” อดีตผู้นำสหภาพโซเวียต เรียกระบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ของตนว่า “ประชาธิปไตยของชนชั้นกรรมาชีพ” และเรียกระบบการปกครองแบบเสรีนิยมในโลกตะวันตก ว่า “ประชาธิปไตยแบบกฎุมพี” หรือ “แบบนายทุน” หรือ “ประชาธิปไตยแบบทราม”
4. ประเทศซึ่งนิยมคอมมิวนิสต์อื่น ๆ เช่น ประเทศในยุโรปตะวันออก จีน เกาหลีเหนือ ลาว อาฟกานิสถาน ฯลฯ เรียกระบบของตนว่า ประชาธิปไตยของปวงชน หรือ มหาชนาธิปไตย
อดีตผู้นำของประเทศที่นิยมคอมมิวนิสต์ มีตัวอย่างเช่น เลนิน, สตาลิน, กอร์บาชอฟ ฯลฯ ของอดีตสหภาพโซเวียต ; เหมาเจ๋อตุง, เติ้งเสี่ยวผิว ฯลฯ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น
ในภาษาอังกฤษ เริ่มใช้ครั้งแรก ประมาณ 400 มาแล้ว โดยการแปลเทียบเคียงกับภาษาฝรั่งเศส คือ เดโมกราตี (democratie)
แรกเริ่มในภาษากรีก คือ เดโมคราเตีย (demokratia[1])
เป็นการผสมระหว่าง สองตัว ได้แก่ เดมอส (demos[2]) กับ เครตอส (kratos[3])
ไม่ว่าประชาธิปไตยจะมีความหมายสั้นๆ อย่างที่ชาวกรีกโบราณเข้าใจหรือยาวดังที่ประธานาธิบดีลินคอล์นกล่าว
ในโลกแห่งความเป็นจริง คำนิยามสั้นๆ ดังกล่าวถูกตีความให้แตกต่างออกไปอีกมากมายหลากหลาย จนกล่าวได้ว่าไม่มีการตีความใดที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายโดยเอกฉันท์ และมีการอธิบายแบบต่างๆ ดังนั้น ประชาธิปไตยจึงไม่เคยมีความหมาย และรูปแบบเดียว
เพลโตมีความเห็นต่อต้านประชาธิปไตย โดยถือว่าเป็นการให้อำนาจแก่ผู้ที่ปราศจากความรู้ เพลโตต้องการสถาปนาสังคมอันเลอเลิศอย่างที่เรียกว่า “อุตมรัฐ” โดยให้ผู้ปกครองสูงสุดเป็น ราชาปราชญ์ และบรรดาผู้นำระดับรองๆ ลงไปเป็นผู้มีสติปัญญา (wisdom) และคุณธรรม (virtues)
อริสโตเติ้ล มีแนวความคิดคล้ายเพลโต แต่ไม่ต่อต้านประชาธิปไตยมากนัก ดังจะเห็นได้ว่าในการแบ่งรูปแบบการปกครองอริสโตเติ้ล จัดประชาธิปไตยอยู่ในกลุ่มของการปกครองโดยคนหมู่มากที่มีความโน้มเอียงไปในทางที่ไม่ดี แต่การปกครองโดยคนส่วนใหญ่ซึ่งมีแนวโน้มไปในทางที่ดี และอริสโตเติ้ลเชื่อว่าจะเป็นไปได้คือ “มัชฌิมาธิปไตย” หรือ “มัชฌิมวิถีอธิปไตย” (Polity) ซึ่งพอที่จะเทียบเคียงกับประชาธิปไตยในยุคปัจจุบันซึ่งคนส่วนใหญ่อยู่ในระดับกลาง
ในบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่แตกต่างในแต่ละประเทศที่นำรูปแบบการปกครองนี้ไปใช้ ส่งผลให้คำว่า ประชาธิปไตยถูกนำไปใช้อธิบายหรือเกิดความเข้าใจในความหมายที่แตกต่างกันออกไปหลายความหมาย
ประชาธิปไตย หมายถึง ระบอบการปกครองโดยคนยากจนและผู้เสียเปรียบในสังคม
ประชาธิปไตย หมายถึง รูปแบบของรัฐบาล ซึ่งประชาชนปกครองตนเองโดยตรงและอย่างต่อเนื่อง โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยนักการเมืองอาชีพและข้าราชการ
ประชาธิปไตย หมายถึง สังคม ซึ่งมีความเท่าเทียมกันในโอกาสและเกียรติภูมิของบุคคลมากกว่าชนชั้นและอภิสิทธิ์
ประชาธิปไตย หมายถึง ระบบสวัสดิการและการกระจายทรัพยากรเพื่อลดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม
ประชาธิปไตย หมายถึง ระบบของการตัดสินใจที่คำนึงถึงหลักการเสียงข้างมาก
ประชาธิปไตย หมายถึง ระบอบการปกครองที่รับประกันสิทธิและผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยด้วยการให้สิทธิในการตรวจสอบอำนาจของเสียงข้างมาก
ประชาธิปไตย หมายถึง วิธีการคัดสรรคนเข้าทำหน้าที่สาธารณะโดยผ่านการแข่งขันและคัดเลือกจากประชาชน
ประชาธิปไตย หมายถึง ระบอบการปกครองที่สนองตอบต่อผลประโยชน์ของประชาชนโดยไม่คำนึงถึงว่าประชาชนจะมีความคิดทางการเมืองอย่างไร
นิยามโดยเปอริคลีส
เปอริคลีส เป็นรัฐบุรุษเอเธนส์ มีอำนาจปกครองเอเธนส์อยู่ประมาณ 14 ปี เขาได้พยายามส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ ตำแหน่งต่าง ๆ ของทางการก็เปิดโอกาสให้พลเมืองมีส่วนเข้าร่วม เป็นผู้สนับสนุนศิลปวัฒนธรรม เช่น ส่งเสริมการสร้างวิหารอันลือชื่อ คือ “พาร์เธนอน” (Parthenon)
คำนิยามยอดนิยมของมหาบุรุษอเมริกัน ฮับราอัม ลินคอล์น
ประมาณ 80 ปี ภายหลังการแยกตัวจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกาก็ประสบกับปัญหาโดยตกอยู่ในสภาพสงครามกลางเมือง (Civil War) ที่เป็นการสู้รบระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ในประเด็นเกี่ยวกับการเลิกทาส ซึ่งขณะนั้นประธานาธิบดีของสหรัฐ คือ อับราฮัม ลินคอล์น (ค.ศ.1809-1865)
ในปี ค.ศ.1863 อับราฮัม ลินคอล์น ได้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีไว้อาลัยแก่ผู้วายชนม์ในช่วงสงครามกลางเมือง โดยมีความตอนหนึ่งว่า “รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน (Government “of, by and for” the people) จะไม่มีวันสูญสลายไปจากผืนพิภพนี้”
วาทะดังกล่าวได้กลายเป็น “คำนิยามยอดนิยม” เพราะกะทัดรัดและกระชับความ ซึ่งอาจจะวิเคราะห์คำนิยามนี้ออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
1. รัฐบาลของประชาชน คือ รัฐบาลจะต้องมาจากการสนับสนุนหรือการเลือกตั้งของประชาชน โดยประชาชนย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการเลือกผู้ปกครอง และสามารถวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้ เช่น ในประเทศอังกฤษ มีการจัดสถานที่เฉพาะ เพื่อให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยเสรี ซึ่งก็คือสวนไฮด์ (Hyde Park) ในมหานครลอนดอน
2. รัฐบาลโดยประชาชน คือ ประชาชนย่อมมีสิทธิเข้าไปมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศอาจจะเป็นโดยตรง หรือโดยอ้อม (โดยผ่านสภาผู้แทนราษฎร) เรียกว่า การส่งทอดต่อ 2 ระดับ หรือการไหลผ่าน 2 ขั้น (Two Step Flow) คือ การเสนอข้อคิดเห็นผ่านกลุ่ม สมาคม ชมรม และองค์การต่าง ๆ ก่อนที่จะถึงระดับสูง
3. รัฐบาลเพื่อประชาชน หมายถึง รัฐบาลจะต้องมีจุดประสงค์เพื่อความผาสุกของปวงชน นั่นคือ การคำนึงถึงผลลัพธ์ ซึ่งได้แก่ คุณประโยชน์หรือคุณูปการต่อคนหมู่มาก ผู้นำของประเทศประชาธิปไตยบางคนและในบางสมัยมีลักษณะแห่งความเป็นประชาธิปไตย ในวิถีชีวิตคือ การแสดงออกเชิงพฤติกรรมมากกว่าคนอื่นโดยมิได้ใช้อำนาจไปด้วยความโกรธเคือง เช่น อับราฮัม ลินคอล์น อดีตประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ได้แสดงพฤติกรรมทั้งโดยวาจาและการกระทำอย่างที่เรียกว่า ปราศจากการขุ่นข้องขัดเคืองใด ๆ แต่เปี่ยมไปด้วยการุณย์ คุณธรรม
ประชาธิปไตย กระแสหลัก ที่ใช้ในปัจจุบัน คือ ประชาธิปไตยแบบตัวแทน แบ่งรูปแบบรัฐบาลออกเป็น 3 รูปแบบ หรือ 3 ระบบ ดังนี้
Parliamentary System รูปแบบรัฐสภา หรือระบบรัฐสภา รูปแบบนี้ถือว่ารัฐสภาเป็นองค์กรสูงสุด เป็นที่รวมของเจตจำนงของประชาชนทั้งประเทศ เป็นศูนย์กลางของอำนาจทางการเมือง ทำหน้าที่ทั้งทางด้านนิติบัญญัติและควบคุมการบริหารประเทศ
รูปแบบนี้มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอังกฤษ โดยหลักการเชื่อมโยงแห่งอำนาจ (Fusion of Power) ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร เนื่องจากฝ่ายบริหารมีที่มาจากสภาผู้แทนราษฎรหรือฝ่ายนิติบัญญัตินั้นเอง เพราะรูปแบบนี้ประชาชนเลือกฝ่ายบริหารโดยทางอ้อม ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบประธานาธิบดี ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้คัดเลือกนายกรัฐมนตรีจากสมาชิกพรรคการเมืองที่ครองเสียงข้างมากในสภา จากนั้นนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เลือกรัฐมนตรีประกอบกันเป็นคณะรัฐมนตรี ระบบนี้จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่าเป็น ระบบคณะรัฐมนตรี(Cabinet System) ความรับผิดชอบทางการเมืองภายใต้รูปแบบรัฐสภา จึงเป็นความรับผิดชอบแบบองค์คณะหรือความรับผิดชอบร่วม (Collective Responsibility) ไม่ใช่ตัวผู้นำรัฐบาลเพียงคนเดียว อย่างที่เกิดขึ้นในรูปแบบประธานาธิบดี
เนื่องจากเป็นความสัมพันธ์แบบเชื่อมโยงอำนาจตามที่ได้กล่าวมา ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารจึงมีความแนบแน่นอย่างยิ่งกล่าวคือ เสถียรภาพหรือความอยู่รอดของรัฐบาลขึ้นอยู่กับฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะขึ้นอยู่กับเสียงสนับสนุนในสภา เนื่องจาก สภาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจในการตรวจสอบ ถ่วงดุล โดยเฉพาะการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเพื่อให้รัฐบาลพ้นจากตำแหน่ง ในขณะที่ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลก็มีอำนาจในการถ่วงดุลฝ่ายนิติบัญญัติด้วยการประกาศยุบสภา
Presidential System รูปแบบประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกาเป็นแม่แบบของการปกครองในรูปแบบนี้ โดยมีการจัดโครงสร้างความสัมพันธ์ของอำนาจในลักษณะที่มีการแบ่งแยกอำนาจ 3 ฝ่าย คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ออกจากกันอย่างชัดเจนเด็ดขาด
ภายใต้แนวคิดของนักปรัญาการเมืองฝรั่งเศส ชื่อ Montesquieu 1689-1755 ที่ว่าด้วย “หลักการแบ่งแยกอำนาจ” (Separation of Power) และการถ่วงดุลอำนาจ (Balance of Power) โดยหลักการที่ว่า อำนาจทั้งสามรวมอยู่ในที่เดียวกันแล้วอาจจะกลายเป็นการปกครองแบบทรราช ได้ ดังคำกล่าว ของLord Acton 1834-1902 ที่ว่า “Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely” หรืออำนาจมีแนวโน้มที่จะนำมาซึ้งความฉ้อฉล และอำนาจที่เด็ดขาดย่อมนำมาซึ่งความฉ้อฉลที่เบ็ดเสร็จ
Semi-Parliamentary and Semi-Presidential System รูปแบบหรือระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี กรณีศึกษา ของนักศึกษา เริ่มจากประเทศ ฝรั่งเศส มีปัญหาเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลเป็นระบบหลายพรรค ก่อนหน้านี้ฝรั่งเศสใช้รูปแบบรัฐสภาแบบเดียวกับอังกฤษ แต่ไม่ประสบความสำเร็จปัญหาหลักๆ ของการเมืองฝรั่งเศสที่เกิดในช่วงนั้นคือ ฝ่ายบริหารมีอำนาจน้อย ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจมาก ทำให้รัฐบาลไม่สามารถผลักดันนโยบายหรือออก มาตรการต่างๆ ได้โดยง่าย
ค.ศ.1958 นายพล Charles De Gaulle ขึ้นมามีอำนาจดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งต่อมาเปลี่ยนแปลงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี จึงมีการปฎิรูปการเมือง ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในช่วงสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 5 (The Fifth French Republic) ที่คาดหมายว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะการเพิ่มอำนาจของฝ่ายบริหาร ผลก็คือ ระบบใหม่ทำให้ฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะประธานาธิบดีมีอำนาจมากกว่าเมื่อเทียบกับฝ่ายนิติบัญญัติ
ระบบใหม่ที่เกิดขึ้น มีโครงสร้างที่แตกต่างจากระบบรัฐสภาของอังกฤษ และระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาโดยเรียกว่า ระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี (Semi-Parliamentary and Semi-Presidential System)
กล่าวโดยสรุปคือ ประชาธิปไตย กลายเป็นระบอบการปกครองที่ทั่วโลกยึดถือในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามระบอบการปกครองนี้ มีการพัฒนามาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุคกรีกโบราณทำให้มีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปรูปแบบประชาธิปไตยที่เชื่อว่าจะเป็นทางเลือกใหม่ของสังคมก็คือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม แต่ในปัจจุบันทั่วโลกก็ยังคงนิยมใช้รูปแบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งสามารถแบ่งรูปแบบของรัฐออกเป็น 3 รูปแบบคือ รูปแบบรัฐสภา รูปแบบประธานาธิบดี และรูปแบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี ทั้งนี้ การเลือกใช้รูปแบบใด ขึ้นอยู่กับการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ซึ่งเครื่องมือที่สำคัญประการหนึ่ง ในการปกครอง ระบบประชาธิปไตย คือระบบกระบวนการ การเลือกตั้ง
แนวความคิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
ในสังคมสมัยใหม่ ประชาธิปไตยในฐานะระบอบการปกครองที่ยอมรับในอำนาจของประชาชนต่อระบบและกระบวนการทางการเมือง อาจจำแนกรูปแบบออกได้ของประชาธิปไตยออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกันคือประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy) ซึ่งเป็นการลักษณะของการปกครองที่ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนมีเสียงในการปกครองโดยตรงในกระบวนการกำหนดนโยบายเพื่อบริหารประเทศได้โดยตรง ในรูปของการรวมกลุ่มกันชุมนุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและตัดสินใจเรื่องการเมือง ซึ่งพบเห็นได้บางรัฐเล็ก ๆ ในสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันหรือย้อนหลังลงไปถึงยุคนครรัฐกรีกโบราณ (Ancient Greek) ที่ได้รับการกล่าวอ้างถึงในฐานะต้นแบบแห่งประชาธิปไตยทางตรง แต่ด้วยข้อจำกัดของสังคมสมัยใหม่ ทั้งในเชิงโครงสร้างความสลับซับซ้อนของสังคมและปริมาณคนในสังคมที่มากขึ้น ประชาชนทุกคนจึงไม่อาจสามารถเข้าไปมีส่วนในการปกครองตนเองได้ทั้งหมด ทั้งยังเป็นการยากลำบากในทางปฏิบัติที่จะสร้างกลไกรองรับการแสดงส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชนทั้งหมดในสังคมได้อย่างรัดกุม จึงได้เกิดรูปแบบของประชาธิปไตยอีกประเภทหนึ่งคือประชาธิปไตยโดยการใช้อำนาจทางอ้อมของประชาชนผ่านผู้แทน (Representative Democracy) เพื่อใช้อำนาจทางการบริหารปกครองไม่ว่าจะผ่านระบบรัฐสภาหรือไม่ก็ตามในบรรดากระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งตัวแทนในการใช้อำนาจทางการเมืองแทนประชาชนนั้นเป็นที่ยอมรับว่าการเลือกตั้ง (election) เป็นรูปแบบพื้นฐานที่เหมาะสมที่สุดภายใต้รูปแบบอันหลากหลายของการให้ได้มาซึ่งผู้แทนของประชาชน การเลือกตั้งถือได้ว่าเป็นกิจกรรมที่สะท้อนแสดงออกซึ่งเจตจำนง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ในการส่งบุคคลหรือคณะบุคคลเชิงกลุ่มการเมืองที่มีอุดมการณ์และแนวนโยบายในการใช้อำนาจอันสอดคล้องกับความต้องการของตนเข้าไปปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด รวมตลอดจนถึงการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนเป็นองค์รวมและท้ายที่สุดคือการสร้างความกินดีอยู่ดีให้แก่ตน ในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย การเลือกตั้งจึงเป็นเครื่องมืออันสำคัญและเป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถแสวงหาทางเลือกในการปกครองและสนองความต้องการของเขาเอง พิจารณาในทางทฤษฎี การเลือกตั้งถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการทางการเมือง ที่เป็นพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้สำคัญอันหนึ่งว่าในช่วงเวลาหนึ่ง คณะบุคคลใดจะได้ทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ และประเทศจะเป็นไปในแนวทางใดก็ด้วยความเห็นชอบหรือฉันทานุมัติของประชาชนส่วนใหญ่จากกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะมีเหตุผลหรือปัจจัยที่น่าฟังรองรับหรือเป็นไปโดยอาศัยความรู้สึกบางประการ ผ่านนโยบายของผู้สมัครและพรรคการเมืองที่ผู้สมัครสังกัดนั่นเอง
ความหมายของการเลือกตั้ง
การเลือกตั้ง (Election) เป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเพราะการเลือกตั้งเป็นการแสดงออกซึ่งเจตนารมณ์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศในอันที่จะมอบความไว้วางใจในตัวแทนของปวงชนไปใช้อำนาจแทนตน การออกเสียงเลือกตั้งเป็นสิทธิขั้นมูลฐานของมนุษย์โดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตยอันจะเห็นได้เด่นชัดจากบทบัญญัติข้อ 21(1) แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) สรุปใจความสำคัญได้ว่า “เจตจำนงของประชาชนย่อมเป็นมูลฐานแห่งอำนาจของรัฐบาลผู้ปกครองเจตจำนงดังกล่าวต้องแสดงออกโดยการเลือกตั้งอันสุจริต ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งคราวตามกำหนดเวลาด้วยการลงคะแนนเสียงของชายหญิง โดยถือหลักคนละหนึ่งเสียงเท่ากันและกระทำเป็นการลับด้วยวิธีการอื่นใดที่จะรับประกันในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เป็นไปโดยเสรี” (กระมล ทองธรรมชาติ 2525, 201)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายของการเลือกตั้งไว้ว่าหมายถึงการเลือกบุคคลเพื่อเป็นตัวแทนตน กรณีต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลเป็นต้นนิยามของการเลือกตั้งที่เข้าใจได้ง่ายได้แก่ทัศนะของ
ธานินทร์ กรัยวิเชียร (2520, 56) อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยซึ่งกล่าวว่า การเลือกตั้งหมายถึง การที่ประชาชนได้เลือกบุคคลหนึ่งจากบุคคลหลาย ๆ บุคคลหรือจากบัญชีรายชื่อหนึ่งหรือหลายบัญชี เพื่อให้เข้าไปมีส่วนมีเสียงในคณะบริหารราชการแผ่นดิน ในทำนองเดียวกับ
วิสุทธิ์ โพธิแท่น (2524, 63) ที่ได้ให้ความหมายการเลือกตั้งไว้ว่าการเลือกตั้งหมายถึง การที่บุคคลได้เลือกบุคคลหนึ่งหรือบุคคลจำนวนหนึ่งจากหลายๆ คน หรือจากบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งบัญชีหนึ่ง หรือบัญชีจำนวนหนึ่งจากบัญชีรายชื่อหลายๆ บัญชี เพื่อให้ไปกระทำการ อันหนึ่งอันใดแทนตน ความหมายเช่นนี้เห็นได้ว่าได้จำแนกประเภทของการเลือกตั้งไปและแฝงปรัชญาแนวคิดการเลือกตั้ง ไว้ในตัวคำนิยามของการเลือกตั้งของนักวิชาการไทยท่านหนึ่งที่มักถูกอ้างถึงอยู่เสมอในวงการรัฐศาสตร์บ้านเราได้แก่
กระมล ทองธรรมชาติและคณะ (2531, 1) ที่ว่า การเลือกตั้งเป็นกระบวนการทางการเมืองที่เป็นกิจกรรมทางการเมืองอันแสดงถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ด้วยการไปใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนของตนเข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภาและในรัฐบาล เป็นกลไกแสดงออกซึ่งเจตจำนงของประชาชนที่เรียกร้องสนับสนุนให้มีการปฏิบัติจัดทำหรือละเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งในทางการเมือง และการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะที่มีผลกระทบต่อประชาชน
พิมลจรรย์ นามวัฒน์ (2534, 716) ให้ความหมายการเลือกตั้งว่า การที่ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยการออกเสียงลงคะแนนตามความเห็นของตนเอง โดยอิสระว่าจะเลือกใครเป็นตัวแทนของตนเข้าไปใช้อำนาจอธิปไตยบริหารกิจการของประเทศ ผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งนั้นจะเป็นผู้สมัครใจเสนอตัวเข้ามาให้ประชาชนเลือกและผู้ที่ได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้แทนของประเทศมีสิทธิตามที่ได้รับมอบหมายจากประชาชนให้เข้าร่วมเป็นคณะบุคคลดำเนินการบริหารและปกครอง
พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว (2535, 201; 2540, 217) ให้ความหมาย การเลือกตั้ง หมายถึง เป็นกระบวนการทางการเมืองและการปกครอง เพราะการเลือกตั้งเป็นการแสดงออกซึ่งเจตจำนงของประชาชนในการปกครองประเทศ เจตจำนงดังกล่าวปรากฏอยู่ในลักษณะของการเรียกร้อง (Demand)หรือสนับสนุน (Support) ต่อการตัดสินใจทั้งหลายในระบบการเมือง
วัชรา ไชยสาร (2541, 8-9) ให้ทัศนะว่า การเลือกตั้งเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้มีส่วนร่วมทางการเมือง (Participation) อันเป็นกลไกที่แสดงออกซึ่งเจตจำนงของประชาชนที่เรียกร้อง หรือสนับสนุนให้มีการกระทำหรือการละเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งในทางการเมือง หรือตัดสินใจในนโยบายสาธารณะที่จะมีผลกระทบต่อประชาชน โดยประชาชนทั่วไปเลือกผู้แทนหรือพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์นโยบายและวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับตนด้วยความวาดหวังว่าผู้แทนหรือพรรคการเมืองที่ตนเลือกให้ไปใช้อำนาจอธิปไตยแทนตนนั้นจะนำ
อุดมการณ์ และนโยบายในการบริหารประเทศและทำหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ของตนเอง การเลือกตั้งจึงเป็นระบวนการแสวงหาทางเลือกในการเมืองปกครองของประชาชน นั่นเอง
