พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประชาธิปไตยมาตั้งแต่เริ่มแรก ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะทรงมอบให้พระสงฆ์เป็นใหญ่ในกิจการทั้งปวงเสียอีกลักษณะ ที่เป็นประชาธิปไตยในพระพุทธศาสนามีตัวอย่างดังต่อไปนี้
1. พระพุทธศาสนามีพระธรรมวินัยเป็นธรรมนูญหรือกฎหมายสูงสุด พระธรรม คือ คำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง พระวินัยคือ คำสั่งอันเป็นข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้นเมื่อรวมกัน เรียกว่า พระธรรมวินัย ซึ่งมีความสำคัญขนาดที่พระพุทธเจ้าทรงมอบให้เป็นพระศาสดาแทนพระองค์ ก่อนที่พระองค์จะปรินิพพานเพียงเล็กน้อย
2. มีการกำหนดลักษณะของศาสนาไว้เรียบร้อย ไม่ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ลักษณะของพระพุทธศาสนาคือสายกลาง ไม่ซ้ายสุด ไม่ขวาสุด ทางสายกลางนี้เป็นครรลอง อาจปฏิบัติค่อนข้างเคร่งครัดก็ได้ โดยใช้สิทธิในการแสวงหาอดิเรกลาภตามที่ทรงอนุญาตไว้ ในสมัยต่อมา เรียกแนวกลางๆ ของพระพุทธศาสนาว่า วิภัชชวาที คือศาสนาที่กล่าวจำแนกแจกแจง ตามความเป็นจริงบางอย่างกล่าวยืนยันโดยส่วนเดียวได้ บางอย่างกล่าวจำแนกแจกแจงเป็นกรณี ๆ ไป
3. พระพุทธศาสนา มีความเสมอภาคภายใต้พระธรรมวินัย บุคคลที่เป็นวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทรมาแต่เดิม รวมทั้งคนวรรณะต่ำกว่านั้น เช่นพวกจัณฑาล พวกปุกกุสะคนเก็บขยะ และพวกทาส เมื่อเข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องแล้ว มีความเท่าเทียมกัน คือปฏิบัติตามสิกขาบทเท่ากัน และเคารพกันตามลำดับอาวุโส คือผู้อุปสมบทภายหลังเคารพผู้อุปสมบทก่อน
4. พระภิกษุในพระพุทธศาสนา มีสิทธิ เสรีภาพภายใต้พระธรรมวินัย เช่นในฐานะภิกษุเจ้าถิ่น จะมีสิทธิได้รับของแจกก่อนภิกษุอาคันตุกะ ภิกษุที่จำพรรษาอยู่ด้วยกันมีสิทธิได้รับของแจกตามลำดับพรรษา มีสิทธิรับกฐิน และได้รับอานิสงส์กฐินในการแสวงหาจีวรตลอด 4 เดือนฤดูหนาวเท่าเทียมกัน นอกจากนั้นยังมีเสรีภาพที่จะเดินทางไปไหนมาไหนได้ จะอยู่จำพรรษาวัดใดก็ได้เลือกปฏิบัติกรรมฐานข้อใด ถือธุดงควัตรข้อใดก็ได้ทั้งสิ้น
5. มีการแบ่งอำนาจ พระเถระผู้ใหญ่ทำหน้าที่บริหารปกครองหมู่คณะ การบัญญัติพระวินัย พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติเอง เช่นมีภิกษุผู้ทำผิดมาสอบสวนแล้วจึงทรงบัญญัติพระวินัย ส่วนการตัดสินคดีตามพระวินัยทรงบัญญัติแล้วเป็นหน้าที่ของพระวินัยธรรมซึ่งเท่ากับศาล
