วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2554

ประวัติการปกครองท้องถิ่นไทย

การปกครองท้องถิ่นไทยเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 ทรงดำเนินการปฏิรูประเบียบวิธีบริหารราชการแผ่นดินแนวความคิดแบบตะวันตก เพื่อให้เกิดเสถียรภาพและเอกราชเป็นสำคัญ และเพื่อให้ทันกับนานาอารยประเทศด้วย
ในการบริหารราชการส่วนกลางก็มีการปรับปรุงโครงสร้างที่สำคัญ คือ การจัดระเบียบบริหารส่วนกลางโดยจัดตั้งกระทรวง 12 กระทรวง รวมทั้งแบ่งแยกหน้าที่การงานออกเป็นสัดส่วนพร้อมกับได้ตั้งเสนาบดีสภาขึ้น เพื่อเป็นที่ประชุมของเสนาบดีกระทรวงต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ส่วนการปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาคที่สำคัญคือ การจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล อันประกอบด้วย มณฑล เมือง อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน แล้วตั้งข้าราชการผู้ใหญ่เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลรับผิดชอบตลอดมณฑลตลอดจนเป็นสื่อกลางระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับเมือง จึงทำให้รัฐบาลกลางสามารถรวบอำนาจการปกครองไว้ส่วนกลางได้ เมืองต่างๆ ในส่วนภูมิภาคจะขึ้นต่อกันตามลำดับและอยู่ในการบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย ทำให้เกิดเสถียรภาพในการปกครอง และมีความมั่นคงสำหรับการปกครองท้องถิ่นทรงมีแนวความคิดที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ในระยะแรกจึงโปรดเกล้าฯ อนุญาตให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการเปลี่ยนแปลงให้ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน และกำนันเป็นผู้ได้รับเลือกจากประชาชนในท้องถิ่นแทนการแต่งตั้งจากรัฐบาลซึ่งนับว่าเป็นการริเริ่มกระจายอำนาจปกครองไปสู่ประชาชนในท้องถิ่น ต่อมาทรงริเริ่มนำหลักการกระจายอำนาจโดยมีพระราชดำริให้มีการทดลองจัดตั้งหน่วยการปกครองท้องถิ่นขึ้น คือ สุขาภิบาลกรุงเทพ เมื่อ ร.ศ.116(พ.ศ.2440) และได้ขยายไปยังหัวเมืองต่างๆ โดย พ.ร.บ. จัดการสุขาภิบาลหัวเมือง ร.ศ. 127(พ.ศ.2451) ดังนั้น จุดเริ่มต้นของการปกครองท้องถิ่นของไทยเกิดจกการยื่นให้หรือจัดตั้งของรัฐบาลแก่ประชาชน

1. การปกครองท้องถิ่นของไทยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475
1.1 การจัดตั้งสุขาภิบาลกรุงเทพฯ การปกครองท้องถิ่นไทยเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชการที่ 5 โดยเริ่มให้มีการจัดขึ้นในรูปของสุขาภิบาลในกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2440 ทรงตราพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ.116 จึงนับเป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยวัตถุประสงค์สำคัญคือ เพื่อป้องกันโรคภัย และภยันอันตรายของประชาชน เป็นการเน้นถึงการดูแลป้องกันโรคภัยต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ เป็นหลัก ตลอดจนประชาชนมีอนามัยและความเป็นอยู่ที่ดี แต่การจัดตั้งสุขาภิบาลกรุงเทพฯ นี้ยังไม่มีลักษณะเป็นการปกครองตนเอง เพราะกำหนดให้ผู้บริหารเป็นข้าราชการประจำ ซึ่งประกอบด้วยเสนาบดีกระทรวงนครบาล นายแพทย์สุขาภิบาล และนายช่างใหญ่สุขาภิบาล ส่วนอำนาจหน้าที่ได้กำหนดไว้ 4 ประการคือ
- การทำลายขยะมูลฝอย
- การจัดดูแลที่ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะของประชาชนทั่วไป
