วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การเลือกตั้ง/ประชาธิปไตย

ประชาธิปไตย ในภาษาอังกฤษใช้ว่า Democracy ซึ่งแปลเทียบเคียงกับภาษาฝรั่งเศสว่า Democratie โดยมีศัพท์เดิมในภาษากรีกว่า Demokratia อันเป็นการผสมระหว่างคำ 2 คำ คือ
1. Demos อันหมายถึง ประชาชน (พลเมือง)
2. Kratos หรือ Cratos อันหมายถึง การปกครอง (เมื่อรวมคำทั้ง 2 เข้าด้วยกันแล้ว จึงหมายถึง เป็นการปกครองของประชาชน)
ศัพท์ ประชาธิปไตย ได้กลายเป็น ศัพท์เกียรติยศ ที่หลายสำนักและหลายฝ่ายต้องการยึดเป็นของตน แม้แต่ประเทศเผด็จการก็ยังอ้างว่าระบบของตนเป็นประชาธิปไตย ตัวอย่างเช่น
1. “ฮิตเลอร์” เรียกระบบเผด็จการนาซีของเขาว่า “ประชาธิปไตยที่แท้จริง”
2. “มุสโสลินี” เรียกระบบฟาสซิสต์ของเขาว่า “ประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยม”
3. “เลนิน” อดีตผู้นำสหภาพโซเวียต เรียกระบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ของตนว่า “ประชาธิปไตยของชนชั้นกรรมาชีพ” และเรียกระบบการปกครองแบบเสรีนิยมในโลกตะวันตก ว่า “ประชาธิปไตยแบบกฎุมพี” หรือ “แบบนายทุน” หรือ “ประชาธิปไตยแบบทราม”
4. ประเทศซึ่งนิยมคอมมิวนิสต์อื่น ๆ เช่น ประเทศในยุโรปตะวันออก จีน เกาหลีเหนือ ลาว อาฟกานิสถาน ฯลฯ เรียกระบบของตนว่า ประชาธิปไตยของปวงชน หรือ มหาชนาธิปไตย
อดีตผู้นำของประเทศที่นิยมคอมมิวนิสต์ มีตัวอย่างเช่น เลนิน, สตาลิน, กอร์บาชอฟ ฯลฯ ของอดีตสหภาพโซเวียต ; เหมาเจ๋อตุง, เติ้งเสี่ยวผิว ฯลฯ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น
ในภาษาอังกฤษ เริ่มใช้ครั้งแรก ประมาณ 400 มาแล้ว โดยการแปลเทียบเคียงกับภาษาฝรั่งเศส คือ เดโมกราตี (democratie)
แรกเริ่มในภาษากรีก คือ เดโมคราเตีย (demokratia[1])
เป็นการผสมระหว่าง สองตัว ได้แก่ เดมอส (demos[2]) กับ เครตอส (kratos[3])
ไม่ว่าประชาธิปไตยจะมีความหมายสั้นๆ อย่างที่ชาวกรีกโบราณเข้าใจหรือยาวดังที่ประธานาธิบดีลินคอล์นกล่าว
ในโลกแห่งความเป็นจริง คำนิยามสั้นๆ ดังกล่าวถูกตีความให้แตกต่างออกไปอีกมากมายหลากหลาย จนกล่าวได้ว่าไม่มีการตีความใดที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายโดยเอกฉันท์ และมีการอธิบายแบบต่างๆ ดังนั้น ประชาธิปไตยจึงไม่เคยมีความหมาย และรูปแบบเดียว
เพลโตมีความเห็นต่อต้านประชาธิปไตย โดยถือว่าเป็นการให้อำนาจแก่ผู้ที่ปราศจากความรู้ เพลโตต้องการสถาปนาสังคมอันเลอเลิศอย่างที่เรียกว่า “อุตมรัฐ” โดยให้ผู้ปกครองสูงสุดเป็น ราชาปราชญ์ และบรรดาผู้นำระดับรองๆ ลงไปเป็นผู้มีสติปัญญา (wisdom) และคุณธรรม (virtues)
อริสโตเติ้ล มีแนวความคิดคล้ายเพลโต แต่ไม่ต่อต้านประชาธิปไตยมากนัก ดังจะเห็นได้ว่าในการแบ่งรูปแบบการปกครองอริสโตเติ้ล จัดประชาธิปไตยอยู่ในกลุ่มของการปกครองโดยคนหมู่มากที่มีความโน้มเอียงไปในทางที่ไม่ดี แต่การปกครองโดยคนส่วนใหญ่ซึ่งมีแนวโน้มไปในทางที่ดี และอริสโตเติ้ลเชื่อว่าจะเป็นไปได้คือ “มัชฌิมาธิปไตย” หรือ “มัชฌิมวิถีอธิปไตย” (Polity) ซึ่งพอที่จะเทียบเคียงกับประชาธิปไตยในยุคปัจจุบันซึ่งคนส่วนใหญ่อยู่ในระดับกลาง
ในบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่แตกต่างในแต่ละประเทศที่นำรูปแบบการปกครองนี้ไปใช้ ส่งผลให้คำว่า ประชาธิปไตยถูกนำไปใช้อธิบายหรือเกิดความเข้าใจในความหมายที่แตกต่างกันออกไปหลายความหมาย
ประชาธิปไตย หมายถึง ระบอบการปกครองโดยคนยากจนและผู้เสียเปรียบในสังคม
ประชาธิปไตย หมายถึง รูปแบบของรัฐบาล ซึ่งประชาชนปกครองตนเองโดยตรงและอย่างต่อเนื่อง โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยนักการเมืองอาชีพและข้าราชการ
ประชาธิปไตย หมายถึง สังคม ซึ่งมีความเท่าเทียมกันในโอกาสและเกียรติภูมิของบุคคลมากกว่าชนชั้นและอภิสิทธิ์
ประชาธิปไตย หมายถึง ระบบสวัสดิการและการกระจายทรัพยากรเพื่อลดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม
ประชาธิปไตย หมายถึง ระบบของการตัดสินใจที่คำนึงถึงหลักการเสียงข้างมาก
ประชาธิปไตย หมายถึง ระบอบการปกครองที่รับประกันสิทธิและผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยด้วยการให้สิทธิในการตรวจสอบอำนาจของเสียงข้างมาก
ประชาธิปไตย หมายถึง วิธีการคัดสรรคนเข้าทำหน้าที่สาธารณะโดยผ่านการแข่งขันและคัดเลือกจากประชาชน
ประชาธิปไตย หมายถึง ระบอบการปกครองที่สนองตอบต่อผลประโยชน์ของประชาชนโดยไม่คำนึงถึงว่าประชาชนจะมีความคิดทางการเมืองอย่างไร
นิยามโดยเปอริคลีส
เปอริคลีส เป็นรัฐบุรุษเอเธนส์ มีอำนาจปกครองเอเธนส์อยู่ประมาณ 14 ปี เขาได้พยายามส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ ตำแหน่งต่าง ๆ ของทางการก็เปิดโอกาสให้พลเมืองมีส่วนเข้าร่วม เป็นผู้สนับสนุนศิลปวัฒนธรรม เช่น ส่งเสริมการสร้างวิหารอันลือชื่อ คือ “พาร์เธนอน” (Parthenon)
คำนิยามยอดนิยมของมหาบุรุษอเมริกัน ฮับราอัม ลินคอล์น
ประมาณ 80 ปี ภายหลังการแยกตัวจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกาก็ประสบกับปัญหาโดยตกอยู่ในสภาพสงครามกลางเมือง (Civil War) ที่เป็นการสู้รบระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ในประเด็นเกี่ยวกับการเลิกทาส ซึ่งขณะนั้นประธานาธิบดีของสหรัฐ คือ อับราฮัม ลินคอล์น (ค.ศ.1809-1865)
ในปี ค.ศ.1863 อับราฮัม ลินคอล์น ได้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีไว้อาลัยแก่ผู้วายชนม์ในช่วงสงครามกลางเมือง โดยมีความตอนหนึ่งว่า “รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน (Government “of, by and for” the people) จะไม่มีวันสูญสลายไปจากผืนพิภพนี้”
วาทะดังกล่าวได้กลายเป็น “คำนิยามยอดนิยม” เพราะกะทัดรัดและกระชับความ ซึ่งอาจจะวิเคราะห์คำนิยามนี้ออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
1. รัฐบาลของประชาชน คือ รัฐบาลจะต้องมาจากการสนับสนุนหรือการเลือกตั้งของประชาชน โดยประชาชนย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการเลือกผู้ปกครอง และสามารถวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้ เช่น ในประเทศอังกฤษ มีการจัดสถานที่เฉพาะ เพื่อให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยเสรี ซึ่งก็คือสวนไฮด์ (Hyde Park) ในมหานครลอนดอน
2. รัฐบาลโดยประชาชน คือ ประชาชนย่อมมีสิทธิเข้าไปมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศอาจจะเป็นโดยตรง หรือโดยอ้อม (โดยผ่านสภาผู้แทนราษฎร) เรียกว่า การส่งทอดต่อ 2 ระดับ หรือการไหลผ่าน 2 ขั้น (Two Step Flow) คือ การเสนอข้อคิดเห็นผ่านกลุ่ม สมาคม ชมรม และองค์การต่าง ๆ ก่อนที่จะถึงระดับสูง
3. รัฐบาลเพื่อประชาชน หมายถึง รัฐบาลจะต้องมีจุดประสงค์เพื่อความผาสุกของปวงชน นั่นคือ การคำนึงถึงผลลัพธ์ ซึ่งได้แก่ คุณประโยชน์หรือคุณูปการต่อคนหมู่มาก ผู้นำของประเทศประชาธิปไตยบางคนและในบางสมัยมีลักษณะแห่งความเป็นประชาธิปไตย ในวิถีชีวิตคือ การแสดงออกเชิงพฤติกรรมมากกว่าคนอื่นโดยมิได้ใช้อำนาจไปด้วยความโกรธเคือง เช่น อับราฮัม ลินคอล์น อดีตประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ได้แสดงพฤติกรรมทั้งโดยวาจาและการกระทำอย่างที่เรียกว่า ปราศจากการขุ่นข้องขัดเคืองใด ๆ แต่เปี่ยมไปด้วยการุณย์ คุณธรรม

ประชาธิปไตย กระแสหลัก ที่ใช้ในปัจจุบัน คือ ประชาธิปไตยแบบตัวแทน แบ่งรูปแบบรัฐบาลออกเป็น 3 รูปแบบ หรือ 3 ระบบ ดังนี้
Parliamentary System รูปแบบรัฐสภา หรือระบบรัฐสภา รูปแบบนี้ถือว่ารัฐสภาเป็นองค์กรสูงสุด เป็นที่รวมของเจตจำนงของประชาชนทั้งประเทศ เป็นศูนย์กลางของอำนาจทางการเมือง ทำหน้าที่ทั้งทางด้านนิติบัญญัติและควบคุมการบริหารประเทศ
รูปแบบนี้มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอังกฤษ โดยหลักการเชื่อมโยงแห่งอำนาจ (Fusion of Power) ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร เนื่องจากฝ่ายบริหารมีที่มาจากสภาผู้แทนราษฎรหรือฝ่ายนิติบัญญัตินั้นเอง เพราะรูปแบบนี้ประชาชนเลือกฝ่ายบริหารโดยทางอ้อม ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบประธานาธิบดี ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้คัดเลือกนายกรัฐมนตรีจากสมาชิกพรรคการเมืองที่ครองเสียงข้างมากในสภา จากนั้นนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เลือกรัฐมนตรีประกอบกันเป็นคณะรัฐมนตรี ระบบนี้จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่าเป็น ระบบคณะรัฐมนตรี(Cabinet System) ความรับผิดชอบทางการเมืองภายใต้รูปแบบรัฐสภา จึงเป็นความรับผิดชอบแบบองค์คณะหรือความรับผิดชอบร่วม (Collective Responsibility) ไม่ใช่ตัวผู้นำรัฐบาลเพียงคนเดียว อย่างที่เกิดขึ้นในรูปแบบประธานาธิบดี
เนื่องจากเป็นความสัมพันธ์แบบเชื่อมโยงอำนาจตามที่ได้กล่าวมา ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารจึงมีความแนบแน่นอย่างยิ่งกล่าวคือ เสถียรภาพหรือความอยู่รอดของรัฐบาลขึ้นอยู่กับฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะขึ้นอยู่กับเสียงสนับสนุนในสภา เนื่องจาก สภาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจในการตรวจสอบ ถ่วงดุล โดยเฉพาะการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเพื่อให้รัฐบาลพ้นจากตำแหน่ง ในขณะที่ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลก็มีอำนาจในการถ่วงดุลฝ่ายนิติบัญญัติด้วยการประกาศยุบสภา
Presidential System รูปแบบประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกาเป็นแม่แบบของการปกครองในรูปแบบนี้ โดยมีการจัดโครงสร้างความสัมพันธ์ของอำนาจในลักษณะที่มีการแบ่งแยกอำนาจ 3 ฝ่าย คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ออกจากกันอย่างชัดเจนเด็ดขาด
ภายใต้แนวคิดของนักปรัญาการเมืองฝรั่งเศส ชื่อ Montesquieu 1689-1755 ที่ว่าด้วย “หลักการแบ่งแยกอำนาจ” (Separation of Power) และการถ่วงดุลอำนาจ (Balance of Power) โดยหลักการที่ว่า อำนาจทั้งสามรวมอยู่ในที่เดียวกันแล้วอาจจะกลายเป็นการปกครองแบบทรราช ได้ ดังคำกล่าว ของLord Acton 1834-1902 ที่ว่า “Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely” หรืออำนาจมีแนวโน้มที่จะนำมาซึ้งความฉ้อฉล และอำนาจที่เด็ดขาดย่อมนำมาซึ่งความฉ้อฉลที่เบ็ดเสร็จ
Semi-Parliamentary and Semi-Presidential System รูปแบบหรือระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี กรณีศึกษา ของนักศึกษา เริ่มจากประเทศ ฝรั่งเศส มีปัญหาเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลเป็นระบบหลายพรรค ก่อนหน้านี้ฝรั่งเศสใช้รูปแบบรัฐสภาแบบเดียวกับอังกฤษ แต่ไม่ประสบความสำเร็จปัญหาหลักๆ ของการเมืองฝรั่งเศสที่เกิดในช่วงนั้นคือ ฝ่ายบริหารมีอำนาจน้อย ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจมาก ทำให้รัฐบาลไม่สามารถผลักดันนโยบายหรือออก มาตรการต่างๆ ได้โดยง่าย
ค.ศ.1958 นายพล Charles De Gaulle ขึ้นมามีอำนาจดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งต่อมาเปลี่ยนแปลงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี จึงมีการปฎิรูปการเมือง ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในช่วงสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 5 (The Fifth French Republic) ที่คาดหมายว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะการเพิ่มอำนาจของฝ่ายบริหาร ผลก็คือ ระบบใหม่ทำให้ฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะประธานาธิบดีมีอำนาจมากกว่าเมื่อเทียบกับฝ่ายนิติบัญญัติ
ระบบใหม่ที่เกิดขึ้น มีโครงสร้างที่แตกต่างจากระบบรัฐสภาของอังกฤษ และระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาโดยเรียกว่า ระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี (Semi-Parliamentary and Semi-Presidential System)
กล่าวโดยสรุปคือ ประชาธิปไตย กลายเป็นระบอบการปกครองที่ทั่วโลกยึดถือในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามระบอบการปกครองนี้ มีการพัฒนามาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุคกรีกโบราณทำให้มีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปรูปแบบประชาธิปไตยที่เชื่อว่าจะเป็นทางเลือกใหม่ของสังคมก็คือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม แต่ในปัจจุบันทั่วโลกก็ยังคงนิยมใช้รูปแบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งสามารถแบ่งรูปแบบของรัฐออกเป็น 3 รูปแบบคือ รูปแบบรัฐสภา รูปแบบประธานาธิบดี และรูปแบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี ทั้งนี้ การเลือกใช้รูปแบบใด ขึ้นอยู่กับการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ซึ่งเครื่องมือที่สำคัญประการหนึ่ง ในการปกครอง ระบบประชาธิปไตย คือระบบกระบวนการ การเลือกตั้ง

แนวความคิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
ในสังคมสมัยใหม่ ประชาธิปไตยในฐานะระบอบการปกครองที่ยอมรับในอำนาจของประชาชนต่อระบบและกระบวนการทางการเมือง อาจจำแนกรูปแบบออกได้ของประชาธิปไตยออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกันคือประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy) ซึ่งเป็นการลักษณะของการปกครองที่ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนมีเสียงในการปกครองโดยตรงในกระบวนการกำหนดนโยบายเพื่อบริหารประเทศได้โดยตรง ในรูปของการรวมกลุ่มกันชุมนุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและตัดสินใจเรื่องการเมือง ซึ่งพบเห็นได้บางรัฐเล็ก ๆ ในสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันหรือย้อนหลังลงไปถึงยุคนครรัฐกรีกโบราณ (Ancient Greek) ที่ได้รับการกล่าวอ้างถึงในฐานะต้นแบบแห่งประชาธิปไตยทางตรง แต่ด้วยข้อจำกัดของสังคมสมัยใหม่ ทั้งในเชิงโครงสร้างความสลับซับซ้อนของสังคมและปริมาณคนในสังคมที่มากขึ้น ประชาชนทุกคนจึงไม่อาจสามารถเข้าไปมีส่วนในการปกครองตนเองได้ทั้งหมด ทั้งยังเป็นการยากลำบากในทางปฏิบัติที่จะสร้างกลไกรองรับการแสดงส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชนทั้งหมดในสังคมได้อย่างรัดกุม จึงได้เกิดรูปแบบของประชาธิปไตยอีกประเภทหนึ่งคือประชาธิปไตยโดยการใช้อำนาจทางอ้อมของประชาชนผ่านผู้แทน (Representative Democracy) เพื่อใช้อำนาจทางการบริหารปกครองไม่ว่าจะผ่านระบบรัฐสภาหรือไม่ก็ตามในบรรดากระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งตัวแทนในการใช้อำนาจทางการเมืองแทนประชาชนนั้นเป็นที่ยอมรับว่าการเลือกตั้ง (election) เป็นรูปแบบพื้นฐานที่เหมาะสมที่สุดภายใต้รูปแบบอันหลากหลายของการให้ได้มาซึ่งผู้แทนของประชาชน การเลือกตั้งถือได้ว่าเป็นกิจกรรมที่สะท้อนแสดงออกซึ่งเจตจำนง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ในการส่งบุคคลหรือคณะบุคคลเชิงกลุ่มการเมืองที่มีอุดมการณ์และแนวนโยบายในการใช้อำนาจอันสอดคล้องกับความต้องการของตนเข้าไปปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด รวมตลอดจนถึงการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนเป็นองค์รวมและท้ายที่สุดคือการสร้างความกินดีอยู่ดีให้แก่ตน ในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย การเลือกตั้งจึงเป็นเครื่องมืออันสำคัญและเป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถแสวงหาทางเลือกในการปกครองและสนองความต้องการของเขาเอง พิจารณาในทางทฤษฎี การเลือกตั้งถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการทางการเมือง ที่เป็นพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้สำคัญอันหนึ่งว่าในช่วงเวลาหนึ่ง คณะบุคคลใดจะได้ทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ และประเทศจะเป็นไปในแนวทางใดก็ด้วยความเห็นชอบหรือฉันทานุมัติของประชาชนส่วนใหญ่จากกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะมีเหตุผลหรือปัจจัยที่น่าฟังรองรับหรือเป็นไปโดยอาศัยความรู้สึกบางประการ ผ่านนโยบายของผู้สมัครและพรรคการเมืองที่ผู้สมัครสังกัดนั่นเอง