เดวิท บัทเลอร์และคณะ (Butler, Penniman and Renny eds. 1981, 344 อ้างถึงใน ธโสธร ตู้ทองคำ 2545, 535-536) ในหนังสือเรื่อง "Democracy at the Polls: A Comprehensive Study ofCompetitive National Election" ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.1981 กล่าวว่า การเลือกตั้ง (Election) มีนัยความหมายจำแนกออกได้เป็นสองแง่กล่าวคือ การเลือกตั้งในแง่มุมของกฎหมายและการเลือกตั้งแง่มุมปรัชญา โดยในส่วนแรก การเลือกตั้งในแง่มุมของกฎหมายนั้น เป็นการพิจารณาจากกฎหมายการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยทั่วไปแล้วจะมีสภาพอยู่ 3 ประการคือ การเลือกตั้งที่เป็นสิทธิ (rights) ในแง่นี้ การเลือกตั้งถือเป็นสิทธิที่มีความสำคัญประการหนึ่งที่รัฐจะต้องให้ความคุ้มครอง การเลือกตั้งในฐานะที่เป็นอภิสิทธิ์ (privilege) เป็นการที่ผู้ลงคะแนนเสียงมีความเป็นอิสระที่จะเลือกกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ที่ได้รับการยอมรับจากกฎหมาย ปราศจากการแทรกแซงหรือเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นเป็นต้น และการเลือกตั้งในฐานะที่เป็นหน้าที่ (duty) อันหมายถึง การที่บุคคลจำเป็นต้องกระทำหรืองดเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่มีสภาพเป็นหน้าที่จึงเป็นไปโดยที่กฎหมายได้ระบุหรือบังคับให้ผู้ลงคะแนนไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่ากฎหมายได้ระบุหรือบังคับให้ผู้ออกเสียงลงคะแนนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดยถือเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งที่ต้องกระทำ กระลงคะแนนเสียงที่กำหนดไว้หน้าที่ทางการเมืองของประชาชนโดยผลทางบังคับของกฎหมายเช่นนี้ ยกตัวอย่างได้แก่ประเทศไทย ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทย หากเพิกเฉยจะต้องถูกลงโทษด้วยการเสียสิทธิทางการเมืองบางประการเป็นต้น ในส่วนที่สอง การเลือกตั้งในแง่มุมปรัชญา แบ่งออกได้เป็น 3 ประการดังนี้
ประการแรก การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีสภาพเป็นสิทธิตามธรรมชาติ (Natural Rights)[4]กล่าวคือ เป็นสิทธิที่เกิดมากับบุคคลในฐานะที่เป็นหน่วยหนึ่งของรัฐ ทั้งนี้เพราะบุคคลย่อมเสมอภาคกัน อันเป็นลักษณะตามธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งหากบุคคลผู้ใดเป็นผู้บรรลุนิติภาวะมีความเป็นผู้ใหญ่และไม่มีลักษณะต้องห้ามแล้ว จะมีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
ประการที่สอง การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีสภาพเป็นภารกิจสาธารณะ (Public Affairs) กล่าวคือ ความก้าวหน้าของสังคมย่อมขึ้นอยู่กับการปฏิบัติงานของบุคคลให้เป็นไปตามหน้าที่อย่างชาญฉลาด เมื่อเป็นดังนี้ การให้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจึงจำกัดเฉพาะแก่บุคคลที่เหมาะสมและสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยดีเท่านั้น การดำเนินการตามแนวนี้ บุคคลจึงอาจถูกกำหนดสิทธิในการลงคะแนนได้เสมอ หากเมื่อปรากฏว่าบุคคลนั้นเข้าลักษณะที่ไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้อย่างถูกต้อง
ประการที่สาม การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีสภาพเป็นสิทธิคัดค้านการกระทำ กล่าวคือ ผู้ออกเสียงลงคะแนนที่คัดค้านการกระทำหรือนโยบายของรัฐ จะลงคะแนนให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคการเมืองที่ตรงกันข้ามกับผู้สมัครรับเลือกตั้งที่สนับสนุนรัฐบาลหรือร่วมรัฐบาล พรรครัฐบาลหรือพรรคร่วมรัฐบาล ในวันที่มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือวันเลือกตั้งเป็นสำคัญจากความหมายดังกล่าวข้างต้นอาจสรุปคำนิยามของการเลือกตั้งได้ว่าหมายถึง กระบวนการและกิจกรรมทางการเมืองที่แสดงออกถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของ ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ทั้งบทบาทในแง่การกำหนดตัวผู้บริหารประเทศ และการแสดงบทบาทตามเจตนารมณ์ในการส่งเสริมสนับสนุนการบริหารประเทศของผู้มีอำนาจปกครอง ด้วยการไปออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนของตนเพื่อทำหน้าที่ในรัฐสภาและในรัฐบาล หรือเป็นการที่ประชาชน ได้แสดงออกซึ่งมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation) โดยการออกเสียง (Voting) ลงคะแนนเลือกตัวแทนของเขาตามความเห็นโดยอิสระว่าจะเลือกผู้ใดเป็นตัวแทนของตนไปใช้อำนาจอธิปไตย ทั้งในทางนิติบัญญัติและการบริหารกิจการของประเทศผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งนั้นจะเป็นผู้ที่สมัครใจเสนอตัวเข้ามาให้ประชาชนเลือก และผู้ที่ได้รับการเลือกด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ไดรับการยอมรับว่าเป็นผู้แทนของประชาชนทั้งหมดมีสิทธิตามที่ได้รับมอบหมายจากประชาชน
คุณค่าของการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งนั้น ได้รับการกล่าวถึงว่า เป็นวิธีการที่อาจมีข้อเสียน้อยที่สุดในการที่จะให้คนส่วนใหญ่ได้มีส่วนร่วม หรือมีบทบาทในการปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตยที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน โดยการเลือกตั้งเป็นกระบวนการสรรหาผู้ปกครองหรือรัฐบาลโดยสันติวิธีที่มีคุณค่าหรือคุณประโยชน์สำคัญใน 2 ประการ เป็นอย่างน้อย กล่าวคือ
ประการแรก การเลือกตั้งเป็นการสร้างความชอบธรรม (Legitimacy)[5] ให้กับอำนาจ รัฐบาลหรือผู้ปกครองที่มาจากการเลือกตั้ง เนื่องจากการเลือกตั้งนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการให้ประชาชนผู้มีทธิออกเสียงเลือกตั้งได้มีโอกาสคัดเลือกตัวแทนไปเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ และเมื่อรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศโดยผ่านการเลือกตั้งที่เป็นการแสดงเจตจำนงในการปกครองของประชาชนแล้วนโยบายสาธารณะซึ่งพิจารณาได้ง่าย ๆ ว่าคือสิ่งที่รัฐบาลเลือกที่จะทำหรือไม่ทำ (Dye 1978, 3-5) ผู้ใช้อำนาจการเมืองการปกครองซึ่งได้รับอาณัติจากประชาชนย่อมสามารถกระทำการต่างๆ ในนามประชาชนได้อย่างเต็มที่ เพราะได้รับอำนาจโดยความนิยมจากประชาชนนั่นเอง
ประการที่สอง การเลือกตั้ง เป็นกลไกแห่งการสืบทอดอำนาจโดยสันติ การเลือกตั้งแต่ละครั้งอาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรี หรือเปลี่ยนกลุ่มการเมืองที่เข้าทำหน้าที่เป็นรัฐบาล แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากผลของการเลือกตั้งย่อมเป็นการเปลี่ยนตามครรลองและกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนด เป็นปรากฏการณ์ธรรมดาที่เกิดโดยสันติวิธี ไม่ทำให้มีปัญหาหรือวิกฤติการณ์ใดๆเกิดขึ้น (สุขุม นวลสกุล 2542, 251) เว้นไว้แต่การเลือกตั้งที่ทำให้ได้มาซึ่งผู้แทนประชาชนที่ฉ้อฉล อันส่งผลให้หลายกรณีการเลือกตั้ง มีฐานะเป็นกลไกสืบทอดอำนาจ และเป็นกระบวนการที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อพัฒนาการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
ความสำคัญของการเลือกตั้ง
โคเฮน (Cohen 1971, 76) ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเลือกตั้งไว้ว่า การเลือกตั้งเป็นหลักการสำคัญของระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยเริ่มแรก ซึ่งก็คือ การให้พลเมืองจำนวนมากที่สุด ใช้อำนาจอธิปไตยในการปกครอง ซึ่งก็มิอาจทำได้ในทางปฏิบัติเนื่องจากพลเมืองมีจำนวนมาก สุดวิสัยที่จะจัดการปกครองตนเอง นอกจากนี้พลเมืองบางคนยังขาดความรู้ความเข้าใจทางการเมืองการปกครองที่เพียงพอ ในขณะที่ประชาชนบางส่วนต้องมีภาระหน้าที่ในการระกอบอาชีพเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว การปกครองแบบประชาธิปไตยโดยตรงจึงได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นการให้ประชาชนได้ใช้อำนาจอธิปไตย (Sovereignty Power)[6] ผ่านทางผู้แทน
กล่าวคือ ให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งบุคคลจำนวนหนึ่งไปทำหน้าที่เป็นผู้แทนที่เขาเห็นว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถให้ไปทำหน้าที่ในการอำนาจรัฐแทนเขา
ธโสธร ตู้ทองคำ (2545, 538-539) ได้จำแนกความสำคัญของการเลือกตั้งไว้ 2 ลักษณะดังนี้
ก. ความสำคัญของการเลือกตั้งในทางทฤษฎี
ในทางทฤษฎีกล่าวได้ว่า ทฤษฎีการแบ่งอำนาจอธิปไตยออกเป็นสามส่วนคืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ มีความเชื่อมโยงกับปรัชญาการเลือกตั้ง กล่าวคือ การเลือกตั้งจะเป็นที่มาของกลไกผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในประเทศประชาธิปไตย
ในความหมายนี้ การเลือกตั้งจึงมีความสำคัญในฐานะที่เป็นการยอมรับในอำนาจของประชาชนในการเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งได้มีการมอบอำนาจให้กับตัวแทนไปปฏิบัติการแทนตามกระบวนการและขั้นตอนที่กำหนดไว้ การเลือกตั้งจึงเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงได้มีส่วนร่วมทางการเมืองในการเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ด้วยการเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ และมีความสัมพันธ์กับอำนาจทางฝ่ายบริหาร ความสำคัญของการเลือกตั้งในทางทฤษฎีที่เป็นไปตามนัยแห่งทฤษฎีประชาธิปไตยแบบคลาสสิค (Classical Democratic Theory) นี้ บ่งชี้ให้เห็นว่า การเลือกตั้งเป็นการเลือกรัฐบาลที่จะเข้ามาปกครองประเทศ (พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว, 2540: 217)
ข. ความสำคัญของการเลือกตั้งในทางปฏิบัติ
การเลือกตั้งในทางปฏิบัตินั้น มีความสำคัญในฐานะที่เป็นสิทธิขั้นมูลฐานของมนุษย์โดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตย อันเห็นได้เด่นชัดจากบทบัญญัติเชิงบังคับข้อ 21 (1) แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ซึ่งสรุปใจความสำคัญไว้ว่า"เจตจำนงของประชาชนย่อมเป็นมูลฐานแห่งอำนาจการปกครองของรัฐบาล เจตจำนงดังกล่าวต้องแสดงโดยการเลือกตั้งอันสุจริต ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งคราวตามกำหนดเวลา ด้วยการลงคะแนนเสียงของชายหญิง โดยถือหลักคนละหนึ่งเสียงเท่ากัน และกระทำเป็นการลับ ด้วยวิธีการอื่นใดที่รับประกันได้ว่าการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจะเป็นไปโดยเสรี" ในแง่นี้ การเลือกตั้งจะเป็นกระบวนการทางปฏิบัติหรือขั้นตอนที่สำคัญของประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy) และในทางปฏิบัตินี้ อาจจัดแบ่งความสำคัญของการเลือกตั้งออกได้เป็น 6 ประการ ประกอบด้วย
ประการแรก การเลือกตั้งเป็นกระบวนการทางการเมืองที่เป็นการแสดงออกซึ่งเจตจำนงหรือความต้องการของประชาชนในการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง การเลือกตั้งจึงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้นกับระบบการเมือง
ประการที่สอง การเลือกตั้งเป็นกระบวนการทางการเมืองที่มีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลและการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล โดยเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยสันติวิธี ก่อให้เกิดการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านอำนาจ ห้องกันการผูกขาดอำนาจและการฉ้อราษฎร์บังหลวง ในแง่นี้ การเลือกตั้งเป็นการตัดสินใจของ ผู้มีสิทธิออกเสียงหรือประชาชนในรัฐในอันที่จะกำหนดรัฐบาลนั่นเอง
ประการที่สาม การเลือกตั้งเป็นกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงระหว่างสถาบันทางการเมืองกับประชาชน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าเป็นกลไกที่สร้างความเชื่อมโยงระหว่างโครงสร้างส่วนบน(Super Structure) อันประกอบด้วยรัฐสภา รัฐบาลและศาล กับโครงสร้างส่วนล่าง (Infra Structure) ซึ่งก็คือประชาชน โดยผ่านการมีส่วนร่วมทางการเมือง ดังนั้นการลือกตั้งจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความคิดความเชื่อ และทัศนคติของประชาชน ที่มีต่อการบริหารงานของรัฐบาลและเป็นพันธะสัญญาที่รัฐบาลจำต้องปฏิบัติตามนโยบายที่ให้ไว้ นโยบายของรัฐนี้ นับเป็นสัญญาประชาคม (Social Contract) ที่เป็น
ผลมาจากการเลือกตั้งทั่วไปอันเป็นส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง
ประการที่สี่ การเลือกตั้งเป็นกระบวนการ กลไก และขั้นตอนที่แสดงถึงความเป็นประชาธิปไตย หรือเป็นสัญลักษณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งทำให้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันการใช้ความรุนแรงทางการเมือง การปฏิวัติ รัฐประหาร เมื่อการเมืองเกิดวิกฤตการณ์ การเลือกตั้งในแง่นี้จึงเป็นเครื่องมือประการหนึ่งที่จะใช้ลดความขัดแย้ง ลงได้
ประการที่ห้า การเลือกตั้งก่อให้เกิดบูรณาการทางสังคม (Societal Integration) และความรู้สึกในทางปฏิบัติที่ต่างต้องมีสิทธิหรือหน้าที่ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง การเลือกตั้งเป็นกลไกสำคัญทั้งในทางการเมืองและสังคม ในการสร้างความรู้สึกร่วมกันในการเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และการเป็นเจ้าของประเทศของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งหรือเป็นกิจของพลเมือง(Civic Duty) ที่พลเมืองในประชาคมการเมืองจะต้องปฏิบัติ
ประการที่หก การเลือกตั้งก่อให้เกิดการกล่อมเกลาทางการเมือง (Political Socialization)ทั้งนี้เพราะมีกิจกรรมทางการเมืองหลายประการที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการรณรงค์หาเสียง (Vote-gaining Campaign) ซึ่งก่อให้เกิดการเรียนรู้ เกิดการสื่อสารถ่ายทอดความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสร้างเสริมการเรียนรู้ระหว่างกันจนนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง(Political Culture) ร่วมกันในที่สุด
วิทยา สุจริตธนารักษ์ (2516, 1) ให้ความเห็นไว้ว่า การเลือกตั้งมีผลสำคัญต่อการเมืองประการหนึ่ง และเป็นสิ่งกำหนดผู้ที่จะเข้าหรือออกจากการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งหากจะกล่าวให้กระชับก็คือการเข้าหรือออกจากอำนาจทางการเมือง (ทัศนะผู้เขียนบทความ) และมีความสำคัญต่อระบบการเมืองใน 2 ประการคือ
ประการแรก การเลือกตั้ง สร้างความชอบธรรมให้แก่ระบบการปกครอง เช่น การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือผู้ปกครองโดยสันติ ทำให้รัฐบาลนั้นเป็นรัฐบาลในนามของประชาชน เพราะได้รับความยินยอมให้เข้าปฏิบัติหน้าที่จากประชาชน และทำให้ประชาชนผู้อยู่ใต้การปกครองเกิดความผูกพันกับนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลที่ตนเลือกเข้าไป และทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนมีส่วนในการปฏิบัติตามนโยบายนั้น ทั้งรัฐบาลก็จะเรียกร้องให้ประชาชนเสียสละเพื่อประเทศได้ ลักษณะดังกล่าวนี้ จะช่วยเสริมสร้างความชอบธรรมแก่รัฐบาลมากกว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล
ประการที่สอง การเลือกตั้ง เป็นกลไกเชื่อมโยงที่สะท้อนทัศนคติของสาธารณชนต่อนโยบายของรัฐบาลและกำหนดแนวทางของนโยบายการบริหารออกมาการเลือกตั้งนั้น ก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประชาชนมากมายหลายประการ โดยสรุปได้จากงานของ อภิชาต นาคสุข (2536, 23) ได้ดังนี้
ประการแรก การไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งอย่างพร้อมเพรียง จะทำให้ได้มาซึ่งผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนของประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง ในทางตรงข้ามกัน หากประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งน้อย ผู้แทนราษฎรก็มักจะไม่มีฐานมวลชนที่กว้างขวาง ผู้แทนราษฎรที่ได้รับการเลือกตั้งก็มีสภาพเป็นผู้แทนของเสียงส่วนน้อย
ประการที่สอง การเลือกตั้งที่เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ย่อมเป็นสิ่งที่สะท้อนให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งใช้อิทธิพลโดยเฉพาะทางการเงินเพื่อให้ได้รับโอกาสในการเลือกตั้งลดน้อยลง ในขณะเดียวกันการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมก็เป็นช่องทางที่เปิดต่อคนที่มีความรู้ความสามารถให้เข้ามาสมัครรับเลือกตั้งได้มากขึ้น และโอกาสที่คนมีความรู้ความสามารถจะได้รับการเลือกตั้งก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย
ประการที่สาม การเลือกตั้งเป็นการส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย เองจากการเลือกตั้งถือเป็นหัวใจของการปกครองระบอบนี้ แต่หากประชาชนไม่สนใจไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งโดยนอนหลับทับสิทธิ์แม้จะมีการกำหนดให้การไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญระบุไว้ก็ตาม
สุรินทร์ ไหมศรีกรดและดันแคน แมคคาร์โก (Surin Maisrigrod and Duncan McCargo in Kevin Hewison ed. 1997, 132-133) ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับระบบการเมืองไทย ไว้ว่า ภายหลังการเสื่อมถอยในอำนาจของระบบถนอม-ประภาส-ณรงค์ ในปี พ.ศ.2516 (ค.ศ.1973) ได้ส่งผลการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อกระบวนการเลือกตั้งของไทย การเลือกตั้งได้รับความสำคัญมากขึ้นในฐานะที่เป็นกลไกสำหรับจัดการการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยเฉพาะการคืนสภาพความเป็นปกติทางการเมือง(restoring political normalcy) และการคงความต่อเนื่องของระบอบประชาธิปไตยที่เรากำหนดไว้เป็นรูปแบบ/ระบอบการปกครองของประเทศ แต่กระนั้น ในระยะต้น อำนาจทางการเมืองยังคงตกอยู่ในมือชนชั้นนำเพียงไม่กี่คน โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงถูกกีดกันออกจากการใช้อำนาจทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ผ่านระบบการปกครองประเทศ ซึ่งพิจารณาได้จากการเลือกตั้ง 20 ครั้งนับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ.2475 จนถึงสิ้นสุดปี พ.ศ.2539 ปรากฎว่ามีการเลือกตั้ง 7 ครั้ง ที่เกิดขึ้นภายหลังการยึดอำนาจของฝ่ายทหาร และอย่างน้อย 6 ครั้งที่จัดขึ้นจากภาวะจากภาวะวิกฤตการเมืองแบบอื่น อาทิเช่น ในสมัยนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย ซึ่งได้จัดการเลือกตั้งขึ้นอีกคราวหนึ่ง
ในเดือนพฤษภาคม 2538 ภายหลังการยุบสภาจากปัญหาการปฏิรูปที่ดินหรือกรณี สปก. 4-01 และในระบบที่มีเสถียรภาพ การเลือกตั้งทั่วไปได้กลายเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาสามัญที่เกิดขึ้นได้เป็นส่วนหนึ่งในลงจรการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งโดยปกติแล้วจะจัดให้มีขึ้นภายใต้เงื่อนไขอันได้แก่ การที่รัฐบาลเห็นว่าความนิยมในรัฐบาล (government popularity) มีอยู่ในระดับสูง หรือรัฐบาลมีความเชื่อว่าเป็นโอกาสดีที่สุดที่เปิดไว้สำหรับการเข้าเป็นรัฐบาลอีกวาระหนึ่งในที่นี้ ขอกล่าวสรุปความสำคัญของการเลือกตั้งโดยยกทัศนะของกระมล ทองธรรมชาติ (2515, 201) มาประกอบกล่าวคือ การเลือกตั้งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งและเป็นกระบวนการทางการเมืองที่มิอาจขาดไปได้ของการปกครองแบบประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นการเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงการแสดงออกซึ่งเจตนารมณ์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ ในอันที่จะมอบความไว้วางใจให้ตัวแทนของปวงชนได้ใช้อำนาจแทนตน
หลักเกณฑ์พื้นฐานของการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งจะมีความหมายและถือว่าเป็นที่มาของความชอบธรรมในอำนาจของรัฐบาลและผู้ปกครองนั้น มีหลักเกณฑ์ที่สำคัญซึ่งมักถูกกำหนดไว้แล้วในกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่มีฐานะเป็นบทบัญญัติสูงสุดแห่งรัฐ โดยมีสถานะเป็นบทรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนและใช้บังคับกับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือลงมติทางการเมืองแทบทุกประเภทพิจารณาจากข้อเขียนของเมธา สุดบรรทัด (2517, 52-58) และบุญศรี มีวงษ์อุโฆษ (2542, 21-29) หลักเกณฑ์พื้นฐานของการเลือกตั้ง สามารถจำแนกได้ในประการสำคัญ ดังต่อไปนี้
ก. หลักความอิสระแห่งการเลือกตั้ง (Freedom of Election)
