วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ความมั่นคง และกำลังอำนาจแห่งชาติ ตอน 2

ความรักชาติและชาตินิยม
ความรักชาติ (Patriotism) หมายถึง การมีจิตผูกพันต่อชาติอันเป็นปกติวิสัยที่พลเมืองพึงมีซึ่งลักษณะทางจิตวิทยาของความผูกพันนี้เหมือนกับการรักบ้าน คือรักถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอน อันเป็นการสนับสนุนให้คนรักชาติ
ชาตินิยม (Nationalism) หมายถึง ความรักชาติที่เป็นไปจนเกินความพอดี เป็นการเน้นความรู้สึกหนักไปในมิติทางการเมืองซึ่งสัมพันธ์กับประเทศอื่น
ศรัทธาต่อชาติ ในรูปของชาตินิยมจึงควรพึงอยู่ภายในขอบเขต กล่าวคือ จะต้องไม่มีมากจนกลายเป็นความงมงายในชาติหรือมีความหลงชาติ ซึ่งมีความงมงายในชาติจนเกินขอบเขตมักก่อให้เกิดการทำร้ายหรือรังแกคนกลุ่มน้อยในชาติ ซึ่งทำให้เกิดการแตกแยกภายใน
ยกตัวอย่างเช่น ความหลงชาติของคนเยอรมันจำนวนหนึ่งภายใต้การนำของฮิตเลอร์ ซึ่งเชื่อทฤษฎี “เชื้อชาติบริสุทธิ์” โดยการยกย่องเยอรมันผู้ที่มีเชื้อสาย “อารยัน” และพยายามทำลายล้างเผ่าพันธุ์คนเยอรมันผู้มีเชื้อสาย “ยิว” หรือการต่อต้ายชนเชื้อสายยิว (Anti-Semitism) เป็นผลให้คนเยอรมันผู้มีความสามารถหลายคนหลบหนีออกนอกประเทศ เกิดปัญหาสมองไหลหรือสมองล่อง (Brain Drain)
ความสามารถทางวิชาการกับความมั่งคงและกำลังอำนาจ
ความตื่นตระหนักกับผลสำเร็จของดาวเทียมสปุตนิค(Sputnik Shock) โดยในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2500 สหภาพโซเวียตได้ประสบผลสำเร็จเป็นชาติแรกในการส่งดาวเทียม Sputnik อันเป็นดาวเทียมดวงแรกของโลกขึ้นไปในอวกาศ ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ในขณะนั้นรีบดำเนินการให้ค้นคว้าวิจัยว่าทำไมประเทศตนจึงล้าหลังสหภาพโซเวียตในทางเทคโนโลยีอวกาศ ผลจากการวิจัยได้มุ่งประเด็นไปที่หลักสูตรโดยเฉพาะในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในระดับมัธยม จึงมีการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษา กันอย่างขนานใหญ่ โดยให้เรียนวิชาหลักมากขึ้นและเข้มข้นยิ่งขึ้น