ความหมายของการเลือกตั้ง
การเลือกตั้ง (Election) เป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเพราะการเลือกตั้งเป็นการแสดงออกซึ่งเจตนารมณ์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศในอันที่จะมอบความไว้วางใจในตัวแทนของปวงชนไปใช้อำนาจแทนตน การออกเสียงเลือกตั้งเป็นสิทธิขั้นมูลฐานของมนุษย์โดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตยอันจะเห็นได้เด่นชัดจากบทบัญญัติข้อ 21(1) แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) สรุปใจความสำคัญได้ว่า “เจตจำนงของประชาชนย่อมเป็นมูลฐานแห่งอำนาจของรัฐบาลผู้ปกครองเจตจำนงดังกล่าวต้องแสดงออกโดยการเลือกตั้งอันสุจริต ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งคราวตามกำหนดเวลาด้วยการลงคะแนนเสียงของชายหญิง โดยถือหลักคนละหนึ่งเสียงเท่ากันและกระทำเป็นการลับด้วยวิธีการอื่นใดที่จะรับประกันในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เป็นไปโดยเสรี” (กระมล ทองธรรมชาติ 2525, 201)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายของการเลือกตั้งไว้ว่าหมายถึงการเลือกบุคคลเพื่อเป็นตัวแทนตน กรณีต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลเป็นต้นนิยามของการเลือกตั้งที่เข้าใจได้ง่ายได้แก่ทัศนะของ
ธานินทร์ กรัยวิเชียร (2520, 56) อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยซึ่งกล่าวว่า การเลือกตั้งหมายถึง การที่ประชาชนได้เลือกบุคคลหนึ่งจากบุคคลหลาย ๆ บุคคลหรือจากบัญชีรายชื่อหนึ่งหรือหลายบัญชี เพื่อให้เข้าไปมีส่วนมีเสียงในคณะบริหารราชการแผ่นดิน ในทำนองเดียวกับ
วิสุทธิ์ โพธิแท่น (2524, 63) ที่ได้ให้ความหมายการเลือกตั้งไว้ว่าการเลือกตั้งหมายถึง การที่บุคคลได้เลือกบุคคลหนึ่งหรือบุคคลจำนวนหนึ่งจากหลายๆ คน หรือจากบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งบัญชีหนึ่ง หรือบัญชีจำนวนหนึ่งจากบัญชีรายชื่อหลายๆ บัญชี เพื่อให้ไปกระทำการ อันหนึ่งอันใดแทนตน ความหมายเช่นนี้เห็นได้ว่าได้จำแนกประเภทของการเลือกตั้งไปและแฝงปรัชญาแนวคิดการเลือกตั้ง ไว้ในตัวคำนิยามของการเลือกตั้งของนักวิชาการไทยท่านหนึ่งที่มักถูกอ้างถึงอยู่เสมอในวงการรัฐศาสตร์บ้านเราได้แก่
กระมล ทองธรรมชาติและคณะ (2531, 1) ที่ว่า การเลือกตั้งเป็นกระบวนการทางการเมืองที่เป็นกิจกรรมทางการเมืองอันแสดงถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ด้วยการไปใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนของตนเข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภาและในรัฐบาล เป็นกลไกแสดงออกซึ่งเจตจำนงของประชาชนที่เรียกร้องสนับสนุนให้มีการปฏิบัติจัดทำหรือละเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งในทางการเมือง และการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะที่มีผลกระทบต่อประชาชน
พิมลจรรย์ นามวัฒน์ (2534, 716) ให้ความหมายการเลือกตั้งว่า การที่ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยการออกเสียงลงคะแนนตามความเห็นของตนเอง โดยอิสระว่าจะเลือกใครเป็นตัวแทนของตนเข้าไปใช้อำนาจอธิปไตยบริหารกิจการของประเทศ ผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งนั้นจะเป็นผู้สมัครใจเสนอตัวเข้ามาให้ประชาชนเลือกและผู้ที่ได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้แทนของประเทศมีสิทธิตามที่ได้รับมอบหมายจากประชาชนให้เข้าร่วมเป็นคณะบุคคลดำเนินการบริหารและปกครอง
พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว (2535, 201; 2540, 217) ให้ความหมาย การเลือกตั้ง หมายถึง เป็นกระบวนการทางการเมืองและการปกครอง เพราะการเลือกตั้งเป็นการแสดงออกซึ่งเจตจำนงของประชาชนในการปกครองประเทศ เจตจำนงดังกล่าวปรากฏอยู่ในลักษณะของการเรียกร้อง (Demand)หรือสนับสนุน (Support) ต่อการตัดสินใจทั้งหลายในระบบการเมือง
วัชรา ไชยสาร (2541, 8-9) ให้ทัศนะว่า การเลือกตั้งเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้มีส่วนร่วมทางการเมือง (Participation) อันเป็นกลไกที่แสดงออกซึ่งเจตจำนงของประชาชนที่เรียกร้อง หรือสนับสนุนให้มีการกระทำหรือการละเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งในทางการเมือง หรือตัดสินใจในนโยบายสาธารณะที่จะมีผลกระทบต่อประชาชน โดยประชาชนทั่วไปเลือกผู้แทนหรือพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์นโยบายและวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับตนด้วยความวาดหวังว่าผู้แทนหรือพรรคการเมืองที่ตนเลือกให้ไปใช้อำนาจอธิปไตยแทนตนนั้นจะนำ
อุดมการณ์ และนโยบายในการบริหารประเทศและทำหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ของตนเอง การเลือกตั้งจึงเป็นระบวนการแสวงหาทางเลือกในการเมืองปกครองของประชาชน นั่นเอง
เดวิท บัทเลอร์และคณะ (Butler, Penniman and Renny eds. 1981, 344 อ้างถึงใน ธโสธร ตู้ทองคำ 2545, 535-536) ในหนังสือเรื่อง "Democracy at the Polls: A Comprehensive Study ofCompetitive National Election" ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.1981 กล่าวว่า การเลือกตั้ง (Election) มีนัยความหมายจำแนกออกได้เป็นสองแง่กล่าวคือ การเลือกตั้งในแง่มุมของกฎหมายและการเลือกตั้งแง่มุมปรัชญา โดยในส่วนแรก การเลือกตั้งในแง่มุมของกฎหมายนั้น เป็นการพิจารณาจากกฎหมายการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยทั่วไปแล้วจะมีสภาพอยู่ 3 ประการคือ การเลือกตั้งที่เป็นสิทธิ (rights) ในแง่นี้ การเลือกตั้งถือเป็นสิทธิที่มีความสำคัญประการหนึ่งที่รัฐจะต้องให้ความคุ้มครอง การเลือกตั้งในฐานะที่เป็นอภิสิทธิ์ (privilege) เป็นการที่ผู้ลงคะแนนเสียงมีความเป็นอิสระที่จะเลือกกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ที่ได้รับการยอมรับจากกฎหมาย ปราศจากการแทรกแซงหรือเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นเป็นต้น และการเลือกตั้งในฐานะที่เป็นหน้าที่ (duty) อันหมายถึง การที่บุคคลจำเป็นต้องกระทำหรืองดเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่มีสภาพเป็นหน้าที่จึงเป็นไปโดยที่กฎหมายได้ระบุหรือบังคับให้ผู้ลงคะแนนไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่ากฎหมายได้ระบุหรือบังคับให้ผู้ออกเสียงลงคะแนนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดยถือเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งที่ต้องกระทำ กระลงคะแนนเสียงที่กำหนดไว้หน้าที่ทางการเมืองของประชาชนโดยผลทางบังคับของกฎหมายเช่นนี้ ยกตัวอย่างได้แก่ประเทศไทย ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทย หากเพิกเฉยจะต้องถูกลงโทษด้วยการเสียสิทธิทางการเมืองบางประการเป็นต้น ในส่วนที่สอง การเลือกตั้งในแง่มุมปรัชญา แบ่งออกได้เป็น 3 ประการดังนี้
ประการแรก การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีสภาพเป็นสิทธิตามธรรมชาติ (Natural Rights)[4]กล่าวคือ เป็นสิทธิที่เกิดมากับบุคคลในฐานะที่เป็นหน่วยหนึ่งของรัฐ ทั้งนี้เพราะบุคคลย่อมเสมอภาคกัน อันเป็นลักษณะตามธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งหากบุคคลผู้ใดเป็นผู้บรรลุนิติภาวะมีความเป็นผู้ใหญ่และไม่มีลักษณะต้องห้ามแล้ว จะมีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
ประการที่สอง การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีสภาพเป็นภารกิจสาธารณะ (Public Affairs) กล่าวคือ ความก้าวหน้าของสังคมย่อมขึ้นอยู่กับการปฏิบัติงานของบุคคลให้เป็นไปตามหน้าที่อย่างชาญฉลาด เมื่อเป็นดังนี้ การให้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจึงจำกัดเฉพาะแก่บุคคลที่เหมาะสมและสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยดีเท่านั้น การดำเนินการตามแนวนี้ บุคคลจึงอาจถูกกำหนดสิทธิในการลงคะแนนได้เสมอ หากเมื่อปรากฏว่าบุคคลนั้นเข้าลักษณะที่ไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้อย่างถูกต้อง
ประการที่สาม การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีสภาพเป็นสิทธิคัดค้านการกระทำ กล่าวคือ ผู้ออกเสียงลงคะแนนที่คัดค้านการกระทำหรือนโยบายของรัฐ จะลงคะแนนให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคการเมืองที่ตรงกันข้ามกับผู้สมัครรับเลือกตั้งที่สนับสนุนรัฐบาลหรือร่วมรัฐบาล พรรครัฐบาลหรือพรรคร่วมรัฐบาล ในวันที่มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือวันเลือกตั้งเป็นสำคัญจากความหมายดังกล่าวข้างต้นอาจสรุปคำนิยามของการเลือกตั้งได้ว่าหมายถึง กระบวนการและกิจกรรมทางการเมืองที่แสดงออกถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของ ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ทั้งบทบาทในแง่การกำหนดตัวผู้บริหารประเทศ และการแสดงบทบาทตามเจตนารมณ์ในการส่งเสริมสนับสนุนการบริหารประเทศของผู้มีอำนาจปกครอง ด้วยการไปออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนของตนเพื่อทำหน้าที่ในรัฐสภาและในรัฐบาล หรือเป็นการที่ประชาชน ได้แสดงออกซึ่งมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation) โดยการออกเสียง (Voting) ลงคะแนนเลือกตัวแทนของเขาตามความเห็นโดยอิสระว่าจะเลือกผู้ใดเป็นตัวแทนของตนไปใช้อำนาจอธิปไตย ทั้งในทางนิติบัญญัติและการบริหารกิจการของประเทศผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งนั้นจะเป็นผู้ที่สมัครใจเสนอตัวเข้ามาให้ประชาชนเลือก และผู้ที่ได้รับการเลือกด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ไดรับการยอมรับว่าเป็นผู้แทนของประชาชนทั้งหมดมีสิทธิตามที่ได้รับมอบหมายจากประชาชน

คุณค่าของการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งนั้น ได้รับการกล่าวถึงว่า เป็นวิธีการที่อาจมีข้อเสียน้อยที่สุดในการที่จะให้คนส่วนใหญ่ได้มีส่วนร่วม หรือมีบทบาทในการปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตยที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน โดยการเลือกตั้งเป็นกระบวนการสรรหาผู้ปกครองหรือรัฐบาลโดยสันติวิธีที่มีคุณค่าหรือคุณประโยชน์สำคัญใน 2 ประการ เป็นอย่างน้อย กล่าวคือ
ประการแรก การเลือกตั้งเป็นการสร้างความชอบธรรม (Legitimacy)[5] ให้กับอำนาจ รัฐบาลหรือผู้ปกครองที่มาจากการเลือกตั้ง เนื่องจากการเลือกตั้งนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการให้ประชาชนผู้มีทธิออกเสียงเลือกตั้งได้มีโอกาสคัดเลือกตัวแทนไปเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ และเมื่อรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศโดยผ่านการเลือกตั้งที่เป็นการแสดงเจตจำนงในการปกครองของประชาชนแล้วนโยบายสาธารณะซึ่งพิจารณาได้ง่าย ๆ ว่าคือสิ่งที่รัฐบาลเลือกที่จะทำหรือไม่ทำ (Dye 1978, 3-5) ผู้ใช้อำนาจการเมืองการปกครองซึ่งได้รับอาณัติจากประชาชนย่อมสามารถกระทำการต่างๆ ในนามประชาชนได้อย่างเต็มที่ เพราะได้รับอำนาจโดยความนิยมจากประชาชนนั่นเอง
ประการที่สอง การเลือกตั้ง เป็นกลไกแห่งการสืบทอดอำนาจโดยสันติ การเลือกตั้งแต่ละครั้งอาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรี หรือเปลี่ยนกลุ่มการเมืองที่เข้าทำหน้าที่เป็นรัฐบาล แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากผลของการเลือกตั้งย่อมเป็นการเปลี่ยนตามครรลองและกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนด เป็นปรากฏการณ์ธรรมดาที่เกิดโดยสันติวิธี ไม่ทำให้มีปัญหาหรือวิกฤติการณ์ใดๆเกิดขึ้น (สุขุม นวลสกุล 2542, 251) เว้นไว้แต่การเลือกตั้งที่ทำให้ได้มาซึ่งผู้แทนประชาชนที่ฉ้อฉล อันส่งผลให้หลายกรณีการเลือกตั้ง มีฐานะเป็นกลไกสืบทอดอำนาจ และเป็นกระบวนการที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อพัฒนาการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ความสำคัญของการเลือกตั้ง
โคเฮน (Cohen 1971, 76) ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเลือกตั้งไว้ว่า การเลือกตั้งเป็นหลักการสำคัญของระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยเริ่มแรก ซึ่งก็คือ การให้พลเมืองจำนวนมากที่สุด ใช้อำนาจอธิปไตยในการปกครอง ซึ่งก็มิอาจทำได้ในทางปฏิบัติเนื่องจากพลเมืองมีจำนวนมาก สุดวิสัยที่จะจัดการปกครองตนเอง นอกจากนี้พลเมืองบางคนยังขาดความรู้ความเข้าใจทางการเมืองการปกครองที่เพียงพอ ในขณะที่ประชาชนบางส่วนต้องมีภาระหน้าที่ในการระกอบอาชีพเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว การปกครองแบบประชาธิปไตยโดยตรงจึงได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นการให้ประชาชนได้ใช้อำนาจอธิปไตย (Sovereignty Power)[6] ผ่านทางผู้แทน
กล่าวคือ ให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งบุคคลจำนวนหนึ่งไปทำหน้าที่เป็นผู้แทนที่เขาเห็นว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถให้ไปทำหน้าที่ในการอำนาจรัฐแทนเขา
ธโสธร ตู้ทองคำ (2545, 538-539) ได้จำแนกความสำคัญของการเลือกตั้งไว้ 2 ลักษณะดังนี้
ก. ความสำคัญของการเลือกตั้งในทางทฤษฎี
ในทางทฤษฎีกล่าวได้ว่า ทฤษฎีการแบ่งอำนาจอธิปไตยออกเป็นสามส่วนคืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ มีความเชื่อมโยงกับปรัชญาการเลือกตั้ง กล่าวคือ การเลือกตั้งจะเป็นที่มาของกลไกผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในประเทศประชาธิปไตย
ในความหมายนี้ การเลือกตั้งจึงมีความสำคัญในฐานะที่เป็นการยอมรับในอำนาจของประชาชนในการเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งได้มีการมอบอำนาจให้กับตัวแทนไปปฏิบัติการแทนตามกระบวนการและขั้นตอนที่กำหนดไว้ การเลือกตั้งจึงเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงได้มีส่วนร่วมทางการเมืองในการเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ด้วยการเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ และมีความสัมพันธ์กับอำนาจทางฝ่ายบริหาร ความสำคัญของการเลือกตั้งในทางทฤษฎีที่เป็นไปตามนัยแห่งทฤษฎีประชาธิปไตยแบบคลาสสิค (Classical Democratic Theory) นี้ บ่งชี้ให้เห็นว่า การเลือกตั้งเป็นการเลือกรัฐบาลที่จะเข้ามาปกครองประเทศ (พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว, 2540: 217)

ข. ความสำคัญของการเลือกตั้งในทางปฏิบัติ
การเลือกตั้งในทางปฏิบัตินั้น มีความสำคัญในฐานะที่เป็นสิทธิขั้นมูลฐานของมนุษย์โดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตย อันเห็นได้เด่นชัดจากบทบัญญัติเชิงบังคับข้อ 21 (1) แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ซึ่งสรุปใจความสำคัญไว้ว่า"เจตจำนงของประชาชนย่อมเป็นมูลฐานแห่งอำนาจการปกครองของรัฐบาล เจตจำนงดังกล่าวต้องแสดงโดยการเลือกตั้งอันสุจริต ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งคราวตามกำหนดเวลา ด้วยการลงคะแนนเสียงของชายหญิง โดยถือหลักคนละหนึ่งเสียงเท่ากัน และกระทำเป็นการลับ ด้วยวิธีการอื่นใดที่รับประกันได้ว่าการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจะเป็นไปโดยเสรี" ในแง่นี้ การเลือกตั้งจะเป็นกระบวนการทางปฏิบัติหรือขั้นตอนที่สำคัญของประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy) และในทางปฏิบัตินี้ อาจจัดแบ่งความสำคัญของการเลือกตั้งออกได้เป็น 6 ประการ ประกอบด้วย