ข้อนี้หมายถึง การจัดการดำเนินงานเลือกตั้งนั้น ต้องให้เกิดอิสระเสรีแก่ผู้มีสิทธิออกเสียงในการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ กล่าวคือทุกคนย่อมใช้สิทธิของตนได้โดยอิสระปราศจากการบังคับ ความกดดันทางจิตใจ หรือการกระทำใด ๆ รวมทั้งการหาทางป้องกันมิให้มีการกระทำดังกล่าว อันจะมีผลต่อการตัดสินใจออกเสียงเลือกตั้งและเป็นเหตุให้การเลือกตั้งถูกบิดเบือนไปจากเจตจำนงที่แท้จริงของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง และยังรวมไปถึงความเป็นอิสระการไม่ไปออกเสียงเลือกตั้งด้วย ซึ่งหมายความว่า หากผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งไม่ประสงค์จะไปใช้สิทธิของตน รัฐบาลก็ไม่อาจที่จะนำมาตรการใด ๆ มาบังคับให้ต้องไปเลือกตั้งได้หลักความเป็นอิสระของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งนี้ ในบางประเทศเช่น สหพันธรัฐเยอรมัน ยังครอบคลุมไปถึงการตระเตรียมการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหาเสียงเลือกตั้งด้วย เว้นแต่รัฐธรรมนูญของรัฐซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ จะมีบทบัญญัติระบุให้การไปออกเสียงเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของประชาชน เช่น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ.2540) ของประเทศไทย
2. หลักการเลือกตั้งตามกำหนดระยะเวลา (Periodic Election)
หมายถึง การเลือกตั้งจะต้องกำหนดให้มีเวลาที่แน่นอนเช่น กำหนดการเลือกตั้งให้มีการเลือกตั้งโดยปกติทุก 4 ปี หรือ 6 ปี ด้วยเหตุที่ต้องการให้ผู้ใช้อำนาจทางการเมืองที่ได้รับมอบหมายจากประชาชนมีความรับผิดชอบมากขึ้น ลดอำนาจการผูกขาดและเปิดโอกาสให้บุคคลอื่นได้มีโอกาสเข้าสู่การใช้อำนาจการเมืองเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมด้วย
3. หลักการเลือกตั้งอย่างแท้จริงหรือการเลือกตั้งที่ยุติธรรม (Genuine Election)
กล่าวคือ รัฐบาลมีหน้าที่สำคัญที่จะต้องดำเนินการให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์ตามกฎหมายและเป็นการสะท้องการแสดงออกซึ่งเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชน ด้วยเหตุดังกล่าวจึงต้องจัดให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการดำเนินการเลือกตั้งของตนให้ได้มากที่สุด รวมทั้งเปิดโอกาสให้มีการคัดค้านการเลือกตั้งได้ เมื่อเห็นว่าการเลือกตั้งนั้นไม่เป็นไปโดยบริสุทธิ์อย่างแท้จริง
4. หลักการออกเสียงทั่วไป (Universal Suffrage)
เป็นการเปิดโอกาสให้มีการออกเสียงเลือกตั้งอย่างทั่วถึง โดยไม่มีการกีดกันหรือจำกัดสิทธิของบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นพิเศษ โดยอาศัยข้อพิจารณาทางการเมือง เศรษฐกิจหรือสังคม ไม่ว่าจะเป็นเพศ เผ่าพันธุ์ ชาติพันธุ์ ศาสนา ฐานะทางเศรษฐกิจ รายได้ จำนวนภาษีที่จ่าย การถือสิทธิ สถานะทางการศึกษาหรืออาชีพ ความคิดเห็นทางการเมือง หรือการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อนำมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินบุคคลหนึ่งบุคคลใดว่ามีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งหรือไม่ (BverfGE 15, 165 อ้างถึงในบุญศรี มีวงษ์อุโฆษ 2542, 23) เว้นแต่บุคคลที่มีข้อจำกัดอันเป็นที่ยอมรับทั่วไปหรือที่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายเฉพาะที่กำหนดไว้ เช่น ไม่ให้สิทธิเลือกตั้งแก่เด็ก และบุคคลที่จิตบกพร่องผู้ต้องขัง เป็นต้น
5. หลักการเลือกตั้งอย่างเสมอภาค (Equal Suffrage)
หลักการเลือกตั้งอย่างเสมอภาค เป็นหลักการที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งยอมรับในคุณค่าความเท่าเทียวกันของมนุษย์ ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการปรับหลักการความเสมอภาคไปใช้ในบริบทของการเลือกตั้ง หลักการนี้มีสาระสำคัญอยู่ว่า บุคคลมีความเสมอภาคกันที่จะได้รับความคุ้มครอง ได้รับการปฏิบัติจากรัฐอย่างเท่าเทียมกันในสาระสำคัญ มิใช่เลือกปฏิบัติเพราะเหตุความแตกต่างเรื่องเหล่ากำเนิดเพศ การนับถือศาสนา เป็นต้นหลักการเลือกตั้งอย่างเสมอภาคนั้น นับเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของการเลือกตั้งที่มีความสำคัญในทางปฏิบัติมากที่สุด โดยมีวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกับหลักทั่วไปของการเลือกตั้งและทำให้การเลือกตั้งมีความสมบูรณ์มากขึ้นในแง่ของการทำให้คะแนนเสียงแต่ละคะแนนของผู้มีสิทธิ
ออกเสียง ได้มีโอกาสส่งผลในการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ ซึ่งหมายความง่าย ๆ ว่า บุคคลที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง มีสิทธิคนละหนึ่งเสียงและคะแนนเสียงทุกคะแนนมีน้ำหนักเท่ากัน (ดู พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว2532, 203 อ้างถึงใน วัชรา ไชยสาร 2541, 10-11 ประกอบ) และกำหนดออกมาเป็นหลักการที่เรียกกันว่า “One Man One Vote” เช่นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาของประเทศไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้ หลักการเลือกตั้งมิได้ใช้บังคับเฉพาะในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเท่านั้น จะพบว่า การเลือกตั้งโดยเสมอภาคยังกินความไปถึงการเลือกตั้งในทุกขั้นตอนรวมทั้งการสมัครรับเลือกตั้ง การเตรียมการเลือกตั้งทั้งหมด การหาเสียง และการนับคะแนนเป็นต้น
6. หลักการลงคะแนนลับ (Secret Election)
หลักการนี้ เป็นสาระสำคัญหนึ่งของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยและเป็นตัวคุ้มกันหลักความเป็นเสรีของการเลือกตั้ง เนื่องเพราะหากการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยทางลับแล้ว การเลือกตั้งก็จะไม่อาจเป็นไปโดยเสรีได้ ในเชิงหลักการ หลักการลงคะแนนลับหมายถึง การให้สิทธิเสรีภาพที่จะลงคะแนน โดยไม่จำเป็นต้องไปบอกผู้อื่นหรือผู้อื่นได้ทราบว่าเลือกใคร ทั้งนี้เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์ ป้องกันการใช้อิทธิพลข่มขู่หรือการให้สินจ้างรางวัลแก่ผู้ลงคะแนนเสียงนอกจากนี้ ชัยอนันต์ สมุทวณิช (2524, 11) ได้สรุปหลักเกณฑ์ในการเลือกตั้งไว้ ซึ่งสามารถเข้าใจได้ง่ายว่า การเลือกตั้งนั้น ไม่ว่าระดับใดหรือที่ไหน ถ้าอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้วนั้น จะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ดังนี้
1) มีบุคคลหลายคน หรือบัญชีรายชื่อผู้สมัครับเลือกตั้งหลายบัญชี ในกรณีที่ให้ราษฎรเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อให้เลือก ถ้ามีเพียงบุคคลเดียว หรือมีบัญชีรายชื่อผู้รับสมัครเลือกตั้งเพียงบัญชีเดียว จะไม่ถือว่าเป็นการเลือกตั้ง
2) จะต้องให้เสรีภาพแก่ราษฎรที่จะเลือกหรือไม่เลือกก็ได้ โดยไม่มีการบังคับขู่เข็ญจากผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง หรือบัญชีใดบัญชีหนึ่ง ด้วยวิธีการใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม
3) ราษฎรที่มีสิทธิเลือกตั้ง จะต้องมีโอกาสที่จะได้รับทราบข้อคิดเห็น หรือนโยบายต่าง ๆ จากผู้สมัครรับเลือกตั้ง ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม ทั้งนี้เพื่อที่จะให้ตัวแทนตามต้องการ
4) ราษฎรที่มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องมีสิทธิและเสรีภาพที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้สมัครรับเลือกตั้งได้
ประเภทของการเลือกตั้ง
การพิจารณาแบ่งประเภทของการเลือกตั้งนั้นอาจใช้หลักเกณฑ์ต่างๆ ได้หลายวิธี เช่น ลักษณะที่มาของการจัดการเลือกตั้ง การกำหนดเขตเลือกตั้ง วิธีการคิดคะแนน โดยพอที่จะสามารถแบ่งประเภทของการเลือกตั้งออกได้เป็น 4 ประเภท คือ
1) การเลือกตั้งทั่วไป (General Election) คือ การเลือกตั้งที่มีผู้มีสิทธิอออกเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศมาลงคะแนนเสียงพร้อมๆ กัน เป็นการเลือกตั้งคราวเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งจะเป็นเครื่องชี้วัดกระแสทางการเมืองของประเทศได้เป็นอย่างดี แต่กระนั้น การเลือกตั้งทั่วไปก็ยังเป็นภาพสะท้อนความคิดเห็นและแนวโน้มของกระแสความคิดทางการเมืองของประชาชนในประเทศหรือในเขตเลือกตั้งนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี
2) การเลือกตั้งซ่อม (By Election) เป็นการเลือกตั้งบุคคลเข้าไปทำหน้าที่แทนในกรณีต่างๆตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากบุคคลนั้นขาดจากสมาชิกภาพ เช่น ตาย ลาออก ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง เป็นต้น ก็จะมีการเลือกตั้งซ่อมเพื่อให้ได้ผู้แทนประชาชนเข้าไปทำหน้าที่ในตำแหน่งนั้น ๆแทนบุคคลเดิม แต่มีบางกรณีที่มีคำพิพากษา หรือคำวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นไปโดยมิชอบซึ่งเป็นการขาดสมาชิกสภาพอีกกรณีหนึ่ง และกำหนดให้เป็นการเลือกตั้งอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า การเลือกตั้งซ้ำ (Re-election)
3) การเลือกตั้งเพิ่ม เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนหลาย ๆ จังหวัดหรือหลายเขตเลือกตั้งในคราวเดียวกัน แต่มิใช่การเลือกตั้งทั้งประเทศ
4) การเลือกตั้งซ้ำ (Re-election) คือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่อีกครั้งหนึ่งในกรณีที่สภานิติบัญญัติหรือศาลยุติธรรม/ศาลรัฐธรรมนูญ อันรวมไปถึงองค์การที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการเลือกตั้งที่กฎหมายให้อำนาจไว้วินิจฉัยว่าการเลือกตั้งนั้นเป็นโมฆะ หรือผิดตัวบทกฎหมายและได้มีคำสั่งที่ชอบให้เพิกถอนเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่แทนตำแหน่งที่พ้นไป ซึ่งอาจจะเป็นรายบุคคลหรือรายเขตเลือกตั้งก็ได้การสังกัดกลุ่มการเมืองของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ก็เป็นเกณฑ์อีกประการหนึ่งที่ใช้เพื่อจำแนกรูปแบบหรือชนิดของการเลือกตั้ง ซึ่งใช้กันอยู่ในการเลือกตั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา เทอร์เนอร์ และคณะ (Turner and Others 1996, 214) ได้จำแนกประเภทของการเลือกตั้งตามเกณฑ์แบนี้ไว้ 2 ประเภทคือ การเลือกตั้งแบบอิงสังกัด (Partisan Election) เป็นการเลือกตั้งที่ปรากฎในระดับชาติหรือระดับประเทศ และการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นบางตำแหน่งได้แก่ การเลือกตั้งประธานาธิบดี วุฒิสมาชิกผู้แทนราษฎร ผู้ว่าการรัฐ สมาชิกสภานิติบัญญัติ นายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเมือง เป็นต้น กับอีกประเภทหนึ่งคือ การเลือกตั้งแบบไม่อิงสังกัด (Non-partisan Election) เป็นแบบที่ผู้สมัครไม่ได้อิงสังกัดซึ่งในบางรัฐใช้เป็นรูปแบบของการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี สมาชิกสภาเมืองหรือแม้แต่คณะกรรมการบริหารโรงเรียนในท้องถิ่นก็ใช้รูปแบบนี้ เทอร์เนอร์กล่าวไว้ด้วยว่า มากกว่าหนึ่งในสามของรัฐและท้องถิ่นต่าง ๆ ของอเมริกา รวมทั้งการเลือกผู้พิพากษาศาลแห่งรัฐ ใช้ลักษณะการเลือกตั้งแบบไม่อิงสังกัด ทั้งนี้แต่ละประเภทของการเลือกตั้งดังกล่าว ต่างก็มีข้อดีข้อเสียด้วยกันทั้งสิ้นกล่าวคือ การเลือกตั้งแบบไม่อิงสังกัดนั้นได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างมาก ด้วยเหตุที่ว่าผู้ได้รับเลือกตั้งจะยังประโยชน์ให้แก่ท้องถิ่นและรัฐของตนได้มากกว่าการที่ผู้สมัครมีสังกัด โดยเฉพาะการสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งและการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ในขณะที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบไม่อิงสังกัด จะมิได้รับความสนับสนุนและความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐแต่อย่างใด เมื่อพิจารณาการแบ่งประเภทของการเลือกตั้งโดยอิงหรือไม่อิงสังกัดตามทัศนะของเทอร์เนอร์และคณะดังกล่าวจะพบว่า การเลือกตั้งในระดับชาติของประเทศไทย ซึ่งได้แก่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะเป็นการเลือกตั้งแบบอิงสังกัดพรรคการเมือง ในขณะที่การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา และการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น เช่น สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรีเป็นต้น เป็นการเลือกตั้งแบบไม่อิงสังกัด แม้ในทางจริงแล้วเรามักจะได้ยินอยู่เสมอว่า การเลือกตั้งผู้แทนประชาชนดังกล่าวนี้ มักมีพรรคการเมืองหนุนหลังหรือให้การสนับสนุนไม่ทางหนึ่งก็ทางใด อันก็มักจะเป็นไปในทางลับ
ระบบการเลือกตั้ง
ระบบการเลือกตั้ง มีฐานะเป็นระบบการคิดคะแนนของผู้ที่มาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพื่อ ชี้ขาดว่าใครเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่ในสภาหรือฝ่ายบริหารในกรณีที่มีเสียงข้างมากและได้รับการเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรไปเป็นรัฐบาลในประเทศที่ใช้รูปแบบการปกครองแบบรัฐสภาระบบการเลือกตั้งโดยทั่วไปที่ใช้กันอยู่สำหรับประเทศต่าง ๆ ในปัจจุบัน สามารถแยกประเภทออกได้ออกโดยพิจารณาจากความเห็นของ ไนมิและไวส์เบิร์ก (Neimi and Weisberg 1976, 2-3) ที่กล่าวว่า วิธีการเลือกตั้งอาจกำหนดขึ้นโดยให้เลือกบุคคลหนึ่งจากบุคคลที่เป็นผู้สมัคร (nominate) อีกหลายคน และผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดก็จะเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ซึ่งเรียกวิธีการนี้ว่า “ระบบการเลือกตั้งโดยอาศัยเสียงข้างมาก (Majority System)” ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นระบบที่มีวิวัฒนาการไปตามขั้นตอนของประวัติศาสตร์ โดยเริ่มต้นจากประเทศอังกฤษ (บุญศรี มีวงษ์อุโฆษ 2542, 93) หรืออาจใช้วิธีการเลือกผู้สมัครจากทั้งบัญชีผู้รับสมัครเลือกตั้งซึ่งพรรคการเมืองเป็นผู้จัดทำไว้ ที่มักเรียกกันว่า “ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน” (Proportional Representation)ไนมี และไวส์เบิร์ก ขยายความวิธีการหรือระบบการเลือกตั้งไว้ว่า ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมาก อาจมีวิธีดำเนินการแตกต่างกันไปหลากหลายรูปแบบ แต่ก็มีคุณลักษณะที่สำคัญคือกำหนดให้ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดได้รับเลือกเป็นผู้แทน ไม่ว่าคะแนนเสียงที่ได้มานั้นจะเป็นเสียงส่วนใหญ่หรือไม่ก็ตาม หรือที่เรียกกันว่า “First -Pass-the-Post” ในขณะที่ผู้ที่ได้รับคะแนนในลำดับรองลงมา หากเกินกว่าจำนวนที่กำหนดให้มีได้ในเขตเลือกตั้งนั้นก็เป็นคะแนนที่สูญเปล่า ไม่มีลักษณะของการขึ้นบัญชีไว้เพื่อรอทดแทนกรณีผู้ที่ได้รับเลือกในลำดับที่สูงขึ้นไปพ้นสถานภาพ ซึ่งก็ถือว่าเป็นวิธีหรือระบบการเลือกตั้งโดยอาศัยเสียงข้างมากอย่างเคร่งครัด จนเป็นที่กล่าวถึงว่าแท้จริงนั้น ระบบนี้มิได้ให้ความสนใจกับเสียงกลุ่มน้อยเลย ประเทศที่ใช้ระบบนี้ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สวีเดน และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตของไทยในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ดี ด้วยข้อเสียของระบบเสียงข้างมาก (Majoritarianism) ที่ทำให้เสียงส่วนน้อยที่ไม่ได้รับเลือกในกลุ่มจำนวนผู้แทน ที่ต้องการต้องสูญเปล่าไป หลายประเทศในยุโรปตะวันตกเช่น ฝรั่งเศส และเบลเยี่ยม จึงพัฒนารูปแบบการเลือกตั้งดังกล่าวมาเป็นวิธีการที่เรียกว่า “ระบบเสียงข้างมากสองรอบ” คือ ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดนั้น จะต้องเกินกว่าครึ่งบวกหนึ่ง (หรือ 50%+ 1 เสียง) ของคะแนนเสียงทั้งหมด(Absolute Majority) ด้วย ในกรณีที่ ไม่มีผู้สมัครรายใดได้รับคะแนนเสียงถึงจำนวนดังกล่าวจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ในรอบที่สอง (Second Ballot) ซึ่งในครั้งที่สองนี้ ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดและลำดับรองลงมา จะได้รับการเลือกตั้งจนครบตามจำนวนที่ต้องการ[7]อีกแบบหนึ่งคือ ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน (Proportional Representation) เป็นการเลือกตั้งโดยกำหนดให้ผู้ลงคะแนนเลือกจากบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองเสนอเป็นบัญชี ๆ ไป ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงตามส่วนแห่งคะแนนเสียงทั้งหมดจะเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งในรูปแบบนี้ ระบบการเลือกตั้งดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่ออุดช่องว่างของการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมาก โดยคำนึงถึงโอกาสในการได้รับเลือกตั้งของคนที่มีเสียงข้างน้อย ซึ่งเท่ากับเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนทั่วทั้งหมด และยังเป็นการบังคับทางอ้อมให้บุคคลกลุ่มต่าง ๆ จำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อจัดตั้งหรือรวมกลุ่มทางเป็นพรรคการเมือง ประเทศที่ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบนี้ได้แก่ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศไทย ภายหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ.2540) ซึ่งการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของไทยปัจจุบัน ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งแบบนี้ไว้ด้วย และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งแบบสัดส่วนของประเทศเยอรมันแล้ว จะพบว่า ระบบสัดส่วนของไทยมีลักษณะที่ใกล้เคียงกันอย่างยิ่ง กล่าวคือ ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนจะเป็นแบบที่มีการเลือกตัวบุคคล โดยกำหนดให้ผู้ลงคะแนนทุกคนมีสิทธิลงคะแนนเสียงได้คนละ 2 คะแนน คะแนนแรก เป็นคะแนนที่ออกเสียงให้แก่ผู้รับสมัครจากเขตเลือกตั้ง (Apportionment) ซึ่งมีได้เขตเลือกตั้งละหนึ่งคนส่วนอีกคะแนนหนึ่งใช้เลือกพรรคการเมือง ซึ่งจะมีความสำคัญมากเพราะเป็นส่วนที่ใช้ชี้ขาดต่อสถานภาพของพรรคการเมืองนั้นในท้ายที่สุดเมื่อมีการพิจารณาคะแนนตามสัดส่วนแล้ว ในกรณีประเทศไทย หากสัดส่วนเสียงจากระบบบัญชีรายชื่อได้ต่ำกว่าร้อยละ 5 จากคะแนนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่ได้ลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ก็จะมีผลให้พรรคการเมืองนั้นถูกยุบไป ในชั้นต้นคะแนนจากบัญชีรายชื่อ หรือที่เรียกกันว่าปาร์ตี้ลิสต์จะบอกว่า พรรคการเมืองได้ที่นั่งในสภาเป็นจำนวนเท่าใด และมีใครบ้างในบัญชีรายชื่อเรียงตามลำดับลงไปจะได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้ กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของประเทศไทย ยังกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากระบบบัญชีรายชื่อเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ ทำหน้าที่ในตำแหน่งบริหารหรือรัฐมนตรีตำแหน่งต่าง ๆ ได้ โดยความเช่นนี้เท่ากับว่า หากผู้แทนราษฎรจากระบบแบ่งเขตเลือกตั้งรายใดต้องการจะไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จะไม่สามารถกระทำได้เลย เว้นแต่จะต้องลาออกจากสถานะนั้นและจัดการเลือกต้องซ่อม (By-election) ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบบัญชีรายชื่อที่ได้รับการตำแหน่งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฝ่ายบริหาร ก็จะต้องพ้นจากสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเช่นกัน แต่ไม่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ แต่ให้เลื่อนลำดับของสมาชกสภาผู้แทนราษฎรในบัญชีรายชื่อถัดไปขึ้น มาแทนระบบการเลือกตั้งอีกแบบหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นคือ ระบบการเลือกตั้งแบบผสม ซึ่งเป็นการผสานระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากและการเลือกตั้งแบบสัดส่วนร่วมกัน ซึ่งก็สามารถแยกออกได้เป็น 2 รูปแบบหลักคือ (1) ระบบการเลือกตั้งแบบผสมที่แยกการคิดคะแนนเสียงข้างมาก แต่สำหรับเขตเลือกตั้งใหญ่จะใช้วิธีคิดแบบสัดส่วน ตัวอย่างประเทศที่ใช้ระบบการเลือกตั้งรูปแบบผสมลักษณะนี้ได้แก่ ประเทศฝรั่งเศส ตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งฉบับลงวันที่ 9 พฤษภาคม 1951 และ (2) ระบบที่ใช้วิธีการคิดคะแนนแบบเสียงข้างมากในเขตเลือกตั้งทั้งหมด แต่ในขณะเดียวกันก็ให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรอีกจำนวนหนึ่งตามระบบสัดส่วนควบคู่กันไป ระบบนี้ใช้อยู่ในประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของไทยตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ.2540) (บุญศรี มีวงษ์อุโฆษ 2542, 100-101)
กระบวนการตัดสินใจเลือกตั้ง