พหุปัจจัย
ความมั่นคงและกำลังอำนาจแห่งชาติขึ้นอยู่กับพหุปัจจัย และเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสภาวะทั้งทางรูปธรรมและนามธรรม ซึ่งปัจจัยเชิงนามธรรมนั้นแม้จะมองเห็นได้ไม่ง่ายนัก แต่ก็มีความสำคัญยิ่ง โดยมีวาทะที่น่าพิจารณาดังนี้
อานุภาพของศรัทธา : ทัศนะของมหาตมะคานธี โดยมหาบุรุษผู้นำขบวนการกู้ชาติของอินเดีย ด้วยวิธีการสัตยาคฤห์ (สัตยาเคราะห์) คือ ด้วยวิธีการอหิงสา (อวิหิงสา) ได้กล่าวไว้ว่า “ศรัทธานี้เองที่นำเราฝ่าทะเลมรสุม ศรัทธานี้แหละที่เขยื้อนขุนเขา และศรัทธานี้ด้วยที่พาเรากระโจนข้ามมหาสมุทร ศรัทธานั้นไม่ใช่อื่นไกลเลย นอกจากสติรู้สำนึกที่ตื่น และมีชีวิตของคุณธรรมภายใน ผู้ใดที่เปี่ยมด้วยศรัทธา นั้นแล้วย่อมไม่ต้องการสิ่งใดอีก”
อำนาจของศีลธรรม : ทัศนะของ พ.อ. ปิ่น มุทุกันต์ โดยได้กล่าวว่า “บรรพบุรุษของเรารักษาชาติให้ลุล่วงมาได้จนวันนี้ ก็เพราะชาวไทยเราพากันรักษาศีล คือ ไม่ทำลายล้างผลาญกันทั้งทางชีวิต ร่างกาย ทางทรัพย์ และทางอื่นๆ เราไม่ทำลายกัน เราก็รักกันควบคุมกันเป็นปึกแผ่น...”

บทบาทของจริยธรรมหรือศีลธรรม
จริยธรรมและศีลธรรมต่างก็เป็นเรื่องของมาตรฐานแห่งความประพฤติของบุคคล แต่มีข้อแตกต่าง คือ ศีลธรรม มีความโน้มเอียงที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องทางศาสนาหรือเกี่ยวข้องกับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ส่วน “จริยธรรม” มักเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับเรื่องมนุษยธรรม อันเป็นหลักปฏิบัติที่ถือว่าดี อยู่ในตนเอง หรือ มีความเหมาะสมเพื่อการอยู่ในสังคมอย่างราบรื่น
จริยธรรม(Ethics) และ ศีลธรรม (Morality) มีความหมายใกล้เคียงกันทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยมีความหมายเหมือนกันในส่วนที่เกี่ยวกับ “ความควร” หรือ “ความไม่ควร” ของพฤติกรรม

จริยธรรมกับมาตรฐานสากลแห่งการอยู่ร่วมกัน
สภาพบ้านเมืองที่ไร้จริยธรรมอันเป็นมาตรฐานสากล จะเป็นดังคำพังเพยที่ว่า “กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม” คือ อลเวงสับสนไปหมด โดยคนชั่วเปรียบเสมือนกระเบื้อง ซึ่งหนักแต่กลับได้รับการยกย่องหรือลอยขึ้นมา ส่วนคนดีเปรียบเสมือนน้ำเต้า ซึ่งเบาแต่กลับถูกเหยียดหยามกดให้จมลงไป ในกาพย์เรื่องพระไชยสุริยา ของท่านรัตนกวีสุนทรภู่ มีคำพรรณนาถึงสภาพบ้านเมืองที่ไร้จริยธรรมให้เห็นได้อย่างชัดแจ้ง ดังนี้ “พาราสาวัตถี ใครไม่มีปรานีใคร ดุดื้อถือแต่ใจ ที่ใครได้ใส่เอาพอ ผู้ที่มีผีมือ ทำดุดื้อไม่ซื้อขอ ไล่คว้าผ้าที่คอ อะไรล่อก็เอาไป...”

ความมั่นคง และกำลังอำนาจแห่งชาติ

ความมั่นคง และกำลังอำนาจแห่งชาติ

ความเป็นห่วงเรื่องความมั่นคงของชาติและการมีพละกำลังของประเทศเป็นเรื่องที่มีปรากฏทั่วไป โดยเกี่ยวโยงกับมโนทัศน์อื่นๆ[1]
ความมั่นคง หมายถึง การมีพลานามัย มีความสมบูรณ์ และสุขภาพจิตดีในตัวเอง ส่วนกำลังอำนาจหมายถึง การมีลักษณะแห่งความมั่นคงผสมกับการมีความเกี่ยวกันกับคนอื่นหรือชาติอื่นๆ โดยความมั่นคงจะเน้นสภาวะภายใน ส่วนกำลังอำนาจเน้นสภาวะภายนอก คือ มีการเปรียบเทียบกับชาติอื่น