ประการแรก การเลือกตั้งเป็นกระบวนการทางการเมืองที่เป็นการแสดงออกซึ่งเจตจำนงหรือความต้องการของประชาชนในการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง การเลือกตั้งจึงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้นกับระบบการเมือง
ประการที่สอง การเลือกตั้งเป็นกระบวนการทางการเมืองที่มีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลและการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล โดยเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยสันติวิธี ก่อให้เกิดการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านอำนาจ ห้องกันการผูกขาดอำนาจและการฉ้อราษฎร์บังหลวง ในแง่นี้ การเลือกตั้งเป็นการตัดสินใจของ ผู้มีสิทธิออกเสียงหรือประชาชนในรัฐในอันที่จะกำหนดรัฐบาลนั่นเอง
ประการที่สาม การเลือกตั้งเป็นกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงระหว่างสถาบันทางการเมืองกับประชาชน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าเป็นกลไกที่สร้างความเชื่อมโยงระหว่างโครงสร้างส่วนบน(Super Structure) อันประกอบด้วยรัฐสภา รัฐบาลและศาล กับโครงสร้างส่วนล่าง (Infra Structure) ซึ่งก็คือประชาชน โดยผ่านการมีส่วนร่วมทางการเมือง ดังนั้นการลือกตั้งจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความคิดความเชื่อ และทัศนคติของประชาชน ที่มีต่อการบริหารงานของรัฐบาลและเป็นพันธะสัญญาที่รัฐบาลจำต้องปฏิบัติตามนโยบายที่ให้ไว้ นโยบายของรัฐนี้ นับเป็นสัญญาประชาคม (Social Contract) ที่เป็น
ผลมาจากการเลือกตั้งทั่วไปอันเป็นส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง
ประการที่สี่ การเลือกตั้งเป็นกระบวนการ กลไก และขั้นตอนที่แสดงถึงความเป็นประชาธิปไตย หรือเป็นสัญลักษณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งทำให้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันการใช้ความรุนแรงทางการเมือง การปฏิวัติ รัฐประหาร เมื่อการเมืองเกิดวิกฤตการณ์ การเลือกตั้งในแง่นี้จึงเป็นเครื่องมือประการหนึ่งที่จะใช้ลดความขัดแย้ง ลงได้
ประการที่ห้า การเลือกตั้งก่อให้เกิดบูรณาการทางสังคม (Societal Integration) และความรู้สึกในทางปฏิบัติที่ต่างต้องมีสิทธิหรือหน้าที่ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง การเลือกตั้งเป็นกลไกสำคัญทั้งในทางการเมืองและสังคม ในการสร้างความรู้สึกร่วมกันในการเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และการเป็นเจ้าของประเทศของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งหรือเป็นกิจของพลเมือง(Civic Duty) ที่พลเมืองในประชาคมการเมืองจะต้องปฏิบัติ
ประการที่หก การเลือกตั้งก่อให้เกิดการกล่อมเกลาทางการเมือง (Political Socialization)ทั้งนี้เพราะมีกิจกรรมทางการเมืองหลายประการที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการรณรงค์หาเสียง (Vote-gaining Campaign) ซึ่งก่อให้เกิดการเรียนรู้ เกิดการสื่อสารถ่ายทอดความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสร้างเสริมการเรียนรู้ระหว่างกันจนนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง(Political Culture) ร่วมกันในที่สุด

วิทยา สุจริตธนารักษ์ (2516, 1) ให้ความเห็นไว้ว่า การเลือกตั้งมีผลสำคัญต่อการเมืองประการหนึ่ง และเป็นสิ่งกำหนดผู้ที่จะเข้าหรือออกจากการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งหากจะกล่าวให้กระชับก็คือการเข้าหรือออกจากอำนาจทางการเมือง (ทัศนะผู้เขียนบทความ) และมีความสำคัญต่อระบบการเมืองใน 2 ประการคือ
ประการแรก การเลือกตั้ง สร้างความชอบธรรมให้แก่ระบบการปกครอง เช่น การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือผู้ปกครองโดยสันติ ทำให้รัฐบาลนั้นเป็นรัฐบาลในนามของประชาชน เพราะได้รับความยินยอมให้เข้าปฏิบัติหน้าที่จากประชาชน และทำให้ประชาชนผู้อยู่ใต้การปกครองเกิดความผูกพันกับนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลที่ตนเลือกเข้าไป และทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนมีส่วนในการปฏิบัติตามนโยบายนั้น ทั้งรัฐบาลก็จะเรียกร้องให้ประชาชนเสียสละเพื่อประเทศได้ ลักษณะดังกล่าวนี้ จะช่วยเสริมสร้างความชอบธรรมแก่รัฐบาลมากกว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล
ประการที่สอง การเลือกตั้ง เป็นกลไกเชื่อมโยงที่สะท้อนทัศนคติของสาธารณชนต่อนโยบายของรัฐบาลและกำหนดแนวทางของนโยบายการบริหารออกมาการเลือกตั้งนั้น ก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประชาชนมากมายหลายประการ โดยสรุปได้จากงานของ อภิชาต นาคสุข (2536, 23) ได้ดังนี้
ประการแรก การไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งอย่างพร้อมเพรียง จะทำให้ได้มาซึ่งผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนของประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง ในทางตรงข้ามกัน หากประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งน้อย ผู้แทนราษฎรก็มักจะไม่มีฐานมวลชนที่กว้างขวาง ผู้แทนราษฎรที่ได้รับการเลือกตั้งก็มีสภาพเป็นผู้แทนของเสียงส่วนน้อย
ประการที่สอง การเลือกตั้งที่เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ย่อมเป็นสิ่งที่สะท้อนให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งใช้อิทธิพลโดยเฉพาะทางการเงินเพื่อให้ได้รับโอกาสในการเลือกตั้งลดน้อยลง ในขณะเดียวกันการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมก็เป็นช่องทางที่เปิดต่อคนที่มีความรู้ความสามารถให้เข้ามาสมัครรับเลือกตั้งได้มากขึ้น และโอกาสที่คนมีความรู้ความสามารถจะได้รับการเลือกตั้งก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย
ประการที่สาม การเลือกตั้งเป็นการส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย เองจากการเลือกตั้งถือเป็นหัวใจของการปกครองระบอบนี้ แต่หากประชาชนไม่สนใจไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งโดยนอนหลับทับสิทธิ์แม้จะมีการกำหนดให้การไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญระบุไว้ก็ตาม
สุรินทร์ ไหมศรีกรดและดันแคน แมคคาร์โก (Surin Maisrigrod and Duncan McCargo in Kevin Hewison ed. 1997, 132-133) ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับระบบการเมืองไทย ไว้ว่า ภายหลังการเสื่อมถอยในอำนาจของระบบถนอม-ประภาส-ณรงค์ ในปี พ.ศ.2516 (ค.ศ.1973) ได้ส่งผลการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อกระบวนการเลือกตั้งของไทย การเลือกตั้งได้รับความสำคัญมากขึ้นในฐานะที่เป็นกลไกสำหรับจัดการการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยเฉพาะการคืนสภาพความเป็นปกติทางการเมือง(restoring political normalcy) และการคงความต่อเนื่องของระบอบประชาธิปไตยที่เรากำหนดไว้เป็นรูปแบบ/ระบอบการปกครองของประเทศ แต่กระนั้น ในระยะต้น อำนาจทางการเมืองยังคงตกอยู่ในมือชนชั้นนำเพียงไม่กี่คน โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงถูกกีดกันออกจากการใช้อำนาจทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ผ่านระบบการปกครองประเทศ ซึ่งพิจารณาได้จากการเลือกตั้ง 20 ครั้งนับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ.2475 จนถึงสิ้นสุดปี พ.ศ.2539 ปรากฎว่ามีการเลือกตั้ง 7 ครั้ง ที่เกิดขึ้นภายหลังการยึดอำนาจของฝ่ายทหาร และอย่างน้อย 6 ครั้งที่จัดขึ้นจากภาวะจากภาวะวิกฤตการเมืองแบบอื่น อาทิเช่น ในสมัยนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย ซึ่งได้จัดการเลือกตั้งขึ้นอีกคราวหนึ่ง
ในเดือนพฤษภาคม 2538 ภายหลังการยุบสภาจากปัญหาการปฏิรูปที่ดินหรือกรณี สปก. 4-01 และในระบบที่มีเสถียรภาพ การเลือกตั้งทั่วไปได้กลายเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาสามัญที่เกิดขึ้นได้เป็นส่วนหนึ่งในลงจรการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งโดยปกติแล้วจะจัดให้มีขึ้นภายใต้เงื่อนไขอันได้แก่ การที่รัฐบาลเห็นว่าความนิยมในรัฐบาล (government popularity) มีอยู่ในระดับสูง หรือรัฐบาลมีความเชื่อว่าเป็นโอกาสดีที่สุดที่เปิดไว้สำหรับการเข้าเป็นรัฐบาลอีกวาระหนึ่งในที่นี้ ขอกล่าวสรุปความสำคัญของการเลือกตั้งโดยยกทัศนะของกระมล ทองธรรมชาติ (2515, 201) มาประกอบกล่าวคือ การเลือกตั้งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งและเป็นกระบวนการทางการเมืองที่มิอาจขาดไปได้ของการปกครองแบบประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นการเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงการแสดงออกซึ่งเจตนารมณ์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ ในอันที่จะมอบความไว้วางใจให้ตัวแทนของปวงชนได้ใช้อำนาจแทนตน
หลักเกณฑ์พื้นฐานของการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งจะมีความหมายและถือว่าเป็นที่มาของความชอบธรรมในอำนาจของรัฐบาลและผู้ปกครองนั้น มีหลักเกณฑ์ที่สำคัญซึ่งมักถูกกำหนดไว้แล้วในกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่มีฐานะเป็นบทบัญญัติสูงสุดแห่งรัฐ โดยมีสถานะเป็นบทรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนและใช้บังคับกับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือลงมติทางการเมืองแทบทุกประเภทพิจารณาจากข้อเขียนของเมธา สุดบรรทัด (2517, 52-58) และบุญศรี มีวงษ์อุโฆษ (2542, 21-29) หลักเกณฑ์พื้นฐานของการเลือกตั้ง สามารถจำแนกได้ในประการสำคัญ ดังต่อไปนี้
ก. หลักความอิสระแห่งการเลือกตั้ง (Freedom of Election)
ข้อนี้หมายถึง การจัดการดำเนินงานเลือกตั้งนั้น ต้องให้เกิดอิสระเสรีแก่ผู้มีสิทธิออกเสียงในการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ กล่าวคือทุกคนย่อมใช้สิทธิของตนได้โดยอิสระปราศจากการบังคับ ความกดดันทางจิตใจ หรือการกระทำใด ๆ รวมทั้งการหาทางป้องกันมิให้มีการกระทำดังกล่าว อันจะมีผลต่อการตัดสินใจออกเสียงเลือกตั้งและเป็นเหตุให้การเลือกตั้งถูกบิดเบือนไปจากเจตจำนงที่แท้จริงของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง และยังรวมไปถึงความเป็นอิสระการไม่ไปออกเสียงเลือกตั้งด้วย ซึ่งหมายความว่า หากผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งไม่ประสงค์จะไปใช้สิทธิของตน รัฐบาลก็ไม่อาจที่จะนำมาตรการใด ๆ มาบังคับให้ต้องไปเลือกตั้งได้หลักความเป็นอิสระของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งนี้ ในบางประเทศเช่น สหพันธรัฐเยอรมัน ยังครอบคลุมไปถึงการตระเตรียมการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหาเสียงเลือกตั้งด้วย เว้นแต่รัฐธรรมนูญของรัฐซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ จะมีบทบัญญัติระบุให้การไปออกเสียงเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของประชาชน เช่น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ.2540) ของประเทศไทย
2. หลักการเลือกตั้งตามกำหนดระยะเวลา (Periodic Election)
หมายถึง การเลือกตั้งจะต้องกำหนดให้มีเวลาที่แน่นอนเช่น กำหนดการเลือกตั้งให้มีการเลือกตั้งโดยปกติทุก 4 ปี หรือ 6 ปี ด้วยเหตุที่ต้องการให้ผู้ใช้อำนาจทางการเมืองที่ได้รับมอบหมายจากประชาชนมีความรับผิดชอบมากขึ้น ลดอำนาจการผูกขาดและเปิดโอกาสให้บุคคลอื่นได้มีโอกาสเข้าสู่การใช้อำนาจการเมืองเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมด้วย
3. หลักการเลือกตั้งอย่างแท้จริงหรือการเลือกตั้งที่ยุติธรรม (Genuine Election)
กล่าวคือ รัฐบาลมีหน้าที่สำคัญที่จะต้องดำเนินการให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์ตามกฎหมายและเป็นการสะท้องการแสดงออกซึ่งเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชน ด้วยเหตุดังกล่าวจึงต้องจัดให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการดำเนินการเลือกตั้งของตนให้ได้มากที่สุด รวมทั้งเปิดโอกาสให้มีการคัดค้านการเลือกตั้งได้ เมื่อเห็นว่าการเลือกตั้งนั้นไม่เป็นไปโดยบริสุทธิ์อย่างแท้จริง
4. หลักการออกเสียงทั่วไป (Universal Suffrage)
เป็นการเปิดโอกาสให้มีการออกเสียงเลือกตั้งอย่างทั่วถึง โดยไม่มีการกีดกันหรือจำกัดสิทธิของบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นพิเศษ โดยอาศัยข้อพิจารณาทางการเมือง เศรษฐกิจหรือสังคม ไม่ว่าจะเป็นเพศ เผ่าพันธุ์ ชาติพันธุ์ ศาสนา ฐานะทางเศรษฐกิจ รายได้ จำนวนภาษีที่จ่าย การถือสิทธิ สถานะทางการศึกษาหรืออาชีพ ความคิดเห็นทางการเมือง หรือการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อนำมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินบุคคลหนึ่งบุคคลใดว่ามีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งหรือไม่ (BverfGE 15, 165 อ้างถึงในบุญศรี มีวงษ์อุโฆษ 2542, 23) เว้นแต่บุคคลที่มีข้อจำกัดอันเป็นที่ยอมรับทั่วไปหรือที่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายเฉพาะที่กำหนดไว้ เช่น ไม่ให้สิทธิเลือกตั้งแก่เด็ก และบุคคลที่จิตบกพร่องผู้ต้องขัง เป็นต้น
5. หลักการเลือกตั้งอย่างเสมอภาค (Equal Suffrage)
หลักการเลือกตั้งอย่างเสมอภาค เป็นหลักการที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งยอมรับในคุณค่าความเท่าเทียวกันของมนุษย์ ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการปรับหลักการความเสมอภาคไปใช้ในบริบทของการเลือกตั้ง หลักการนี้มีสาระสำคัญอยู่ว่า บุคคลมีความเสมอภาคกันที่จะได้รับความคุ้มครอง ได้รับการปฏิบัติจากรัฐอย่างเท่าเทียมกันในสาระสำคัญ มิใช่เลือกปฏิบัติเพราะเหตุความแตกต่างเรื่องเหล่ากำเนิดเพศ การนับถือศาสนา เป็นต้นหลักการเลือกตั้งอย่างเสมอภาคนั้น นับเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของการเลือกตั้งที่มีความสำคัญในทางปฏิบัติมากที่สุด โดยมีวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกับหลักทั่วไปของการเลือกตั้งและทำให้การเลือกตั้งมีความสมบูรณ์มากขึ้นในแง่ของการทำให้คะแนนเสียงแต่ละคะแนนของผู้มีสิทธิ
ออกเสียง ได้มีโอกาสส่งผลในการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ ซึ่งหมายความง่าย ๆ ว่า บุคคลที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง มีสิทธิคนละหนึ่งเสียงและคะแนนเสียงทุกคะแนนมีน้ำหนักเท่ากัน (ดู พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว2532, 203 อ้างถึงใน วัชรา ไชยสาร 2541, 10-11 ประกอบ) และกำหนดออกมาเป็นหลักการที่เรียกกันว่า “One Man One Vote” เช่นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาของประเทศไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้ หลักการเลือกตั้งมิได้ใช้บังคับเฉพาะในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเท่านั้น จะพบว่า การเลือกตั้งโดยเสมอภาคยังกินความไปถึงการเลือกตั้งในทุกขั้นตอนรวมทั้งการสมัครรับเลือกตั้ง การเตรียมการเลือกตั้งทั้งหมด การหาเสียง และการนับคะแนนเป็นต้น
6. หลักการลงคะแนนลับ (Secret Election)