สิ่งสำคัญก่อนที่จะมีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งก็คือ กระบวนการตัดสินใจเลือกตั้ง การทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการตัดสินใจออกเสียงเลือกตั้งในบทความนี้ ได้หยิบยกเอาผลการศึกษาบางส่วนมานำเสนอ อันได้แก่ ระบวนการตัดสินใจเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ปรากฏผลการศึกษาไว้จำนวนมากกระทั่งยากจะหยิบยกมากล่าวถึงได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ผลงานการศึกษาแทบทั้งหมดชี้ให้เราได้เห็นกระบวนการตัดสินใจเลือกตั้งที่สามารถจำแนกออกเป็น 4 ขั้นตอนดังต่อไปนี้
ขั้นตอนที่ 1 การได้รับข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งและข่าวสารเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้งขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการตัดสินใจเลือกตั้ง ซึ่งจะเริ่มจากการได้รับข่าวสารว่าจะมีการเลือกตั้ง ข่าวสารเกี่ยวกับการสมัครรับเลือกตั้ง ข่าวสารเกี่ยวกับตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง และข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายต่าง ๆ ของพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งในแง่ประเด็นของการศึกษากระบวนการออกเสียงเลือกตั้งในขั้นตอนนี้พบว่า มีหัวข้อที่แตกต่างกันไป เช่นการศึกษาเกี่ยวกับการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ผลการศึกษาจำนวนไม่น้อยช่วยให้เราเข้าใจได้ว่า ประชาชนในชนบทได้รับข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยผ่านสื่อหรือช่องทางใดบ้าง หรือเป็นการศึกษาในประเด็นว่าข่าวสารต่าง ๆ ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือเกี่ยวกับพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ประชาชนเลือกรับในลักษณะใดและมีการนำข่าวสารนั้นไปเป็นหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งให้เหลือเท่ากับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องการจะลงคะแนนเสียงหรือไม่ เพียงใด เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 2 เป็นขั้นของการสร้างหลักเกณฑ์และให้น้ำหนักของหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจเลือกตั้ง ในขั้นตอนนี้ เมื่อผู้ลงคะแนนเสียงยอมรับว่าจะต้องมีการตัดสินใจและได้รับข่าวสารต่าง ๆเกี่ยวกับตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือนโยบายของพรรคการเมืองที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสังกัดอยู่ หรือผู้ลงคะแนนเสียงที่ผูกพันกับพรรคการเมืองหรือผูกพันกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง ก็จะสร้างหลักเกณฑ์ในการที่จะคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ตนเองถูกใจมากที่สุดให้เหลือจำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมีได้หรือเท่าที่ตนเองต้องการจะลงคะแนนเสียงได้ ผู้ลงคะแนนเสียงก็จะสามารถสร้างหลักเกณฑ์ของตนเองว่าในการลงคะแนนเสียงครั้งนี้จะให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองหรือให้ความสำคัญกับคุณสมบัติส่วนตัวของบุคคล กระนั้น การที่ผู้มีสิทธิออกเสียงจะลงคะแนนเสือกตั้งผู้ใด และโดยใช้หลักเกณฑ์ใดเป็นองค์ประกอบการตัดสินนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการเช่นความรู้ความเข้าใจ และประสบการณ์ทั้งจากเรียนรู้ด้วยตนเองหรือแหล่งความรู้รอบตัว และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับบุคคลอื่น กระบวนการออกเสียงเลือกตั้งของบุคคลในขั้นตอนนี้ เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเพื่อให้ ผู้ลงคะแนนเสียงเห็นชอบกับตัวผู้สมัครรับทราบข่าวสารต่าง ๆ ทั้งในด้านส่วนตัวของผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือนโยบายของพรรคการเมืองไปยังประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ภายหลังจากนั้น ประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงก็จะเริ่มประเมินข่าวสารต่าง ๆ ที่ได้รับมานั้นสอดคล้องกับหลักเกณฑ์หรือจุดมุ่งหมายของผู้ลงคะแนนเสียงหรือไม่ผู้ลงคะแนนเสียงบางคนอาจจะได้ให้ความสำคัญกับนโยบายของพรรคการเมือง บางคนให้ความสำคัญกับคุณสมบัติส่วนตัวของผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ขั้นตอนที่ 3 การประเมินและการจัดลำดับผู้สมัครรับเลือกตั้ง เมื่อได้กำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆและให้มีน้ำหนักของหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการลงคะแนนเสียงตามที่ผู้ลงคะแนนเสียงใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกรับสมัครผู้สมัครเลือกตั้งแล้ว จากนั้นจะเป็นการประเมินผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคน (หรือเท่าที่ผู้ลงคะแนนเสียงจะประเมิน) ว่าตามหลักเกณฑ์ที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคนควรได้รับการประเมินตามการประเมินของ ผู้ลงคะแนนเสียงแต่ละคน
ขั้นตอนที่ 4 การตัดสินใจสุดท้ายที่จะลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง ในขั้นตอนนี้ตามปกติแล้ว ผู้ลงคะแนนเสียงจะตัดสินใจลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครที่มีคะแนนรวมจากการประเมินมากที่สุด แต่ในขั้นตอนนี้อาจจะมีเหตุการณ์บางอย่างเข้ามาทำให้การตัดสินใจที่เกิดจากการประเมินผลครั้งแรกเปลี่ยนแปลงไป เช่น ผู้ลงคะแนนเสียงบางคนอาจจะลงคะแนนเสียงเลือกตั้งตามอิทธิพลของอามิสสินจ้าง คำมั่นสัญญา สิ่งของหรือ เงินทอง ที่ได้รับจากหัวคะแนนผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือจากผู้สมัครรับเลือกตั้ง
หน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งของคนไทย
การปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นการปกครองที่ยอมรับเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเป็นเรื่องที่วิวัฒนาการมาช้านาน มีข้อปลีกย่อยมากมาย เช่น ประเทศอังกฤษมีประกาศหลายฉบับ เริ่มแต่มหากฎบัตร แมกนาร์ คาร์ต้า (Magna Carta)[8]เมื่อปี ค.ศ. 1215 และประกาศสิทธิพลเมืองเมื่อปี ค.ศ. 1689 ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส มีประกาศสิทธิพลเมือง และสิทธิมนุษยชนมาไล่เลี่ยกันเมื่อปี ค.ศ. 1789 และที่สำคัญที่สุด ก็คือปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ ลงวันที่ 10 ธันวาคม 1948 ที่ใช้แม่แบบในการส่งเสริมการให้สิทธิแก่ประชาชนในประเทศต่าง ๆแม้หลักเกณฑ์พื้นฐานของการเลือกตั้งประการหนึ่งคือหลักความเป็นอิสระของการออกเสียงเลือกตั้ง ซึ่งวางหลักไว้ว่าการออกเสียงเลือกตั้งของประชาชนจะต้องไม่เป็นไปโดยการถูกบังคับหรือจากการกระทำในเชิงมีอำนาจอิทธิพลหรือการตัดสินใจ อันจะส่งผลให้การออกเสียงเลือกตั้งของผู้มีสิทธิไม่เป็นไปโดยอิสระ และกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิอาจจะไปหรือไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งก็ได้ แต่ประเทศต่าง ๆ ก็อาจกำหนดให้การเลือกตั้งประเทศหน้าที่ที่ประชาชนจะต้องกระทำได้ เช่นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ฉบับปัจจุบัน ได้ปรับเปลี่ยนให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของประชาชน ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว โดยบุคคลที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะต้องเสียสิทธิทางการเมืองบางประการ ดังที่ได้กล่าวต่อไป แต่การเสียสิทธิต่าง ๆ นั้นมีกำหนดเวลาตั้งแต่วันเลือกตั้งจนถึงวันเลือกตั้งครั้งที่ผู้นั้นไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งใหม่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 คือ
1) สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น
2) สิทธิร้องคัดค้านการเลือกกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
3) สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น 4) สิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้าน ตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
5) สิทธิเข้าชื่อร้องขอเพื่อให้รัฐสภาพิจารณากฎหมาย ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
6) สิทธิเข้าชื่อร้องขอให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น
7) สิทธิเข้าชื่อร้องขอเพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนบุคคล ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
8) สิทธิเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วย
การลงคะแนนการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
การเลือกตั้ง : ปัจจัยหนึ่งสู่ความสำเร็จของระบอบประชาธิปไตย
แม้ประชาชนโดยทั่วไปจะเข้าใจไม่ผิดว่าการเลือกตั้ง เป็นภารกิจที่กฎหมายกำหนดให้ประชาชนต่อกระทำตามที่ได้กล่าวแล้วว่าการไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นหน้าที่ประการหนึ่งของคนไทยเพื่อให้ได้บุคลากรทางการเมืองจำนวนหนึ่งตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่ในความเป็นจริงนั้น ก็ยังปรากฏว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยที่มองไม่เห็นความสำคัญของการไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง โดยพบว่าอาจเป็นผู้เฉยเมย เฉื่อยชา ขาดความสนใจและขาดส่วนร่วมทางการเมืองซึ่งนับ เป็นปัญหาหนึ่งที่สังคมไทยประสบอยู่ โดยมิได้จำกัดอยู่เฉพาะสังคมของประเทศที่กำลังพัฒนาระบอบประชาธิปไตยหรือในสังคมที่จำกัดลิดรอนสิทธิทางการเมืองการปกครองของประชาชนเท่านั้น หากแต่ยังเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบของประชาธิปไตยปัจจุบันหรือเป็นประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยในระดับสูงอีกด้วย ปัญหาประการนี้ กลายเป็นสิ่งที่ได้ส่งผลกระทบและบั่นทอนต่อความเข้มแข็งของกระบวนการทางการเมืองแบบประชาธิปไตยอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้เนื่องจากการเมืองการปกครองไม่ใช้เรื่องเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำหรือผู้ปกครองเท่านั้น หากแต่เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกทุกคนในสังคมไม่มากก็น้อย ด้วยไม่มีใครจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมโดยปราศจากความยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองการปกครอง จนอาจกล่าวได้ว่าความเฉย เฉื่อยชา ขาดความสนใจและขาดส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนนี่เองที่ยังผลให้เกิดความเบี่ยงเบนของความเป็นประชาธิปไตย ดังที่นักวิชาการบางท่านได้กล่าวไว้ว่า ความไม่สนใจมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนได้แสดงให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองกับความเป็นจริงทางการเมืองประชาธิปไตยจึงมักจะเป็นคณาธิปไตยทางปฏิบัติ โดยมิได้เกิดขึ้นมาเพราะความบกพร่องหละหลวมของโครงสร้าง และสถาบันทางการเมืองในกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น หากยังเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากการที่บุคคลขาดการมีส่วนร่วมทางการเมือง และรูปธรรมหนึ่งที่สะท้อนถึงพฤติกรรมไม่สนใจต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองดังกล่าวได้แก่ การนอนหลับทับสิทธิ์ไม่ไปออกเสียงเลือกตั้ง ทั้งที่รู้ว่าการเลือกตั้งเป็นหน้าที่และต้องเสียสิทธิหลายประการก็ตามว่าไปแล้ว ปัญหาการขาดความสนใจในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ปรากฏออกมาให้เห็นในหลายลักษณะ ประการหนึ่งที่มักกล่าวถึงและทำการศึกษากันมากทางรัฐศาสตร์ก็คือการพิจารณาการมีส่วนร่วมทางการเมืองในแง่ของการไปใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง ซึ่งก็ถือเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งในบรรดาการมีส่วนร่วมหลายรูปแบบตามทัศนะของเวนเนอร์ (Myron Weinner) ในบรรรดาประเด็นของการศึกษาด้านนี้ เป็นต้นว่า การไม่สนใจเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นหรือกระทั่งรับฟัง เสนอความคิดเห็นในการประชาพิจารณ์ในประเด็นที่เขามีส่วนได้ส่วนเสียต่อการตัดสินใจดำเนินนโยบายหรือโครงการของภาครัฐ หรือความเมินเฉยไม่สนใจต่อการรวบรวมรายชื่อเสนอร่างกฎหมาย(initiative) ตามที่รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิไว้ แต่ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจเป็นที่ศึกษาวิเคราะห์กันมาอย่างต่อเนื่องได้แก่ การค้นหาคำอธิบายสาเหตุของการที่ประชาชนเพิกเฉย ไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งหรือนอนหลับทับสิทธิ์ ทั้งที่ในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ตลอดจนข้ออธิบายต่อพฤติกรรมการ ขายสิทธิขายเสียงของประชาชน ในแวดวงวิชาการรัฐศาสตร์ จึงได้มีการศึกษาเพื่อหาคำอธิบายต่อสาเหตุปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการแสดงพฤติกรรมไม่สนใจต่อการเมืองหรือจำเพาะลงมาที่พฤติกรรมการขายเสียงของประชาชนหรือการมีพฤติกรรมแบบที่เรียกขานกันติดปากว่า “เงินไม่มากาไม่เป็น” โดยการศึกษาว่าชาวบ้านเหล่านั้น เขามีความรู้สึกต่อการเมืองที่เป็นอยู่อย่างไร ในทางทฤษฎีแล้ว หากชาวบ้านเหล่านี้มีความรู้ความเข้าใจทางการเมืองการปกครองในระดับหนึ่ง ย่อมเป็นที่คาดหมายหรืออาจสรุปตามหลักเกณฑ์ทั่วไปได้ว่าเขาจะไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งหรือกระทั่งไม่ขายเสียงของตนเป็นแน่ แต่ในทางตรงข้าม หากชาวบ้านทั้งที่มีความรู้ความเข้าใจต่อการเมือง แต่ก็ยังคงขายเสียง นั่นแสดงให้เห็นว่า น่าจะมีมูลเหตุจูงใจประการอื่นที่ซับซ้อนขึ้น เป็นต้นว่า ชาวบ้านอาจไม่ค่อยให้ความสำคัญ หรือขาดความสำนึกที่ดีทางการเมือง เป็นต้น คำอธิบายในเชิงวิชาการภายใต้องค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์ จึงถูกคาดหมายว่าจะสามารถค้นหาคำอธิบายต่อพฤติกรรมทางการเมืองเช่นนี้ของประชาชนหลากหลายผลงานการศึกษาวิจัย ต่างได้คำตอบต่อกรณีความไม่สนใจต่อการเมืองของชาวบ้านเป็นต้นว่า ชาวบ้านคิดว่าตนเองไม่ได้คาดหวังอะไรกับนโยบายสาธารณะ เพราะรู้ดีว่ารัฐบาลแต่ละรัฐบาลต่างสร้างฝันไปวัน ๆ เพื่อแลกกับอะไรบางอย่างในวันข้างหน้า ในขณะที่ประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยเห็นว่านักการเมืองทั้งหลาย ล้วนมุ่งหวังเข้ามาเป็นรัฐบาลเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวและพรรคพวก ด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวงงบประมาณแผ่นดินดังที่เป็นข่าวให้เห็นอยู่เนือง ๆ หรือโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่ภาครัฐจัดทำขึ้นมาก็เพื่อแลกกับคะแนนนิยมทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแต่อย่างใด และแม้ประชาชนจะมีส่วนเข้าร่วมประชาพิจารณ์นโยบายหรือโครงการสาธารณะของรัฐบาล แต่การตัดสินใจดำเนินโครงการก็ยังเป็นอำนาจของฝ่ายรัฐบาลอยู่เช่นเดิม ซึ่งว่าไปแล้วก็มิใช่เฉพาะเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่ประชาชนรู้สึกหรือบ่นว่านักการเมืองเลวเช่นนี้ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ให้ทัศนะว่า ความจริงแล้ว โลกนี้มองเห็นนักการเมืองเลวลงหมด คนเชื่อว่านักการเมืองทุกคนในโลกพูดโกหก ซึ่งจริง ๆ แล้ว นักการเมืองจะพูดโกหกหรือไม่ก็ตาม แต่นักการเมืองทั้งโลกนี้ถูกคนเชื่อว่าเขาพูดโกหก นอกจากนี้ นิธิ ยังสำทับให้เห็นว่า การขาดความเชื่อถือของชาวบ้านต่อนักการเมืองที่อาจพูดได้ว่า ชาวบ้านไม่เคยเชื่อถือนักการเมืองเลย หรือกระทั่งแท้จริงนั้น ชาวบ้านขาดความเชื่อถือต่อกระบวนการประชาธิปไตย ถึงขนาดที่ว่าขายเสียงได้ (เน้นโดยผู้เขียน) ความไม่เชื่อถือขาดความศรัทธาต่อกระบวนการประชาธิปไตยหรือระบบการเมืองเช่นนี้ เป็นประเด็นเชิงพฤติกรรมทางการเมืองที่อาจอธิบายได้ด้วยการศึกษาความรู้สึกมีประสิทธิภาพทางการเมือง ความรู้สึกเชื่อถือไว้วางใจทางการเมืองนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะนักรัฐศาสตร์ให้ความสนใจที่จะศึกษาหาคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผลต่อปรากฏการณ์ ถึงสาเหตุอันเป็นปฐมฐาน รวมทั้งปัจจัยต่าง ๆ ที่ก่อหรือส่งเสริมให้ประชาชนแสดงออกซึ่งพฤติกรรมหรือมีความคิดความรู้สึกเช่นนั้นได้ กระนั้นก็ตาม การวัดความรู้สึกไม่เชื่อถือไว้วางใจก็ปรากฏงานการศึกษาให้เห็นอยู่ไม่น้อย และก็เป็นที่น่าสนใจว่า ชาวบ้านที่ขายเสียงมีระดับระดับความรู้สึกต่อการเมืองเกินไปกว่าความรู้สึกไม่เชื่อถือไว้วางใจหรือไม่ ซึ่งหากเกินไปกว่าระดับเช่นว่านั้น เราก็จำต้องหากรอบความคิดอื่นที่จะมาใช้อธิบายพฤติกรรมทางการเมืองให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น โดยแนวความคิดหนึ่งซึ่งได้ถูกนำมาใช้อธิบายประเด็นความไม่สนใจต่อการเมืองหรือความรู้สึก/พฤติกรรมไม่เชื่อถือศรัทธาไว้วางใจต่อการเมืองการปกครองดังตัวอย่างที่กล่าวถึงไปข้างต้นคือ แนวคิดที่อธิบายถึงสาเหตุความไร้อำนาจของตนเองที่จะตัดสินใจทางการเมืองในบริบทของการเลือกตั้ง ผู้ที่มีความรู้สึกเช่นนั้นมักมองว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นเหตุที่จะให้ได้มาซึ่งตัวแทนที่เป็นไปตามเจตจำนงของตน รวมทั้งการที่ประชาชนขาดความเชื่อมั่นไว้วางใจในตัวแทนของประชาชนที่เป็นสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตยผ่านตัวแทน เช่นนี้ ในทางทฤษฎีรัฐศาสตร์กล่าวได้ว่า เกิดเป็นภาวะที่ประชาชนมีความรู้สึกแปลกแยก (alienate) ต่อระบบการเมืองที่เขาดำรงอยู่ โดยที่ยิ่งประชาชาชนมีความรู้สึกแปลกแยกทางการเมืองมากเท่าใด ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับระบบการเมืองไม่ว่าจะพิจารณาในเชิงสถาบันหรือมองการเมืองในเชิงกลุ่มผลประโยชน์ก็จะตีวงห่างกว้างออกไปทุกที ภาวะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ในแง่ที่ระบบการเมือง(รัฐบาลหรือสถาบันทางการเมือง) ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีสมรรถภาพ ซึ่งเป็นผลเสียต่อการพัฒนากระบวนการทางการเมือง อันสามารถโยงใยไปถึงความถดถอยของการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่งพิจารณาในประเด็นหลักของบทความนี้ การใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยนั้น ก่อให้เกิดผลและความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมากมายหลายประการที่สำคัญและสมควรนำมาพิจารณาได้แก่1) การเลือกตั้งทำให้ได้บุคลากรทางการเมืองที่มีคุณภาพ เป็นความเข้าใจเบื้องต้นของผู้เลือกตั้งทั้งหลายที่ย่อมเข้าใจว่า ผลของการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะทำให้ได้บุคลากรทางการเมืองในตำแหน่งต่างๆ เช่น ถ้าเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา หรือการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น สังคมก็จะได้บุคลากรทางการเมืองในตำแหน่ง นั้น ๆ ที่มีคุณภาพในระดับหนึ่ง แม่ไม่ว่าจะนับว่าดีสมบูรณ์แบบ แต่ก็เป็นผู้แทนแห่งเจตจำนงของประชาชน ในทางหนึ่งจึงมักมีคำกล่าวกันว่า บุคลากรทางการเมืองที่ประชาชนเลือกตั้งขึ้นมา จะเป็นกระจกที่สะท้อนถึงมีคุณภาพของผู้เลือกตั้งเป็นสำคัญหรือกล่าวง่าย ๆ คือ ผู้แทนเป็นอย่างไร ประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งก็เป็นอย่างนั้น กล่าวในแง่นี้ หากบุคลากรทางการเมืองที่ประชาชนเลือกตั้งมานั้น สร้างผลงานในอำนาจหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นคนดีมีอุดมการณ์ที่จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดเอา
ประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ก็ย่อมชี้ให้เห็นถึงวุฒิภาวะทางการเมืองของประชาชนได้ในระดับหนึ่งนั่นเอง
2) การเลือกตั้ง ช่วยสร้างมิติใหม่ของการเมืองตามแนวปฏิรูป (Political Reform) มิติใหม่ของการเมืองนี้ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะเกิดขึ้นบนเงื่อนไขที่สำคัญได้แก่การที่สังคมการเมืองนั้น จะต้องมีพรรคการเมืองน้อยพรรค (Few Parties) และประชาชนผู้เลือกตั้งจะต้องพิจารณาเลือกจากนโยบายและผลงานของนักการเมืองมากกว่าจะพิจารณาเลือกตัวผู้สมัคร รวมทั้งการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะมีพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งชนะการเลือกตั้งมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเกินครึ่ง และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยลำพัง ไม่ต้องมีพรรคการเมืองอื่นมาร่วมรัฐบาล ที่เรียกว่ารัฐบาลผสม (Coalition Government) อันมีแนวโน้มก่อให้เกิดความวุ่นวายในการบริหารงานเช่นที่ปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์การปกครองของไทย ความเป็นเอกภาพและความต่อเนื่องของการบริหารงานภายใต้ระบบพรรคการเมืองน้อยพรรค รวมทั้งคุณภาพในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนเช่นนี้เอง กล่าวได้ว่าเป็นมิติใหม่ของการเมืองในยุคแห่งการปฏิรูปการเมืองที่ดำเนินมาในประเทศไทยได้ราวทศวรรษนับจนปัจจุบัน