มองในปัจจัย เชิงรูปธรรม และนามธรรม
ปัจจัยเชิงรูปธรรม ได้แก่ ภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ ทำเลที่ตั้ง ทรัพยากรธรรมชาติ กำลังทหาร ทรัพยากรมนุษย์
ปัจจัยเชิงนามธรรม ได้แก่ ขวัญกำลังใจ ความเลื่อมใสศรัทธา ศาสนา ศีลธรรม ความเป็นผู้นำ
รูปร่างลักษณะเขตแดนและสภาพที่เกี่ยวข้อง มี 5 ประการ ได้แก่
1. รูปร่างกะทัดรัด เช่น ฝรั่งเศส สเปน โรมาเนีย กัมพูชา ฯลฯ
2. รูปร่างยื่นหรือแฉกหรือด้ามกระทะ เช่น ไทย สหภาพพม่า ฯลฯ
3. รูปร่างเรียวยาว เช่น ชิลี สวีเดน นอร์เวย์ อิตาลี ฯลฯ
4. รูปร่างแยกเป็นส่วน ๆ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ฯลฯ
5. รูปร่างมีรอยแหว่งภายใน เช่น สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ฯลฯ

รูปร่างของประเทศ ที่นับว่าเหมาะสม คือมีรูปร่างที่กะทัดรัด เนื่องจากสาเหตุ 2 ประการ คือ
1.การติดต่อระหว่างส่วนต่างๆ ของประเทศกับบริเวนใจกลางจะมีระยะทางเท่าๆ กัน และบริเวนใจกลางของประเทศอยู่ลึก จากพรมแดนพอสมควร ทำให้เกิดผลดีในด้านการป้องกันทางยุทธศาสตร์
2.มีพรมแดนสั้นเมื่อเปรียบเทียบตามส่วนกับเนื้อที่ประเทศ ทำให้ลดปัญหาเกี่ยวกับพรมแดนได้มาก

ปัจจัยด้านกำลังคน การมีพลเมืองมากโดยไม่สมดุลกับคุณภาพ ย่อมเป็นเครื่องกีดกั้นไม่ให้ประเทศมีพละกำลังเข้มแข็ง
ปัจจัยเชิงทรัพยากรธรรมชาติ ประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติในระดับมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน แคนาดา มีทรัพยากรป่าไม้ [2]
ขวัญกำลังใจ (Morale) ชาติเปรียบเสมือนร่างกายมนุษย์ แม้องค์ประกอบทางสรีระอ่อนแอแต่หากมีกำลังใจดีย่อมจะยืนหยัดได้นานกว่าที่ควรจะเป็น การที่คนในชาติมีผู้นำที่มีความสามารถและเหมาะสมกับสถานการณ์ สภาพที่เลวร้ายย่อมดีขึ้นอย่างแน่นอน[3]
เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งมีความเป็นผู้นำในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้กล่าววาทศิลป์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด โดยเฉพาะในตอนที่ว่า “ทั้งชีวิตของข้าพเจ้าไม่มีอะไรจะอุทิศให้ เว้นแต่หยาดโลหิต สปิริตแรงกล้า น้ำอัสสุชลคลอเบ้าตา และเหงื่ออาสาชโลมกาย” นับว่าเป็นวาทศิลป์ที่เป็นเสมือนมนต์ขลัง จนสามารถปลุกเร้าใจคนอังกฤษให้มีขวัญกำลังใจดีและต่อสู้โดยไม่ยอมสยบให้กับกองทัพอันทรงพลังของฮิตเลอร์
หลังจากญี่ปุ่นได้ตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการเข้าฝ่ายเยอรมัน และญี่ปุ่นได้โจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์(Peal Harbor) บนเกาะฮาไวของสหรัฐฯ ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์ จึงจำเป็นต้องนำสหรัฐฯ เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยนายพลดักลาส แมคอาร์เธอร์ ถูกส่งไปเป็นแม่ทัพยังสมรภูมิเอเชีย และแปซิฟิก ส่วนนายพลดไวท์ ดี. ไอเซนเฮาร์ ถูกส่งไปเป็นแม่ทัพในสมรภูมิยุโรป

ในวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2488 กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรภายใต้การนำของ “นายพลดไวท์ ดี.ไอเซนเฮาร์” แห่งสหรัฐฯ ได้เปิดยุทธการดีเดย์ (D-Day) ที่เมืองนอร์มังดี (Normandy) ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส ตรงข้ามช่องแคบอังกฤษจนได้รับชัยชนะและทำให้เยอรมันยอมแพ้ในเวลาต่อมา
ส่วนทางด้านเอเชียและแปซิฟิก “นายพลดักลาส แมคอาร์เธอร์” ก็ได้นำกองทัพเข้ายึดครองญี่ปุ่นโดยไม่มีการขัดขืนและวุ่นวาย ในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2488 หลังจากสหรัฐฯ ได้ทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา และนางาซากิของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2488
แมคอาร์เธอร์ วีรบุรุษในมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุทธภูมิด้านมหาสมุทรแปซิฟิก ได้เคยกล่าวคำว่า I’ll return (I shall return) หลังจากต้องถอยทัพกลับไปในสมรภูมิแห่งมหาสมุทรแปซิฟิกที่ประเทศฟิลิปปินส์ ทั้งนี้เพราะการสู้รบในระยะแรกสู้กับกองทัพญี่ปุ่นไม่ได้

ภาวะผู้นำ
มีความสำคัญอย่างมาก แต่การจะกระทำอะไรให้ได้ผลนั้นจะต้องอาศัยองค์ประกอบหลายประการเช่น การมีผู้นำระดับรอง ซึ่งมีความสามารถ และความสามารถในการ ที่เราเรียกว่า “หยั่ง” สถานการณ์และการวางแผน
ในนวนิยายอิงพงศาวดารจีนเรื่อง “สามก๊ก” (The Three Kingdoms) “เล่าปี่” ต้องพนมมือไปทุกหนทุกแห่ง โดยเฉพาะได้เดินทางไปกรอบขอร้อง และอ้อนวอนให้ปราชญ์จีนชื่อ “ขงเบ้ง” มาช่วยราชการเพื่อช่วยบ้านเมือง รวมทั้งในการเป็นเสนาธิการในการวางแผนรบกับโจโฉ
[1] เช่น การได้เอกราช (INdependence) การอยู่รอด (Survival) ความเป็นปึกแผ่น (Consolidation) และกำลังอำนาจแห่ง่ชาติ

[2] ทองคำสีเขียว (Green Gold)
[3] ยกตัวอย่าง สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นการตู้สู้ระหว่าง
(1) ฝ่ายสัมพันธมิตร (Allies) ซึ่งได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ฯลฯ
(2) ฝ่ายอักษะ (Axis) ซึ่งได้แก่ เยอรมัน อิตาลี ญี่ปุ่น ฯลฯ
ในปี ค.ศ. 1940 (ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ) วินสตัน เซอร์ชิลล์ (Winston Churchill) ได้รับมอบหมายให้จัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นบริหารประเทศอังกฤษ

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations) เป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ หรือความสัมพันธ์ระหว่างประชาชาติ ซึ่งในยุคปัจจุบันนี้ไม่มีรัฐใดหรือชาติใดที่จะดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวตามลำพังโดยที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องติดต่อกับรัฐอื่น ๆ ได้
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นเรื่องของการติดต่อหรือความสัมพันธ์ในแขนงต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม การกีฬา การบันเทิง เทคโนโลยี สันติภาพ สงคราม การทูต ฯลฯ

วิวัฒนาการการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในฐานะเป็นวิชาการเริ่มต้นในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 และมีวิวัฒนาการโดยแบ่งออกเป็น 4 ช่วงได้แก่
(1) การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ ทางการทูต
(2) การศึกษาโดยเน้นเหตุการณ์ปัจจุบัน
(3) การศึกษาโดยเน้นหนักทางกฎหมาย
(4) การศึกษาโดยเน้นแนวทางการเมืองระหว่างประเทศ

มีการให้ความสำคัญกับวิชามานุษยวิทยา ด้านสังคมและวัฒนธรรมในช่วงที่สหรัฐฯ ถูกดึงเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยผู้นำสหรัฐฯ ได้ให้นักวิจัยและนักมานุษยวิทยา เช่น รุธ เนเนดิกต์ (Ruth Benedict) ศึกษาเกี่ยวกับอุปนิสัยของคนญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้น
ผลงานของ รุธ เนเนดิกต์ ในหนังสือ ดอกเบญจมาศและดาบซามูไร (The Chrysanthemun and The Sword) ซึ่งดอกเบญจมาศเป็นพระราชลัญจกร (State Emblem) หรือตราแผ่นดินของจักรพรรดิญี่ปุ่น ถือเป็นการค้นพบเกี่ยวกับอุปนัยของคนญี่ปุ่นที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการหาทางยุติสงครามโลกครั้งที่ 2



รูปแบบของทฤษฎีการเมืองระหว่างประเทศ
รูปแบบของการเมืองระหว่างประเทศเกี่ยวข้องกับทฤษฎีต่างๆ ดังนี้
(1) ทฤษฎีดุลแห่งอำนาจ
(2) ทฤษฎีขั้วอำนาจ
(3) ทฤษฎีความมั่นคงร่วมกัน
(4) ทฤษฎีป้องปรามและผ่อนคลายความตึงเครียด

ทฤษฎีแห่งอำนาจ ได้แก่ นโยบายที่มีการรวมตัวกันในหมู่รัฐประชาชาติต่างๆ เพื่อไม่ให้อึกชาติหนึ่งหนึ่งมีอำนาจสูงจนเกินไป ซึ่งนโยบายนี้เริ่มใช้โดยอังกฤษก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1

ทฤษฏีเกี่ยวกับขั้วอำนาจ แบ่งออกเป็น 2 แนว ได้แก่
1. แนวคิด 2 ขั้วอำนาจ (Bipolarity) โดยแบ่งแยกรัฐประชาชาติในโลกออกเป็น 2 ค่าย ภายใต้อภิมหาอำนาจ คือ สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต
2. แนวคิดพหุขั้วอำนาจ (Multipolarity) โดยมุ่งอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ปรากฏในช่วง ค.ศ. 1970 – 1979 โดยเห็นว่าอำนาจในโลกมิได้มีเพียง 2 ค่าย แต่กระจายกว้างขวางขึ้นกว่าเดิม คือ เป็น “หลายขั้วอำนาจ” โดยมีกลุ่มอำนาจใหม่เกิดขึ้น เช่น จีน ญี่ปุ่น และประเทศในยุโรปตะวันตก

ทฤษฎีความมั่นคงร่วมกัน เป็นทฤษฎีที่ต่อเนื่องจากทฤษฎีดุลแห่งอำนาจ ด้วยเหตุผลที่ว่า เพื่อสถาปนาความรับผิดขอบร่วมกัน และเพื่อนำเอาทรัพยากรในแต่ละรัฐที่รวมกันมาใช้เพื่อการรักษาสันติภาพ ซึ่งการรับผิดชอบร่วมกันจะเกิดขึ้นได้ก็โดยความร่วมมือของรัฐประชาชาติ 3 รัฐขึ้นไป
ผลผลิตของทฤษฎีนี้ คือ การก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศ 2 องค์การ ได้แก่
1. องค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1920 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยมีประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในขณะนั้นคือ วูดโรว์ วิลสัน เป็นผู้สนับสนุนให้จัดตั้งขึ้น
2. องค์การสหประชาชาติ (UN: United Nations) โดยเมื่อเริ่มก่อตั้งใช้ชื่อว่า United Nation Organization (UNO) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1945 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ปัจจุบันองค์การสหประชาชาติมีสมาชิกทั้งหมด 192 ประเทศ โดยมีประเทศสมาชิกล่าสุด คือ มอนเตเนโกร (แยกตัวเป็นเอกราชจากเซอร์เบีย)
ESCAP (องค์การว่าด้วยกิจการด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในเอเชียและแปซิฟิก) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ อาคารสหประชาชาติ (UN Building) กรุงเทพฯ