หลักการนี้ เป็นสาระสำคัญหนึ่งของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยและเป็นตัวคุ้มกันหลักความเป็นเสรีของการเลือกตั้ง เนื่องเพราะหากการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยทางลับแล้ว การเลือกตั้งก็จะไม่อาจเป็นไปโดยเสรีได้ ในเชิงหลักการ หลักการลงคะแนนลับหมายถึง การให้สิทธิเสรีภาพที่จะลงคะแนน โดยไม่จำเป็นต้องไปบอกผู้อื่นหรือผู้อื่นได้ทราบว่าเลือกใคร ทั้งนี้เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์ ป้องกันการใช้อิทธิพลข่มขู่หรือการให้สินจ้างรางวัลแก่ผู้ลงคะแนนเสียงนอกจากนี้ ชัยอนันต์ สมุทวณิช (2524, 11) ได้สรุปหลักเกณฑ์ในการเลือกตั้งไว้ ซึ่งสามารถเข้าใจได้ง่ายว่า การเลือกตั้งนั้น ไม่ว่าระดับใดหรือที่ไหน ถ้าอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้วนั้น จะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ดังนี้
1) มีบุคคลหลายคน หรือบัญชีรายชื่อผู้สมัครับเลือกตั้งหลายบัญชี ในกรณีที่ให้ราษฎรเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อให้เลือก ถ้ามีเพียงบุคคลเดียว หรือมีบัญชีรายชื่อผู้รับสมัครเลือกตั้งเพียงบัญชีเดียว จะไม่ถือว่าเป็นการเลือกตั้ง
2) จะต้องให้เสรีภาพแก่ราษฎรที่จะเลือกหรือไม่เลือกก็ได้ โดยไม่มีการบังคับขู่เข็ญจากผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง หรือบัญชีใดบัญชีหนึ่ง ด้วยวิธีการใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม
3) ราษฎรที่มีสิทธิเลือกตั้ง จะต้องมีโอกาสที่จะได้รับทราบข้อคิดเห็น หรือนโยบายต่าง ๆ จากผู้สมัครรับเลือกตั้ง ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม ทั้งนี้เพื่อที่จะให้ตัวแทนตามต้องการ
4) ราษฎรที่มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องมีสิทธิและเสรีภาพที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้สมัครรับเลือกตั้งได้

ประเภทของการเลือกตั้ง
การพิจารณาแบ่งประเภทของการเลือกตั้งนั้นอาจใช้หลักเกณฑ์ต่างๆ ได้หลายวิธี เช่น ลักษณะที่มาของการจัดการเลือกตั้ง การกำหนดเขตเลือกตั้ง วิธีการคิดคะแนน โดยพอที่จะสามารถแบ่งประเภทของการเลือกตั้งออกได้เป็น 4 ประเภท คือ
1) การเลือกตั้งทั่วไป (General Election) คือ การเลือกตั้งที่มีผู้มีสิทธิอออกเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศมาลงคะแนนเสียงพร้อมๆ กัน เป็นการเลือกตั้งคราวเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งจะเป็นเครื่องชี้วัดกระแสทางการเมืองของประเทศได้เป็นอย่างดี แต่กระนั้น การเลือกตั้งทั่วไปก็ยังเป็นภาพสะท้อนความคิดเห็นและแนวโน้มของกระแสความคิดทางการเมืองของประชาชนในประเทศหรือในเขตเลือกตั้งนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี
2) การเลือกตั้งซ่อม (By Election) เป็นการเลือกตั้งบุคคลเข้าไปทำหน้าที่แทนในกรณีต่างๆตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากบุคคลนั้นขาดจากสมาชิกภาพ เช่น ตาย ลาออก ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง เป็นต้น ก็จะมีการเลือกตั้งซ่อมเพื่อให้ได้ผู้แทนประชาชนเข้าไปทำหน้าที่ในตำแหน่งนั้น ๆแทนบุคคลเดิม แต่มีบางกรณีที่มีคำพิพากษา หรือคำวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นไปโดยมิชอบซึ่งเป็นการขาดสมาชิกสภาพอีกกรณีหนึ่ง และกำหนดให้เป็นการเลือกตั้งอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า การเลือกตั้งซ้ำ (Re-election)
3) การเลือกตั้งเพิ่ม เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนหลาย ๆ จังหวัดหรือหลายเขตเลือกตั้งในคราวเดียวกัน แต่มิใช่การเลือกตั้งทั้งประเทศ
4) การเลือกตั้งซ้ำ (Re-election) คือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่อีกครั้งหนึ่งในกรณีที่สภานิติบัญญัติหรือศาลยุติธรรม/ศาลรัฐธรรมนูญ อันรวมไปถึงองค์การที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการเลือกตั้งที่กฎหมายให้อำนาจไว้วินิจฉัยว่าการเลือกตั้งนั้นเป็นโมฆะ หรือผิดตัวบทกฎหมายและได้มีคำสั่งที่ชอบให้เพิกถอนเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่แทนตำแหน่งที่พ้นไป ซึ่งอาจจะเป็นรายบุคคลหรือรายเขตเลือกตั้งก็ได้การสังกัดกลุ่มการเมืองของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ก็เป็นเกณฑ์อีกประการหนึ่งที่ใช้เพื่อจำแนกรูปแบบหรือชนิดของการเลือกตั้ง ซึ่งใช้กันอยู่ในการเลือกตั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา เทอร์เนอร์ และคณะ (Turner and Others 1996, 214) ได้จำแนกประเภทของการเลือกตั้งตามเกณฑ์แบนี้ไว้ 2 ประเภทคือ การเลือกตั้งแบบอิงสังกัด (Partisan Election) เป็นการเลือกตั้งที่ปรากฎในระดับชาติหรือระดับประเทศ และการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นบางตำแหน่งได้แก่ การเลือกตั้งประธานาธิบดี วุฒิสมาชิกผู้แทนราษฎร ผู้ว่าการรัฐ สมาชิกสภานิติบัญญัติ นายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเมือง เป็นต้น กับอีกประเภทหนึ่งคือ การเลือกตั้งแบบไม่อิงสังกัด (Non-partisan Election) เป็นแบบที่ผู้สมัครไม่ได้อิงสังกัดซึ่งในบางรัฐใช้เป็นรูปแบบของการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี สมาชิกสภาเมืองหรือแม้แต่คณะกรรมการบริหารโรงเรียนในท้องถิ่นก็ใช้รูปแบบนี้ เทอร์เนอร์กล่าวไว้ด้วยว่า มากกว่าหนึ่งในสามของรัฐและท้องถิ่นต่าง ๆ ของอเมริกา รวมทั้งการเลือกผู้พิพากษาศาลแห่งรัฐ ใช้ลักษณะการเลือกตั้งแบบไม่อิงสังกัด ทั้งนี้แต่ละประเภทของการเลือกตั้งดังกล่าว ต่างก็มีข้อดีข้อเสียด้วยกันทั้งสิ้นกล่าวคือ การเลือกตั้งแบบไม่อิงสังกัดนั้นได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างมาก ด้วยเหตุที่ว่าผู้ได้รับเลือกตั้งจะยังประโยชน์ให้แก่ท้องถิ่นและรัฐของตนได้มากกว่าการที่ผู้สมัครมีสังกัด โดยเฉพาะการสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งและการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ในขณะที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบไม่อิงสังกัด จะมิได้รับความสนับสนุนและความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐแต่อย่างใด เมื่อพิจารณาการแบ่งประเภทของการเลือกตั้งโดยอิงหรือไม่อิงสังกัดตามทัศนะของเทอร์เนอร์และคณะดังกล่าวจะพบว่า การเลือกตั้งในระดับชาติของประเทศไทย ซึ่งได้แก่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะเป็นการเลือกตั้งแบบอิงสังกัดพรรคการเมือง ในขณะที่การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา และการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น เช่น สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรีเป็นต้น เป็นการเลือกตั้งแบบไม่อิงสังกัด แม้ในทางจริงแล้วเรามักจะได้ยินอยู่เสมอว่า การเลือกตั้งผู้แทนประชาชนดังกล่าวนี้ มักมีพรรคการเมืองหนุนหลังหรือให้การสนับสนุนไม่ทางหนึ่งก็ทางใด อันก็มักจะเป็นไปในทางลับ

ระบบการเลือกตั้ง
ระบบการเลือกตั้ง มีฐานะเป็นระบบการคิดคะแนนของผู้ที่มาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพื่อ ชี้ขาดว่าใครเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่ในสภาหรือฝ่ายบริหารในกรณีที่มีเสียงข้างมากและได้รับการเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรไปเป็นรัฐบาลในประเทศที่ใช้รูปแบบการปกครองแบบรัฐสภาระบบการเลือกตั้งโดยทั่วไปที่ใช้กันอยู่สำหรับประเทศต่าง ๆ ในปัจจุบัน สามารถแยกประเภทออกได้ออกโดยพิจารณาจากความเห็นของ ไนมิและไวส์เบิร์ก (Neimi and Weisberg 1976, 2-3) ที่กล่าวว่า วิธีการเลือกตั้งอาจกำหนดขึ้นโดยให้เลือกบุคคลหนึ่งจากบุคคลที่เป็นผู้สมัคร (nominate) อีกหลายคน และผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดก็จะเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ซึ่งเรียกวิธีการนี้ว่า “ระบบการเลือกตั้งโดยอาศัยเสียงข้างมาก (Majority System)” ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นระบบที่มีวิวัฒนาการไปตามขั้นตอนของประวัติศาสตร์ โดยเริ่มต้นจากประเทศอังกฤษ (บุญศรี มีวงษ์อุโฆษ 2542, 93) หรืออาจใช้วิธีการเลือกผู้สมัครจากทั้งบัญชีผู้รับสมัครเลือกตั้งซึ่งพรรคการเมืองเป็นผู้จัดทำไว้ ที่มักเรียกกันว่า “ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน” (Proportional Representation)ไนมี และไวส์เบิร์ก ขยายความวิธีการหรือระบบการเลือกตั้งไว้ว่า ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมาก อาจมีวิธีดำเนินการแตกต่างกันไปหลากหลายรูปแบบ แต่ก็มีคุณลักษณะที่สำคัญคือกำหนดให้ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดได้รับเลือกเป็นผู้แทน ไม่ว่าคะแนนเสียงที่ได้มานั้นจะเป็นเสียงส่วนใหญ่หรือไม่ก็ตาม หรือที่เรียกกันว่า “First -Pass-the-Post” ในขณะที่ผู้ที่ได้รับคะแนนในลำดับรองลงมา หากเกินกว่าจำนวนที่กำหนดให้มีได้ในเขตเลือกตั้งนั้นก็เป็นคะแนนที่สูญเปล่า ไม่มีลักษณะของการขึ้นบัญชีไว้เพื่อรอทดแทนกรณีผู้ที่ได้รับเลือกในลำดับที่สูงขึ้นไปพ้นสถานภาพ ซึ่งก็ถือว่าเป็นวิธีหรือระบบการเลือกตั้งโดยอาศัยเสียงข้างมากอย่างเคร่งครัด จนเป็นที่กล่าวถึงว่าแท้จริงนั้น ระบบนี้มิได้ให้ความสนใจกับเสียงกลุ่มน้อยเลย ประเทศที่ใช้ระบบนี้ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สวีเดน และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตของไทยในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ดี ด้วยข้อเสียของระบบเสียงข้างมาก (Majoritarianism) ที่ทำให้เสียงส่วนน้อยที่ไม่ได้รับเลือกในกลุ่มจำนวนผู้แทน ที่ต้องการต้องสูญเปล่าไป หลายประเทศในยุโรปตะวันตกเช่น ฝรั่งเศส และเบลเยี่ยม จึงพัฒนารูปแบบการเลือกตั้งดังกล่าวมาเป็นวิธีการที่เรียกว่า “ระบบเสียงข้างมากสองรอบ” คือ ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดนั้น จะต้องเกินกว่าครึ่งบวกหนึ่ง (หรือ 50%+ 1 เสียง) ของคะแนนเสียงทั้งหมด(Absolute Majority) ด้วย ในกรณีที่ ไม่มีผู้สมัครรายใดได้รับคะแนนเสียงถึงจำนวนดังกล่าวจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ในรอบที่สอง (Second Ballot) ซึ่งในครั้งที่สองนี้ ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดและลำดับรองลงมา จะได้รับการเลือกตั้งจนครบตามจำนวนที่ต้องการ[7]อีกแบบหนึ่งคือ ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน (Proportional Representation) เป็นการเลือกตั้งโดยกำหนดให้ผู้ลงคะแนนเลือกจากบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองเสนอเป็นบัญชี ๆ ไป ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงตามส่วนแห่งคะแนนเสียงทั้งหมดจะเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งในรูปแบบนี้ ระบบการเลือกตั้งดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่ออุดช่องว่างของการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมาก โดยคำนึงถึงโอกาสในการได้รับเลือกตั้งของคนที่มีเสียงข้างน้อย ซึ่งเท่ากับเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนทั่วทั้งหมด และยังเป็นการบังคับทางอ้อมให้บุคคลกลุ่มต่าง ๆ จำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อจัดตั้งหรือรวมกลุ่มทางเป็นพรรคการเมือง ประเทศที่ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบนี้ได้แก่ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศไทย ภายหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ.2540) ซึ่งการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของไทยปัจจุบัน ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งแบบนี้ไว้ด้วย และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งแบบสัดส่วนของประเทศเยอรมันแล้ว จะพบว่า ระบบสัดส่วนของไทยมีลักษณะที่ใกล้เคียงกันอย่างยิ่ง กล่าวคือ ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนจะเป็นแบบที่มีการเลือกตัวบุคคล โดยกำหนดให้ผู้ลงคะแนนทุกคนมีสิทธิลงคะแนนเสียงได้คนละ 2 คะแนน คะแนนแรก เป็นคะแนนที่ออกเสียงให้แก่ผู้รับสมัครจากเขตเลือกตั้ง (Apportionment) ซึ่งมีได้เขตเลือกตั้งละหนึ่งคนส่วนอีกคะแนนหนึ่งใช้เลือกพรรคการเมือง ซึ่งจะมีความสำคัญมากเพราะเป็นส่วนที่ใช้ชี้ขาดต่อสถานภาพของพรรคการเมืองนั้นในท้ายที่สุดเมื่อมีการพิจารณาคะแนนตามสัดส่วนแล้ว ในกรณีประเทศไทย หากสัดส่วนเสียงจากระบบบัญชีรายชื่อได้ต่ำกว่าร้อยละ 5 จากคะแนนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่ได้ลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ก็จะมีผลให้พรรคการเมืองนั้นถูกยุบไป ในชั้นต้นคะแนนจากบัญชีรายชื่อ หรือที่เรียกกันว่าปาร์ตี้ลิสต์จะบอกว่า พรรคการเมืองได้ที่นั่งในสภาเป็นจำนวนเท่าใด และมีใครบ้างในบัญชีรายชื่อเรียงตามลำดับลงไปจะได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้ กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของประเทศไทย ยังกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากระบบบัญชีรายชื่อเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ ทำหน้าที่ในตำแหน่งบริหารหรือรัฐมนตรีตำแหน่งต่าง ๆ ได้ โดยความเช่นนี้เท่ากับว่า หากผู้แทนราษฎรจากระบบแบ่งเขตเลือกตั้งรายใดต้องการจะไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จะไม่สามารถกระทำได้เลย เว้นแต่จะต้องลาออกจากสถานะนั้นและจัดการเลือกต้องซ่อม (By-election) ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบบัญชีรายชื่อที่ได้รับการตำแหน่งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฝ่ายบริหาร ก็จะต้องพ้นจากสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเช่นกัน แต่ไม่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ แต่ให้เลื่อนลำดับของสมาชกสภาผู้แทนราษฎรในบัญชีรายชื่อถัดไปขึ้น มาแทนระบบการเลือกตั้งอีกแบบหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นคือ ระบบการเลือกตั้งแบบผสม ซึ่งเป็นการผสานระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากและการเลือกตั้งแบบสัดส่วนร่วมกัน ซึ่งก็สามารถแยกออกได้เป็น 2 รูปแบบหลักคือ (1) ระบบการเลือกตั้งแบบผสมที่แยกการคิดคะแนนเสียงข้างมาก แต่สำหรับเขตเลือกตั้งใหญ่จะใช้วิธีคิดแบบสัดส่วน ตัวอย่างประเทศที่ใช้ระบบการเลือกตั้งรูปแบบผสมลักษณะนี้ได้แก่ ประเทศฝรั่งเศส ตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งฉบับลงวันที่ 9 พฤษภาคม 1951 และ (2) ระบบที่ใช้วิธีการคิดคะแนนแบบเสียงข้างมากในเขตเลือกตั้งทั้งหมด แต่ในขณะเดียวกันก็ให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรอีกจำนวนหนึ่งตามระบบสัดส่วนควบคู่กันไป ระบบนี้ใช้อยู่ในประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของไทยตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ.2540) (บุญศรี มีวงษ์อุโฆษ 2542, 100-101)


กระบวนการตัดสินใจเลือกตั้ง
สิ่งสำคัญก่อนที่จะมีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งก็คือ กระบวนการตัดสินใจเลือกตั้ง การทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการตัดสินใจออกเสียงเลือกตั้งในบทความนี้ ได้หยิบยกเอาผลการศึกษาบางส่วนมานำเสนอ อันได้แก่ ระบวนการตัดสินใจเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ปรากฏผลการศึกษาไว้จำนวนมากกระทั่งยากจะหยิบยกมากล่าวถึงได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ผลงานการศึกษาแทบทั้งหมดชี้ให้เราได้เห็นกระบวนการตัดสินใจเลือกตั้งที่สามารถจำแนกออกเป็น 4 ขั้นตอนดังต่อไปนี้