3) การเลือกตั้งจะส่งผลให้เห็นว่าประชาชนเป็นผู้เลือกนโยบายให้รัฐบาลใช้เป็นหลักในการดำเนินกิจการทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะสามารถเห็นเป็นรูปธรรมได้ก็ต่อเมื่อพรรคการเมือง ดำเนินกิจกรรมการเมืองบนฐานมวลชน หรือระดมการมีส่วนร่วมโดยเฉพาะการมีส่วนร่วมอย่างสมัครใจ (Voluntary Participation) นอกเหนือไปจากการมีบทบาทในการให้ความรู้และการเรียนรู้ทางการเมืองแก่ประชาชน ซึ่งสามารถเริ่มต้นได้จากพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง จะต้องยึดหลักสำคัญในการหาเสียงด้วยการชูนโยบายหลักว่าจะปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวกับด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองให้เกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมต่อประชาชนได้อย่างไรเพื่อให้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของประชาชน ในขณะที่ประชาชนผู้เลือกตั้งจะต้องร่วมใจกันปฏิบัติภารกิจในการเลือกตั้งอย่างแข็งขัน พิจารณาตัดสินใจออกเสียงเลือกตั้งโดยคำนึงถึงนโยบายหลัก หรือนโยบายสำคัญของพรรค มิใช่เลือกตั้งเพราะพอใจคำมั่นสัญญาหรือพอใจคุณสมบัติส่วนตัวของผู้สมัคร ซึ่งเป็นสิ่งเลื่อนลอยและเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ยังทำให้ผลการเลือกตั้งกระจัดกระจายไม่เป็นกลุ่มเป็นก้อน ส่งผลให้เกิดรัฐบาลผสม ที่ประกอบด้วยหลายพรรค รัฐบาลผสมจะเป็นรัฐบาลที่ขาดความชัดเจนในเรื่องนโยบายบริหารราชการ ซึ่งเป็นผลเสียแก่การสร้างผลงาน การแก้ปัญหาที่ประชาชนรอความหวังจากรัฐบาล ข้อสำคัญพรรคการเมืองจะต้องมีสัจจะต่อประชาชนผู้เลือกตั้งด้วย กล่าวคือจะต้องมีความมั่นคงที่จะบริหารราชการตามนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงกับประชาชน เพราะถือว่าเป็นคำมั่นสัญญาที่พรรคให้ไว้กับประชาชน และเมื่อประชาชนนโยบายของพรรค จนพรรคชนะการเลือกตั้ง มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลบริหารราชการรับใช้ประชาชน จึงควรบริหารงานตามนโยบายที่ให้คำมั่นสัญญากับประชาชนและประชาชนให้ความเห็นชอบโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง
4) การเลือกตั้ง เป็นสิ่งยืนยันหลักการสำคัญของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยประชาชนสามารถใช้อำนาจนี้ จัดตั้งหรือเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้ ส่วนการที่ประชาชนผู้เลือกตั้งจะมีอำนาจเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือทางรัฐศาสตร์เรียกว่า “สิทธิคัดค้าน” นั้นหมายความว่า รัฐบาลที่ประชาชนเห็นชอบและเลือกมาบริหารราชการแล้วไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้แก่ประชาชนในคราวหาเสียงเลือกตั้ง หรือบริหารราชการโดยไม่มีผลงาน หรือ ไม่สามารถจะแก้ปัญหาให้แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาตัวเอง แต่ถ้า
รัฐบาลยังดื้อที่จะดำรงสถานะการเป็นรัฐบาลต่อไปจนครบวาระ เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธในการเลือกพรรครัฐบาลเดิม โดยหันไปใช้สิทธิเลือกพรรคฝ่ายค้าน เพื่อลงโทษพรรครัฐบาลที่ทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชนผู้เลือกตั้ง การใช้สิทธิของประชาชนดังกล่าว เป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการเมืองระบอบประชาธิปไตยนั้นประชาชนย่อมเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในระบบการเมืองการปกครอง มิใช่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองแต่อย่างใดความสำคัญของสิทธิเลือกตั้งของประชาชนดังข้างต้น จะเห็นได้ว่า หากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ย่อมจะทำให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างระมัดระวัง รับผิดชอบใคร่ครวญอย่างรอบคอบ แทนการใช้สิทธิเลือกตั้งโดยขาดการพินิจพิจารณา หรือใช้สิทธิเลือกตั้งโดยเกรงกลัวต่ออำนาจอิทธิพลของผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งโดยความโลภเห็นแก่อามิสสินจ้างในรูปแบบต่าง ๆ ผลของการเลือกตั้งย่อมเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้การเมืองเป็นการเมืองของพลเมือง (People Politics) ที่รับผิดชอบต่อสาธารณชนและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในรัฐอย่างมีศักยภาพ
แนวความคิดและทฤษฎีที่ใช้อธิบายแบบแผนพฤติกรรมการเลือกตั้ง
ในการศึกษาเพื่อให้ได้คำอธิบายต่อพฤติกรรมทางการเมือง[9]หรือปรากฏการณ์ทางการเมืองอันใดอันหนึ่งโดยอยู่บนหลักการแห่งเหตุผล นักรัฐศาสตร์มักจะอาศัยการอ้างอิงถึงองค์ความรู้ซึ่งได้รับการพิสูจน์มาแล้วผ่านกระบวนการหรือระเบียบวิธีวิจัยว่าถูกต้องเที่ยงแท้ ที่เรียกว่า “ทฤษฎี(Theory)” ทฤษฎีนี้เอง อาจจะนำไปคาดการณ์พฤติกรรมหรือปรากฏการณ์ทางการเมืองได้ล่วงหน้าหากมีองค์ประกอบใดที่ชี้ให้เห็นแนวโน้มเป็นไปดังที่ว่านั้นการศึกษาพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในระบบการเมืองต่าง ๆ นั้น มองในแง่หนึ่งแล้วนับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับกระบวนการปกครอง ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นหัวใจของกิจกรรมทางการเมืองทุกระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่มีปัจจัยเกี่ยวพันอย่างซับซ้อนยิ่งโดยเฉพาะภายใต้สภาพการณ์ที่การแข่งขันในการเลือกตั้งหรือการแข่งขันทางการเมืองสูงแล้ว ก็ยิ่งมีการใช้แนวโน้มของการใช้เทคนิคและกุศโลบายต่าง ๆ ในกิจกรรมเลือกตั้งที่ซับซ้อนเพื่อมุ่งหมายชัยชนะทางการเมืองมากขึ้นตามไปด้วย เกี่ยวกับเรื่องนี้ นักรัฐศาสตร์หลายท่านได้ให้ข้อสังเกตว่า การเลือกตั้งในปัจจุบัน นับวันแต่จะมีความซับซ้อนหรือมีปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องมากขึ้น มีการใช้นวัตกรรมทางการตลาดการเมือง หรือมีการใช้เงินในการเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยต่อการสร้างรูปรอยก่อนที่จะทำการศึกษาแบบแผนพฤติกรรมการในเนื้อหาส่วนต่อไป ควรได้เริ่มต้นหรือ
ทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นฐานแนวความคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเสียก่อนโดยในบทความนี้ จะขอนำมากล่าวถึงอย่างสังเขปเท่านั้น รายละเอียดของการศึกษาเรื่องนี้ผู้สนใจสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้จากเอกสารที่อ้างอิงท้ายบทความ เมื่อพิจารณาพฤติกรรมการเลือกตั้งในฐานะที่เป็นกระทำทางสังคม โดยอิงทัศนะของแมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน เราอาจจำแนกลักษณะของพฤติกรรมการเลือกตั้งของบุคคลออกได้เป็น 4 ประเภท คือ (อ้างถึงใน เทวินทร์ ขอเหนี่ยวกลาง 2538, 73-74)
1) การออกเสียงเลือกตั้งเป็นการกระทำที่มีเจตจำนงเชิงเหตุผล อันได้แก่ การที่ผู้เลือกตั้งมีการคิดคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะได้จากการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เช่น การมุ่งหวังที่จะเลือกคนที่ตนเองสนับสนุนให้เข้าไปมีอำนาจ เพื่อที่จะกำหนดนโยบายได้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของตนเองกล่าวคือ การที่จะบรรลุเป้าหมายผลประโยชน์ โดยการใช้การเลือกตั้งเป็นวิธีการที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น
2) การออกเสียงเลือกตั้งเป็นพฤติกรรมหรือการกระทำตามค่านิยม ได้แก่ ผู้ที่ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งเห็นว่า การไปเลือกตั้งมีความมุ่งหมายในแง่คุณค่าอยู่ในตัว ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยจะเห็นว่าการเลือกตั้งมีคุณค่าในแง่ที่เป็นการส่งเสริมการปกครองแบบประชาธิปไตย จึงตัดสินใจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
3) การออกเสียงเลือกตั้ง เป็นการกระทำตามอารมณ์หรือความพึงพอใจแบบปราศจากเหตุผลเช่น คนที่มีความรู้สึกรักใคร่ชอบพอตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งบางคน แล้วไปใช้สิทธิเลือกตั้งอันเป็นการแสดงความรักความศรัทธาต่อบุคคลนั้น
4) การออกเสียงเลือกตั้ง เป็นการกระทำตามประเพณี เช่น คนที่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งบางคนไปใช้สิทธิเพราะความเคยชิน หรือเห็นคนอื่นกระทำและกระทำตาม เป็นต้น ในเชิงแนวความคิดทฤษฎี สุจิต บุญบงการและพรศักดิ์ ผ่องแผ้ว (2527, 31-36) กล่าวไว้ว่า นักสังคมศาสตร์ ซึ่งโดยมากก็คือกลุ่มนักสังคมวิทยาและนักรัฐศาสตร์ ได้แบ่งทฤษฎีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1) ทฤษฎีปัจจัยตัวกำหนด (Deterministic Theory)โกเลมบิวสกี้ เวลชและคร็อตตี้ (Golembiewsky, Welsh and Crotty 1969, 404-406) สรุปว่าสาระสำคัญของทฤษฎีปัจจัยตัวกำหนดคือ ปัจจัยด้านสถานภาพทางสังคมเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ทฤษฎีดังกล่าวเสนอว่าปัจจัยด้านสถานภาพทางสังคมอันเป็นภูมิหลังของบุคคลทั้งในระดับกว้างและลึกลงมา จนกระทั่งถึงช่วงที่จะมีการตัดสินใจ มีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยแนวความคิดที่เป็นพื้นฐานของทฤษฎีนี้ได้แก่ ตัวแบบผลักดันทางสังคม (Social Forces Model) ของพอล ลาซาร์สเฟลด์ , ทฤษฎีสนาม (Field Theory) ของเคิร์ต เลวินกล่าวอีกนัยหนึ่ง ทฤษฎีประเภทนี้เป็นการเสนอเงื่อนไขที่กำหนดรูปแบบ (pattern) ของพฤติกรรม ซึ่งไม่ได้มุ่งที่จะสรุปรวมเชิงนิรนัย (Deductive Generalization) หรือทำนายพฤติกรรมในอนาคต หากให้ประโยชน์อย่างสำคัญในด้านการจัดตัวแปรอันหลากหลายที่เกี่ยวข้องให้เป็นระเบียบ ส่วนปัจจัยทางสังคมที่กำหนดพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของบุคคลตามนับทฤษฎีนี้ได้แก่ ปัจจัยทางด้านเพศ อายุอาชีพ รายได้ การศึกษา และที่อยู่อาศัย เป็นต้น
2) ทฤษฎีความสำนึกเชิงเหตุผล (Consciously Rational Theory)ทฤษฎีนี้ เป็นตัวแบบหนึ่งของการนำแนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์มาอธิบายเกี่ยวกับการตัดสินใจในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของบุคคล ซึ่งก็เป็นมุมมองหนึ่งที่นำมาใช้วิเคราะห์สาเหตุการตัดสินใจเลือกตั้งและได้รับความนิยมเป็นอันมากมุมมองหนึ่งการศึกษาพฤติกรรมการออกเสียงเลือกตั้งด้วยมุมมองเชิงเศรษฐศาสตร์นี้ เป็นการพิจารณาพฤติกรรมบนพื้นฐานของความชอบด้วยเหตุและผลของมนุษย์ กับการตัดสินใจทางการเมือง โดยเรียกตัวแบบทั่วไปที่ใช้เป็นกรอบในการศึกษาว่า "ตัวแบบการเลือกโดยเหตุและผล” (Rational ChoiceModel) แฮรอพ และมิลเลอร์ (Harrop and Miller 1987, 145-146 อ้างถึงใน สุวัฒน์ ศรีพงษ์สุวรรณ 2544, 16) กล่าวไว้ว่า ตามตัวแบบนี้ ผู้ลงคะแนนเสียงที่มีเหตุผล (Rational Voter) จะรู้ว่าผลประโยชน์ของเขาจากการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งคืออะไร ทั้งจะสามารถประเมินได้ว่าผู้สมัครจะให้ประโยชน์แก่ตนได้มากน้อยเพียงใด และลงคะแนนเสียงตามผลการประเมินของเขานั้น รวมทั้งผู้ลงคะแนนจะลงคะแนนเมื่อการลงคะแนนนั้น ให้ผลคุ้มค่ากับการลงทุนของเขา (พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว 2529,18) ตัวแบบการเลือกโดยเหตุและผลดังกล่าวไปแล้ว ตั้งอยู่บนฐานคติที่สำคัญ 3 ประการ
ประการแรก ถือว่า การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นเครื่องมือที่จะนำมาซึ่งผลประโยชน์หรือเป้าหมายที่ประชาชนต้องการ ดังนั้น การตัดสินใจลงคะแนนเสียงของผู้ลงคะแนน จะพิจารณาจากผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง
ประการที่สอง ให้ความสำคัญกับเป้าหมายทางการเมืองกล่าวคือ การลงคะแนนเสียงของผู้ลงคะแนนเสียงนั้น จุดสนใจมุ่งไปที่เป้าหมายทางการเมืองของผู้ลงคะแนนเสียง
ประการที่สาม ถือว่าการตัดสินใจลงคะแนนเสียง ผู้ลงคะแนนเสียงจะกระทำอย่างละเอียดรอบคอบ ระมัดระวัง โดยใช้ข่าวสารที่มากเพียงพอทฤษฎีความสำนึกเชิงเหตุผลเป็นแนวการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการบริหารการเลือกตั้งตัวผู้รับสมัครเลือกตั้ง พรรคการเมือง การรณรงค์หาเสียง นโยบายของพรรค การแจกจ่ายสิ่งของอันรวมถึงการใช้เงินในการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสำนึกตรึกตรองของผู้ไปใช้สิทธิลักษณะเช่นนี้คล้ายกับกรอบความคิดเชิงเหตุผล (Rational Framework) ของผู้ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งหรือการตัดสินใจของผู้บริโภคทางเศรษฐศาสตร์งานที่สำคัญในด้านนี้ได้แก่ “The EconomicTheory of Democracy” ของแอนโทนี่ ดาวน์ (Anthony Downs) และ “The Responsible Electorate”ของ วี โอ คีย์ (V. O. Key)
ปรัชญา เวสารัชช์ (2527, 294-298) ได้อธิบายแนวคิดทฤษฎีของดาวน์ ดังกล่าวไว้ในงานเขียนเรื่อง “การศึกษารัฐศาสตร์ แนวทางการตัดสินใจ และทฤษฎีเกม” ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะไปลงคะแนนเสียงถ้าผลตอบแทนที่ได้รับคุ้มค่า ซึ่งเป็นการใช้แนวคิดว่าด้วยความชอบด้วยเหตุผลของมนุษย์เศรษฐกิจ (economic man) มาใช้ในการตัดสินใจทางการเมือง ส่วนกรณีการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนั้น เป้าหมายในการตัดสินใจของแต่ละคนคือเป้าหมายทางการเมือง โดยไม่สนใจอารมณ์หรือค่านิยมส่วนตัวที่ไม่ใช่เรื่องเป้าหมายทางการเมือง ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกรณีเช่นนี้จึงเป็นมนุษย์การเมือง(political man) โดยดาวน์ ได้ตั้งข้อสมมติฐานว่า มนุษย์การเมืองและพลเมืองธรรมดาที่มีเหตุผล ซึ่งพิจารณาจากสถานการณ์ทุกสถานการณ์จะดูที่ผลที่พึงจะได้และจะเสีย ทั้งนี้โดยเล็งเห็นเป้าหมายที่การเมืองคือการจัดรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับความต้องการของเขามากที่สุดดังนั้น ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ละคนจะปฏิบัติตนอย่างมเหตุสมผลในการแสวงหาเป้าหมายทางการเมืองเฉพาะตนคือคิดคำนวณ โดยยึดค่านิยมของตนเป็นด้านหลัก เช่นในสถานการณ์ที่มีพรรคการเมือง 2 พรรค เขาจะตัดสินใจว่าต้องการให้พรรดใดชนะ โดยพิจารณาผลงานที่ผ่านมาในอดีต การที่บุคคลตัดสินใจเช่นนี้ก็โดยคาดหวังว่าเขาจะได้ประโยชน์จากการที่พรรคนั้นหากได้เป็นรัฐบาลส่วนกรณีที่มีพรรคการเมืองหลายพรรค นักวิชาการจากกรมการปกครอง (อ้างถึงในรักฎา บรรเทิงสุข 2540, 11-12) ได้อธิบายทัศนะของแอนโทนี่ ดาวน์ ไว้ว่า บุคคลจะพิจารณาลงคะแนนเสียงเลือกผู้ใดในเงื่อนไขต่าง ๆ ดังนี้
(1) ถ้าพรรคการเมืองที่ผู้ลงคะแนนชอบมีทางชนะ เขาจะลงคะแนนให้พรรคนั้น
(2) ถ้าพรรคการเมืองที่ผู้ลงคะแนนชอบไม่มีโอกาสชนะเลย เขาจะลงคะแนนให้พรรคอื่นซึ่งดูจะมีทางชนะ ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้พรรคการเมืองที่เขาไม่ชอบเป็นผู้ชนะ
(3) ถ้าผู้ลงคะแนนเป็นผู้ที่มุ่งอนาคต เขาจะลงคะแนนให้พรรคที่เขาชอบถึงแม้จะไม่มีโอกาสชนะ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเปิดทางไว้ให้พรรคการเมืองมีโอกาสชนะการเลือกตั้งในอนาคตตัวอย่างข้อเขียนของนักวิชาการต่างประเทศที่ใช้กรอบแนวคิดดังกล่าวที่น่าสนใจได้แก่งานของวี โอ คีย์ (Hill and Luttbeg 1980, 23) ที่สรุปจากการศึกษาในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่า ผู้ที่เปลี่ยนใจสนับสนุนจากพรรคการเมืองหนึ่งไปเป็นอีกพรรคหนึ่ง หรือยืนยันสนับสนุนพรรคเดิมไม่เปลี่ยนแปลงต่างก็ใช้ความพอใจในการดำเนินนโยบายของพรรค เป็นเหตุผลในการตัดสินใจทั้งสิ้น ส่วนอีกชิ้นหนึ่งได้แก่ผลงานของ ไนมีและไวส์เบิร์ก (Neimi and Weisberg 1984,14) ที่สรุปไว้ว่า การที่ผู้ลงคะแนนเสียงจะตัดสินใจว่าจะไปลงคะแนนเสียงหรือไม่และจะเลือกใคร ผู้ลงคะแนนเสียงจะพิจารณาถึงผลประโยชน์ของผู้ลงคะแนนเสียงเอง ซึ่งตามปกติแล้วเขาก็จะเลือกหรือลงคะแนนให้ผู้รับสมัครที่มีนโยบายใกล้เคียงกับความคิดของเขามากที่สุด กนก วงษ์ตระหง่าน (2528, 177-179) ได้กล่าวถึงทัศนะของอัลวิน รูกี้ (Alvin Rougie) ที่อธิบายเกี่ยวกับแบบแผนพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนในประเทศโลกที่สาม ซึ่งประเทศไทยก็ถูกจัดกลุ่มอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ว่า รูปแบบการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนมักเป็นไปในแบบอุปถัมภ์ (Clientelist Votes) กล่าวคือ ประชาชนจะไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วยความรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ การลงคะแนนเสียงแบบอุปถัมภ์นี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ การไปลงคะแนนเสียงอย่างเป็นกลุ่มก้อน (Gragarious Votes) ซึ่งหมายถึงการที่ผู้ไปเลือกตั้งมุ่งไปใช้สิทธิ์โดยมีเหตุผลที่จะตอบแทนบุญคุนของผู้สมัคร โดยลักษณะความสำคัญของพฤติกรรมแบบนี้เกิดจากความรู้จักคุ้นเคยเป็นการส่วนตัวหรือได้รับการอุปถัมภ์กับมาแต่ในอดีต ส่วนประเภทที่สองคือการขายเสียง (Sold Votes) เป็นการที่ประชาชนไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งโดยแลกกับการรับเงินหรือสิ่งมีค่าต่าง ๆ อันได้แก่เสื้อผ้าอาหารและเครื่องใช้ เป็นต้น (พิชัย เก้าสำราญ 2530, 72 อ้างถึงใน รักฎา บรรเทิงสุข 2540, 13) ซึ่งเป็นคำกล่าวที่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ในสังคมไทย ว่ามีการจ่ายเงินซื้อเสียงเป็นจำนวนมากในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง และหลายครั้งที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญและสื่อมวลชนต่างคาดประมาณให้เห็นว่าเม็ดเงินที่ใช้ในการซื้อเสียงเลือกตั้งแต่ละครั้ง เมื่อรวมกันแล้ว เป็นจำนวนที่มหาศาลนับเป็นหลายพันล้านบาท ในกรณีประเทศไทย กนก วงษ์ตระหง่าน (2530, 62-69) กล่าวเพิ่มเติมไว้ว่าโดยทั่วไปพรรคการเมืองไทยจะมีนโยบายที่คล้ายคลึงกัน และไม่ค่อยให้ความสำคัญกับนโยบายของพรรคเท่าใดนัก ดังนั้น คุณสมบัติส่วนตัวของผู้สมัคร จึงมีความสำคัญมากกว่านโยบายของพรรค จึงได้ปรากฏภาพว่าที่ผ่านมาหลายคราว ในการหาเสียงเลือกตั้งผู้สมัครจะมุ่งชูคุณสมบัติส่วนตัวมากกว่าจะพูดถึงนโยบายของพรรคการเมืองที่เขาสังกัด หรือใช้ยุทธวิธีการโจมตีเรื่องส่วนตัวของคู่แข่งมากกว่าจะโจมตีหรือพูดถึงเรื่องนโยบายของพรรค และมักพูดแสดงให้ประชาชนเห็นว่าเขาจะทำอะไรให้กับชุมชนและประชาชนในเขตเลือกตั้งของเขาบ้างหากได้รับเลือก นอกจากนี้ ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประชาชนจะพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัคร ซึ่งก็คือความพร้อมและความสามารถของผู้มาสมัครที่จะทำหน้าที่สนองความต้องการหรือแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนได้มากน้อยเพียงใดเป็นเกณฑ์ใหญ่
3) ทฤษฎีระบบเป็นแนวทางการศึกษาพฤติกรรมการเลือกตั้งในเชิงระบบ ที่ได้ประยุกต์เอาทฤษฎีระบบการเมือง (Political Systems Theory) ของเดวิด อีสตัน (David Easton) มาใช้เป็นกรอบแนวทางในการศึกษาพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และถือว่าเป็นแนวการศึกษาวิเคราะห์หนึ่งที่ได้รับความนิยมโดยทั่วไปของนักรัฐศาสตร์ทฤษฎีนี้พิจารณาว่า การลงคะแนนเสียงตามปกติ (Normal Votes) คือความสมดุลของความนิยมในพรรคการเมืองสองพรรคใหญ่ในการเลือกตั้งที่มีลักษณะของการเลือกพรรคหรือมีความนิยมในพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นฐานเช่นในอเมริกา ความสมดุลของระบบการเมืองว่าการขึ้นลงของอัตราการลงคะแนนเสียงและการเลือกคนใดคนหนึ่งนั้นขึ้นอยู่กับส่วนผสมของปัจจัยแวดล้อม ซึ่งผันแปรไปในช่วงสมัยที่มีการเลือกตั้งซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลระยะสั้น (Short term Forces) เช่น ความสนใจใน