6. พระพุทธศาสนามีหลักเสียงข้างมาก คือ ใช้เสียงข้างมาก เป็นเกณฑ์ตัดสิน เรียกว่า วิธีเยภุยยสิกา การตัดสินโดยใช้เสียงข้างมาก ฝ่ายใดได้รับเสียงข้างมากสนับสนุน ฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายชนะคดี
หลักประชาธิปไตยในการที่พระพุทธเจ้าทรงมอบความเป็นใหญ่แก่สงฆ์
การมอบความเป็นใหญ่แก่สงฆ์มีลักษณะตรงกับหลักประชาธิปไตยหลายประการ ส่วนมากเป็นเรื่องสังฆกรรม คือการประชุมกันทำกิจสงฆ์อย่างใดอย่างหนึ่งให้สำเร็จ การทำสังฆกรรมประกอบด้วยส่วนสำคัญ 5 ประการ ถ้าทำผิดพลาดประการใดประการหนึ่ง จะทำให้สังฆกรรมนั้นเสียไป ใช้ไม่ได้ ไม่มีผล คือเป็นโมฆะ ส่วนสำคัญ 5 ประการมีดังนี้คือ
1 จำนวนสงฆ์อย่างต่ำที่เข้าประชุม การกำหนดจำนวนสงฆ์ผู้เข้าประชุมอย่างต่ำว่าจะทำสังฆกรรมอย่างใดได้บ้างมี 5 ประเภท คือ
-- ภิกษุ 4 รูปเข้าประชุม เรียกว่า สงฆ์จตุรวรรค สามารถทำสังฆกรรมได้เกือบทุกชนิด เว้นแต่ การอุปสมบทหรือการบวชพระ การปวารณาหรือ พิธีกรรมในวันออกพรรษาที่ทรงอนุญาตให้ว่ากล่าวตักเตือนกันและกัน และการสวดอัพภาน หรือการเพิกถอนอาบัติหนักของภิกษุบางรูป
--- ภิกษุ 5 รูป เข้าประชุม เรียกว่า สงฆ์ปัญจวรรค สามารถทำสังฆกรรมที่สงฆ์จตุรวรรค ทำได้ทั้งหมด และยังเพิ่มการปวารณา การอุปสมบทในชนบทชายแดนได้อีกด้วย -- ภิกษุ 10 รูป เข้าประชุม เรียกว่า สงฆ์ทสวรรค สามารถทำสังฆกรรมที่สงฆ์ปัญจวรรคทำได้ทั้งหมด และยังเพิ่มการอุปสมบทในมัชฌิชนบท คือ ในภาคกลางของอินเดียได้อีกด้วย --- ภิกษุ 20 รูปเข้าประชุม เรียกว่า สงฆ์วีสติวรรค สามารถทำสังฆกรรมได้ทุกชนิด รวมทั้งสวดอัพภาน เพิกถอนอาบัติหนักด้วย
--- ภิกษุกว่า 20 รูปเข้าประชุม เรียกว่า อติเรกวีสติวรรค สามารถทำสังฆกรรมได้ทุกชนิด สำหรับประเพณีไทย นิยมนิมนต์ภิกษุเข้าประชุมให้เกินจำนวนอย่างต่ำของการทำสังฆกรรมนั้นๆ เสมอ เพื่อให้ถูกต้องอย่างไม่มีโอกาสผิดพลาดในเรื่องจำนวนสงฆ์
2 สถานที่ประชุมของสงฆ์เพื่อทำสังฆกรรม เรียกว่า สีมา แปลว่า เขตแดน สีมา หมายถึงพื้นดิน ไม่ใช่อาคาร อาคารจะสร้างเป็นรูปทรงอย่างไรหรือไม่มีอาคารเลยก็ได้ สีมามี 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ พัทธสีมา สีมาที่ผูกแล้ว และอพัทธสีมา สีมาที่ไม่ต้องผูก พัทธสีมามีหลายชนิด จะกล่าวเฉพาะวิสุงคามสีมา แปลว่าสีมาในหมู่บ้าน ซึ่งแยกออกต่างหากจากอาณาเขตของประเทศ การขอวิสุงคามสีมาต้องขอจากประมุขของรัฐ ในประเทศไทยขอพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในประเทศมาเลเซีย ขอพระราชทานจากพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย ในประเทศสหรัฐอเมริกา ขอจากผู้ว่าการมลรัฐที่วัดตั้งอยู่ ไม่ใช่ขอจากประธานาธิบดี เพราะเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อขอแล้วต้องทำพิธีถอนสีมาในบริเวณนั้น ซึ่งอาจเคยเป็นวัด ผูกพัทธสีมามาแล้วในสมัยโบราณก็ได้ แล้วทำพิธีผูกพัทธสีมา สีมาซึ่งทำสังฆกรรมผูกแล้วนี้จะคงอยู่ตลอดไปจนกว่าโลกนี้แตกสลาย กลายเป็นธุลีคอสมิค ยกเว้น จะทำพิธีถอนสีมาเสีย อพัทธสีมา มีมากมายหลายชนิดเช่นเดียวกัน จะกล่าวเฉพาะสีมาน้ำ หรือเรียกว่า อุทกุกเขปสีมา แปลว่า สีมาชั่ววักน้ำสาด สีมาชนิดนี้ไม่ต้องผูกแต่สร้างอาคาร หรืออยู่ในเรือแพ ภายในหนองบึง แม่น้ำ ทะเล ซึ่งมีน้ำขังตลอดปี และอยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 2 ชั่ววักน้ำสาดของบุรุษผู้มีกำลังปานกลาง สีมาน้ำนี้ใช้ทำสังฆกรรมได้เหมือนวิสุงคามสีมาเช่นกัน ส่วนมากนิยมทำกันในวัดหรือสำนักสงฆ์ที่ยังไม่ได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมา การกำหนดสีมาขึ้นนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ใครเข้ามายุ่งเกี่ยว ทำให้สังฆกรรมเสียไป หรือมีเจตนามาทำลายสงฆ์ทราบ ผู้ประกาศมีรูปเดียวหรือ 2 รูป ก็ได้ เรียกว่า พระคู่สังฆกรรมโดยตรง เพราะภายในสีมานั้น สงฆ์มีอำนาจสิทธิขาด ใครจะอ้างเป็นเจ้าของไม่ได้
3 การประกาศเรื่องที่ประชุม และการประกาศขอความเห็นชอบ สงฆ์จะประชุมกันทำสังฆกรรมเรื่องอะไรก็ตาม จะต้องมีการประกาศเรื่องนั้นให้สงฆ์ทราบ ผู้ประกาศมีรูปเดียวหรือ 2 รูป ก็ได้ เรียกว่า พระคู่สวดหรือพระกรรมวาจาจารย์ เมื่อประกาศให้ทราบแล้ว ยังมีการประกาศขอความเห็นชอบจากสงฆ์อีก ถ้าเป็นเรื่องไม่สำคัญนัก มีการประกาศให้ทราบ 1 ครั้ง และประกาศขอความเห็นชอบอีก 1 ครั้งเรียกว่า ญัตติทุติยกรรม เช่น การประกาศมอบผ้ากฐินแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง การแต่งตั้งภิกษุเป็นเจ้าหน้าที่ทำการสงฆ์ต่างๆ ถ้าเป็นเรื่องสำคัญมาก มีการประกาศให้ทราบ 1 ครั้ง และประกาศขอความเห็นอีก 3 ครั้ง รวมเป็น 4 ครั้ง เรียกว่า ญัตติจตุตถกรรม เช่นการให้อุปสมบท การลงโทษภิกษุผู้ประพฤติมิชอบ 7 อย่าง มีตัชชนียกรรม (การตำหนิโทษ) เป็นต้น การยกโทษเมื่อภิกษุนั้นประพฤติตนดีแล้วและการแต่งตั้งภิกษุให้เป็นผู้สอนภิกษุณี เป็นต้น