ทฤษฎีป้องปรามและทฤษฎีการผ่อนคลายความตึงเครียด
โดยทฤษฎีป้องปรามมีจุดประสงค์เพื่อต้องการยับยั้งการขยายอิทธิพล ยับยั้งการรุกรานและแผ่แสนยานุภาพ ด้วยการรวมสมัครพรรคพวกของประเทศต่าง ๆ ขึ้น ส่วนทฤษฎีการผ่อนคลายความตึงเครียด ได้แก่ การไม่เข้าแทรกแซงกิจการภาในของประเทศอื่น, การเปลี่ยนนโยบายเผชิญหน้าเป็นนโยบายเจรจา, การมีนโยบายลดกำลังอาวุธและควบคุมอาวุธร้ายแรง

กฎหมายระหว่างประเทศ หมายถึง บรรดากฎข้อบังคับทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดความสัมพันธ์ต่างๆ ระหว่างรัฐทั้งหลาย และกฎข้อบังคับที่อยู่เหนือกฎข้อบังคับใด ๆ ของรัฐใด ๆ

เรื่องกฎหมายระหว่างประเทศจะเกี่ยวข้องกับ
(1) สนธิสัญญา (Treaties) ซึ่งเป็นที่มีที่สำคัญยิ่งของกฎหมายระหว่างประเทศภาคมหาชน
(2) จารีตประเพณีระหว่างประเทศ ได้แก่ สิ่งที่รัฐทั้งหลายได้ปฏิบัติร่วมกันและติดต่อกันเป็นเวลานาน
(3) หลักกฎหมายทั่วไป ได้แก่ หลักกฎหมายที่เป็นที่ยอมรับโดยที่รัฐที่เจริญมีอารยธรรมเดียวกัน

องค์การระหว่างประเทศ
การจำแนกองค์กรระหว่างประเทศตามแนวของ Pierre Vellas กระทำได้ 3 วิธีคือ
1. การจำแนกโดยหน้าที่ หมายถึง มองเป้าหมายและหน้าที่ขององค์กร ได้แก่
- องค์การทางการเมือง เช่น สหประชาชาติ (UN) ฯลฯ
- องค์การทางเศรษฐกิจ เช่น ธนาคารโลก (IBRD), กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF), องค์การการค้าโลก (WTO) ฯลฯ
- องค์การทางสังคม เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) ฯลฯ
- องค์การทางคมนาคมและการขนส่ง เช่น สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ(ITU) ฯลฯ
- องค์การทางทหาร เช่น องค์การป้องกันร่วมกันแอตแลตติกเหนือ (NATO) ฯลฯ
2. การจำแนกโดยพื้นที่ หมายถึง การใช้ภูมิศาสตร์และขอบเขตงานขององค์กร ได้แก่
- องค์การสากล เช่น UN, IBRD, IMF, WTO, WHO ฯลฯ
- องค์การภูมิภาค เช่น NATO, EU, ASEAN, AFTA ฯลฯ
3. การจำแนกโดยถืออำนาจบังคับทางกฎหมาย เป็นองค์การที่มีของเขตของงาน ได้แก่
- องค์การระหว่างรัฐ โดยยึดหลักการเคารพอธิปไตยซึ่งกันและกันของรัฐสมาชิก
- องค์การอภิรัฐ เป็นการรวมกลุ่มของรัฐเอกราช และมอบอำนาจอธิปไตยบางส่วนให้แก่องค์การมากกว่าแบบแรก เช่น สหภาพยุโรป (EU)
-
ปัจจุบันสมาคมอาเซียน (ASEAN) ประกอบด้วยประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกที่ริเริ่มก่อตั้ง 5 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ต่อมามีสมาชิกเพิ่มอีก 5 ประเทศ คือ บรูไน เวียดนาม ลาว กัมพูชา และ พม่า
เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA : ASEAN Free Trade Area) เป็นองค์กรความร่วมมือกันในด้านการค้าของกลุ่มประเทศอาเซียน จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยข้อเสนอของนายอานันท์ ปันยารชุน อดีต นายกรัฐมนตรีของไทยในสมัยนั้น
องค์การซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติที่รับผิดชอบด้านสาธารณสุขระดับโลก คือ องค์การอนามัยโลก (WHO : World Health Organization)
องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เป็นทบวงชำนาญพิเศษขององค์การสหประชาชาติที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลงานด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ระดับโลก มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งการกำหนดว่าอะไรคือ “มรดกโลก” จะกระทำโดยองค์การ UNESCO