ตัวผู้สมัคร ความเห็นต่อนโยบาย และปัญหาทางการเมืองภาพพจน์ต่อการปฏิบัติงานของพรรคสถานการณ์ภายในและภายนอกประเทศ สภาพการแข่งขันของผู้สมัคร เป็นต้น เมื่อประมวลรวมกันแล้วจะมีผลต่อปัจจัยพื้นฐาน คือความนิยมพรรค ที่ถือว่าเป็นแรงผลักดันในระยะยาว (Long-term Force) ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงคะแนนเสียงเปลี่ยนความนิยมพรรคจากพรรคหนึ่ง เป็นการแกว่งออกจากสภาวะสมดุล “ปกติ” และเมื่อถึงการเลือกตั้งคราวต่อไปก็มักจะแกว่งกลับ โดยภาวะสมดุล(Equilibrium) เช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็คือ พิจารณาทำให้ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนด (Deterministic) และความสำนึกเชิงเหตุผลที่เกิดจากปัจจัยระยะสั้นเฉพาะช่วงสมัย (Short Term Forces) การใช้ทฤษฎีดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นตัวแบบเชิงการทำนาย (Predictive Mode) พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว (2529, 21) ได้ชี้ให้เห็นตัวอย่างงานการศึกษาพฤติกรรมการเลือกตั้งที่อิงแอบแนวคิดทฤษฎีเชิงระบบของแคมเบลล์และคณะ (อ้างถึงในเชิงอรรถเสริมความ) ในหนังสือเรื่อง"The American Voter" ตีพิมพ์ในปี 1964 ว่า การแข่งขันของพรรคการเมืองในสหรัฐอเมริกามีลักษณะเป็นสภาพนิ่งที่เกิดภาวะสมดุลของระบบ (Homeostatic) ซึ่งอัตราการขึ้นลงของการคะแนนเสียงและเลือกพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง เกิดจากส่วนผสมระหว่างปัจจัยพื้นฐานระยะยาวคือความนิยมในพรรค กับปัจจัยระยะสั้นคือความพอใจในผู้สมัคร นโยบายที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางการเมืองภาพพจน์ที่มีผลต่อการปฏิบัติงานของพรรค และสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทั้งภายในกับภายนอกประเทศ ซึ่งจะผันแปรไปในแต่ละช่วงสมัย เมื่อผู้ลงคะแนนเสียงนำปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้มารวมกันประกอบในการพิจารณาตัดสินใจ ก็จะก่อให้เกิดความชอบพรรคหนึ่งมากกว่าอีกพรรคหนึ่ง ซึ่งทำให้ความสมดุลในระบบเสียไป และเมื่อถึงการเลือกตั้งครั้งใหม่ ก็มักจะแกว่งตัวกลับมาเช่นนี้เรื่อยไปนอกจากแนวความคิดและทฤษฎีที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีทฤษฎีที่อธิบายถึงการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน อีกหลากหลายทฤษฎีดังนี้
1) ทฤษฎีประชาธิปไตย (Democracy) คือ การยอมรับสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเป็นการปกครองที่ชอบธรรม ซึ่งมีนักทฤษฎีหลายท่านได้เน้นถึงการยอมรับสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และการมีความรับผิดชอบในการบริหารประเทศชาติโดยถือว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองมาจากประชาชน โดยประชาชนเลือกผู้แทนเข้าไปดำเนินการบริหารซึ่งตามความคิดของนักทฤษฎีประชาธิปไตย ระบบมีผู้แทน เช่น จอห์น ลอคส์ และโทมัส เจฟเฟอร์สัน (John Locks and Thomas Jefferson) ถือว่าประชาชนมีความเสมอภาคกันและมีความสามารถที่จะเข้าร่วมบริหารงานปกครองประเทศชาติ แต่เมื่อประชากรมีมากจึงต้องมีการเลือกผู้แทนเป็นตัวแทนของประชาชนไปเป็นปากเสียงแทนประชาชน ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งต้องใช้สิทธิอย่างอิสระปราศจากการใช้อิทธิพลหรืออามิสสินจ้างใดๆดังนั้นประชาชนจึงต้องไปเลือกผู้แทน เพื่อให้ทำหน้าที่ต่างๆ แทนตน
2) ทฤษฎีการแลกเปลี่ยน (Exchange Theory) มีสาระสำคัญเบื้องตนคือ ในการอยู่ร่วมกันใน สังคมมนุษย์เราต้องมีปฏิสัมพันธ์ในเชิงการแลกเปลี่ยนต่อกัน โฮแมนส์ (George Homans) ได้พัฒนา ทฤษฎีการแลกเปลี่ยนจากการทดลองของ สกินเนอร์ (B .F. Skinner) ซึ่งได้ทดลองแสดงพฤติกรรมของนกพิราบโดยวางเงื่อนไขการให้รางวัล คือ เมล็ดข้าว ถ้านกพิราบไปจิกที่ปุ่มอื่นก็จะได้รับการลงโทษโดยจะมีกระแสไฟฟ้าดูดอ่อนๆ จนเกิดความเจ็บปวดและระคายเคือง ต่อมานกพิราบก็จะเกิดการเรียนรู้ต่อพฤติกรรมของตนและจะแสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่ตนเองได้ประโยชน์ คือ จิกปุ่มที่ตัวมันจะได้เมล็ดข้าวกินเมื่อมันต้องการอาหาร โฮแมนส์ได้เปรียบเทียบกับพฤติกรรมของมนุษย์ซึ่งไม่แตกต่างจากสัตว์โลก คือ คนเราจะคบหาสมาคมกันอย่างใกล้ชิดหรือขึ้นอยู่กับการสนองตอบความต้องการและทำประโยชน์ ซึ่งเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของคนที่อยู่ร่วมกัน ทฤษฎีการแลกเปลี่ยนของโฮแมนส์นี้ ช่วยอธิบายให้เราทราบว่า การที่ผู้เลือกตั้งบางส่วนไปเลือกผู้แทนก็เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับทรัพย์สินผลประโยชน์ได้รับความยกย่อง ความสะดวกสบายหรือตำแหน่งหน้าที่ที่คาดว่าจะได้รับ ส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งก็ใช้เงินบ้าง ผลประโยชน์บ้าง การยกย่องนับถือว่าเป็นกลุ่มเดียวกันบ้างหรือตำแหน่งหน้าที่บ้าง ให้แก่ผู้สนับสนุนลงคะแนนให้แก่ตน เป็นการแลกเปลี่ยนกับคะแนนเสียงที่ตนได้รับ
3) ระบบอุปถัมภ์ (Patron-Client) เป็นแนวคิดที่กล่าวถึงความสัมพันธ์เชิงการแลกเปลี่ยนต่างตอบแทนกันของคนสองฝ่ายที่ไม่เท่าเทียมกัน (Reciprocative Relationship) ที่มีวิวัฒนาการมาจากระบบชนชั้น และสถานภาพทางสังคม (Class and Status) ตามแนวคิดของเวเบอร์ (Max Weber) ต่อผู้มีฐานะสูงมีทรัพย์สินมากเป็นผู้อุปถัมภ์ เพื่อต้องการได้รับการยอมรับหรือเมื่อมีความจำเป็นที่เรียกใช้ก็ได้รับการบริการสนองตอบ รวมตลอดถึงความจงรักภักดีด้วย โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งเคยมีไพร่มีทาสมาก่อน ทำให้สถานภาพของคนที่มีฐานะยากจนและด้อยโอกาสมักแสวงหาที่พึ่งจากผู้มีฐานะร่ำรวย ส่วนหนึ่งคือ นักการเมืองที่สมัครจะใช้วิธีการให้ความอุปการะในด้านต่างๆ เช่น เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยหรือตาย ญาติก็จะไปขอความช่วยเหลือจากผู้มีฐานะดีกว่าตน เมื่อได้รับการช่วยเหลือ หรือที่เรียกว่าอยู่ในความอุปถัมภ์ก็จะไปลงคะแนนเสียงให้เป็นการตอบแทนบุญคุณที่ตนเคยได้รับอุปถัมภ์มาแต่เก่าก่อน
4) ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Personal Relations) แนวคิดนี้มีสาระอยู่ว่า ในฐานะที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มนุษย์จะต้องอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม (Human Group) สร้างความสัมพันธ์อันเกิดจากการคบหาสมาคมกันทำให้คนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน เช่น กลุ่มญาติ กลุ่มนักศึกษา กลุ่มสถาบัน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอาชีพ สมาคมและกลุ่มการเมือง ทำในสิ่งที่จะสร้างความพึงพอใจแก่ผู้ที่ตนรู้จัก และหลีกเลี่ยงภาวะที่จะสร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นกับสมาชิกอื่นที่อยู่ในกลุ่ม
[1] Raymond Williams, Keywords. London : Fontana Books, 1983, p.93.
[2] แปลว่า ประชาชน
[3] แปลว่า อำนาจหรือ การปกครอง
[4] สิทธิธรรมชาตินี้ เป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อบรรดานักปรัชญาการเมืองและนักปราชญ์ทั่วไปในอดีตมาก และได้มีการถ่ายทอดเผยแพร่
แนวคิดดังกล่าวไปยังนักการเมืองและประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง กระทั่งถือเป็นสิ่งที่จุดประกายความคิดในการเปลี่ยนแปลงระบอบ
การปกครองแบบดั้งเดิมที่เน้นชนชั้น และอำนาจการปกครองที่สามารถลิดรอนสิทธิและความเป็นมนุษย์อยู่ในมือของคนบางกลุ่มที่เป็น
ผู้นำ อันได้แก่การปฏิวัติใหญ่เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของฝรั่งเศสในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1780 (ปี 1789) หรือปรากฏเป็นหลักการ
ในมหากฎบัตรแมกนาคาร์ต้าของประเทศอังกฤษ เป็นต้น
ในทัศนะของนักคิดกลุ่มสโตอิกส์ (Stoics) สิทธิธรรมชาติ เป็นสิทธิที่ตกอยู่กับบุคคลและตลอดไป ภายใต้กฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองและมนุษย์มิได้สร้างขึ้น หากศึกษาปรัชญาการเมืองแล้ว จะพบว่า นักปรัชญาการเมืองสมัยโบราณ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิตามธรรมชาติหรือเรียกสั้น ๆ ว่า สิทธิธรรมชาติ ของมนุษย์เป็นอย่างมาก ในฐานะที่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหรือคงอยู่ควบคู่กับกฎหมายธรรมชาติ (Natural Laws) ในสมัยกรีกที่รุ่งเรือง พลเมืองในนครรัฐกรีกได้รับการรับรองในสิทธิที่สำคัญหลายประการได้แก่ สิทธิในการพูดที่เท่าเทียมกัน (Isogoria) และสิทธิในความเสมอภาคตามกฎหมาย (Isonomia) ซึ่งสิทธิทั้งสองประการนี้นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งและกล่าวกันอย่างมากในปัจจุบัน สิทธิธรรมชาติมีที่มา 3 ทางคือ
(1) จากหลักแห่งเหตุผล (Rationalism) ซึ่งถือว่า สิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ถูกคิดค้นขึ้นมาจากหลักการโดยแท้ ซึ่งไม่อาจโต้แย้งได้ หลักแห่งเหตุผลนี้ มีรากฐานมาจากความคิดในเรื่องกฎหมายธรรมชาติและเกี่ยวข้องกับเรื่อง “เหตุผลตามธรรมชาติ” (Natural
Reasons) กล่าวคือ คิดจากเหตุผลโดยทั่ว ๆ ไปว่าบุคคลควรมีสิทธิอะไรบ้าง เป็นต้น
(2) จากลัทธิปัจเจกชน (Individualism) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ว่า สิทธิธรรมชาติของบุคคล เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นแก่ตัวบุคคล ซึ่งไม่อาจโอนให้แก่กันได้ จะจำกัดหรือลิดรอนสิทธินี้โดยผู้อื่นก็มิได้ และ
(3) จากลัทธินิยมความรุนแรง (Radicalism) โดยถือว่า การใช้กำลังจะถูกกล่าวอ้างในเวลาหนึ่งเวลาใดว่าเป็นจุดมุ่งหมายของ
สถาบันการเมืองทั้งหมด และจุดมุ่งหมายของสถาบันการเมืองดังกล่าวก็คือการรักษาไว้ซึ่งสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ ตัวอย่างที่
ปรากฏโดยอาศัยรากฐานประการนี้ได้แก่ ความในประกาศอิสรภาพของประเทศสหรัฐอเมริกา (American Declaration of Independence)
ซึ่งระบุว่าหากรัฐบาลดำเนินการปกครองไปในทางที่เป็นปรปักษ์ต่อหลักการเมื่อใด เมื่อนั้นประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะล้มล้างหรือ
เปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้ และกลับมาสถาปนารัฐบาลใหม่ตามที่เห็นว่าจะทำให้ได้รับความผลอดภัยและยังความผาสุกให้เกิดขึ้นได้มาก
ที่สุด
[5] ความชอบธรรม เป็นความยอมรับทั่วไปในระบอบการปกครองหรือกฎหมาย คำว่าความชอบธรรมนี้ จะถูกนำมาใช้เพื่อการอธิบายถึง
ระบบการปกครอง ซึ่งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่อันหมายความถึงตำแหน่งที่เจาะจงของการปกครอง อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องความชอบ
ธรรมได้ถูกประยุกต์ไปใช้กับสิ่งอื่นที่มิใช้การปกครองและกฎหมายด้วย ยกตัวอย่างได้แก่ เรื่องนอกการเมือง (non-political) อำนาจ
หน้าที่บางอย่าง อาทิ อำนาจของการจ้างงานของนายจ้าง นอกเหนือไปจากนั้น ยังเกี่ยวข้องกับประเด็นความชอบธรรมของระบบ
เศรษฐกิจการเมืองทั้งระบบ ตามแนวคิดของนักคิดสายมาร์กซิสม์ คำว่าความชอบธรรมนี้ สามารถแปลความได้ทั้งในเชิง normative หรือ
เชิงบวกได้ แต่เดิม ความชอบธรรมในเชิงปรัชญาศีลธรรมนั้น สิ่งใดจะชอบธรรมได้ก็ต่อเมื่อมีการรับรองสิ่งนั้น แต่ภายหลังต่อมา
ความชอบธรรมได้รับความสนใจมากในแวดวงรัฐศาสตร์ ความชอบธรรมของสถาบันเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการรับรองทั่วไปภายใต้อำนาจ
หน้าที่ที่มีอยู่ ประเด็นความชอบธรรมนี้ เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับความยินยอม ทั้งความยินยอมที่ปรากฏโดยตรงหรือความยินยอมแบบ
ปริยาย โดยความชอบธรรมได้รับการพิจารณาว่าเป็นเงื่อนไขพื้นฐานของการปกครองกล่าวคือ หากปราศจากความชอบธรรมแม้เพียง
น้อย การปกครองย่อมประสบปัญหาความยุ่งยากและอาจถึงการล่มสลายได้ ดาห์ล (Robert A. Dahl cited in
[URL]http://www.en.wikipedia.org/wiki/legitimacy_%28political_science%29) นักรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า ความ
อธรรมเปรียบเสมือนสิ่งรักษาระดับน้ำในแหล่งกักเก็บ ตราบเท่าที่ ความมีเสถียรภาพในระดับหนึ่งนั้นถูกรักษาไว้ ความชอบธรรมนั้นจะ
ยังคงอยู่ เมื่อใดที่เสถียรภาพลดต่ำลงกว่าระดับนี้ นับว่าอันตราย ในบางกรณีระบอบการปกครองดูเหมือนว่าจำเป็นต้องได้รับความนิยม
จากประชาชนในจำนวนมากเพื่อคงอำนาจไว้ แต่ในบางกรณีความจำเป็นดังกล่าวแทบจะไม่มี ยกตัวอย่างเช่น ระบอบการปกครองที่ขาด
ความนิยมหลายระบอบ แม้มีความพยายามรักษาความอยู่รอดให้แก่บรรดาผู้ปกครองหรือชนชั้นนำ แต่ความชอบธรรมก็เป็นประเด็นที่มี
น้ำหนักน้อยที่จะเกื้อกูลความอยู่รอดของผู้ปกครองนั้นได้ ในการปกครองแบบประชาธิปไตย ความชอบธรรมทางการปกครอง
ย่อมขึ้นอยู่กับวิธีการ/กระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองตามแบบ อาทิ การมีการเลือกตั้ง (Election) เนื่องจากเป็นวิธีการอย่างหนึ่ง
ที่ประกันว่าจะมีตัวแทนของประชาชนเข้าไปมีส่วนช่วยในการปกครองและบริหารประเทศ อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งที่ถือว่าเป็นวิธีการ
สร้างความชอบธรรมของการเข้าสู่อำนาจการปกครองของนักการเมืองก็เป็นแต่เพียงการยอมรับในกติกาและวิธีการของการปกครอง
เท่านั้น โดยที่ประชาชนบางกลุ่มเห็นหรือมีความเชื่อว่าการเลือกตั้งไม่ได้ก่อให้เกิดความหวังต่อส่วนร่วมได้ และไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งจะ
ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก เนื่องจากคงจะได้คนกลุ่มเดิมที่เห็นแก่ตัวเข้าไปเป็นผู้แทนและเห็นว่ารัฐบาลขาดประสิทธิภาพ
ในการบริหารโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยเป็นปัญหาในเรื่องตัวบุคคลผู้เข้าไปมีอำนาจหรืออิทธิพลในการปกครอง
ของไทย
[6] ในสารานุกรมบริแทนนิก้า (Encyclopedia of Britannica) ปี ค.ศ. 1911 อำนาจอธิปไตย หมายถึง สิทธิแห่งอัตลักษณ์ทางการเมือง(Political Entity) ที่บ่งบอกถึงการใช้อำนาจของรัฐาธิปัตย์หรือผู้มีอำนาจสูงสุดทางการปกครอง อันแสดงถึงมโนทัศน์ของการมีอำนาจสูงสุด (the supremacy of power) ภายในขอบเขตเชิงภูมิศาสตร์แห่งรัฐ แนวคิดสำคัญเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย ในกฎหมายระหว่าง
ประเทศ ระบุไว้ว่าอำนาจประการนี้หมายความถึง การใช้อำนาจโดยรัฐ อำนาจอธิปไตยโดยนิตินัย (De jure Sovereignty) หมายความถึง
สิทธิอำนาจตามกฎหมายที่จะกระทำการหนึ่งใด ส่วนอำนาจอธิปไตยโดยพฤตินัย (De facto Sovereignty) ความสามารถในทางจริงที่จะ
กระทำการเช่นนั้น อำนาจตามความที่กล่าวถึงข้างต้น หมายความไปถึงอำนาจในลักษณะการที่สามารถเข้าใจได้ง่ายว่าเป็นอำนาจสูงสุด
ทางการปกครองของประเทศหนึ่งประเทศใด หรือรัฐหนึ่งและใด ในฐานะหนึ่งที่อำนาจอธิปไตยเป็นองค์ประกอบที่แสดงให้เห็นและ
ขาดเสียมิได้ของรัฐสมัยใหม่ (Modern State) หรือรัฐประชาชาติ (Nation-State) มิเช่นนั้น รัฐหรือรัฐประชาชาตินั้น ย่อมขาดความเป็นเอก
ราชในทางการเมืองการปกครอง ผู้สนใจศึกษาเพิ่มเติมได้ใน เดชชาติ วงศ์โกมลเชษฐ์. 2508. หลักรัฐศาสตร์. กรุงเทพฯ: มปพ. หรือทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต http://en.wikipedia.org/wiki/Sovereignty
[7] ดูประกอบกับ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์. 2544. การเมืองอังกฤษ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: เสมาธรรม, หน้า 163-164.
[8] มหากฎบัตรแมกนา คาร์ต้า เป็นเอกสารที่แสดงถึงการคุ้มครองสิทธิของบุคคล มหากฎบัตรนี้ จัดทำขึ้นในสมัยพระเจ้าจอห์น แห่ง
สหราชอาณาจักร ภายใต้มูลเหตุของความขัดแย้งเรื่องการใช้อำนาจการปกครองระหว่างพระองค์กับเหล่าขุนนางที่เห็นว่าพระมหากษัตริย์
ใช้อำนาจการปกครองเกินขอบเขต เหล่าพระในนิกายทางคริสต์และขุนนางได้รวมตัวกันกดดันบังคับให้พระเจ้าจอห์นลงพระ
ปรมาภิไธยในเอกสารที่เรียกว่า “Great Charter” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า แมกนา คาร์ต้า “Magna Carta” ซึ่งจัดเป็นบทกฎหมายหลักที่รับรองสิทธิเสรีภาพของราษฎรชาวอังกฤษ โดยมีบทบัญญัติรวมกันทั้งสิ้น 63 ข้อ ยกตัวอย่างได้แก่ กษัตริย์จะเก็บภาษีราษฎรโดยที่
ไม่ได้รับความเห็นชอบจากเหล่าพระและขุนนางไม่ได้ กลายเป็นหลักการทางภาษีที่ว่า “ไม่มีการเก็บภาษีถ้าไม่มีผู้แทน” (no taxation
without representation) หลักการบังคับใช้กฎหมายโดยเสมอภาคไม่แบ่งแยกชนชั้นวรรณะ เป็นต้น
[9] พฤติกรรมทางการเมือง (Political behavior) เป็นศัพท์ที่นักรัฐศาสตร์หรือผู้สนใจศึกษาในแขนงวิชารัฐศาสตร์ มีความเข้าใจและคุ้นเคย
อยู่มากที่เดียวการใช้ศัพท์คำนี้ในทางปฏิบัติอาจจะมีบุคคลต่าง ๆ ให้ความหมายและขอบเขตของคำแตกต่างกันออกไปทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับ
ความมุ่งหมายหรือเจตนาของบุคคลเหล่านั้นเป็นประการสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อกล่าวถึงพฤติกรรมทางการเมืองตามความหมายอย่าง
ที่เข้าใจง่าย ๆ อาจจะหมายถึงตั้งแต่เรื่องของการใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง(อันเป็นจุดเริ่มแรกของการที่จะแต่งตั้งหรือยินยอมให้
บุคคลเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย) การเข้ามีส่วนในกิจกรรมหรือองค์กรทางการเมือง การมีความสัมพันธ์
ติดต่อกับนักการเมือง การอภิปราย หรือการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นในปัญหาการเมือง ตลอดจนความสนใจติดตามข่าวสารต่าง ๆ
ในทางการเมือง เป็นต้น
วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553
วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
ความมั่นคง และกำลังอำนาจแห่งชาติ ตอน 2
ความรักชาติและชาตินิยม
ความรักชาติ (Patriotism) หมายถึง การมีจิตผูกพันต่อชาติอันเป็นปกติวิสัยที่พลเมืองพึงมีซึ่งลักษณะทางจิตวิทยาของความผูกพันนี้เหมือนกับการรักบ้าน คือรักถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอน อันเป็นการสนับสนุนให้คนรักชาติ
ชาตินิยม (Nationalism) หมายถึง ความรักชาติที่เป็นไปจนเกินความพอดี เป็นการเน้นความรู้สึกหนักไปในมิติทางการเมืองซึ่งสัมพันธ์กับประเทศอื่น
ศรัทธาต่อชาติ ในรูปของชาตินิยมจึงควรพึงอยู่ภายในขอบเขต กล่าวคือ จะต้องไม่มีมากจนกลายเป็นความงมงายในชาติหรือมีความหลงชาติ ซึ่งมีความงมงายในชาติจนเกินขอบเขตมักก่อให้เกิดการทำร้ายหรือรังแกคนกลุ่มน้อยในชาติ ซึ่งทำให้เกิดการแตกแยกภายใน
ยกตัวอย่างเช่น ความหลงชาติของคนเยอรมันจำนวนหนึ่งภายใต้การนำของฮิตเลอร์ ซึ่งเชื่อทฤษฎี “เชื้อชาติบริสุทธิ์” โดยการยกย่องเยอรมันผู้ที่มีเชื้อสาย “อารยัน” และพยายามทำลายล้างเผ่าพันธุ์คนเยอรมันผู้มีเชื้อสาย “ยิว” หรือการต่อต้ายชนเชื้อสายยิว (Anti-Semitism) เป็นผลให้คนเยอรมันผู้มีความสามารถหลายคนหลบหนีออกนอกประเทศ เกิดปัญหาสมองไหลหรือสมองล่อง (Brain Drain)
ความสามารถทางวิชาการกับความมั่งคงและกำลังอำนาจ
ความตื่นตระหนักกับผลสำเร็จของดาวเทียมสปุตนิค(Sputnik Shock) โดยในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2500 สหภาพโซเวียตได้ประสบผลสำเร็จเป็นชาติแรกในการส่งดาวเทียม Sputnik อันเป็นดาวเทียมดวงแรกของโลกขึ้นไปในอวกาศ ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ในขณะนั้นรีบดำเนินการให้ค้นคว้าวิจัยว่าทำไมประเทศตนจึงล้าหลังสหภาพโซเวียตในทางเทคโนโลยีอวกาศ ผลจากการวิจัยได้มุ่งประเด็นไปที่หลักสูตรโดยเฉพาะในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในระดับมัธยม จึงมีการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษา กันอย่างขนานใหญ่ โดยให้เรียนวิชาหลักมากขึ้นและเข้มข้นยิ่งขึ้น
พหุปัจจัย
ความมั่นคงและกำลังอำนาจแห่งชาติขึ้นอยู่กับพหุปัจจัย และเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสภาวะทั้งทางรูปธรรมและนามธรรม ซึ่งปัจจัยเชิงนามธรรมนั้นแม้จะมองเห็นได้ไม่ง่ายนัก แต่ก็มีความสำคัญยิ่ง โดยมีวาทะที่น่าพิจารณาดังนี้
อานุภาพของศรัทธา : ทัศนะของมหาตมะคานธี โดยมหาบุรุษผู้นำขบวนการกู้ชาติของอินเดีย ด้วยวิธีการสัตยาคฤห์ (สัตยาเคราะห์) คือ ด้วยวิธีการอหิงสา (อวิหิงสา) ได้กล่าวไว้ว่า “ศรัทธานี้เองที่นำเราฝ่าทะเลมรสุม ศรัทธานี้แหละที่เขยื้อนขุนเขา และศรัทธานี้ด้วยที่พาเรากระโจนข้ามมหาสมุทร ศรัทธานั้นไม่ใช่อื่นไกลเลย นอกจากสติรู้สำนึกที่ตื่น และมีชีวิตของคุณธรรมภายใน ผู้ใดที่เปี่ยมด้วยศรัทธา นั้นแล้วย่อมไม่ต้องการสิ่งใดอีก”
อำนาจของศีลธรรม : ทัศนะของ พ.อ. ปิ่น มุทุกันต์ โดยได้กล่าวว่า “บรรพบุรุษของเรารักษาชาติให้ลุล่วงมาได้จนวันนี้ ก็เพราะชาวไทยเราพากันรักษาศีล คือ ไม่ทำลายล้างผลาญกันทั้งทางชีวิต ร่างกาย ทางทรัพย์ และทางอื่นๆ เราไม่ทำลายกัน เราก็รักกันควบคุมกันเป็นปึกแผ่น...”