ขั้นตอนที่ 1 การได้รับข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งและข่าวสารเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้งขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการตัดสินใจเลือกตั้ง ซึ่งจะเริ่มจากการได้รับข่าวสารว่าจะมีการเลือกตั้ง ข่าวสารเกี่ยวกับการสมัครรับเลือกตั้ง ข่าวสารเกี่ยวกับตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง และข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายต่าง ๆ ของพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งในแง่ประเด็นของการศึกษากระบวนการออกเสียงเลือกตั้งในขั้นตอนนี้พบว่า มีหัวข้อที่แตกต่างกันไป เช่นการศึกษาเกี่ยวกับการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ผลการศึกษาจำนวนไม่น้อยช่วยให้เราเข้าใจได้ว่า ประชาชนในชนบทได้รับข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยผ่านสื่อหรือช่องทางใดบ้าง หรือเป็นการศึกษาในประเด็นว่าข่าวสารต่าง ๆ ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือเกี่ยวกับพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ประชาชนเลือกรับในลักษณะใดและมีการนำข่าวสารนั้นไปเป็นหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งให้เหลือเท่ากับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องการจะลงคะแนนเสียงหรือไม่ เพียงใด เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 2 เป็นขั้นของการสร้างหลักเกณฑ์และให้น้ำหนักของหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจเลือกตั้ง ในขั้นตอนนี้ เมื่อผู้ลงคะแนนเสียงยอมรับว่าจะต้องมีการตัดสินใจและได้รับข่าวสารต่าง ๆเกี่ยวกับตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือนโยบายของพรรคการเมืองที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสังกัดอยู่ หรือผู้ลงคะแนนเสียงที่ผูกพันกับพรรคการเมืองหรือผูกพันกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง ก็จะสร้างหลักเกณฑ์ในการที่จะคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ตนเองถูกใจมากที่สุดให้เหลือจำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมีได้หรือเท่าที่ตนเองต้องการจะลงคะแนนเสียงได้ ผู้ลงคะแนนเสียงก็จะสามารถสร้างหลักเกณฑ์ของตนเองว่าในการลงคะแนนเสียงครั้งนี้จะให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองหรือให้ความสำคัญกับคุณสมบัติส่วนตัวของบุคคล กระนั้น การที่ผู้มีสิทธิออกเสียงจะลงคะแนนเสือกตั้งผู้ใด และโดยใช้หลักเกณฑ์ใดเป็นองค์ประกอบการตัดสินนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการเช่นความรู้ความเข้าใจ และประสบการณ์ทั้งจากเรียนรู้ด้วยตนเองหรือแหล่งความรู้รอบตัว และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับบุคคลอื่น กระบวนการออกเสียงเลือกตั้งของบุคคลในขั้นตอนนี้ เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเพื่อให้ ผู้ลงคะแนนเสียงเห็นชอบกับตัวผู้สมัครรับทราบข่าวสารต่าง ๆ ทั้งในด้านส่วนตัวของผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือนโยบายของพรรคการเมืองไปยังประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ภายหลังจากนั้น ประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงก็จะเริ่มประเมินข่าวสารต่าง ๆ ที่ได้รับมานั้นสอดคล้องกับหลักเกณฑ์หรือจุดมุ่งหมายของผู้ลงคะแนนเสียงหรือไม่ผู้ลงคะแนนเสียงบางคนอาจจะได้ให้ความสำคัญกับนโยบายของพรรคการเมือง บางคนให้ความสำคัญกับคุณสมบัติส่วนตัวของผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ขั้นตอนที่ 3 การประเมินและการจัดลำดับผู้สมัครรับเลือกตั้ง เมื่อได้กำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆและให้มีน้ำหนักของหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการลงคะแนนเสียงตามที่ผู้ลงคะแนนเสียงใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกรับสมัครผู้สมัครเลือกตั้งแล้ว จากนั้นจะเป็นการประเมินผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคน (หรือเท่าที่ผู้ลงคะแนนเสียงจะประเมิน) ว่าตามหลักเกณฑ์ที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคนควรได้รับการประเมินตามการประเมินของ ผู้ลงคะแนนเสียงแต่ละคน
ขั้นตอนที่ 4 การตัดสินใจสุดท้ายที่จะลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง ในขั้นตอนนี้ตามปกติแล้ว ผู้ลงคะแนนเสียงจะตัดสินใจลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครที่มีคะแนนรวมจากการประเมินมากที่สุด แต่ในขั้นตอนนี้อาจจะมีเหตุการณ์บางอย่างเข้ามาทำให้การตัดสินใจที่เกิดจากการประเมินผลครั้งแรกเปลี่ยนแปลงไป เช่น ผู้ลงคะแนนเสียงบางคนอาจจะลงคะแนนเสียงเลือกตั้งตามอิทธิพลของอามิสสินจ้าง คำมั่นสัญญา สิ่งของหรือ เงินทอง ที่ได้รับจากหัวคะแนนผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือจากผู้สมัครรับเลือกตั้ง

หน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งของคนไทย
การปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นการปกครองที่ยอมรับเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเป็นเรื่องที่วิวัฒนาการมาช้านาน มีข้อปลีกย่อยมากมาย เช่น ประเทศอังกฤษมีประกาศหลายฉบับ เริ่มแต่มหากฎบัตร แมกนาร์ คาร์ต้า (Magna Carta)[8]เมื่อปี ค.ศ. 1215 และประกาศสิทธิพลเมืองเมื่อปี ค.ศ. 1689 ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส มีประกาศสิทธิพลเมือง และสิทธิมนุษยชนมาไล่เลี่ยกันเมื่อปี ค.ศ. 1789 และที่สำคัญที่สุด ก็คือปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ ลงวันที่ 10 ธันวาคม 1948 ที่ใช้แม่แบบในการส่งเสริมการให้สิทธิแก่ประชาชนในประเทศต่าง ๆแม้หลักเกณฑ์พื้นฐานของการเลือกตั้งประการหนึ่งคือหลักความเป็นอิสระของการออกเสียงเลือกตั้ง ซึ่งวางหลักไว้ว่าการออกเสียงเลือกตั้งของประชาชนจะต้องไม่เป็นไปโดยการถูกบังคับหรือจากการกระทำในเชิงมีอำนาจอิทธิพลหรือการตัดสินใจ อันจะส่งผลให้การออกเสียงเลือกตั้งของผู้มีสิทธิไม่เป็นไปโดยอิสระ และกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิอาจจะไปหรือไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งก็ได้ แต่ประเทศต่าง ๆ ก็อาจกำหนดให้การเลือกตั้งประเทศหน้าที่ที่ประชาชนจะต้องกระทำได้ เช่นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ฉบับปัจจุบัน ได้ปรับเปลี่ยนให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของประชาชน ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว โดยบุคคลที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะต้องเสียสิทธิทางการเมืองบางประการ ดังที่ได้กล่าวต่อไป แต่การเสียสิทธิต่าง ๆ นั้นมีกำหนดเวลาตั้งแต่วันเลือกตั้งจนถึงวันเลือกตั้งครั้งที่ผู้นั้นไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งใหม่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 คือ
1) สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น
2) สิทธิร้องคัดค้านการเลือกกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
3) สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น 4) สิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้าน ตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
5) สิทธิเข้าชื่อร้องขอเพื่อให้รัฐสภาพิจารณากฎหมาย ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
6) สิทธิเข้าชื่อร้องขอให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น
7) สิทธิเข้าชื่อร้องขอเพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนบุคคล ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
8) สิทธิเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วย
การลงคะแนนการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
การเลือกตั้ง : ปัจจัยหนึ่งสู่ความสำเร็จของระบอบประชาธิปไตย
แม้ประชาชนโดยทั่วไปจะเข้าใจไม่ผิดว่าการเลือกตั้ง เป็นภารกิจที่กฎหมายกำหนดให้ประชาชนต่อกระทำตามที่ได้กล่าวแล้วว่าการไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นหน้าที่ประการหนึ่งของคนไทยเพื่อให้ได้บุคลากรทางการเมืองจำนวนหนึ่งตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่ในความเป็นจริงนั้น ก็ยังปรากฏว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยที่มองไม่เห็นความสำคัญของการไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง โดยพบว่าอาจเป็นผู้เฉยเมย เฉื่อยชา ขาดความสนใจและขาดส่วนร่วมทางการเมืองซึ่งนับ เป็นปัญหาหนึ่งที่สังคมไทยประสบอยู่ โดยมิได้จำกัดอยู่เฉพาะสังคมของประเทศที่กำลังพัฒนาระบอบประชาธิปไตยหรือในสังคมที่จำกัดลิดรอนสิทธิทางการเมืองการปกครองของประชาชนเท่านั้น หากแต่ยังเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบของประชาธิปไตยปัจจุบันหรือเป็นประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยในระดับสูงอีกด้วย ปัญหาประการนี้ กลายเป็นสิ่งที่ได้ส่งผลกระทบและบั่นทอนต่อความเข้มแข็งของกระบวนการทางการเมืองแบบประชาธิปไตยอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้เนื่องจากการเมืองการปกครองไม่ใช้เรื่องเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำหรือผู้ปกครองเท่านั้น หากแต่เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกทุกคนในสังคมไม่มากก็น้อย ด้วยไม่มีใครจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมโดยปราศจากความยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองการปกครอง จนอาจกล่าวได้ว่าความเฉย เฉื่อยชา ขาดความสนใจและขาดส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนนี่เองที่ยังผลให้เกิดความเบี่ยงเบนของความเป็นประชาธิปไตย ดังที่นักวิชาการบางท่านได้กล่าวไว้ว่า ความไม่สนใจมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนได้แสดงให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองกับความเป็นจริงทางการเมืองประชาธิปไตยจึงมักจะเป็นคณาธิปไตยทางปฏิบัติ โดยมิได้เกิดขึ้นมาเพราะความบกพร่องหละหลวมของโครงสร้าง และสถาบันทางการเมืองในกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น หากยังเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากการที่บุคคลขาดการมีส่วนร่วมทางการเมือง และรูปธรรมหนึ่งที่สะท้อนถึงพฤติกรรมไม่สนใจต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองดังกล่าวได้แก่ การนอนหลับทับสิทธิ์ไม่ไปออกเสียงเลือกตั้ง ทั้งที่รู้ว่าการเลือกตั้งเป็นหน้าที่และต้องเสียสิทธิหลายประการก็ตามว่าไปแล้ว ปัญหาการขาดความสนใจในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ปรากฏออกมาให้เห็นในหลายลักษณะ ประการหนึ่งที่มักกล่าวถึงและทำการศึกษากันมากทางรัฐศาสตร์ก็คือการพิจารณาการมีส่วนร่วมทางการเมืองในแง่ของการไปใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง ซึ่งก็ถือเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งในบรรดาการมีส่วนร่วมหลายรูปแบบตามทัศนะของเวนเนอร์ (Myron Weinner) ในบรรรดาประเด็นของการศึกษาด้านนี้ เป็นต้นว่า การไม่สนใจเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นหรือกระทั่งรับฟัง เสนอความคิดเห็นในการประชาพิจารณ์ในประเด็นที่เขามีส่วนได้ส่วนเสียต่อการตัดสินใจดำเนินนโยบายหรือโครงการของภาครัฐ หรือความเมินเฉยไม่สนใจต่อการรวบรวมรายชื่อเสนอร่างกฎหมาย(initiative) ตามที่รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิไว้ แต่ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจเป็นที่ศึกษาวิเคราะห์กันมาอย่างต่อเนื่องได้แก่ การค้นหาคำอธิบายสาเหตุของการที่ประชาชนเพิกเฉย ไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งหรือนอนหลับทับสิทธิ์ ทั้งที่ในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ตลอดจนข้ออธิบายต่อพฤติกรรมการ ขายสิทธิขายเสียงของประชาชน ในแวดวงวิชาการรัฐศาสตร์ จึงได้มีการศึกษาเพื่อหาคำอธิบายต่อสาเหตุปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการแสดงพฤติกรรมไม่สนใจต่อการเมืองหรือจำเพาะลงมาที่พฤติกรรมการขายเสียงของประชาชนหรือการมีพฤติกรรมแบบที่เรียกขานกันติดปากว่า “เงินไม่มากาไม่เป็น” โดยการศึกษาว่าชาวบ้านเหล่านั้น เขามีความรู้สึกต่อการเมืองที่เป็นอยู่อย่างไร ในทางทฤษฎีแล้ว หากชาวบ้านเหล่านี้มีความรู้ความเข้าใจทางการเมืองการปกครองในระดับหนึ่ง ย่อมเป็นที่คาดหมายหรืออาจสรุปตามหลักเกณฑ์ทั่วไปได้ว่าเขาจะไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งหรือกระทั่งไม่ขายเสียงของตนเป็นแน่ แต่ในทางตรงข้าม หากชาวบ้านทั้งที่มีความรู้ความเข้าใจต่อการเมือง แต่ก็ยังคงขายเสียง นั่นแสดงให้เห็นว่า น่าจะมีมูลเหตุจูงใจประการอื่นที่ซับซ้อนขึ้น เป็นต้นว่า ชาวบ้านอาจไม่ค่อยให้ความสำคัญ หรือขาดความสำนึกที่ดีทางการเมือง เป็นต้น คำอธิบายในเชิงวิชาการภายใต้องค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์ จึงถูกคาดหมายว่าจะสามารถค้นหาคำอธิบายต่อพฤติกรรมทางการเมืองเช่นนี้ของประชาชนหลากหลายผลงานการศึกษาวิจัย ต่างได้คำตอบต่อกรณีความไม่สนใจต่อการเมืองของชาวบ้านเป็นต้นว่า ชาวบ้านคิดว่าตนเองไม่ได้คาดหวังอะไรกับนโยบายสาธารณะ เพราะรู้ดีว่ารัฐบาลแต่ละรัฐบาลต่างสร้างฝันไปวัน ๆ เพื่อแลกกับอะไรบางอย่างในวันข้างหน้า ในขณะที่ประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยเห็นว่านักการเมืองทั้งหลาย ล้วนมุ่งหวังเข้ามาเป็นรัฐบาลเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวและพรรคพวก ด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวงงบประมาณแผ่นดินดังที่เป็นข่าวให้เห็นอยู่เนือง ๆ หรือโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่ภาครัฐจัดทำขึ้นมาก็เพื่อแลกกับคะแนนนิยมทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแต่อย่างใด และแม้ประชาชนจะมีส่วนเข้าร่วมประชาพิจารณ์นโยบายหรือโครงการสาธารณะของรัฐบาล แต่การตัดสินใจดำเนินโครงการก็ยังเป็นอำนาจของฝ่ายรัฐบาลอยู่เช่นเดิม ซึ่งว่าไปแล้วก็มิใช่เฉพาะเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่ประชาชนรู้สึกหรือบ่นว่านักการเมืองเลวเช่นนี้ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ให้ทัศนะว่า ความจริงแล้ว โลกนี้มองเห็นนักการเมืองเลวลงหมด คนเชื่อว่านักการเมืองทุกคนในโลกพูดโกหก ซึ่งจริง ๆ แล้ว นักการเมืองจะพูดโกหกหรือไม่ก็ตาม แต่นักการเมืองทั้งโลกนี้ถูกคนเชื่อว่าเขาพูดโกหก นอกจากนี้ นิธิ ยังสำทับให้เห็นว่า การขาดความเชื่อถือของชาวบ้านต่อนักการเมืองที่อาจพูดได้ว่า ชาวบ้านไม่เคยเชื่อถือนักการเมืองเลย หรือกระทั่งแท้จริงนั้น ชาวบ้านขาดความเชื่อถือต่อกระบวนการประชาธิปไตย ถึงขนาดที่ว่าขายเสียงได้ (เน้นโดยผู้เขียน) ความไม่เชื่อถือขาดความศรัทธาต่อกระบวนการประชาธิปไตยหรือระบบการเมืองเช่นนี้ เป็นประเด็นเชิงพฤติกรรมทางการเมืองที่อาจอธิบายได้ด้วยการศึกษาความรู้สึกมีประสิทธิภาพทางการเมือง ความรู้สึกเชื่อถือไว้วางใจทางการเมืองนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะนักรัฐศาสตร์ให้ความสนใจที่จะศึกษาหาคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผลต่อปรากฏการณ์ ถึงสาเหตุอันเป็นปฐมฐาน รวมทั้งปัจจัยต่าง ๆ ที่ก่อหรือส่งเสริมให้ประชาชนแสดงออกซึ่งพฤติกรรมหรือมีความคิดความรู้สึกเช่นนั้นได้ กระนั้นก็ตาม การวัดความรู้สึกไม่เชื่อถือไว้วางใจก็ปรากฏงานการศึกษาให้เห็นอยู่ไม่น้อย และก็เป็นที่น่าสนใจว่า ชาวบ้านที่ขายเสียงมีระดับระดับความรู้สึกต่อการเมืองเกินไปกว่าความรู้สึกไม่เชื่อถือไว้วางใจหรือไม่ ซึ่งหากเกินไปกว่าระดับเช่นว่านั้น เราก็จำต้องหากรอบความคิดอื่นที่จะมาใช้อธิบายพฤติกรรมทางการเมืองให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น โดยแนวความคิดหนึ่งซึ่งได้ถูกนำมาใช้อธิบายประเด็นความไม่สนใจต่อการเมืองหรือความรู้สึก/พฤติกรรมไม่เชื่อถือศรัทธาไว้วางใจต่อการเมืองการปกครองดังตัวอย่างที่กล่าวถึงไปข้างต้นคือ แนวคิดที่อธิบายถึงสาเหตุความไร้อำนาจของตนเองที่จะตัดสินใจทางการเมืองในบริบทของการเลือกตั้ง ผู้ที่มีความรู้สึกเช่นนั้นมักมองว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นเหตุที่จะให้ได้มาซึ่งตัวแทนที่เป็นไปตามเจตจำนงของตน รวมทั้งการที่ประชาชนขาดความเชื่อมั่นไว้วางใจในตัวแทนของประชาชนที่เป็นสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตยผ่านตัวแทน เช่นนี้ ในทางทฤษฎีรัฐศาสตร์กล่าวได้ว่า เกิดเป็นภาวะที่ประชาชนมีความรู้สึกแปลกแยก (alienate) ต่อระบบการเมืองที่เขาดำรงอยู่ โดยที่ยิ่งประชาชาชนมีความรู้สึกแปลกแยกทางการเมืองมากเท่าใด ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับระบบการเมืองไม่ว่าจะพิจารณาในเชิงสถาบันหรือมองการเมืองในเชิงกลุ่มผลประโยชน์ก็จะตีวงห่างกว้างออกไปทุกที ภาวะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ในแง่ที่ระบบการเมือง(รัฐบาลหรือสถาบันทางการเมือง) ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีสมรรถภาพ ซึ่งเป็นผลเสียต่อการพัฒนากระบวนการทางการเมือง อันสามารถโยงใยไปถึงความถดถอยของการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่งพิจารณาในประเด็นหลักของบทความนี้ การใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยนั้น ก่อให้เกิดผลและความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมากมายหลายประการที่สำคัญและสมควรนำมาพิจารณาได้แก่1) การเลือกตั้งทำให้ได้บุคลากรทางการเมืองที่มีคุณภาพ เป็นความเข้าใจเบื้องต้นของผู้เลือกตั้งทั้งหลายที่ย่อมเข้าใจว่า ผลของการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะทำให้ได้บุคลากรทางการเมืองในตำแหน่งต่างๆ เช่น ถ้าเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา หรือการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น สังคมก็จะได้บุคลากรทางการเมืองในตำแหน่ง นั้น ๆ ที่มีคุณภาพในระดับหนึ่ง แม่ไม่ว่าจะนับว่าดีสมบูรณ์แบบ แต่ก็เป็นผู้แทนแห่งเจตจำนงของประชาชน ในทางหนึ่งจึงมักมีคำกล่าวกันว่า บุคลากรทางการเมืองที่ประชาชนเลือกตั้งขึ้นมา จะเป็นกระจกที่สะท้อนถึงมีคุณภาพของผู้เลือกตั้งเป็นสำคัญหรือกล่าวง่าย ๆ คือ ผู้แทนเป็นอย่างไร ประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งก็เป็นอย่างนั้น กล่าวในแง่นี้ หากบุคลากรทางการเมืองที่ประชาชนเลือกตั้งมานั้น สร้างผลงานในอำนาจหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นคนดีมีอุดมการณ์ที่จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดเอา
ประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ก็ย่อมชี้ให้เห็นถึงวุฒิภาวะทางการเมืองของประชาชนได้ในระดับหนึ่งนั่นเอง
2) การเลือกตั้ง ช่วยสร้างมิติใหม่ของการเมืองตามแนวปฏิรูป (Political Reform) มิติใหม่ของการเมืองนี้ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะเกิดขึ้นบนเงื่อนไขที่สำคัญได้แก่การที่สังคมการเมืองนั้น จะต้องมีพรรคการเมืองน้อยพรรค (Few Parties) และประชาชนผู้เลือกตั้งจะต้องพิจารณาเลือกจากนโยบายและผลงานของนักการเมืองมากกว่าจะพิจารณาเลือกตัวผู้สมัคร รวมทั้งการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะมีพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งชนะการเลือกตั้งมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเกินครึ่ง และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยลำพัง ไม่ต้องมีพรรคการเมืองอื่นมาร่วมรัฐบาล ที่เรียกว่ารัฐบาลผสม (Coalition Government) อันมีแนวโน้มก่อให้เกิดความวุ่นวายในการบริหารงานเช่นที่ปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์การปกครองของไทย ความเป็นเอกภาพและความต่อเนื่องของการบริหารงานภายใต้ระบบพรรคการเมืองน้อยพรรค รวมทั้งคุณภาพในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนเช่นนี้เอง กล่าวได้ว่าเป็นมิติใหม่ของการเมืองในยุคแห่งการปฏิรูปการเมืองที่ดำเนินมาในประเทศไทยได้ราวทศวรรษนับจนปัจจุบัน
3) การเลือกตั้งจะส่งผลให้เห็นว่าประชาชนเป็นผู้เลือกนโยบายให้รัฐบาลใช้เป็นหลักในการดำเนินกิจการทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะสามารถเห็นเป็นรูปธรรมได้ก็ต่อเมื่อพรรคการเมือง ดำเนินกิจกรรมการเมืองบนฐานมวลชน หรือระดมการมีส่วนร่วมโดยเฉพาะการมีส่วนร่วมอย่างสมัครใจ (Voluntary Participation) นอกเหนือไปจากการมีบทบาทในการให้ความรู้และการเรียนรู้ทางการเมืองแก่ประชาชน ซึ่งสามารถเริ่มต้นได้จากพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง จะต้องยึดหลักสำคัญในการหาเสียงด้วยการชูนโยบายหลักว่าจะปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวกับด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองให้เกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมต่อประชาชนได้อย่างไรเพื่อให้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของประชาชน ในขณะที่ประชาชนผู้เลือกตั้งจะต้องร่วมใจกันปฏิบัติภารกิจในการเลือกตั้งอย่างแข็งขัน พิจารณาตัดสินใจออกเสียงเลือกตั้งโดยคำนึงถึงนโยบายหลัก หรือนโยบายสำคัญของพรรค มิใช่เลือกตั้งเพราะพอใจคำมั่นสัญญาหรือพอใจคุณสมบัติส่วนตัวของผู้สมัคร ซึ่งเป็นสิ่งเลื่อนลอยและเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ยังทำให้ผลการเลือกตั้งกระจัดกระจายไม่เป็นกลุ่มเป็นก้อน ส่งผลให้เกิดรัฐบาลผสม ที่ประกอบด้วยหลายพรรค รัฐบาลผสมจะเป็นรัฐบาลที่ขาดความชัดเจนในเรื่องนโยบายบริหารราชการ ซึ่งเป็นผลเสียแก่การสร้างผลงาน การแก้ปัญหาที่ประชาชนรอความหวังจากรัฐบาล ข้อสำคัญพรรคการเมืองจะต้องมีสัจจะต่อประชาชนผู้เลือกตั้งด้วย กล่าวคือจะต้องมีความมั่นคงที่จะบริหารราชการตามนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงกับประชาชน เพราะถือว่าเป็นคำมั่นสัญญาที่พรรคให้ไว้กับประชาชน และเมื่อประชาชนนโยบายของพรรค จนพรรคชนะการเลือกตั้ง มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลบริหารราชการรับใช้ประชาชน จึงควรบริหารงานตามนโยบายที่ให้คำมั่นสัญญากับประชาชนและประชาชนให้ความเห็นชอบโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง
4) การเลือกตั้ง เป็นสิ่งยืนยันหลักการสำคัญของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยประชาชนสามารถใช้อำนาจนี้ จัดตั้งหรือเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้ ส่วนการที่ประชาชนผู้เลือกตั้งจะมีอำนาจเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือทางรัฐศาสตร์เรียกว่า “สิทธิคัดค้าน” นั้นหมายความว่า รัฐบาลที่ประชาชนเห็นชอบและเลือกมาบริหารราชการแล้วไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้แก่ประชาชนในคราวหาเสียงเลือกตั้ง หรือบริหารราชการโดยไม่มีผลงาน หรือ ไม่สามารถจะแก้ปัญหาให้แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาตัวเอง แต่ถ้า
รัฐบาลยังดื้อที่จะดำรงสถานะการเป็นรัฐบาลต่อไปจนครบวาระ เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธในการเลือกพรรครัฐบาลเดิม โดยหันไปใช้สิทธิเลือกพรรคฝ่ายค้าน เพื่อลงโทษพรรครัฐบาลที่ทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชนผู้เลือกตั้ง การใช้สิทธิของประชาชนดังกล่าว เป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการเมืองระบอบประชาธิปไตยนั้นประชาชนย่อมเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในระบบการเมืองการปกครอง มิใช่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองแต่อย่างใดความสำคัญของสิทธิเลือกตั้งของประชาชนดังข้างต้น จะเห็นได้ว่า หากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ย่อมจะทำให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างระมัดระวัง รับผิดชอบใคร่ครวญอย่างรอบคอบ แทนการใช้สิทธิเลือกตั้งโดยขาดการพินิจพิจารณา หรือใช้สิทธิเลือกตั้งโดยเกรงกลัวต่ออำนาจอิทธิพลของผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งโดยความโลภเห็นแก่อามิสสินจ้างในรูปแบบต่าง ๆ ผลของการเลือกตั้งย่อมเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้การเมืองเป็นการเมืองของพลเมือง (People Politics) ที่รับผิดชอบต่อสาธารณชนและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในรัฐอย่างมีศักยภาพ

แนวความคิดและทฤษฎีที่ใช้อธิบายแบบแผนพฤติกรรมการเลือกตั้ง
ในการศึกษาเพื่อให้ได้คำอธิบายต่อพฤติกรรมทางการเมือง[9]หรือปรากฏการณ์ทางการเมืองอันใดอันหนึ่งโดยอยู่บนหลักการแห่งเหตุผล นักรัฐศาสตร์มักจะอาศัยการอ้างอิงถึงองค์ความรู้ซึ่งได้รับการพิสูจน์มาแล้วผ่านกระบวนการหรือระเบียบวิธีวิจัยว่าถูกต้องเที่ยงแท้ ที่เรียกว่า “ทฤษฎี(Theory)” ทฤษฎีนี้เอง อาจจะนำไปคาดการณ์พฤติกรรมหรือปรากฏการณ์ทางการเมืองได้ล่วงหน้าหากมีองค์ประกอบใดที่ชี้ให้เห็นแนวโน้มเป็นไปดังที่ว่านั้นการศึกษาพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในระบบการเมืองต่าง ๆ นั้น มองในแง่หนึ่งแล้วนับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับกระบวนการปกครอง ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นหัวใจของกิจกรรมทางการเมืองทุกระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่มีปัจจัยเกี่ยวพันอย่างซับซ้อนยิ่งโดยเฉพาะภายใต้สภาพการณ์ที่การแข่งขันในการเลือกตั้งหรือการแข่งขันทางการเมืองสูงแล้ว ก็ยิ่งมีการใช้แนวโน้มของการใช้เทคนิคและกุศโลบายต่าง ๆ ในกิจกรรมเลือกตั้งที่ซับซ้อนเพื่อมุ่งหมายชัยชนะทางการเมืองมากขึ้นตามไปด้วย เกี่ยวกับเรื่องนี้ นักรัฐศาสตร์หลายท่านได้ให้ข้อสังเกตว่า การเลือกตั้งในปัจจุบัน นับวันแต่จะมีความซับซ้อนหรือมีปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องมากขึ้น มีการใช้นวัตกรรมทางการตลาดการเมือง หรือมีการใช้เงินในการเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยต่อการสร้างรูปรอยก่อนที่จะทำการศึกษาแบบแผนพฤติกรรมการในเนื้อหาส่วนต่อไป ควรได้เริ่มต้นหรือ
ทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นฐานแนวความคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเสียก่อนโดยในบทความนี้ จะขอนำมากล่าวถึงอย่างสังเขปเท่านั้น รายละเอียดของการศึกษาเรื่องนี้ผู้สนใจสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้จากเอกสารที่อ้างอิงท้ายบทความ เมื่อพิจารณาพฤติกรรมการเลือกตั้งในฐานะที่เป็นกระทำทางสังคม โดยอิงทัศนะของแมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน เราอาจจำแนกลักษณะของพฤติกรรมการเลือกตั้งของบุคคลออกได้เป็น 4 ประเภท คือ (อ้างถึงใน เทวินทร์ ขอเหนี่ยวกลาง 2538, 73-74)
1) การออกเสียงเลือกตั้งเป็นการกระทำที่มีเจตจำนงเชิงเหตุผล อันได้แก่ การที่ผู้เลือกตั้งมีการคิดคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะได้จากการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เช่น การมุ่งหวังที่จะเลือกคนที่ตนเองสนับสนุนให้เข้าไปมีอำนาจ เพื่อที่จะกำหนดนโยบายได้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของตนเองกล่าวคือ การที่จะบรรลุเป้าหมายผลประโยชน์ โดยการใช้การเลือกตั้งเป็นวิธีการที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น
2) การออกเสียงเลือกตั้งเป็นพฤติกรรมหรือการกระทำตามค่านิยม ได้แก่ ผู้ที่ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งเห็นว่า การไปเลือกตั้งมีความมุ่งหมายในแง่คุณค่าอยู่ในตัว ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยจะเห็นว่าการเลือกตั้งมีคุณค่าในแง่ที่เป็นการส่งเสริมการปกครองแบบประชาธิปไตย จึงตัดสินใจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
3) การออกเสียงเลือกตั้ง เป็นการกระทำตามอารมณ์หรือความพึงพอใจแบบปราศจากเหตุผลเช่น คนที่มีความรู้สึกรักใคร่ชอบพอตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งบางคน แล้วไปใช้สิทธิเลือกตั้งอันเป็นการแสดงความรักความศรัทธาต่อบุคคลนั้น
4) การออกเสียงเลือกตั้ง เป็นการกระทำตามประเพณี เช่น คนที่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งบางคนไปใช้สิทธิเพราะความเคยชิน หรือเห็นคนอื่นกระทำและกระทำตาม เป็นต้น ในเชิงแนวความคิดทฤษฎี สุจิต บุญบงการและพรศักดิ์ ผ่องแผ้ว (2527, 31-36) กล่าวไว้ว่า นักสังคมศาสตร์ ซึ่งโดยมากก็คือกลุ่มนักสังคมวิทยาและนักรัฐศาสตร์ ได้แบ่งทฤษฎีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1) ทฤษฎีปัจจัยตัวกำหนด (Deterministic Theory)โกเลมบิวสกี้ เวลชและคร็อตตี้ (Golembiewsky, Welsh and Crotty 1969, 404-406) สรุปว่าสาระสำคัญของทฤษฎีปัจจัยตัวกำหนดคือ ปัจจัยด้านสถานภาพทางสังคมเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ทฤษฎีดังกล่าวเสนอว่าปัจจัยด้านสถานภาพทางสังคมอันเป็นภูมิหลังของบุคคลทั้งในระดับกว้างและลึกลงมา จนกระทั่งถึงช่วงที่จะมีการตัดสินใจ มีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยแนวความคิดที่เป็นพื้นฐานของทฤษฎีนี้ได้แก่ ตัวแบบผลักดันทางสังคม (Social Forces Model) ของพอล ลาซาร์สเฟลด์ , ทฤษฎีสนาม (Field Theory) ของเคิร์ต เลวินกล่าวอีกนัยหนึ่ง ทฤษฎีประเภทนี้เป็นการเสนอเงื่อนไขที่กำหนดรูปแบบ (pattern) ของพฤติกรรม ซึ่งไม่ได้มุ่งที่จะสรุปรวมเชิงนิรนัย (Deductive Generalization) หรือทำนายพฤติกรรมในอนาคต หากให้ประโยชน์อย่างสำคัญในด้านการจัดตัวแปรอันหลากหลายที่เกี่ยวข้องให้เป็นระเบียบ ส่วนปัจจัยทางสังคมที่กำหนดพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของบุคคลตามนับทฤษฎีนี้ได้แก่ ปัจจัยทางด้านเพศ อายุอาชีพ รายได้ การศึกษา และที่อยู่อาศัย เป็นต้น
2) ทฤษฎีความสำนึกเชิงเหตุผล (Consciously Rational Theory)ทฤษฎีนี้ เป็นตัวแบบหนึ่งของการนำแนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์มาอธิบายเกี่ยวกับการตัดสินใจในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของบุคคล ซึ่งก็เป็นมุมมองหนึ่งที่นำมาใช้วิเคราะห์สาเหตุการตัดสินใจเลือกตั้งและได้รับความนิยมเป็นอันมากมุมมองหนึ่งการศึกษาพฤติกรรมการออกเสียงเลือกตั้งด้วยมุมมองเชิงเศรษฐศาสตร์นี้ เป็นการพิจารณาพฤติกรรมบนพื้นฐานของความชอบด้วยเหตุและผลของมนุษย์ กับการตัดสินใจทางการเมือง โดยเรียกตัวแบบทั่วไปที่ใช้เป็นกรอบในการศึกษาว่า "ตัวแบบการเลือกโดยเหตุและผล” (Rational ChoiceModel) แฮรอพ และมิลเลอร์ (Harrop and Miller 1987, 145-146 อ้างถึงใน สุวัฒน์ ศรีพงษ์สุวรรณ 2544, 16) กล่าวไว้ว่า ตามตัวแบบนี้ ผู้ลงคะแนนเสียงที่มีเหตุผล (Rational Voter) จะรู้ว่าผลประโยชน์ของเขาจากการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งคืออะไร ทั้งจะสามารถประเมินได้ว่าผู้สมัครจะให้ประโยชน์แก่ตนได้มากน้อยเพียงใด และลงคะแนนเสียงตามผลการประเมินของเขานั้น รวมทั้งผู้ลงคะแนนจะลงคะแนนเมื่อการลงคะแนนนั้น ให้ผลคุ้มค่ากับการลงทุนของเขา (พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว 2529,18) ตัวแบบการเลือกโดยเหตุและผลดังกล่าวไปแล้ว ตั้งอยู่บนฐานคติที่สำคัญ 3 ประการ