G-7 (Group of Seven) คือ กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี แคนาดา และญี่ปุ่น โดยมีการนัดประชุมยอดระดับผู้นำทุกปีนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 เป็นต้นมา เพื่อปรึกษากันในเรื่องปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองของโลก (นับแต่ปี ค.ศ. 1984 มีการเชิญประธานาธิบดีรัสเซียมาปรึกษาด้วยในช่วงท้ายของการปิดประชุม)

รัฐประศาสนศาสตร์

รัฐประศาสนศาสตร์ Public Administration

รัฐประศาสนศาตร์ หรือ บริหารรัฐกิจ (Public Administration) เป็นการศึกษาที่ครอบคลุมทั้งกระบวนการบริหาร (วิทยการจัดการ) นโยบายสาธารณะ และพฤติกรรมองค์การ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะผลิตคน เป็นนักบริหารในหน่วยงานของราชกาลและรัฐวิสาหกิจ
เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของการบริหารงานสาธารณะก็เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ (Efficiency)
ประสิทธิผล (Effectiveness)
และการประหยัด (Economy)
เพื่อให้เป้าหมายของหน่วยงานบรรลุผลในอันที่จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม

วิวัฒนาการของการศึกษารัฐประศาสนศาสตร์
วิชาการบริหารรัฐกิจนั้นมีมานานแล้วตั้งแต่โบราณเมื่อมีการจัดองค์การทางการเมืองเป็นรัฐแต่ที่เป็นหลักวิชาการและมีผลงานเขียนที่เป็นหลักฐานนั้น อาจแบ่งเป็นยุคสมัย ต่าง 3 ยุคดังนี้
1. ยุคแรก คือ ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเริ่มมีการศึกษารัฐประศาสนศาตร์กันอย่างจริงจัง เริ่มตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน ของสหรัฐฯ ได้เขียนบทความที่มีชื่อเสียงในปี ค.ศ. 1887 เรื่อง The Study of Administration ซึ่งเป็นการเริ่มต้นแนวคิดการแยกการเมืองออกจากการบริหาร
2. ยุคที่สอง คือ ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นยุคที่นักวิชาการทั่วไปหันมาให้ความสนใจในพฤติกรรมศาสตร์ จึงเรียกว่า ยุคของพฤติกรรมศาสตร์
3. ยุคที่สาม คือ ยุคร่วมสมัยในปัจจุบัน โดยเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1968 เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการรัฐประศาสนศาตร์แนวใหม่ ซึ่งเรียกว่า ยุคหลังพฤติกรรมศาสตร์
ก่อนจะถึงยุคพฤติกรรมศาสตร์นั้น ในยุโรปได้มีนักวิชาการที่เป็นผู้ให้กำเนิดวิชารัฐประศาสนศาตร์ในสายพฤติกรรมศาสตร์คือ แม็กซ์ เวเบอร์ (Max Weber) ชาวเยอรมัน โดยเข้าได้เสนอผลงานที่อยู่ในความสนใจ คือ เรื่องการจัดองค์การขนาดใหญ่ในรูประบบราชการ