- จัดการห้ามต่อไปในภายหน้าอย่าให้ปลูกสร้าง หรือซ่อมโรงเรือนที่จะเป็นเหตุให้เกิดโรคภัยได้
- ขนย้ายสิ่งโสโครกและสิ่งที่รำคาญขอประชาชนให้พ้นเสีย
ต่อมารัชการที่ 5 ทรงมีพระราชดำริให้กระทรวงมหาดไทยจั้งตั้งสุขาภิบาลขึ้น ในท้องที่ตามหัวเมืองทั่วไป แต่ไม่สามารถทำได้เพราะสมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยขณะนั้นเห็นว่าประชาชนยังไม่พร้อมที่จะรับ ไม่รู้ ไม่เข้าใจ และให้เห็นประโยชน์เนื่องจากสุขาภิบาลจะสำเร็จได้ดีก็ด้วยความพอใจและความนิยมของประชาชนมากกว่า การบังคับของรัฐบาลจนกระทั่ง ร.ศ.124(พ.ศ.2448) จึงทำการจัดตั้ง “การสุขาภิบาลท่าฉลอม” ขึ้นด้วยความสำเร็จและความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งในด้านรัฐบาลและประชาชนในท้องถิ่น
1.2 การจัดตั้งสุขาภิบาลท่าฉลอม เป็นสุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรกที่เลือกเอาวิธีการสุขาภิบาลมาแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการปรับปรุงท้องถิ่นในตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งขณะนั้นเป็นที่สกปรกรกรุงรัง ดังนั้น ข้าราชการเมืองสมุทรสงคราม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จึงได้ชักชวนให้ประชาชนและพ่อค้าร่วมมือช่วยกันสละเงินเพื่อนำมาปรับปรุงตลาดท่าฉลอมให้สะอาด อีกทั้งจ้างขนปัดฝากขยะมูลฝอยทิ้งจนสะอาดสมความปรารถนา ในขณะเดียวกันสมเด็จในกรมฯ ทรงเห็นเป็นโอกาสอันดีที่จะเริ่มงานสุขาภิบาล หัวเมืองตำบลท่าฉลอมเป็นแห่งแรก พร้อมกันนั้นก็ขอพระราชาอนุญาตแก้ไข “ภาษีโรงร้าน” เพื่อยกภาษีโรงร้าน สบทบเป็นรายได้ให้แก่สุขาภิบาลที่จะตั้งขึ้น รัชการที่ 5 ทรงพระกรุณาเสด็จทอดพระเนตร และเปิดถนนที่ราษฎรตำบลท่าฉลอมออกเงินสร้างสำเร็จมีชื่อว่า “ถนนถวาย” เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2448(ร.ศ.124) และนับว่าเป็นการเริ่มงานสุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรกด้วย มีหน้าที่โดยย่อ 3 ประการ คือ
- ซ่อมแซมรักษาถนนหนทาง
- จุดโคมไฟให้มีแสงสว่างในเวลาค่ำคืนเป็นระยะตลอดถนนในตำบลนั้น
- ให้จ้างลูกจ้างสำหรับกวาดขนขยะมูลฝอยของโสโครกต่างๆ ในตำบลนั้นไปเททิ้งเสียที่อื่น
1.3 การจัดตั้งสุขาภิบาลตามหัวเมือง พ.ร.บ. สุขาภิบาลตามหัวเมือง ร.ศ.127 เป็นการจัดตั้งสุขาภิบาลเพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ในการรักษาความสะอาดในท้องถิ่น การป้องกันและรักษาความเจ็บไข้ในท้องที่และการบำรุงรักษาทางไปในในท้องที่ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
(1) สุขาภิบาลสำหรับเมือง จัดในท้องที่ที่เป็นที่ตั้งเมือง ผู้ว่าราชการเมือง(ประธานโดยตำแหน่ง), ปลัดเมือง(ฝ่ายสุขาภิบาลเป็นเลขานุการ), นายอำเภอท้องที่ นายแพทย์สุขาภิบาล, นายช่างสุขาภิบาล และกำนันในเขตสุขาภิบาล 4 คน ถ้ามีไม่ครบให้ข้าราชการเทศาภิบาลมีอำนาจเลือกบุคคลในเขตท้องที่นั้นและมีส่วนเสียภาษีโรงร้านเป็นกำนันพิเศษ โดยอยู่ในตำแหน่งได้ครั้งละ 2 ปี แล้วเลือกใหม่จะซ้ำคนเดิมอีกก็ได้
(2) สุขาภิบาลสำหรับตำบลหรือสุขาภิบาลท้องที่ จัดในท้องที่ที่ชุมชนมากในเขตตำบลประกอบด้วย กำนันนายตำบล(ประธานโดยตำแหน่ง) และผู้ใหญ่บ้านในเขตท้องที่สุขาภิบาล เป็นกรรมการ