บทบาทของจริยธรรมหรือศีลธรรม
จริยธรรมและศีลธรรมต่างก็เป็นเรื่องของมาตรฐานแห่งความประพฤติของบุคคล แต่มีข้อแตกต่าง คือ ศีลธรรม มีความโน้มเอียงที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องทางศาสนาหรือเกี่ยวข้องกับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ส่วน “จริยธรรม” มักเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับเรื่องมนุษยธรรม อันเป็นหลักปฏิบัติที่ถือว่าดี อยู่ในตนเอง หรือ มีความเหมาะสมเพื่อการอยู่ในสังคมอย่างราบรื่น
จริยธรรม(Ethics) และ ศีลธรรม (Morality) มีความหมายใกล้เคียงกันทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยมีความหมายเหมือนกันในส่วนที่เกี่ยวกับ “ความควร” หรือ “ความไม่ควร” ของพฤติกรรม
จริยธรรมกับมาตรฐานสากลแห่งการอยู่ร่วมกัน
สภาพบ้านเมืองที่ไร้จริยธรรมอันเป็นมาตรฐานสากล จะเป็นดังคำพังเพยที่ว่า “กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม” คือ อลเวงสับสนไปหมด โดยคนชั่วเปรียบเสมือนกระเบื้อง ซึ่งหนักแต่กลับได้รับการยกย่องหรือลอยขึ้นมา ส่วนคนดีเปรียบเสมือนน้ำเต้า ซึ่งเบาแต่กลับถูกเหยียดหยามกดให้จมลงไป ในกาพย์เรื่องพระไชยสุริยา ของท่านรัตนกวีสุนทรภู่ มีคำพรรณนาถึงสภาพบ้านเมืองที่ไร้จริยธรรมให้เห็นได้อย่างชัดแจ้ง ดังนี้ “พาราสาวัตถี ใครไม่มีปรานีใคร ดุดื้อถือแต่ใจ ที่ใครได้ใส่เอาพอ ผู้ที่มีผีมือ ทำดุดื้อไม่ซื้อขอ ไล่คว้าผ้าที่คอ อะไรล่อก็เอาไป...”
ความรักชาติ (Patriotism) หมายถึง การมีจิตผูกพันต่อชาติอันเป็นปกติวิสัยที่พลเมืองพึงมีซึ่งลักษณะทางจิตวิทยาของความผูกพันนี้เหมือนกับการรักบ้าน คือรักถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอน อันเป็นการสนับสนุนให้คนรักชาติ
ชาตินิยม (Nationalism) หมายถึง ความรักชาติที่เป็นไปจนเกินความพอดี เป็นการเน้นความรู้สึกหนักไปในมิติทางการเมืองซึ่งสัมพันธ์กับประเทศอื่น
ศรัทธาต่อชาติ ในรูปของชาตินิยมจึงควรพึงอยู่ภายในขอบเขต กล่าวคือ จะต้องไม่มีมากจนกลายเป็นความงมงายในชาติหรือมีความหลงชาติ ซึ่งมีความงมงายในชาติจนเกินขอบเขตมักก่อให้เกิดการทำร้ายหรือรังแกคนกลุ่มน้อยในชาติ ซึ่งทำให้เกิดการแตกแยกภายใน
ยกตัวอย่างเช่น ความหลงชาติของคนเยอรมันจำนวนหนึ่งภายใต้การนำของฮิตเลอร์ ซึ่งเชื่อทฤษฎี “เชื้อชาติบริสุทธิ์” โดยการยกย่องเยอรมันผู้ที่มีเชื้อสาย “อารยัน” และพยายามทำลายล้างเผ่าพันธุ์คนเยอรมันผู้มีเชื้อสาย “ยิว” หรือการต่อต้ายชนเชื้อสายยิว (Anti-Semitism) เป็นผลให้คนเยอรมันผู้มีความสามารถหลายคนหลบหนีออกนอกประเทศ เกิดปัญหาสมองไหลหรือสมองล่อง (Brain Drain)
ความสามารถทางวิชาการกับความมั่งคงและกำลังอำนาจ
ความตื่นตระหนักกับผลสำเร็จของดาวเทียมสปุตนิค(Sputnik Shock) โดยในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2500 สหภาพโซเวียตได้ประสบผลสำเร็จเป็นชาติแรกในการส่งดาวเทียม Sputnik อันเป็นดาวเทียมดวงแรกของโลกขึ้นไปในอวกาศ ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ในขณะนั้นรีบดำเนินการให้ค้นคว้าวิจัยว่าทำไมประเทศตนจึงล้าหลังสหภาพโซเวียตในทางเทคโนโลยีอวกาศ ผลจากการวิจัยได้มุ่งประเด็นไปที่หลักสูตรโดยเฉพาะในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในระดับมัธยม จึงมีการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษา กันอย่างขนานใหญ่ โดยให้เรียนวิชาหลักมากขึ้นและเข้มข้นยิ่งขึ้น
พหุปัจจัย
ความมั่นคงและกำลังอำนาจแห่งชาติขึ้นอยู่กับพหุปัจจัย และเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสภาวะทั้งทางรูปธรรมและนามธรรม ซึ่งปัจจัยเชิงนามธรรมนั้นแม้จะมองเห็นได้ไม่ง่ายนัก แต่ก็มีความสำคัญยิ่ง โดยมีวาทะที่น่าพิจารณาดังนี้
อานุภาพของศรัทธา : ทัศนะของมหาตมะคานธี โดยมหาบุรุษผู้นำขบวนการกู้ชาติของอินเดีย ด้วยวิธีการสัตยาคฤห์ (สัตยาเคราะห์) คือ ด้วยวิธีการอหิงสา (อวิหิงสา) ได้กล่าวไว้ว่า “ศรัทธานี้เองที่นำเราฝ่าทะเลมรสุม ศรัทธานี้แหละที่เขยื้อนขุนเขา และศรัทธานี้ด้วยที่พาเรากระโจนข้ามมหาสมุทร ศรัทธานั้นไม่ใช่อื่นไกลเลย นอกจากสติรู้สำนึกที่ตื่น และมีชีวิตของคุณธรรมภายใน ผู้ใดที่เปี่ยมด้วยศรัทธา นั้นแล้วย่อมไม่ต้องการสิ่งใดอีก”
อำนาจของศีลธรรม : ทัศนะของ พ.อ. ปิ่น มุทุกันต์ โดยได้กล่าวว่า “บรรพบุรุษของเรารักษาชาติให้ลุล่วงมาได้จนวันนี้ ก็เพราะชาวไทยเราพากันรักษาศีล คือ ไม่ทำลายล้างผลาญกันทั้งทางชีวิต ร่างกาย ทางทรัพย์ และทางอื่นๆ เราไม่ทำลายกัน เราก็รักกันควบคุมกันเป็นปึกแผ่น...”
บทบาทของจริยธรรมหรือศีลธรรม
จริยธรรมและศีลธรรมต่างก็เป็นเรื่องของมาตรฐานแห่งความประพฤติของบุคคล แต่มีข้อแตกต่าง คือ ศีลธรรม มีความโน้มเอียงที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องทางศาสนาหรือเกี่ยวข้องกับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ส่วน “จริยธรรม” มักเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับเรื่องมนุษยธรรม อันเป็นหลักปฏิบัติที่ถือว่าดี อยู่ในตนเอง หรือ มีความเหมาะสมเพื่อการอยู่ในสังคมอย่างราบรื่น
จริยธรรม(Ethics) และ ศีลธรรม (Morality) มีความหมายใกล้เคียงกันทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยมีความหมายเหมือนกันในส่วนที่เกี่ยวกับ “ความควร” หรือ “ความไม่ควร” ของพฤติกรรม
จริยธรรมกับมาตรฐานสากลแห่งการอยู่ร่วมกัน
สภาพบ้านเมืองที่ไร้จริยธรรมอันเป็นมาตรฐานสากล จะเป็นดังคำพังเพยที่ว่า “กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม” คือ อลเวงสับสนไปหมด โดยคนชั่วเปรียบเสมือนกระเบื้อง ซึ่งหนักแต่กลับได้รับการยกย่องหรือลอยขึ้นมา ส่วนคนดีเปรียบเสมือนน้ำเต้า ซึ่งเบาแต่กลับถูกเหยียดหยามกดให้จมลงไป ในกาพย์เรื่องพระไชยสุริยา ของท่านรัตนกวีสุนทรภู่ มีคำพรรณนาถึงสภาพบ้านเมืองที่ไร้จริยธรรมให้เห็นได้อย่างชัดแจ้ง ดังนี้ “พาราสาวัตถี ใครไม่มีปรานีใคร ดุดื้อถือแต่ใจ ที่ใครได้ใส่เอาพอ ผู้ที่มีผีมือ ทำดุดื้อไม่ซื้อขอ ไล่คว้าผ้าที่คอ อะไรล่อก็เอาไป...”
ความมั่นคง และกำลังอำนาจแห่งชาติ
ความมั่นคง และกำลังอำนาจแห่งชาติ
ความเป็นห่วงเรื่องความมั่นคงของชาติและการมีพละกำลังของประเทศเป็นเรื่องที่มีปรากฏทั่วไป โดยเกี่ยวโยงกับมโนทัศน์อื่นๆ[1]
ความมั่นคง หมายถึง การมีพลานามัย มีความสมบูรณ์ และสุขภาพจิตดีในตัวเอง ส่วนกำลังอำนาจหมายถึง การมีลักษณะแห่งความมั่นคงผสมกับการมีความเกี่ยวกันกับคนอื่นหรือชาติอื่นๆ โดยความมั่นคงจะเน้นสภาวะภายใน ส่วนกำลังอำนาจเน้นสภาวะภายนอก คือ มีการเปรียบเทียบกับชาติอื่น
มองในปัจจัย เชิงรูปธรรม และนามธรรม
ปัจจัยเชิงรูปธรรม ได้แก่ ภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ ทำเลที่ตั้ง ทรัพยากรธรรมชาติ กำลังทหาร ทรัพยากรมนุษย์
ปัจจัยเชิงนามธรรม ได้แก่ ขวัญกำลังใจ ความเลื่อมใสศรัทธา ศาสนา ศีลธรรม ความเป็นผู้นำ
รูปร่างลักษณะเขตแดนและสภาพที่เกี่ยวข้อง มี 5 ประการ ได้แก่
1. รูปร่างกะทัดรัด เช่น ฝรั่งเศส สเปน โรมาเนีย กัมพูชา ฯลฯ
2. รูปร่างยื่นหรือแฉกหรือด้ามกระทะ เช่น ไทย สหภาพพม่า ฯลฯ
3. รูปร่างเรียวยาว เช่น ชิลี สวีเดน นอร์เวย์ อิตาลี ฯลฯ
4. รูปร่างแยกเป็นส่วน ๆ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ฯลฯ
5. รูปร่างมีรอยแหว่งภายใน เช่น สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ฯลฯ
รูปร่างของประเทศ ที่นับว่าเหมาะสม คือมีรูปร่างที่กะทัดรัด เนื่องจากสาเหตุ 2 ประการ คือ
1.การติดต่อระหว่างส่วนต่างๆ ของประเทศกับบริเวนใจกลางจะมีระยะทางเท่าๆ กัน และบริเวนใจกลางของประเทศอยู่ลึก จากพรมแดนพอสมควร ทำให้เกิดผลดีในด้านการป้องกันทางยุทธศาสตร์
2.มีพรมแดนสั้นเมื่อเปรียบเทียบตามส่วนกับเนื้อที่ประเทศ ทำให้ลดปัญหาเกี่ยวกับพรมแดนได้มาก
ปัจจัยด้านกำลังคน การมีพลเมืองมากโดยไม่สมดุลกับคุณภาพ ย่อมเป็นเครื่องกีดกั้นไม่ให้ประเทศมีพละกำลังเข้มแข็ง
ปัจจัยเชิงทรัพยากรธรรมชาติ ประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติในระดับมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน แคนาดา มีทรัพยากรป่าไม้ [2]
ขวัญกำลังใจ (Morale) ชาติเปรียบเสมือนร่างกายมนุษย์ แม้องค์ประกอบทางสรีระอ่อนแอแต่หากมีกำลังใจดีย่อมจะยืนหยัดได้นานกว่าที่ควรจะเป็น การที่คนในชาติมีผู้นำที่มีความสามารถและเหมาะสมกับสถานการณ์ สภาพที่เลวร้ายย่อมดีขึ้นอย่างแน่นอน[3]
เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งมีความเป็นผู้นำในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้กล่าววาทศิลป์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด โดยเฉพาะในตอนที่ว่า “ทั้งชีวิตของข้าพเจ้าไม่มีอะไรจะอุทิศให้ เว้นแต่หยาดโลหิต สปิริตแรงกล้า น้ำอัสสุชลคลอเบ้าตา และเหงื่ออาสาชโลมกาย” นับว่าเป็นวาทศิลป์ที่เป็นเสมือนมนต์ขลัง จนสามารถปลุกเร้าใจคนอังกฤษให้มีขวัญกำลังใจดีและต่อสู้โดยไม่ยอมสยบให้กับกองทัพอันทรงพลังของฮิตเลอร์
หลังจากญี่ปุ่นได้ตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการเข้าฝ่ายเยอรมัน และญี่ปุ่นได้โจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์(Peal Harbor) บนเกาะฮาไวของสหรัฐฯ ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์ จึงจำเป็นต้องนำสหรัฐฯ เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยนายพลดักลาส แมคอาร์เธอร์ ถูกส่งไปเป็นแม่ทัพยังสมรภูมิเอเชีย และแปซิฟิก ส่วนนายพลดไวท์ ดี. ไอเซนเฮาร์ ถูกส่งไปเป็นแม่ทัพในสมรภูมิยุโรป
ในวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2488 กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรภายใต้การนำของ “นายพลดไวท์ ดี.ไอเซนเฮาร์” แห่งสหรัฐฯ ได้เปิดยุทธการดีเดย์ (D-Day) ที่เมืองนอร์มังดี (Normandy) ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส ตรงข้ามช่องแคบอังกฤษจนได้รับชัยชนะและทำให้เยอรมันยอมแพ้ในเวลาต่อมา
ส่วนทางด้านเอเชียและแปซิฟิก “นายพลดักลาส แมคอาร์เธอร์” ก็ได้นำกองทัพเข้ายึดครองญี่ปุ่นโดยไม่มีการขัดขืนและวุ่นวาย ในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2488 หลังจากสหรัฐฯ ได้ทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา และนางาซากิของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2488
แมคอาร์เธอร์ วีรบุรุษในมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุทธภูมิด้านมหาสมุทรแปซิฟิก ได้เคยกล่าวคำว่า I’ll return (I shall return) หลังจากต้องถอยทัพกลับไปในสมรภูมิแห่งมหาสมุทรแปซิฟิกที่ประเทศฟิลิปปินส์ ทั้งนี้เพราะการสู้รบในระยะแรกสู้กับกองทัพญี่ปุ่นไม่ได้
ภาวะผู้นำ
มีความสำคัญอย่างมาก แต่การจะกระทำอะไรให้ได้ผลนั้นจะต้องอาศัยองค์ประกอบหลายประการเช่น การมีผู้นำระดับรอง ซึ่งมีความสามารถ และความสามารถในการ ที่เราเรียกว่า “หยั่ง” สถานการณ์และการวางแผน
ในนวนิยายอิงพงศาวดารจีนเรื่อง “สามก๊ก” (The Three Kingdoms) “เล่าปี่” ต้องพนมมือไปทุกหนทุกแห่ง โดยเฉพาะได้เดินทางไปกรอบขอร้อง และอ้อนวอนให้ปราชญ์จีนชื่อ “ขงเบ้ง” มาช่วยราชการเพื่อช่วยบ้านเมือง รวมทั้งในการเป็นเสนาธิการในการวางแผนรบกับโจโฉ
[1] เช่น การได้เอกราช (INdependence) การอยู่รอด (Survival) ความเป็นปึกแผ่น (Consolidation) และกำลังอำนาจแห่ง่ชาติ
[2] ทองคำสีเขียว (Green Gold)
[3] ยกตัวอย่าง สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นการตู้สู้ระหว่าง
(1) ฝ่ายสัมพันธมิตร (Allies) ซึ่งได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ฯลฯ
(2) ฝ่ายอักษะ (Axis) ซึ่งได้แก่ เยอรมัน อิตาลี ญี่ปุ่น ฯลฯ
ในปี ค.ศ. 1940 (ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ) วินสตัน เซอร์ชิลล์ (Winston Churchill) ได้รับมอบหมายให้จัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นบริหารประเทศอังกฤษ
ความเป็นห่วงเรื่องความมั่นคงของชาติและการมีพละกำลังของประเทศเป็นเรื่องที่มีปรากฏทั่วไป โดยเกี่ยวโยงกับมโนทัศน์อื่นๆ[1]
ความมั่นคง หมายถึง การมีพลานามัย มีความสมบูรณ์ และสุขภาพจิตดีในตัวเอง ส่วนกำลังอำนาจหมายถึง การมีลักษณะแห่งความมั่นคงผสมกับการมีความเกี่ยวกันกับคนอื่นหรือชาติอื่นๆ โดยความมั่นคงจะเน้นสภาวะภายใน ส่วนกำลังอำนาจเน้นสภาวะภายนอก คือ มีการเปรียบเทียบกับชาติอื่น
มองในปัจจัย เชิงรูปธรรม และนามธรรม
ปัจจัยเชิงรูปธรรม ได้แก่ ภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ ทำเลที่ตั้ง ทรัพยากรธรรมชาติ กำลังทหาร ทรัพยากรมนุษย์
ปัจจัยเชิงนามธรรม ได้แก่ ขวัญกำลังใจ ความเลื่อมใสศรัทธา ศาสนา ศีลธรรม ความเป็นผู้นำ
รูปร่างลักษณะเขตแดนและสภาพที่เกี่ยวข้อง มี 5 ประการ ได้แก่
1. รูปร่างกะทัดรัด เช่น ฝรั่งเศส สเปน โรมาเนีย กัมพูชา ฯลฯ
2. รูปร่างยื่นหรือแฉกหรือด้ามกระทะ เช่น ไทย สหภาพพม่า ฯลฯ
3. รูปร่างเรียวยาว เช่น ชิลี สวีเดน นอร์เวย์ อิตาลี ฯลฯ
4. รูปร่างแยกเป็นส่วน ๆ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ฯลฯ
5. รูปร่างมีรอยแหว่งภายใน เช่น สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ฯลฯ
รูปร่างของประเทศ ที่นับว่าเหมาะสม คือมีรูปร่างที่กะทัดรัด เนื่องจากสาเหตุ 2 ประการ คือ
1.การติดต่อระหว่างส่วนต่างๆ ของประเทศกับบริเวนใจกลางจะมีระยะทางเท่าๆ กัน และบริเวนใจกลางของประเทศอยู่ลึก จากพรมแดนพอสมควร ทำให้เกิดผลดีในด้านการป้องกันทางยุทธศาสตร์
2.มีพรมแดนสั้นเมื่อเปรียบเทียบตามส่วนกับเนื้อที่ประเทศ ทำให้ลดปัญหาเกี่ยวกับพรมแดนได้มาก
ปัจจัยด้านกำลังคน การมีพลเมืองมากโดยไม่สมดุลกับคุณภาพ ย่อมเป็นเครื่องกีดกั้นไม่ให้ประเทศมีพละกำลังเข้มแข็ง
ปัจจัยเชิงทรัพยากรธรรมชาติ ประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติในระดับมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน แคนาดา มีทรัพยากรป่าไม้ [2]
ขวัญกำลังใจ (Morale) ชาติเปรียบเสมือนร่างกายมนุษย์ แม้องค์ประกอบทางสรีระอ่อนแอแต่หากมีกำลังใจดีย่อมจะยืนหยัดได้นานกว่าที่ควรจะเป็น การที่คนในชาติมีผู้นำที่มีความสามารถและเหมาะสมกับสถานการณ์ สภาพที่เลวร้ายย่อมดีขึ้นอย่างแน่นอน[3]
เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งมีความเป็นผู้นำในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้กล่าววาทศิลป์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด โดยเฉพาะในตอนที่ว่า “ทั้งชีวิตของข้าพเจ้าไม่มีอะไรจะอุทิศให้ เว้นแต่หยาดโลหิต สปิริตแรงกล้า น้ำอัสสุชลคลอเบ้าตา และเหงื่ออาสาชโลมกาย” นับว่าเป็นวาทศิลป์ที่เป็นเสมือนมนต์ขลัง จนสามารถปลุกเร้าใจคนอังกฤษให้มีขวัญกำลังใจดีและต่อสู้โดยไม่ยอมสยบให้กับกองทัพอันทรงพลังของฮิตเลอร์
หลังจากญี่ปุ่นได้ตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการเข้าฝ่ายเยอรมัน และญี่ปุ่นได้โจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์(Peal Harbor) บนเกาะฮาไวของสหรัฐฯ ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์ จึงจำเป็นต้องนำสหรัฐฯ เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยนายพลดักลาส แมคอาร์เธอร์ ถูกส่งไปเป็นแม่ทัพยังสมรภูมิเอเชีย และแปซิฟิก ส่วนนายพลดไวท์ ดี. ไอเซนเฮาร์ ถูกส่งไปเป็นแม่ทัพในสมรภูมิยุโรป
ในวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2488 กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรภายใต้การนำของ “นายพลดไวท์ ดี.ไอเซนเฮาร์” แห่งสหรัฐฯ ได้เปิดยุทธการดีเดย์ (D-Day) ที่เมืองนอร์มังดี (Normandy) ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส ตรงข้ามช่องแคบอังกฤษจนได้รับชัยชนะและทำให้เยอรมันยอมแพ้ในเวลาต่อมา
ส่วนทางด้านเอเชียและแปซิฟิก “นายพลดักลาส แมคอาร์เธอร์” ก็ได้นำกองทัพเข้ายึดครองญี่ปุ่นโดยไม่มีการขัดขืนและวุ่นวาย ในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2488 หลังจากสหรัฐฯ ได้ทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา และนางาซากิของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2488
แมคอาร์เธอร์ วีรบุรุษในมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุทธภูมิด้านมหาสมุทรแปซิฟิก ได้เคยกล่าวคำว่า I’ll return (I shall return) หลังจากต้องถอยทัพกลับไปในสมรภูมิแห่งมหาสมุทรแปซิฟิกที่ประเทศฟิลิปปินส์ ทั้งนี้เพราะการสู้รบในระยะแรกสู้กับกองทัพญี่ปุ่นไม่ได้
ภาวะผู้นำ
มีความสำคัญอย่างมาก แต่การจะกระทำอะไรให้ได้ผลนั้นจะต้องอาศัยองค์ประกอบหลายประการเช่น การมีผู้นำระดับรอง ซึ่งมีความสามารถ และความสามารถในการ ที่เราเรียกว่า “หยั่ง” สถานการณ์และการวางแผน
ในนวนิยายอิงพงศาวดารจีนเรื่อง “สามก๊ก” (The Three Kingdoms) “เล่าปี่” ต้องพนมมือไปทุกหนทุกแห่ง โดยเฉพาะได้เดินทางไปกรอบขอร้อง และอ้อนวอนให้ปราชญ์จีนชื่อ “ขงเบ้ง” มาช่วยราชการเพื่อช่วยบ้านเมือง รวมทั้งในการเป็นเสนาธิการในการวางแผนรบกับโจโฉ
[1] เช่น การได้เอกราช (INdependence) การอยู่รอด (Survival) ความเป็นปึกแผ่น (Consolidation) และกำลังอำนาจแห่ง่ชาติ