ประการแรก ถือว่า การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นเครื่องมือที่จะนำมาซึ่งผลประโยชน์หรือเป้าหมายที่ประชาชนต้องการ ดังนั้น การตัดสินใจลงคะแนนเสียงของผู้ลงคะแนน จะพิจารณาจากผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง
ประการที่สอง ให้ความสำคัญกับเป้าหมายทางการเมืองกล่าวคือ การลงคะแนนเสียงของผู้ลงคะแนนเสียงนั้น จุดสนใจมุ่งไปที่เป้าหมายทางการเมืองของผู้ลงคะแนนเสียง
ประการที่สาม ถือว่าการตัดสินใจลงคะแนนเสียง ผู้ลงคะแนนเสียงจะกระทำอย่างละเอียดรอบคอบ ระมัดระวัง โดยใช้ข่าวสารที่มากเพียงพอทฤษฎีความสำนึกเชิงเหตุผลเป็นแนวการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการบริหารการเลือกตั้งตัวผู้รับสมัครเลือกตั้ง พรรคการเมือง การรณรงค์หาเสียง นโยบายของพรรค การแจกจ่ายสิ่งของอันรวมถึงการใช้เงินในการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสำนึกตรึกตรองของผู้ไปใช้สิทธิลักษณะเช่นนี้คล้ายกับกรอบความคิดเชิงเหตุผล (Rational Framework) ของผู้ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งหรือการตัดสินใจของผู้บริโภคทางเศรษฐศาสตร์งานที่สำคัญในด้านนี้ได้แก่ “The EconomicTheory of Democracy” ของแอนโทนี่ ดาวน์ (Anthony Downs) และ “The Responsible Electorate”ของ วี โอ คีย์ (V. O. Key)
ปรัชญา เวสารัชช์ (2527, 294-298) ได้อธิบายแนวคิดทฤษฎีของดาวน์ ดังกล่าวไว้ในงานเขียนเรื่อง “การศึกษารัฐศาสตร์ แนวทางการตัดสินใจ และทฤษฎีเกม” ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะไปลงคะแนนเสียงถ้าผลตอบแทนที่ได้รับคุ้มค่า ซึ่งเป็นการใช้แนวคิดว่าด้วยความชอบด้วยเหตุผลของมนุษย์เศรษฐกิจ (economic man) มาใช้ในการตัดสินใจทางการเมือง ส่วนกรณีการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนั้น เป้าหมายในการตัดสินใจของแต่ละคนคือเป้าหมายทางการเมือง โดยไม่สนใจอารมณ์หรือค่านิยมส่วนตัวที่ไม่ใช่เรื่องเป้าหมายทางการเมือง ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกรณีเช่นนี้จึงเป็นมนุษย์การเมือง(political man) โดยดาวน์ ได้ตั้งข้อสมมติฐานว่า มนุษย์การเมืองและพลเมืองธรรมดาที่มีเหตุผล ซึ่งพิจารณาจากสถานการณ์ทุกสถานการณ์จะดูที่ผลที่พึงจะได้และจะเสีย ทั้งนี้โดยเล็งเห็นเป้าหมายที่การเมืองคือการจัดรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับความต้องการของเขามากที่สุดดังนั้น ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ละคนจะปฏิบัติตนอย่างมเหตุสมผลในการแสวงหาเป้าหมายทางการเมืองเฉพาะตนคือคิดคำนวณ โดยยึดค่านิยมของตนเป็นด้านหลัก เช่นในสถานการณ์ที่มีพรรคการเมือง 2 พรรค เขาจะตัดสินใจว่าต้องการให้พรรดใดชนะ โดยพิจารณาผลงานที่ผ่านมาในอดีต การที่บุคคลตัดสินใจเช่นนี้ก็โดยคาดหวังว่าเขาจะได้ประโยชน์จากการที่พรรคนั้นหากได้เป็นรัฐบาลส่วนกรณีที่มีพรรคการเมืองหลายพรรค นักวิชาการจากกรมการปกครอง (อ้างถึงในรักฎา บรรเทิงสุข 2540, 11-12) ได้อธิบายทัศนะของแอนโทนี่ ดาวน์ ไว้ว่า บุคคลจะพิจารณาลงคะแนนเสียงเลือกผู้ใดในเงื่อนไขต่าง ๆ ดังนี้
(1) ถ้าพรรคการเมืองที่ผู้ลงคะแนนชอบมีทางชนะ เขาจะลงคะแนนให้พรรคนั้น
(2) ถ้าพรรคการเมืองที่ผู้ลงคะแนนชอบไม่มีโอกาสชนะเลย เขาจะลงคะแนนให้พรรคอื่นซึ่งดูจะมีทางชนะ ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้พรรคการเมืองที่เขาไม่ชอบเป็นผู้ชนะ
(3) ถ้าผู้ลงคะแนนเป็นผู้ที่มุ่งอนาคต เขาจะลงคะแนนให้พรรคที่เขาชอบถึงแม้จะไม่มีโอกาสชนะ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเปิดทางไว้ให้พรรคการเมืองมีโอกาสชนะการเลือกตั้งในอนาคตตัวอย่างข้อเขียนของนักวิชาการต่างประเทศที่ใช้กรอบแนวคิดดังกล่าวที่น่าสนใจได้แก่งานของวี โอ คีย์ (Hill and Luttbeg 1980, 23) ที่สรุปจากการศึกษาในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่า ผู้ที่เปลี่ยนใจสนับสนุนจากพรรคการเมืองหนึ่งไปเป็นอีกพรรคหนึ่ง หรือยืนยันสนับสนุนพรรคเดิมไม่เปลี่ยนแปลงต่างก็ใช้ความพอใจในการดำเนินนโยบายของพรรค เป็นเหตุผลในการตัดสินใจทั้งสิ้น ส่วนอีกชิ้นหนึ่งได้แก่ผลงานของ ไนมีและไวส์เบิร์ก (Neimi and Weisberg 1984,14) ที่สรุปไว้ว่า การที่ผู้ลงคะแนนเสียงจะตัดสินใจว่าจะไปลงคะแนนเสียงหรือไม่และจะเลือกใคร ผู้ลงคะแนนเสียงจะพิจารณาถึงผลประโยชน์ของผู้ลงคะแนนเสียงเอง ซึ่งตามปกติแล้วเขาก็จะเลือกหรือลงคะแนนให้ผู้รับสมัครที่มีนโยบายใกล้เคียงกับความคิดของเขามากที่สุด กนก วงษ์ตระหง่าน (2528, 177-179) ได้กล่าวถึงทัศนะของอัลวิน รูกี้ (Alvin Rougie) ที่อธิบายเกี่ยวกับแบบแผนพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนในประเทศโลกที่สาม ซึ่งประเทศไทยก็ถูกจัดกลุ่มอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ว่า รูปแบบการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนมักเป็นไปในแบบอุปถัมภ์ (Clientelist Votes) กล่าวคือ ประชาชนจะไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วยความรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ การลงคะแนนเสียงแบบอุปถัมภ์นี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ การไปลงคะแนนเสียงอย่างเป็นกลุ่มก้อน (Gragarious Votes) ซึ่งหมายถึงการที่ผู้ไปเลือกตั้งมุ่งไปใช้สิทธิ์โดยมีเหตุผลที่จะตอบแทนบุญคุนของผู้สมัคร โดยลักษณะความสำคัญของพฤติกรรมแบบนี้เกิดจากความรู้จักคุ้นเคยเป็นการส่วนตัวหรือได้รับการอุปถัมภ์กับมาแต่ในอดีต ส่วนประเภทที่สองคือการขายเสียง (Sold Votes) เป็นการที่ประชาชนไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งโดยแลกกับการรับเงินหรือสิ่งมีค่าต่าง ๆ อันได้แก่เสื้อผ้าอาหารและเครื่องใช้ เป็นต้น (พิชัย เก้าสำราญ 2530, 72 อ้างถึงใน รักฎา บรรเทิงสุข 2540, 13) ซึ่งเป็นคำกล่าวที่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ในสังคมไทย ว่ามีการจ่ายเงินซื้อเสียงเป็นจำนวนมากในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง และหลายครั้งที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญและสื่อมวลชนต่างคาดประมาณให้เห็นว่าเม็ดเงินที่ใช้ในการซื้อเสียงเลือกตั้งแต่ละครั้ง เมื่อรวมกันแล้ว เป็นจำนวนที่มหาศาลนับเป็นหลายพันล้านบาท ในกรณีประเทศไทย กนก วงษ์ตระหง่าน (2530, 62-69) กล่าวเพิ่มเติมไว้ว่าโดยทั่วไปพรรคการเมืองไทยจะมีนโยบายที่คล้ายคลึงกัน และไม่ค่อยให้ความสำคัญกับนโยบายของพรรคเท่าใดนัก ดังนั้น คุณสมบัติส่วนตัวของผู้สมัคร จึงมีความสำคัญมากกว่านโยบายของพรรค จึงได้ปรากฏภาพว่าที่ผ่านมาหลายคราว ในการหาเสียงเลือกตั้งผู้สมัครจะมุ่งชูคุณสมบัติส่วนตัวมากกว่าจะพูดถึงนโยบายของพรรคการเมืองที่เขาสังกัด หรือใช้ยุทธวิธีการโจมตีเรื่องส่วนตัวของคู่แข่งมากกว่าจะโจมตีหรือพูดถึงเรื่องนโยบายของพรรค และมักพูดแสดงให้ประชาชนเห็นว่าเขาจะทำอะไรให้กับชุมชนและประชาชนในเขตเลือกตั้งของเขาบ้างหากได้รับเลือก นอกจากนี้ ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประชาชนจะพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัคร ซึ่งก็คือความพร้อมและความสามารถของผู้มาสมัครที่จะทำหน้าที่สนองความต้องการหรือแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนได้มากน้อยเพียงใดเป็นเกณฑ์ใหญ่
3) ทฤษฎีระบบเป็นแนวทางการศึกษาพฤติกรรมการเลือกตั้งในเชิงระบบ ที่ได้ประยุกต์เอาทฤษฎีระบบการเมือง (Political Systems Theory) ของเดวิด อีสตัน (David Easton) มาใช้เป็นกรอบแนวทางในการศึกษาพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และถือว่าเป็นแนวการศึกษาวิเคราะห์หนึ่งที่ได้รับความนิยมโดยทั่วไปของนักรัฐศาสตร์ทฤษฎีนี้พิจารณาว่า การลงคะแนนเสียงตามปกติ (Normal Votes) คือความสมดุลของความนิยมในพรรคการเมืองสองพรรคใหญ่ในการเลือกตั้งที่มีลักษณะของการเลือกพรรคหรือมีความนิยมในพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นฐานเช่นในอเมริกา ความสมดุลของระบบการเมืองว่าการขึ้นลงของอัตราการลงคะแนนเสียงและการเลือกคนใดคนหนึ่งนั้นขึ้นอยู่กับส่วนผสมของปัจจัยแวดล้อม ซึ่งผันแปรไปในช่วงสมัยที่มีการเลือกตั้งซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลระยะสั้น (Short term Forces) เช่น ความสนใจใน
ตัวผู้สมัคร ความเห็นต่อนโยบาย และปัญหาทางการเมืองภาพพจน์ต่อการปฏิบัติงานของพรรคสถานการณ์ภายในและภายนอกประเทศ สภาพการแข่งขันของผู้สมัคร เป็นต้น เมื่อประมวลรวมกันแล้วจะมีผลต่อปัจจัยพื้นฐาน คือความนิยมพรรค ที่ถือว่าเป็นแรงผลักดันในระยะยาว (Long-term Force) ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงคะแนนเสียงเปลี่ยนความนิยมพรรคจากพรรคหนึ่ง เป็นการแกว่งออกจากสภาวะสมดุล “ปกติ” และเมื่อถึงการเลือกตั้งคราวต่อไปก็มักจะแกว่งกลับ โดยภาวะสมดุล(Equilibrium) เช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็คือ พิจารณาทำให้ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนด (Deterministic) และความสำนึกเชิงเหตุผลที่เกิดจากปัจจัยระยะสั้นเฉพาะช่วงสมัย (Short Term Forces) การใช้ทฤษฎีดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นตัวแบบเชิงการทำนาย (Predictive Mode) พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว (2529, 21) ได้ชี้ให้เห็นตัวอย่างงานการศึกษาพฤติกรรมการเลือกตั้งที่อิงแอบแนวคิดทฤษฎีเชิงระบบของแคมเบลล์และคณะ (อ้างถึงในเชิงอรรถเสริมความ) ในหนังสือเรื่อง"The American Voter" ตีพิมพ์ในปี 1964 ว่า การแข่งขันของพรรคการเมืองในสหรัฐอเมริกามีลักษณะเป็นสภาพนิ่งที่เกิดภาวะสมดุลของระบบ (Homeostatic) ซึ่งอัตราการขึ้นลงของการคะแนนเสียงและเลือกพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง เกิดจากส่วนผสมระหว่างปัจจัยพื้นฐานระยะยาวคือความนิยมในพรรค กับปัจจัยระยะสั้นคือความพอใจในผู้สมัคร นโยบายที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางการเมืองภาพพจน์ที่มีผลต่อการปฏิบัติงานของพรรค และสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทั้งภายในกับภายนอกประเทศ ซึ่งจะผันแปรไปในแต่ละช่วงสมัย เมื่อผู้ลงคะแนนเสียงนำปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้มารวมกันประกอบในการพิจารณาตัดสินใจ ก็จะก่อให้เกิดความชอบพรรคหนึ่งมากกว่าอีกพรรคหนึ่ง ซึ่งทำให้ความสมดุลในระบบเสียไป และเมื่อถึงการเลือกตั้งครั้งใหม่ ก็มักจะแกว่งตัวกลับมาเช่นนี้เรื่อยไปนอกจากแนวความคิดและทฤษฎีที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีทฤษฎีที่อธิบายถึงการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน อีกหลากหลายทฤษฎีดังนี้
1) ทฤษฎีประชาธิปไตย (Democracy) คือ การยอมรับสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเป็นการปกครองที่ชอบธรรม ซึ่งมีนักทฤษฎีหลายท่านได้เน้นถึงการยอมรับสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และการมีความรับผิดชอบในการบริหารประเทศชาติโดยถือว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองมาจากประชาชน โดยประชาชนเลือกผู้แทนเข้าไปดำเนินการบริหารซึ่งตามความคิดของนักทฤษฎีประชาธิปไตย ระบบมีผู้แทน เช่น จอห์น ลอคส์ และโทมัส เจฟเฟอร์สัน (John Locks and Thomas Jefferson) ถือว่าประชาชนมีความเสมอภาคกันและมีความสามารถที่จะเข้าร่วมบริหารงานปกครองประเทศชาติ แต่เมื่อประชากรมีมากจึงต้องมีการเลือกผู้แทนเป็นตัวแทนของประชาชนไปเป็นปากเสียงแทนประชาชน ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งต้องใช้สิทธิอย่างอิสระปราศจากการใช้อิทธิพลหรืออามิสสินจ้างใดๆดังนั้นประชาชนจึงต้องไปเลือกผู้แทน เพื่อให้ทำหน้าที่ต่างๆ แทนตน
2) ทฤษฎีการแลกเปลี่ยน (Exchange Theory) มีสาระสำคัญเบื้องตนคือ ในการอยู่ร่วมกันใน สังคมมนุษย์เราต้องมีปฏิสัมพันธ์ในเชิงการแลกเปลี่ยนต่อกัน โฮแมนส์ (George Homans) ได้พัฒนา ทฤษฎีการแลกเปลี่ยนจากการทดลองของ สกินเนอร์ (B .F. Skinner) ซึ่งได้ทดลองแสดงพฤติกรรมของนกพิราบโดยวางเงื่อนไขการให้รางวัล คือ เมล็ดข้าว ถ้านกพิราบไปจิกที่ปุ่มอื่นก็จะได้รับการลงโทษโดยจะมีกระแสไฟฟ้าดูดอ่อนๆ จนเกิดความเจ็บปวดและระคายเคือง ต่อมานกพิราบก็จะเกิดการเรียนรู้ต่อพฤติกรรมของตนและจะแสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่ตนเองได้ประโยชน์ คือ จิกปุ่มที่ตัวมันจะได้เมล็ดข้าวกินเมื่อมันต้องการอาหาร โฮแมนส์ได้เปรียบเทียบกับพฤติกรรมของมนุษย์ซึ่งไม่แตกต่างจากสัตว์โลก คือ คนเราจะคบหาสมาคมกันอย่างใกล้ชิดหรือขึ้นอยู่กับการสนองตอบความต้องการและทำประโยชน์ ซึ่งเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของคนที่อยู่ร่วมกัน ทฤษฎีการแลกเปลี่ยนของโฮแมนส์นี้ ช่วยอธิบายให้เราทราบว่า การที่ผู้เลือกตั้งบางส่วนไปเลือกผู้แทนก็เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับทรัพย์สินผลประโยชน์ได้รับความยกย่อง ความสะดวกสบายหรือตำแหน่งหน้าที่ที่คาดว่าจะได้รับ ส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งก็ใช้เงินบ้าง ผลประโยชน์บ้าง การยกย่องนับถือว่าเป็นกลุ่มเดียวกันบ้างหรือตำแหน่งหน้าที่บ้าง ให้แก่ผู้สนับสนุนลงคะแนนให้แก่ตน เป็นการแลกเปลี่ยนกับคะแนนเสียงที่ตนได้รับ
3) ระบบอุปถัมภ์ (Patron-Client) เป็นแนวคิดที่กล่าวถึงความสัมพันธ์เชิงการแลกเปลี่ยนต่างตอบแทนกันของคนสองฝ่ายที่ไม่เท่าเทียมกัน (Reciprocative Relationship) ที่มีวิวัฒนาการมาจากระบบชนชั้น และสถานภาพทางสังคม (Class and Status) ตามแนวคิดของเวเบอร์ (Max Weber) ต่อผู้มีฐานะสูงมีทรัพย์สินมากเป็นผู้อุปถัมภ์ เพื่อต้องการได้รับการยอมรับหรือเมื่อมีความจำเป็นที่เรียกใช้ก็ได้รับการบริการสนองตอบ รวมตลอดถึงความจงรักภักดีด้วย โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งเคยมีไพร่มีทาสมาก่อน ทำให้สถานภาพของคนที่มีฐานะยากจนและด้อยโอกาสมักแสวงหาที่พึ่งจากผู้มีฐานะร่ำรวย ส่วนหนึ่งคือ นักการเมืองที่สมัครจะใช้วิธีการให้ความอุปการะในด้านต่างๆ เช่น เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยหรือตาย ญาติก็จะไปขอความช่วยเหลือจากผู้มีฐานะดีกว่าตน เมื่อได้รับการช่วยเหลือ หรือที่เรียกว่าอยู่ในความอุปถัมภ์ก็จะไปลงคะแนนเสียงให้เป็นการตอบแทนบุญคุณที่ตนเคยได้รับอุปถัมภ์มาแต่เก่าก่อน
4) ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Personal Relations) แนวคิดนี้มีสาระอยู่ว่า ในฐานะที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มนุษย์จะต้องอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม (Human Group) สร้างความสัมพันธ์อันเกิดจากการคบหาสมาคมกันทำให้คนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน เช่น กลุ่มญาติ กลุ่มนักศึกษา กลุ่มสถาบัน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอาชีพ สมาคมและกลุ่มการเมือง ทำในสิ่งที่จะสร้างความพึงพอใจแก่ผู้ที่ตนรู้จัก และหลีกเลี่ยงภาวะที่จะสร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นกับสมาชิกอื่นที่อยู่ในกลุ่ม
[1] Raymond Williams, Keywords. London : Fontana Books, 1983, p.93.