1.4 การปกครองตนเองในรูปเมืองจำลอง “ดุสิตธานี” ในปี พ.ศ.2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงทดลองจัดระบบการปกครองตนเองในรูปของเมืองจำลองขึ้น เรียกว่า “ดุสิตธานี” เพื่อฝึกฝนประชาธิปไตยให้กับประชาชนให้รู้จักวิธีการปกครองตนเองโดยกำหนดเป็นเมืองสมมติให้ข้าราชการบริหารกันให้มีการเลือกตั้ง มีพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายสนับสนุน นอกจากนี้ยังให้ออกหนังสือพิมพ์เพื่อให้มีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้จึงเป็นการฝึกหัดปกครองตนเองในทางปฏิบัติที่ถือเป็นแบบอย่างการปกครองท้องถิ่น อันเป็นพระราชดำริที่จะให้มีการปกครองท้องถิ่นขึ้นในอนาคต และนำไปปฏิบัติในจังหวัดต่างๆ แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการจนสิ้นรัชกาล ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการปกครองท้องถิ่นตามรูปแบบเทศบาลในสมัยต่อมา
1.5 การจัดตั้งสภาจัดการบำรุงสถานที่ชายทะเลตะวันตก ปี พ.ศ.2469 ในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้ตรา พ.ร.บ.การจัดบำรุงสถานที่ชายทะเลทิศตะวันตกขึ้นบังคับใช้ โดยจังดั้งสภาจัดการบำรุงสถานที่ชายทะเลตะวันตกขึ้นมีอาณาเขตรับผิดชอบตั้งแต่ตำบลชะอำ ไปจึงถึงตำบลหัวหิน และมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีหน้าที่คือ การสร้างทาง การประปา การไฟฟ้า การผังเมือง และการสาธารณสุข โดยใช้รายได้จากการจัดเก็บจังกอบซึ่งเก็บจากที่ดินและโรงเรือนภายในเขต
2. การปกครองท้องถิ่นของไทยภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475
เมื่อได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อังมีองค์พระมหากษัตริย์ เป็นประมุข เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 แนวความคิดที่กระจายอำนาจ อำนาจปกครองไปสู่ประชาชนก็ได้รับการพิจารณาเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น จึงได้มีการตรากฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน โดยกำหนดให้มีการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหาร และได้มีการจัดตั้งรูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบเทศบาลขึ้นเป็นครั้งแรก โดย พ.ร.บ.จัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476
2.1 การจัดตั้งการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบเทศบาล ได้เริ่มจัดตั้งเทศบาลเมื่อปี พ.ศ.2478 โดยชั้นแรกได้เปลี่ยนสถานสภาพของสุขาภิบาลที่มีอยู่เดิมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นเทศบาลทั้งหมด พ.ร.บ. จัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.2476 แบ่งเทศบาลเป็น3 ประเภท คือ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร โดยจะจัดเป็นประเภทก็ให้รัฐบาลเป็นผู้พิจารณากำหนด
2.2 การจัดตั้งการปกครองท้องถิ่นรูปสุขาภิบาล เริ่มมีขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชการที่ 5 โดยทรงตราพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ.166 ให้อยู่ในบังคับบัญชาของเสนาบดีกระทรวงนครบาล ต่อมา ร.ศ.124 ได้จัดตั้งสุขาภิบาลท่าฉลอม เมืองสมุทรสงคราม ก่อให้เกิดประโยชน์และความนิยมแก่ประชาชนมาก อีกทั้งมีการตรา พ.ร.บ. จัดการสุขาภิบาลตามหัวเมือง ร.ศ.127 (พ.ศ.2451) ขยายกิจการสุขาภิบาลไปตามหัวเมืองต่างๆ รวม 35 แห่ง จนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 จึงหยุดชะงักลง เพราะมี พ.ร.บ. จัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.2476 ให้มีการจัดตั้งการปกครองท้องถิ่นรูปเทศบาลแทน