ในช่วงเดียวกันนี้ในสหรัฐฯ ก็ได้มีนักวิชาการวิศวกร คือ เฟรเดอริค เทเลอร์(Frederick Taylor) ได้เป็นผู้สนใจหลักเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญเฉพาะอย่างและแนวคิดทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการบริหารโดยถือหลักการแบ่งงานและการประสานงาน
ต่อมาในปี ค.ศ. 1933 Luther Gulick และ Lyndall Urwick ได้วางแนวการศึกษาการบริหารในรูปกระบวนการ และได้เสนอหลักการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพว่าจะต้องประกอบด้วยหลัก POSDCORB ซึ่งย่อมาจาก
P: Planning (การวางแผน)
O: Organizing (การจัดองค์การ)
S: Staffing (คณะผู้ร่วมงาน)
D: Directing (การสั่งการ)
CO: Coordinating (การประสานงาน)
R: Reporting (การทำรายงาน)
B: Budgeting (การทำงบประมาณ)

รัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่
แนวความคิดของรัฐประศาสนศาตร์ในความหมายใหม่ มีดังนี้
1. เห็นว่านักบริหารเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานทั้ง 2 อย่าง คือ กำหนดนโยบาย และบริหารนโยบาย ดังนั้นเรื่องนโยบายและการบริหารจึงควรเป็นเรื่องต่อเนื่องกัน
2. จะต้องพยายามแสวงหาหนทางที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายและโครงสร้างต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางความเป็นธรรมในสังคม ทั้งนี้โดยมุ่งส่งเสริมวัตถุประสงค์ดังนี้
(1) การจัดการที่ดี
(2) มีประสิทธิภาพ
(3) ประหยัด
(4) มีความเป็นธรรมทางสังคม
3. มีแนวโน้มที่จะศึกษาทดลอง หรือสนับสนุนรูปแบบของการจัดองค์การราชการที่ได้มีการแก้ไขแนวคิดบางประการ เช่น การกระจายอำนาจ การขยายความรับผิดชอบ ฯลฯ
4. จะต้องพยายามแสวงหาหนทางที่จะใช้ในการบริหารนโยบาย เพื่อช่วยปรับปุรงคุณค่าหรือคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และต้องคำนึงถึงความสำคัญของระบบนิเวศหรือสิ่งแวดล้อมด้วย
5. พยายามที่จะให้มีการมุ่งมั่น ความสนใจไปที่ตัวปัญหา และพยายามพิจารณาทางเลือกต่างๆ ที่เป็นไปได้ในการเผชิญกับปัญหานั้นฯ โดยสถาบัน เช่น ปัญหายาเสพติด อาชญากรรม ฯลฯ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สามารถบรรลุถึงการแก้ปัญหาที่ใกล้เคียงความจริง
6. เน้นในส่วนที่เป็นราชการมากกกว่าการบริหารทั่วๆ ไปในการแก้ไขปัญหา

รัฐประศาสนศาตร์มีความเกี่ยวพันกับรัฐศาสตร์มาก บางครั้งกล่าวกันว่า รัฐศาสตร์เป็นเรื่องการเมือง และรัฐประศาสนศาตร์เป็นเรื่องการบริหาร
รัฐประศาสนศาตร์ได้มีวิวัฒนาการมามาก และในปัจจุบันนี้ให้ความสำคัญกับความยุติธรรมในสังคมมาก