4 สิทธิของภิกษุผู้เข้าประชุม ภิกษุผู้เข้าร่วมประชุมทำสังฆกรรมทุกรูปมีสิทธิแสดงความคิดเห็นทั้งในทางเห็นด้วยและในทางคัดค้าน ตามปกติเมื่อภิกษุผู้ประกาศ หรือพระคู่สวดถามความคิดเห็นของที่ประชุม ถ้าเห็นด้วย ให้ใช้วิธีนิ่ง ถ้าไม่เห็นด้วยให้คัดค้านขึ้น จะต้องมีการทำความเข้าใจกันจนกว่าจะยอมเห็นด้วย ถ้าภิกษุผู้คัดค้าน ยังคงยืนกรานไม่เห็นด้วย การทำสังฆกรรมนั้นๆ เช่น การอุปสมบท หรือการมอบผ้ากฐินย่อมไม่สมบูรณ์ จึงเห็นได้ว่า มติของที่ประชุมต้องเป็นเอกฉันท์คือเห็นพร้อมกันทุกรูป
5 มติที่ประชุม การทำสังฆกรรมทั้งหมด มติของที่ประชุมต้องเป็นเอกฉันท์ คือเป็นที่ยอมรับของภิกษุทุกรูป ทั้งนี้เพราะในสังฆมณฑลนั้น ภิกษุทั้งหลายต้องอยู่ร่วมกัน มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน กล่าวคือมีศีลและมีความเห็นเหมือน ๆ กัน จึงจะมีความสามัคคี สืบต่อพระพุทธศาสนาได้อย่างถาวร แต่ในบางกรณี เมื่อภิกษุมีความเห็นแตกต่างกันเป็นสองฝ่ายและมีจำนวนมากด้วยกันต้องหาวิธีระงับโดยวิธีจับฉลาก หรือการลงคะแนนเพื่อดูว่าฝ่ายไหนได้เสียงข้างมาก ก็ตัดสินไปตามเสียงข้างมากนั้น วิธีนี้เรียกว่า เยภุยยสิกา การถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ ตามหลักประชาธิปไตยทั่วไป ซึ่งแสดงว่า มติที่ประชุมไม่ได้ใช้มติเอกฉันท์เสมอไป
ลักษณะอื่นๆ ที่แสดงถึงความเป็นประชาธิปไตยในพระพุทธศาสนา
1 พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุศึกษาพระพุทธศาสนาด้วยภาษาใด ๆ ก็ได้ คือศึกษาด้วยภาษาที่ตนเองรู้ดีที่สุด ไม่ให้ผูกขาดศึกษาด้วยภาษาเดียว เหมือนศาสนาพราหมณ์ที่ต้องศึกษาด้วยภาษาสันสกฤตเพียงภาษาเดียว แต่การที่คณะสงฆ์ไทยใช้ภาษาบาลีเป็นหลัก ก็เพื่อสอบทานความถูกต้องในกรณีที่มีความสงสัยเท่านั้น ส่วนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจะใช้ภาษาท้องถิ่นใด ๆ ก็ได้2 พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ปฏิบัติคล้อยตามกฎหมายของประเทศที่ตนอาศัยอยู่ การปฏิบัติใด ๆ ที่ไม่มีห้ามไว้ในศีลของภิกษุแต่ผิดกฎหมายของประเทศนั้น ๆ ภิกษุก็กระทำไม่ได้ ข้อนี้ทำให้ภิกษุสามารถอยู่ได้ในทุกประเทศโดยไม่มีความขัดแย้งกับรัฐบาล และประชาชนของประเทศนั้น ๆ
3 ก่อนปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ว่าถ้าสงฆ์ปรารถนาจะถอนสิกขาบทเล็กน้อย(คือ เลิกศีลข้อเล็กน้อย) เสียก็ได้ พระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทตกลงกันไม่ได้ว่า ข้อใดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย จึงมีมติไม่ให้ถอนสิกขาบทใด ๆ ทั้งสิ้น ส่วนพระสงฆ์ฝ่ายมหายานมีมติให้ถอนสิกขาบทที่เห็นว่าเล็กน้อยได้ เมื่อกาลเวลาล่วงไปก็ยิ่งถอนมากขึ้นทุกที การปฏิบัติระหว่างพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทกับฝ่ายมหายานจึงแตกต่างกันมากยิ่งขึ้น
ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ต้องถือหลักธรรมาธิปไตย
ธรรมาธิปไตย หมายถึง การถือธรรมเป็นใหญ่ คนในสังคมประชาธิปไตยจะต้องเป็นธรรมาธิปไตย นั่นคือไม่ตกอยู่ในอำนาจของโลภะ โทสะ โมหะ หรือ ตัณหา มานะ ทิฐิ ตัณหา คือ ความอยากได้อยากเอาสิ่งต่าง ๆ มาเป็นของตัวเอง ต้องการผลประโยชน์และสิ่งบำรุงบำเรอปรนเปรอตน ไม่ยอมเสียสละเพื่อใคร (ใฝ่เสพ ใฝ่บริโภค)
มานะ คือ ความอยากให้ตัวเองยิ่งใหญ่ ต้องการอำนาจ ความเด่นดัง ความสำคัญหรือการครอบงำเหนือผู้อื่น ไม่ยอมใคร (ใฝ่อำนาจ ใฝ่อิทธิพล)
ทิฐิ คือ ความยึดถือเอาแต่ความเห็นของตัว ต้องการให้เขารับเอาความเห็นของตน ยึดติดถือรั้นในความเชื่อ ลัทธิ อุดมการณ์ของตน จนสำคัญเหนือกว่าความจริง ไม่ยอมรับฟังใคร (คลั่งลัทธินิยม อุดมการณ์คับแคบ) การถือธรรมเป็นใหญ่จะต้องอาศัยปัญญาเป็นตัวนำเข้าสู่ธรรม ดังนั้น ธรรมที่จะต้องถือหรือเคารพยึดเป็นหลักเป็นมาตรฐาน แบ่งได้เป็น 2 ระดับคือ
ขั้นต้น ได้แก่ หลักการ กฎเกณฑ์ กติกาต่าง ๆ อันชอบธรรม ที่ได้ตกลงกันวางไว้ เช่น รัฐธรรมนูญ หลักศีลธรรม เป็นต้น
ขั้นสูง ได้แก่ ความจริง ความถูกต้องดีงาม และประโยชน์สุข
หลักสาราณียธรรม
หลักสาราณียธรรมเป็นหลักการใหญ่ที่ก่อให้เกิดเอกภาพหรือภราดรภาพ หลักสาราณียธรรม แปลว่าธรรมเป็นเครื่องระลึกถึงกัน เป็นหลักการที่จะทำให้เกิดความประสานพร้อมเพียงสามัคคีและผนึกร่วมกันเป็น เอกภาพ
หลักธรรมนี้มีสาระสำคัญที่สอนว่า สังคมประชาธิปไตยจะต้องมีเครื่องผูกพันคนให้มีความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกัน เพราะการที่แต่ละคนจะอยู่ได้ด้วยดีและเอาศักยภาพของตนมาร่วมสร้างสรรค์สังคม ประชาธิปไตยได้นั้นคนเหล่านั้นจะต้องมีความสามัคคีรู้จักร่วมมือกันและอยู่ ร่วมกันด้วยดี การร่วมมือกันและอยู่ร่วมกันด้วยดีนั้นมีลักษณะการแสดงออกต่าง ๆ ซึ่งเน้นความมีเมตตาปรารถนาดีหวังประโยชน์สุขต่อกันอันจะโยงไปหาหลักการพื้น ฐานคือการที่คนเราจะต้องใช้ปัญญา คือ จะต้องใช้ปัญญานั้นบนพื้นฐานของเมตตา หมายความว่าใช้ปัญญาโดยมีเมตตาประกอบ หลักของความเป็นเอกภาพที่เรียกว่า สาราณียธรรม มี 6 ประการคือ
1. เมตตากายกรรม คือ จะทำอะไรก็ทำต่อกันด้วยเมตตา หมายความว่าทำด้วยความรัก ด้วยไมตรีด้วยความปรารถนาดีต่อกัน มีความช่วยเหลือกัน มีการร่วมมือกัน มีความพร้อมที่จะประสานงานกัน