สุขาภิบาลยุคใหม่เกิดขึ้นโดยพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ.2495 โดยยกเลิกพระราชบัญญัติสุขาภิบาลตามหัวเมือง ร.ศ.127 ซึ่งจัดตั้งโดยประกาศของกระทรวงมหาดไทย ให้มีการระบุชื่อและเขตของสุขาภิบาลส่วนการเปลี่ยนแปลงการยุบเขตก็ให้ทำได้โดยประกาศของกระทรวงมหาดไทย อีกทั้งกำหนดให้สุขาภิบาลเป็นนิติบุคคล
2.3 จัดตั้งการปกครองท้องถิ่นรูปองค์การบริหารส่วนจังหวัด เกิดขึ้นโดยผลของ พ.ร.บ.ระเบียนบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ.2498 ซึ่งกำหนดให้จัดตั้ง “องค์การบริหารส่วนจังหวัด” โดยมีฐานะเป็นองค์การปกครองท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการส่วนท้องถิ่น เรียกว่า “กิจการส่วนจังหวัด” ภายในเขตพื้นที่ของจังหวัด นอกเขตเทศบาลและสุขาภิบาล
2.4 การจัดตั้งการปกครองท้องถิ่นรูปองค์การบริหารส่วนตำบล ในปี พ.ศ. 2498 จอมพบ ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางไปประเทศแถบยุโรปและอเมริกาและพบเห็นการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองจนได้ผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ จึงได้นำแนวความคิดนี้มาสู่ประเทศไทยโดยรัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองในระดับของตำบลและหมู่บ้าน ดังนั้น จึงได้จัดตั้งสภาตำบลขึ้นเพื่อปลุกประชาชนให้เอาใจใส่ในกิจการส่วนรวมของท้องถิ่นของตน ซึ่งเป็นการสร้างนิสัยริเริ่มและรับผิดชอบในงานของส่วนรวมมากขึ้น แต่การจัดตั้งสภาตำบลมิได้มีลักษณะเป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่น ไม่มีอำนาจอิสระในการดำเนินงาน กล่าวคือ ไม่เป็นนิติบุคคล ไม่มีงบประมาณเป็นของตนเอง และไม่มีพนักงานเจ้าหน้าที่ของตนเอง อีกทั้งราษฎรมีส่วนร่วมในการบริหารน้อยเกินไป
การจัดองค์การขององค์การบริหารส่วนตำบล กฎหมายกำหนดให้ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วนคือ “สภาตำบล” ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ มีอำนาจตราข้อบัญญัติตำบลที่กฎหมายให้อำนาจไว้ เพื่อปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการส่วนตำบล กับมี “คณะกรรมการตำบล” ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร ดูแลรับผิดชอบในการดำเนินกิจการส่วนตำบล
โครงสร้างสภาตำบลในปัจจุบัน กฎหมายกำหนดให้สภาตำบลมีคณะกรรมการสภาตำบลประกอบด้วยกรรมการ 2 ประเภท คือ
- กรรมการสภาตำบลโดยตำแหน่ง ได้แก่ กำนัน (ประธานกรรมการสภาตำบล), ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านในตำบล และแพทย์ประจำตำบล
- กรรมการสภาตำบลโดยการเลือกตั้ง ได้แก่ ผู้ที่ประชาชนในหมู่บ้านเลือกขึ้น หมู่บ้านละ 1 คน กรรมการประเภทนี้เรียกว่า “กรรมการสภาตำบลผู้ทรงคุณวุฒิ”
สภาตำบล มีหน้าที่บริหารงานตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย พิจารณาให้ความเห็นชอบโดรงการและงานเกี่ยวกับพัฒนาตำบล เพื่อให้เป็นไปด้วยความเหมาะสมและตอบสนองความต้องการของราษฎรตลอดจนพิจารณาแก้ไขข้อปัญหาข้อขัดข้อง และอุปสรรคที่เกี่ยวกับการพัฒนาตำบล แต่ไม่จัดเป็นรูปการปกครองท้องถิ่น เพราะขาดลักษณะสำคัญบางประการ คือ ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่มีอำนาจตราข้อบัญญัติตำบล ไม่มีเจ้าหน้าที่ในการบริหารงานของตนเอง การดำเนินโครงการต่างๆ ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด และสภาจังหวัด ส่วนงบประมาณที่จำดำเนินงานจากเงินอุดหนุนของรัฐบาลซึ่งกระทรวงมหาดไทยจัดสรรให้ ดังนั้น สภาตำบลจึงจัดเป็นเพียงองค์กรของหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาค
2.6 การจัดตั้งการปกครองท้องถิ่นรูปเมืองพัทยา เกิดขึ้นโดยผลของ พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2521 ซึ่งเป็นการยกฐานะสุขาภิบาลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จัดหวัดชลบุรี ขึ้นเป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นรูปพิเศษ เรียกว่า “เมืองพัทยา” โดยมีเหตุผลในการจัดตั้งคือ มีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และเป็นสถานที่พักตากอากาศที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ จึงทำรายได้ให้แก่ประเทศจำนวนมาก ดังนั้น จึงก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม สิ่งแวดล้อม การผังเมือง และการควบคุมก่อสร้างอาคารด้วย ซึ่งนอกจากจะเกี่ยวข้องกับประชาชนในท้องถิ่นแล้วยังมีผลกระทบเกี่ยวโยงกับผลประโยชน์และรายได้ของชาติ โดยเฉพาะในเรื่องการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รัฐบาลจึงได้พิจารณาเห็นสมควรจัดระเบียบการปกครองในท้องถิ่นนี้ใหม่ให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ สังคม และเพื่อแก้ปัญหาของท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังคำนึงหลักแห่งการปกครองตนเองโดยให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนรวมในการปกครองตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในการพิจารณาปรับปรุงรูปแบบของหน่วยการปกครองท้องถิ่นที่พัทยาขึ้นใหม่เป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นรูปพิเศษนี้ กระทรวงมหาดไทยซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับราชการบริหารส่วนท้องถิ่นได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ชื่อว่า “คณะกรรมการการศึกษาข้อมูลสำหรับพิจารณาจัดตั้งหน่วยการปกครองท้องถิ่นรูปพิเศษที่พัทยา” ขึ้นเพื่อศึกษาและหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีหลักการว่ามีลักษณะเหมาะสมสอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาของพัทยา ซึ่งเป็นปัญหาที่มีลักษณะเฉพาะตัว และจะต้องมีประสิทธิภาพในการบริหาร เหมาะสมกับภารกิจในหน้าที่ของพัทยาในอนาคต อีกทั้งยังมีความเห็นว่าควรจัดการปกครองในรูปเทศบาลแบบ “ผู้จัดการนคร” (City Manager) เพราะมีการใช้ผู้บริหารอาชีพที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการบริหารสูง เหมาะสมกับภารกิจที่พัทยาจะต้องรับผิดชอบ นอกจากนี้ยังปลอดภาวการณ์ถูกแทรกแซงทางการเมือง เนื่องจากการเข้ารับตำแหน่งเป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาจ้างไม่ใช่โดยวิถีทางหรือเหตุผลทางการเมือง ทำให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในการจัดทำกิจการและสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างได้ผล อีกทั้งยังช่วยขจัดปัญหาที่ขัดแย้ง ระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายสภาพที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นในระบบเทศบาล ดังนั้น จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2521 ขึ้น ประกาศใช้เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2521

3 ความคิดเห็น:

  1. ขออณุญาตแก้ไขข้อมูลครับ คือ สุขาภิบาลท่าฉลอม อยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร นะครับอาจารย์ ไม่ใช่จังหวัดสมุทรสงคราม

    ตอบลบ
  2. สุขาภิบาลไปตามหัวเมืองต่างๆ รวม 35 แห่ง มีที่ไหนบ้างค่ะ

    ตอบลบ