[2] แปลว่า ประชาชน
[3] แปลว่า อำนาจหรือ การปกครอง
[4] สิทธิธรรมชาตินี้ เป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อบรรดานักปรัชญาการเมืองและนักปราชญ์ทั่วไปในอดีตมาก และได้มีการถ่ายทอดเผยแพร่
แนวคิดดังกล่าวไปยังนักการเมืองและประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง กระทั่งถือเป็นสิ่งที่จุดประกายความคิดในการเปลี่ยนแปลงระบอบ
การปกครองแบบดั้งเดิมที่เน้นชนชั้น และอำนาจการปกครองที่สามารถลิดรอนสิทธิและความเป็นมนุษย์อยู่ในมือของคนบางกลุ่มที่เป็น
ผู้นำ อันได้แก่การปฏิวัติใหญ่เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของฝรั่งเศสในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1780 (ปี 1789) หรือปรากฏเป็นหลักการ
ในมหากฎบัตรแมกนาคาร์ต้าของประเทศอังกฤษ เป็นต้น
ในทัศนะของนักคิดกลุ่มสโตอิกส์ (Stoics) สิทธิธรรมชาติ เป็นสิทธิที่ตกอยู่กับบุคคลและตลอดไป ภายใต้กฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองและมนุษย์มิได้สร้างขึ้น หากศึกษาปรัชญาการเมืองแล้ว จะพบว่า นักปรัชญาการเมืองสมัยโบราณ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิตามธรรมชาติหรือเรียกสั้น ๆ ว่า สิทธิธรรมชาติ ของมนุษย์เป็นอย่างมาก ในฐานะที่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหรือคงอยู่ควบคู่กับกฎหมายธรรมชาติ (Natural Laws) ในสมัยกรีกที่รุ่งเรือง พลเมืองในนครรัฐกรีกได้รับการรับรองในสิทธิที่สำคัญหลายประการได้แก่ สิทธิในการพูดที่เท่าเทียมกัน (Isogoria) และสิทธิในความเสมอภาคตามกฎหมาย (Isonomia) ซึ่งสิทธิทั้งสองประการนี้นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งและกล่าวกันอย่างมากในปัจจุบัน สิทธิธรรมชาติมีที่มา 3 ทางคือ
(1) จากหลักแห่งเหตุผล (Rationalism) ซึ่งถือว่า สิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ถูกคิดค้นขึ้นมาจากหลักการโดยแท้ ซึ่งไม่อาจโต้แย้งได้ หลักแห่งเหตุผลนี้ มีรากฐานมาจากความคิดในเรื่องกฎหมายธรรมชาติและเกี่ยวข้องกับเรื่อง “เหตุผลตามธรรมชาติ” (Natural
Reasons) กล่าวคือ คิดจากเหตุผลโดยทั่ว ๆ ไปว่าบุคคลควรมีสิทธิอะไรบ้าง เป็นต้น
(2) จากลัทธิปัจเจกชน (Individualism) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ว่า สิทธิธรรมชาติของบุคคล เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นแก่ตัวบุคคล ซึ่งไม่อาจโอนให้แก่กันได้ จะจำกัดหรือลิดรอนสิทธินี้โดยผู้อื่นก็มิได้ และ
(3) จากลัทธินิยมความรุนแรง (Radicalism) โดยถือว่า การใช้กำลังจะถูกกล่าวอ้างในเวลาหนึ่งเวลาใดว่าเป็นจุดมุ่งหมายของ
สถาบันการเมืองทั้งหมด และจุดมุ่งหมายของสถาบันการเมืองดังกล่าวก็คือการรักษาไว้ซึ่งสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ ตัวอย่างที่
ปรากฏโดยอาศัยรากฐานประการนี้ได้แก่ ความในประกาศอิสรภาพของประเทศสหรัฐอเมริกา (American Declaration of Independence)
ซึ่งระบุว่าหากรัฐบาลดำเนินการปกครองไปในทางที่เป็นปรปักษ์ต่อหลักการเมื่อใด เมื่อนั้นประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะล้มล้างหรือ
เปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้ และกลับมาสถาปนารัฐบาลใหม่ตามที่เห็นว่าจะทำให้ได้รับความผลอดภัยและยังความผาสุกให้เกิดขึ้นได้มาก
ที่สุด
[5] ความชอบธรรม เป็นความยอมรับทั่วไปในระบอบการปกครองหรือกฎหมาย คำว่าความชอบธรรมนี้ จะถูกนำมาใช้เพื่อการอธิบายถึง
ระบบการปกครอง ซึ่งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่อันหมายความถึงตำแหน่งที่เจาะจงของการปกครอง อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องความชอบ
ธรรมได้ถูกประยุกต์ไปใช้กับสิ่งอื่นที่มิใช้การปกครองและกฎหมายด้วย ยกตัวอย่างได้แก่ เรื่องนอกการเมือง (non-political) อำนาจ
หน้าที่บางอย่าง อาทิ อำนาจของการจ้างงานของนายจ้าง นอกเหนือไปจากนั้น ยังเกี่ยวข้องกับประเด็นความชอบธรรมของระบบ
เศรษฐกิจการเมืองทั้งระบบ ตามแนวคิดของนักคิดสายมาร์กซิสม์ คำว่าความชอบธรรมนี้ สามารถแปลความได้ทั้งในเชิง normative หรือ
เชิงบวกได้ แต่เดิม ความชอบธรรมในเชิงปรัชญาศีลธรรมนั้น สิ่งใดจะชอบธรรมได้ก็ต่อเมื่อมีการรับรองสิ่งนั้น แต่ภายหลังต่อมา
ความชอบธรรมได้รับความสนใจมากในแวดวงรัฐศาสตร์ ความชอบธรรมของสถาบันเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการรับรองทั่วไปภายใต้อำนาจ
หน้าที่ที่มีอยู่ ประเด็นความชอบธรรมนี้ เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับความยินยอม ทั้งความยินยอมที่ปรากฏโดยตรงหรือความยินยอมแบบ
ปริยาย โดยความชอบธรรมได้รับการพิจารณาว่าเป็นเงื่อนไขพื้นฐานของการปกครองกล่าวคือ หากปราศจากความชอบธรรมแม้เพียง
น้อย การปกครองย่อมประสบปัญหาความยุ่งยากและอาจถึงการล่มสลายได้ ดาห์ล (Robert A. Dahl cited in
[URL]http://www.en.wikipedia.org/wiki/legitimacy_%28political_science%29) นักรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า ความ
อธรรมเปรียบเสมือนสิ่งรักษาระดับน้ำในแหล่งกักเก็บ ตราบเท่าที่ ความมีเสถียรภาพในระดับหนึ่งนั้นถูกรักษาไว้ ความชอบธรรมนั้นจะ
ยังคงอยู่ เมื่อใดที่เสถียรภาพลดต่ำลงกว่าระดับนี้ นับว่าอันตราย ในบางกรณีระบอบการปกครองดูเหมือนว่าจำเป็นต้องได้รับความนิยม
จากประชาชนในจำนวนมากเพื่อคงอำนาจไว้ แต่ในบางกรณีความจำเป็นดังกล่าวแทบจะไม่มี ยกตัวอย่างเช่น ระบอบการปกครองที่ขาด
ความนิยมหลายระบอบ แม้มีความพยายามรักษาความอยู่รอดให้แก่บรรดาผู้ปกครองหรือชนชั้นนำ แต่ความชอบธรรมก็เป็นประเด็นที่มี
น้ำหนักน้อยที่จะเกื้อกูลความอยู่รอดของผู้ปกครองนั้นได้ ในการปกครองแบบประชาธิปไตย ความชอบธรรมทางการปกครอง
ย่อมขึ้นอยู่กับวิธีการ/กระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองตามแบบ อาทิ การมีการเลือกตั้ง (Election) เนื่องจากเป็นวิธีการอย่างหนึ่ง
ที่ประกันว่าจะมีตัวแทนของประชาชนเข้าไปมีส่วนช่วยในการปกครองและบริหารประเทศ อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งที่ถือว่าเป็นวิธีการ
สร้างความชอบธรรมของการเข้าสู่อำนาจการปกครองของนักการเมืองก็เป็นแต่เพียงการยอมรับในกติกาและวิธีการของการปกครอง
เท่านั้น โดยที่ประชาชนบางกลุ่มเห็นหรือมีความเชื่อว่าการเลือกตั้งไม่ได้ก่อให้เกิดความหวังต่อส่วนร่วมได้ และไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งจะ
ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก เนื่องจากคงจะได้คนกลุ่มเดิมที่เห็นแก่ตัวเข้าไปเป็นผู้แทนและเห็นว่ารัฐบาลขาดประสิทธิภาพ
ในการบริหารโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยเป็นปัญหาในเรื่องตัวบุคคลผู้เข้าไปมีอำนาจหรืออิทธิพลในการปกครอง
ของไทย
[6] ในสารานุกรมบริแทนนิก้า (Encyclopedia of Britannica) ปี ค.ศ. 1911 อำนาจอธิปไตย หมายถึง สิทธิแห่งอัตลักษณ์ทางการเมือง(Political Entity) ที่บ่งบอกถึงการใช้อำนาจของรัฐาธิปัตย์หรือผู้มีอำนาจสูงสุดทางการปกครอง อันแสดงถึงมโนทัศน์ของการมีอำนาจสูงสุด (the supremacy of power) ภายในขอบเขตเชิงภูมิศาสตร์แห่งรัฐ แนวคิดสำคัญเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย ในกฎหมายระหว่าง
ประเทศ ระบุไว้ว่าอำนาจประการนี้หมายความถึง การใช้อำนาจโดยรัฐ อำนาจอธิปไตยโดยนิตินัย (De jure Sovereignty) หมายความถึง
สิทธิอำนาจตามกฎหมายที่จะกระทำการหนึ่งใด ส่วนอำนาจอธิปไตยโดยพฤตินัย (De facto Sovereignty) ความสามารถในทางจริงที่จะ
กระทำการเช่นนั้น อำนาจตามความที่กล่าวถึงข้างต้น หมายความไปถึงอำนาจในลักษณะการที่สามารถเข้าใจได้ง่ายว่าเป็นอำนาจสูงสุด
ทางการปกครองของประเทศหนึ่งประเทศใด หรือรัฐหนึ่งและใด ในฐานะหนึ่งที่อำนาจอธิปไตยเป็นองค์ประกอบที่แสดงให้เห็นและ
ขาดเสียมิได้ของรัฐสมัยใหม่ (Modern State) หรือรัฐประชาชาติ (Nation-State) มิเช่นนั้น รัฐหรือรัฐประชาชาตินั้น ย่อมขาดความเป็นเอก
ราชในทางการเมืองการปกครอง ผู้สนใจศึกษาเพิ่มเติมได้ใน เดชชาติ วงศ์โกมลเชษฐ์. 2508. หลักรัฐศาสตร์. กรุงเทพฯ: มปพ. หรือทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต http://en.wikipedia.org/wiki/Sovereignty
[7] ดูประกอบกับ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์. 2544. การเมืองอังกฤษ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: เสมาธรรม, หน้า 163-164.
[8] มหากฎบัตรแมกนา คาร์ต้า เป็นเอกสารที่แสดงถึงการคุ้มครองสิทธิของบุคคล มหากฎบัตรนี้ จัดทำขึ้นในสมัยพระเจ้าจอห์น แห่ง
สหราชอาณาจักร ภายใต้มูลเหตุของความขัดแย้งเรื่องการใช้อำนาจการปกครองระหว่างพระองค์กับเหล่าขุนนางที่เห็นว่าพระมหากษัตริย์
ใช้อำนาจการปกครองเกินขอบเขต เหล่าพระในนิกายทางคริสต์และขุนนางได้รวมตัวกันกดดันบังคับให้พระเจ้าจอห์นลงพระ
ปรมาภิไธยในเอกสารที่เรียกว่า “Great Charter” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า แมกนา คาร์ต้า “Magna Carta” ซึ่งจัดเป็นบทกฎหมายหลักที่รับรองสิทธิเสรีภาพของราษฎรชาวอังกฤษ โดยมีบทบัญญัติรวมกันทั้งสิ้น 63 ข้อ ยกตัวอย่างได้แก่ กษัตริย์จะเก็บภาษีราษฎรโดยที่
ไม่ได้รับความเห็นชอบจากเหล่าพระและขุนนางไม่ได้ กลายเป็นหลักการทางภาษีที่ว่า “ไม่มีการเก็บภาษีถ้าไม่มีผู้แทน” (no taxation
without representation) หลักการบังคับใช้กฎหมายโดยเสมอภาคไม่แบ่งแยกชนชั้นวรรณะ เป็นต้น
[9] พฤติกรรมทางการเมือง (Political behavior) เป็นศัพท์ที่นักรัฐศาสตร์หรือผู้สนใจศึกษาในแขนงวิชารัฐศาสตร์ มีความเข้าใจและคุ้นเคย
อยู่มากที่เดียวการใช้ศัพท์คำนี้ในทางปฏิบัติอาจจะมีบุคคลต่าง ๆ ให้ความหมายและขอบเขตของคำแตกต่างกันออกไปทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับ
ความมุ่งหมายหรือเจตนาของบุคคลเหล่านั้นเป็นประการสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อกล่าวถึงพฤติกรรมทางการเมืองตามความหมายอย่าง
ที่เข้าใจง่าย ๆ อาจจะหมายถึงตั้งแต่เรื่องของการใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง(อันเป็นจุดเริ่มแรกของการที่จะแต่งตั้งหรือยินยอมให้
บุคคลเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย) การเข้ามีส่วนในกิจกรรมหรือองค์กรทางการเมือง การมีความสัมพันธ์
ติดต่อกับนักการเมือง การอภิปราย หรือการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นในปัญหาการเมือง ตลอดจนความสนใจติดตามข่าวสารต่าง ๆ
ในทางการเมือง เป็นต้น