2. เมตตาวจีกรรม คือ จะพูดอะไรก็พูดด้วยเมตตา โดยเจรจากันด้วยเหตุผล โดยใช้ปัญญา ไม่ใช้โทสะเป็นตัวนำฉะนั้นต้อพูดด้วยความปรารถนาดีต่อกัน มีจิตสำนึกในผลประโยชน์สุขร่วมกัน ต้องการสร้างสรรค์
3. เมตตามโนกรรม คือ จะคิดอะไรก็คิดต่อกันด้วยเมตตา นั่นคือ การมีความหวังดีต่อกัน ปรารถนาดีต่อกันโดยการคิดพิจารณาวินิจฉัย คิดวางแผนต่าง ๆ โดยมุ่งทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่กัน สร้างสรรค์สังคมและมีไมตรีต่อกันอย่างแท้จริง
4. สาธารณโภคี หมายถึง การมีกินมีใช้ร่วมกัน หรือมีการแบ่งปันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันหรือการมุ่งช่วยเหลือและบำเพ็ญ ประโยชน์ต่อสาธารณะโดยการไม่เห็นแก่ตัว เป็นต้น
5. สีลสามัญญตา หมายถึง มีศีลเสมอกัน คือมีความประพฤติดี รักษาระเบียบวินัย รักษากฎกติกาของสังคม มีความสุจริตกายวาจาที่เสมอกัน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่สังคม6. ทิฐิสามัญญตา หมายถึง มีทิฐิ มีความเห็น มีความเชื่อมั่น ยึดถือในหลักการอุดมการณ์และอุดมคติร่วมกันหรือสอดคล้องกันคนในสังคม ประชาธิปไตยจะต้องมีความเห็นความเข้าใจและความเชื่อมั่นในหลักการ ประชาธิปไตยร่วมกัน เช่น การยอมรับระบอบประชาธิปไตย การเข้าใจเรื่องสิทธิและหน้าที่ การเข้าใจเรื่องเสรีภาพ ภราดรภาพหรือเอกภาพ เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป พระพุทธเจ้าทรงสอนสำหรับพระสงฆ์ก่อน ว่าพระสงฆ์จะต้องอยู่ด้วยหลัก 6 ประการนี้ ถ้าอยู่ด้วยหลัก 6 ประการแล้วแต่ละคนที่เป็นสมาชิกของสังคมก็จะระลึกถึงกัน มีน้ำใจประสานกลมกลืนพร้อมที่จะร่วมมือกัน เพราะตั้งแต่ทางกายเราก็มีเมตตาต่อกัน ปฏิบัติต่อกันด้วยเมตตาช่วยเหลือเอาธุระต่อกัน ทางวาจาเราก็พูดด้วยน้ำใจรักกัน ในจิตใจเราก็คิดปรารถนาดีต่อกัน ในการอยู่ร่วมกันมีของอะไร หรือได้รับสิ่งใดมาก็มาแบ่งปันกัน ในการรักษาสถานภาพของสังคมเราก็รักษาระเบียบวินัย มีศีลเสมอกัน ไม่เบียดเบียนก่อความเดือดร้อนแก่กัน และปฏิบัติตามกฎกติกาของส่วนรวม เราก็มีความเชื่อมั่นยึดถือและเข้าใจหลักการสำคัญของประชาธิปไตยร่วมกัน ตลอดจนเข้าใจร่วมกันในความจริงที่เป็นธรรมชาติของโลกและชีวิตที่จะรองรับความเป็นมนุษย์ของเราไว้ด้วยกัน เพียงเท่านี้ก็อยู่เป็นสุขและพัฒนาได้ดีแน่ บนฐานแห่งความสัมพันธ์ที่ดีงามมั่นคง โดยที่แต่ละคนก็มีความระลึกถึงกันมีน้ำใจประสานร่วมมือต่อกัน สังคมก็ยึดเหนี่ยวเกาะกุมกันอยู่ให้เกิดภาวะที่เรียกว่า เอกภาพ
วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น