[2] ทองคำสีเขียว (Green Gold)
[3] ยกตัวอย่าง สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นการตู้สู้ระหว่าง
(1) ฝ่ายสัมพันธมิตร (Allies) ซึ่งได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ฯลฯ
(2) ฝ่ายอักษะ (Axis) ซึ่งได้แก่ เยอรมัน อิตาลี ญี่ปุ่น ฯลฯ
ในปี ค.ศ. 1940 (ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ) วินสตัน เซอร์ชิลล์ (Winston Churchill) ได้รับมอบหมายให้จัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นบริหารประเทศอังกฤษ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations) เป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ หรือความสัมพันธ์ระหว่างประชาชาติ ซึ่งในยุคปัจจุบันนี้ไม่มีรัฐใดหรือชาติใดที่จะดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวตามลำพังโดยที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องติดต่อกับรัฐอื่น ๆ ได้
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นเรื่องของการติดต่อหรือความสัมพันธ์ในแขนงต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม การกีฬา การบันเทิง เทคโนโลยี สันติภาพ สงคราม การทูต ฯลฯ
วิวัฒนาการการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในฐานะเป็นวิชาการเริ่มต้นในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 และมีวิวัฒนาการโดยแบ่งออกเป็น 4 ช่วงได้แก่
(1) การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ ทางการทูต
(2) การศึกษาโดยเน้นเหตุการณ์ปัจจุบัน
(3) การศึกษาโดยเน้นหนักทางกฎหมาย
(4) การศึกษาโดยเน้นแนวทางการเมืองระหว่างประเทศ
มีการให้ความสำคัญกับวิชามานุษยวิทยา ด้านสังคมและวัฒนธรรมในช่วงที่สหรัฐฯ ถูกดึงเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยผู้นำสหรัฐฯ ได้ให้นักวิจัยและนักมานุษยวิทยา เช่น รุธ เนเนดิกต์ (Ruth Benedict) ศึกษาเกี่ยวกับอุปนิสัยของคนญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้น
ผลงานของ รุธ เนเนดิกต์ ในหนังสือ ดอกเบญจมาศและดาบซามูไร (The Chrysanthemun and The Sword) ซึ่งดอกเบญจมาศเป็นพระราชลัญจกร (State Emblem) หรือตราแผ่นดินของจักรพรรดิญี่ปุ่น ถือเป็นการค้นพบเกี่ยวกับอุปนัยของคนญี่ปุ่นที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการหาทางยุติสงครามโลกครั้งที่ 2
รูปแบบของทฤษฎีการเมืองระหว่างประเทศ
รูปแบบของการเมืองระหว่างประเทศเกี่ยวข้องกับทฤษฎีต่างๆ ดังนี้
(1) ทฤษฎีดุลแห่งอำนาจ
(2) ทฤษฎีขั้วอำนาจ
(3) ทฤษฎีความมั่นคงร่วมกัน
(4) ทฤษฎีป้องปรามและผ่อนคลายความตึงเครียด
ทฤษฎีแห่งอำนาจ ได้แก่ นโยบายที่มีการรวมตัวกันในหมู่รัฐประชาชาติต่างๆ เพื่อไม่ให้อึกชาติหนึ่งหนึ่งมีอำนาจสูงจนเกินไป ซึ่งนโยบายนี้เริ่มใช้โดยอังกฤษก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1
ทฤษฏีเกี่ยวกับขั้วอำนาจ แบ่งออกเป็น 2 แนว ได้แก่
1. แนวคิด 2 ขั้วอำนาจ (Bipolarity) โดยแบ่งแยกรัฐประชาชาติในโลกออกเป็น 2 ค่าย ภายใต้อภิมหาอำนาจ คือ สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต
2. แนวคิดพหุขั้วอำนาจ (Multipolarity) โดยมุ่งอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ปรากฏในช่วง ค.ศ. 1970 – 1979 โดยเห็นว่าอำนาจในโลกมิได้มีเพียง 2 ค่าย แต่กระจายกว้างขวางขึ้นกว่าเดิม คือ เป็น “หลายขั้วอำนาจ” โดยมีกลุ่มอำนาจใหม่เกิดขึ้น เช่น จีน ญี่ปุ่น และประเทศในยุโรปตะวันตก
ทฤษฎีความมั่นคงร่วมกัน เป็นทฤษฎีที่ต่อเนื่องจากทฤษฎีดุลแห่งอำนาจ ด้วยเหตุผลที่ว่า เพื่อสถาปนาความรับผิดขอบร่วมกัน และเพื่อนำเอาทรัพยากรในแต่ละรัฐที่รวมกันมาใช้เพื่อการรักษาสันติภาพ ซึ่งการรับผิดชอบร่วมกันจะเกิดขึ้นได้ก็โดยความร่วมมือของรัฐประชาชาติ 3 รัฐขึ้นไป
ผลผลิตของทฤษฎีนี้ คือ การก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศ 2 องค์การ ได้แก่
1. องค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1920 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยมีประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในขณะนั้นคือ วูดโรว์ วิลสัน เป็นผู้สนับสนุนให้จัดตั้งขึ้น
2. องค์การสหประชาชาติ (UN: United Nations) โดยเมื่อเริ่มก่อตั้งใช้ชื่อว่า United Nation Organization (UNO) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1945 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
ปัจจุบันองค์การสหประชาชาติมีสมาชิกทั้งหมด 192 ประเทศ โดยมีประเทศสมาชิกล่าสุด คือ มอนเตเนโกร (แยกตัวเป็นเอกราชจากเซอร์เบีย)
ESCAP (องค์การว่าด้วยกิจการด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในเอเชียและแปซิฟิก) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ อาคารสหประชาชาติ (UN Building) กรุงเทพฯ
ทฤษฎีป้องปรามและทฤษฎีการผ่อนคลายความตึงเครียด
โดยทฤษฎีป้องปรามมีจุดประสงค์เพื่อต้องการยับยั้งการขยายอิทธิพล ยับยั้งการรุกรานและแผ่แสนยานุภาพ ด้วยการรวมสมัครพรรคพวกของประเทศต่าง ๆ ขึ้น ส่วนทฤษฎีการผ่อนคลายความตึงเครียด ได้แก่ การไม่เข้าแทรกแซงกิจการภาในของประเทศอื่น, การเปลี่ยนนโยบายเผชิญหน้าเป็นนโยบายเจรจา, การมีนโยบายลดกำลังอาวุธและควบคุมอาวุธร้ายแรง
กฎหมายระหว่างประเทศ หมายถึง บรรดากฎข้อบังคับทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดความสัมพันธ์ต่างๆ ระหว่างรัฐทั้งหลาย และกฎข้อบังคับที่อยู่เหนือกฎข้อบังคับใด ๆ ของรัฐใด ๆ
เรื่องกฎหมายระหว่างประเทศจะเกี่ยวข้องกับ
(1) สนธิสัญญา (Treaties) ซึ่งเป็นที่มีที่สำคัญยิ่งของกฎหมายระหว่างประเทศภาคมหาชน
(2) จารีตประเพณีระหว่างประเทศ ได้แก่ สิ่งที่รัฐทั้งหลายได้ปฏิบัติร่วมกันและติดต่อกันเป็นเวลานาน
(3) หลักกฎหมายทั่วไป ได้แก่ หลักกฎหมายที่เป็นที่ยอมรับโดยที่รัฐที่เจริญมีอารยธรรมเดียวกัน
องค์การระหว่างประเทศ
การจำแนกองค์กรระหว่างประเทศตามแนวของ Pierre Vellas กระทำได้ 3 วิธีคือ
1. การจำแนกโดยหน้าที่ หมายถึง มองเป้าหมายและหน้าที่ขององค์กร ได้แก่
- องค์การทางการเมือง เช่น สหประชาชาติ (UN) ฯลฯ
- องค์การทางเศรษฐกิจ เช่น ธนาคารโลก (IBRD), กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF), องค์การการค้าโลก (WTO) ฯลฯ
- องค์การทางสังคม เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) ฯลฯ
- องค์การทางคมนาคมและการขนส่ง เช่น สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ(ITU) ฯลฯ
- องค์การทางทหาร เช่น องค์การป้องกันร่วมกันแอตแลตติกเหนือ (NATO) ฯลฯ
2. การจำแนกโดยพื้นที่ หมายถึง การใช้ภูมิศาสตร์และขอบเขตงานขององค์กร ได้แก่
- องค์การสากล เช่น UN, IBRD, IMF, WTO, WHO ฯลฯ
- องค์การภูมิภาค เช่น NATO, EU, ASEAN, AFTA ฯลฯ
3. การจำแนกโดยถืออำนาจบังคับทางกฎหมาย เป็นองค์การที่มีของเขตของงาน ได้แก่
- องค์การระหว่างรัฐ โดยยึดหลักการเคารพอธิปไตยซึ่งกันและกันของรัฐสมาชิก
- องค์การอภิรัฐ เป็นการรวมกลุ่มของรัฐเอกราช และมอบอำนาจอธิปไตยบางส่วนให้แก่องค์การมากกว่าแบบแรก เช่น สหภาพยุโรป (EU)
-
ปัจจุบันสมาคมอาเซียน (ASEAN) ประกอบด้วยประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกที่ริเริ่มก่อตั้ง 5 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ต่อมามีสมาชิกเพิ่มอีก 5 ประเทศ คือ บรูไน เวียดนาม ลาว กัมพูชา และ พม่า
เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA : ASEAN Free Trade Area) เป็นองค์กรความร่วมมือกันในด้านการค้าของกลุ่มประเทศอาเซียน จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยข้อเสนอของนายอานันท์ ปันยารชุน อดีต นายกรัฐมนตรีของไทยในสมัยนั้น
องค์การซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติที่รับผิดชอบด้านสาธารณสุขระดับโลก คือ องค์การอนามัยโลก (WHO : World Health Organization)
องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เป็นทบวงชำนาญพิเศษขององค์การสหประชาชาติที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลงานด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ระดับโลก มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งการกำหนดว่าอะไรคือ “มรดกโลก” จะกระทำโดยองค์การ UNESCO
G-7 (Group of Seven) คือ กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี แคนาดา และญี่ปุ่น โดยมีการนัดประชุมยอดระดับผู้นำทุกปีนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 เป็นต้นมา เพื่อปรึกษากันในเรื่องปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองของโลก (นับแต่ปี ค.ศ. 1984 มีการเชิญประธานาธิบดีรัสเซียมาปรึกษาด้วยในช่วงท้ายของการปิดประชุม)
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations) เป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ หรือความสัมพันธ์ระหว่างประชาชาติ ซึ่งในยุคปัจจุบันนี้ไม่มีรัฐใดหรือชาติใดที่จะดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวตามลำพังโดยที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องติดต่อกับรัฐอื่น ๆ ได้
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นเรื่องของการติดต่อหรือความสัมพันธ์ในแขนงต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม การกีฬา การบันเทิง เทคโนโลยี สันติภาพ สงคราม การทูต ฯลฯ
วิวัฒนาการการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในฐานะเป็นวิชาการเริ่มต้นในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 และมีวิวัฒนาการโดยแบ่งออกเป็น 4 ช่วงได้แก่
(1) การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ ทางการทูต
(2) การศึกษาโดยเน้นเหตุการณ์ปัจจุบัน
(3) การศึกษาโดยเน้นหนักทางกฎหมาย
(4) การศึกษาโดยเน้นแนวทางการเมืองระหว่างประเทศ
มีการให้ความสำคัญกับวิชามานุษยวิทยา ด้านสังคมและวัฒนธรรมในช่วงที่สหรัฐฯ ถูกดึงเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยผู้นำสหรัฐฯ ได้ให้นักวิจัยและนักมานุษยวิทยา เช่น รุธ เนเนดิกต์ (Ruth Benedict) ศึกษาเกี่ยวกับอุปนิสัยของคนญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้น
ผลงานของ รุธ เนเนดิกต์ ในหนังสือ ดอกเบญจมาศและดาบซามูไร (The Chrysanthemun and The Sword) ซึ่งดอกเบญจมาศเป็นพระราชลัญจกร (State Emblem) หรือตราแผ่นดินของจักรพรรดิญี่ปุ่น ถือเป็นการค้นพบเกี่ยวกับอุปนัยของคนญี่ปุ่นที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการหาทางยุติสงครามโลกครั้งที่ 2
รูปแบบของทฤษฎีการเมืองระหว่างประเทศ
รูปแบบของการเมืองระหว่างประเทศเกี่ยวข้องกับทฤษฎีต่างๆ ดังนี้
(1) ทฤษฎีดุลแห่งอำนาจ
(2) ทฤษฎีขั้วอำนาจ
(3) ทฤษฎีความมั่นคงร่วมกัน
(4) ทฤษฎีป้องปรามและผ่อนคลายความตึงเครียด
ทฤษฎีแห่งอำนาจ ได้แก่ นโยบายที่มีการรวมตัวกันในหมู่รัฐประชาชาติต่างๆ เพื่อไม่ให้อึกชาติหนึ่งหนึ่งมีอำนาจสูงจนเกินไป ซึ่งนโยบายนี้เริ่มใช้โดยอังกฤษก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1
ทฤษฏีเกี่ยวกับขั้วอำนาจ แบ่งออกเป็น 2 แนว ได้แก่
1. แนวคิด 2 ขั้วอำนาจ (Bipolarity) โดยแบ่งแยกรัฐประชาชาติในโลกออกเป็น 2 ค่าย ภายใต้อภิมหาอำนาจ คือ สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต
2. แนวคิดพหุขั้วอำนาจ (Multipolarity) โดยมุ่งอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ปรากฏในช่วง ค.ศ. 1970 – 1979 โดยเห็นว่าอำนาจในโลกมิได้มีเพียง 2 ค่าย แต่กระจายกว้างขวางขึ้นกว่าเดิม คือ เป็น “หลายขั้วอำนาจ” โดยมีกลุ่มอำนาจใหม่เกิดขึ้น เช่น จีน ญี่ปุ่น และประเทศในยุโรปตะวันตก
ทฤษฎีความมั่นคงร่วมกัน เป็นทฤษฎีที่ต่อเนื่องจากทฤษฎีดุลแห่งอำนาจ ด้วยเหตุผลที่ว่า เพื่อสถาปนาความรับผิดขอบร่วมกัน และเพื่อนำเอาทรัพยากรในแต่ละรัฐที่รวมกันมาใช้เพื่อการรักษาสันติภาพ ซึ่งการรับผิดชอบร่วมกันจะเกิดขึ้นได้ก็โดยความร่วมมือของรัฐประชาชาติ 3 รัฐขึ้นไป
ผลผลิตของทฤษฎีนี้ คือ การก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศ 2 องค์การ ได้แก่
1. องค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1920 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยมีประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในขณะนั้นคือ วูดโรว์ วิลสัน เป็นผู้สนับสนุนให้จัดตั้งขึ้น
2. องค์การสหประชาชาติ (UN: United Nations) โดยเมื่อเริ่มก่อตั้งใช้ชื่อว่า United Nation Organization (UNO) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1945 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
ปัจจุบันองค์การสหประชาชาติมีสมาชิกทั้งหมด 192 ประเทศ โดยมีประเทศสมาชิกล่าสุด คือ มอนเตเนโกร (แยกตัวเป็นเอกราชจากเซอร์เบีย)
ESCAP (องค์การว่าด้วยกิจการด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในเอเชียและแปซิฟิก) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ อาคารสหประชาชาติ (UN Building) กรุงเทพฯ
ทฤษฎีป้องปรามและทฤษฎีการผ่อนคลายความตึงเครียด
โดยทฤษฎีป้องปรามมีจุดประสงค์เพื่อต้องการยับยั้งการขยายอิทธิพล ยับยั้งการรุกรานและแผ่แสนยานุภาพ ด้วยการรวมสมัครพรรคพวกของประเทศต่าง ๆ ขึ้น ส่วนทฤษฎีการผ่อนคลายความตึงเครียด ได้แก่ การไม่เข้าแทรกแซงกิจการภาในของประเทศอื่น, การเปลี่ยนนโยบายเผชิญหน้าเป็นนโยบายเจรจา, การมีนโยบายลดกำลังอาวุธและควบคุมอาวุธร้ายแรง
กฎหมายระหว่างประเทศ หมายถึง บรรดากฎข้อบังคับทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดความสัมพันธ์ต่างๆ ระหว่างรัฐทั้งหลาย และกฎข้อบังคับที่อยู่เหนือกฎข้อบังคับใด ๆ ของรัฐใด ๆ
เรื่องกฎหมายระหว่างประเทศจะเกี่ยวข้องกับ
(1) สนธิสัญญา (Treaties) ซึ่งเป็นที่มีที่สำคัญยิ่งของกฎหมายระหว่างประเทศภาคมหาชน
(2) จารีตประเพณีระหว่างประเทศ ได้แก่ สิ่งที่รัฐทั้งหลายได้ปฏิบัติร่วมกันและติดต่อกันเป็นเวลานาน
(3) หลักกฎหมายทั่วไป ได้แก่ หลักกฎหมายที่เป็นที่ยอมรับโดยที่รัฐที่เจริญมีอารยธรรมเดียวกัน
องค์การระหว่างประเทศ
การจำแนกองค์กรระหว่างประเทศตามแนวของ Pierre Vellas กระทำได้ 3 วิธีคือ
1. การจำแนกโดยหน้าที่ หมายถึง มองเป้าหมายและหน้าที่ขององค์กร ได้แก่
- องค์การทางการเมือง เช่น สหประชาชาติ (UN) ฯลฯ
- องค์การทางเศรษฐกิจ เช่น ธนาคารโลก (IBRD), กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF), องค์การการค้าโลก (WTO) ฯลฯ
- องค์การทางสังคม เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) ฯลฯ
- องค์การทางคมนาคมและการขนส่ง เช่น สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ(ITU) ฯลฯ
- องค์การทางทหาร เช่น องค์การป้องกันร่วมกันแอตแลตติกเหนือ (NATO) ฯลฯ
2. การจำแนกโดยพื้นที่ หมายถึง การใช้ภูมิศาสตร์และขอบเขตงานขององค์กร ได้แก่
- องค์การสากล เช่น UN, IBRD, IMF, WTO, WHO ฯลฯ
- องค์การภูมิภาค เช่น NATO, EU, ASEAN, AFTA ฯลฯ
3. การจำแนกโดยถืออำนาจบังคับทางกฎหมาย เป็นองค์การที่มีของเขตของงาน ได้แก่
- องค์การระหว่างรัฐ โดยยึดหลักการเคารพอธิปไตยซึ่งกันและกันของรัฐสมาชิก
- องค์การอภิรัฐ เป็นการรวมกลุ่มของรัฐเอกราช และมอบอำนาจอธิปไตยบางส่วนให้แก่องค์การมากกว่าแบบแรก เช่น สหภาพยุโรป (EU)
-
ปัจจุบันสมาคมอาเซียน (ASEAN) ประกอบด้วยประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกที่ริเริ่มก่อตั้ง 5 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ต่อมามีสมาชิกเพิ่มอีก 5 ประเทศ คือ บรูไน เวียดนาม ลาว กัมพูชา และ พม่า
เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA : ASEAN Free Trade Area) เป็นองค์กรความร่วมมือกันในด้านการค้าของกลุ่มประเทศอาเซียน จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยข้อเสนอของนายอานันท์ ปันยารชุน อดีต นายกรัฐมนตรีของไทยในสมัยนั้น
องค์การซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติที่รับผิดชอบด้านสาธารณสุขระดับโลก คือ องค์การอนามัยโลก (WHO : World Health Organization)
องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เป็นทบวงชำนาญพิเศษขององค์การสหประชาชาติที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลงานด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ระดับโลก มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งการกำหนดว่าอะไรคือ “มรดกโลก” จะกระทำโดยองค์การ UNESCO
G-7 (Group of Seven) คือ กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี แคนาดา และญี่ปุ่น โดยมีการนัดประชุมยอดระดับผู้นำทุกปีนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 เป็นต้นมา เพื่อปรึกษากันในเรื่องปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองของโลก (นับแต่ปี ค.ศ. 1984 มีการเชิญประธานาธิบดีรัสเซียมาปรึกษาด้วยในช่วงท้ายของการปิดประชุม)
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)